ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา กลายเป็นประเด็นที่จำเป็นต้องเร่งหาทางแก้ไข โดยเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยข้อมูลล่าสุด พบตัวเลขเด็กไทยหลุดจากระบบการศึกษากว่า 100,000 คน จากปัญหาความยากจนและไร้งานของคนในครอบครัว
แม้ตัวเลขของเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษามีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ โดยข้อมูลจากงานวิจัยขององค์การยูนิเซฟในปี 2015 ระบุว่าจำนวนเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา 500,000 คน จะส่งผลต่อมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศถึง 1.7% ของ GDP หรือคิดเป็น 6,520 ล้านดอลลาร์ แต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังคงรอการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
วันนี้มีโอกาสพูดคุยกับ ปารมี ไวจงเจริญ หรืออาจารย์จวง ส.ส. บัญชีรายชื่อจากพรรคก้าวไกล เกี่ยวกับมุมมองการศึกษาไทย การแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา และชุดนักเรียนช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้จริงหรือ…
ทุกวันนี้เราเริ่มได้ยินคำว่า มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นกับสังคมไทย มีอะไรบ้าง
แน่นอนว่าปัญหาความยากจนเป็นปัจจัยสำคัญ ส่วนปัญหาที่สองมาจากความไม่มีประสิทธิภาพของรัฐในการจัดการการศึกษาให้ทั่วถึง ใช้คำว่าล้มเหลวเลยก็ว่าได้ ในหลายสิบปีที่ผ่านมารัฐไม่สามารถกระจายโอกาสการเข้าถึงการศึกษาให้ทั่วถึงได้ ทำให้การศึกษามันทอดทิ้งคนหลายกลุ่ม อย่างคนที่อยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกล เส้นทางการคมนาคมไปไม่ถึง อยู่ตามเกาะหรืออยู่ตามภูเขาสูง จริงๆ รัฐมีวิธีที่จะกระจายโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาให้ทั่วถึงได้มากกว่านี้ ใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย เช่น การเรียนทางไกลผ่านดาวเทียม ซึ่งมันมีมานานแล้ว แต่รัฐก็ยังไม่สามารถจัดการให้ทั่วถึงได้
ความล้มเหลวในการกระจายการศึกษาที่มีคุณภาพให้ทั่วถึง มันก็เชื่อมโยงกับการบริหารที่ล้มเหลว การใช้งบประมาณ เอางบไปทุ่มกับเรื่องบางเรื่องที่มันจำเป็นน้อยกว่า เช่น ความมั่นคงของชาติ ซึ่งยุทธศาสตร์การเมืองโลกมันเปลี่ยนไปมากแล้วจากอดีต แต่ก็ยังจัดสรรงบประมาณให้กับความมั่นคงที่มากไป แทนที่จะเอางบประมาณเหล่านั้นมาพัฒนาการศึกษาให้มันเสมอภาคกัน ให้เด็กทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้เท่าเทียมกัน
ส่วนปัญหาที่สาม สังคมไทยเรายังไม่ใช่สังคมแห่งการใฝ่เรียนรู้ แต่เราเป็นสังคมแห่งการใฝ่หาปริญญาบัตร ทำให้เราเรียนกันเพื่อสอบ เราไม่ได้เรียนเพื่อรู้ สังคมไทยเราสอบตั้งแต่อนุบาล จนกระทั่งได้เข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง เพื่อเลื่อนสถานะทางสังคมมากกว่าการใฝ่รู้ อันนี้ก็เป็นส่วนนึงที่เราอยากแก้ อยากให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต (life-long learning)
ที่เรียกว่า ‘ปฏิรูปการศึกษา’ หรือเปล่า
สังคมไทยเวลาพูดถึงการปฏิรูปทางด้านการศึกษา เรามักจะนึกถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานสายสามัญ แต่เราละเลยสายอาชีวะและพาณิชยการ จริงๆ แล้วเส้นทางสายอาชีพมีความสำคัญกับแรงงานของประเทศ และระบบเศรษฐกิจของประเทศนะ การศึกษาภาคบังคับ คือ ม.1 – ม.3 พอหลังจากนั้นมันก็จะแบ่งเป็นสองทางเลือก ก็คือสายสามัญ (ม.4 – ม.6) และสายอาชีพ ซึ่งเราเรียกรวมกับการศึกษาภาคบังคับว่าเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน แล้วเราก็ให้แสงกับการศึกษาสายสามัญ ส่วนสายอาชีพก็อับแสงไปเลย
ดิฉันคิดว่าสายอาชีวะน่าเห็นใจนะ ถูกปฏิบัติเหมือนพลเมืองชั้นสองในแวดวงการศึกษา งบประมาณน้อยกว่าการศึกษาสายสามัญ แต่เครื่องมือในการเรียนการสอนค่อนข้างแพง ทุกอย่างมันเลยสวนทางกัน
ดิฉันก็คิดว่าเป็นโอกาสดีที่ฉันจะได้เข้ามาทำงานด้านการศึกษา มาปฏิวัติวงการอาชีวะและพาณิชยการให้มีประสิทธิภาพ ควรจะต้องส่งเสริมอาชีวะยุคใหม่ ให้เก่งทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ มันก็จะเชื่อมโยงกับเรื่องที่อยากให้คนไทยใฝ่รู้ใฝ่เรียน ไม่ได้จบการเรียนรู้เพียงแค่จบการศึกษา เราควรจะต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้จะต้องหลากหลายและไม่ได้จำกัดเพียงแค่ในโรงเรียน แล้วสิ่งพวกนี้ก็จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำลงได้มาก
“ถ้าเกิดเหตุการณ์เด็กที่ถูกริดรอนสิทธิโดยการพ้นสภาพนักเรียนอย่างไม่เป็นธรรม เด็กและผู้ปกครองต้องปกป้องสิทธิตัวเองด้วยการร้องเรียนมายังเขตพื้นที่การศึกษา, กระทรวงศึกษาธิการ หรือหน่วยราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของนักเรียน”
นอกจากการกระจายการศึกษาให้ทั่วถึงแล้ว ในกรณีที่นักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างไม่เป็นธรรม เช่น ถูกโรงเรียนให้พ้นสภาพนักเรียน ผู้ปกครองควรรับมืออย่างไร
ถ้าพูดด้วยตามกฎหมายแล้ว เด็กต้องได้สิทธิในการเรียน โรงเรียนไม่สามารถนำเด็กออกจากระบบการเรียนได้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เพราะว่ามันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของนักเรียน แต่ในทางปฏิบัติจริง ดิฉันก็เชื่อว่าหลายๆ โรงเรียนจะพยายามหาวิธีที่จะไม่ทำให้นำเด็กออกจากโรงเรียน เช่น เด็กมีพฤติกรรมที่ไม่ดีก็ควรหาทางแก้ อาจจะหารือกับผู้ปกครอง หรือนำเด็กไปพูดคุยกับนักจิตวิทยาต่างๆ หรืออาจจะจัดหาโรงเรียนใหม่ที่เหมาะสมกับเด็ก ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์เด็กที่ถูกริดรอนสิทธิโดยการพ้นสภาพนักเรียนอย่างไม่เป็นธรรม เด็กและผู้ปกครองต้องปกป้องสิทธิตัวเองด้วยการร้องเรียนมายังเขตพื้นที่การศึกษา, กระทรวงศึกษาธิการ หรือหน่วยราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของนักเรียน เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) หรือร้องเรียนมาที่พรรคก้าวไกลก็ได้
ผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาวของการปล่อยให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาคืออะไร
เยอะมากค่ะ ถ้ามองในระยะสั้นการที่ปล่อยให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษานำไปสู่อันตรายต่อตัวเขาเอง ทำให้เขาสูญเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ สูญเสียโอกาส รวมไปถึงการถูกชักนำไปสู่อันตรายได้
ส่วนในระยะยาวทำให้สูญเปล่าทางเศรษฐกิจ ถ้าเขาหลุดออกจากระบบการศึกษาแล้วหลุดออกไปเลย เขาก็จะกลายพลเมืองที่มีทักษะในการประกอบอาชีพติดตัวน้อยลง ประเทศก็จะขาดพลเมืองที่มีทักษะและมีคุณภาพ ไม่ว่าจะมองในระยะสั้นหรือระยะยาวรัฐและกระทรวงศึกษาฯ ก็ไม่ควรปล่อยให้เด็กหลุดออกนอกจากระบบการศึกษาอย่างเด็ดขาด ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่และเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไข
“โรงเรียนจึงเป็นรากฐานในการบ่มเพาะให้เด็กและเยาวชนเติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของสังคม เป็นพลเมืองที่เคารพในหลักการของประชาธิปไตย อยากให้เด็กเติบโตมาเป็นแบบไหน คุณต้องเริ่มพัฒนาเขาตั้งแต่ในโรงเรียน”
ที่กล่าวว่า ‘ทุกคนมีสิทธิได้รับการศึกษา’ คุณคิดว่านอกจากการได้รับการศึกษาแล้ว เด็กควรได้รับการคุ้มครองเพื่อรักษาสิทธิของตัวเองอย่างไรบ้าง
โรงเรียนควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยค่ะ ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือนักเรียนใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียนมากกว่าอยู่กับครอบครัวอีก เพราะฉะนั้น โรงเรียนจึงเป็นรากฐานในการบ่มเพาะให้เด็กและเยาวชนเติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของสังคม เป็นพลเมืองที่เคารพในหลักการของประชาธิปไตย อยากให้เด็กเติบโตมาเป็นแบบไหน คุณต้องเริ่มพัฒนาเขาตั้งแต่ในโรงเรียน
ดังนั้น โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเด็กและเยาวชนให้ได้ ที่ผ่านมาสังคมเราอยู่ในวังวนของอำนาจนิยม แม้กระทั่งหลักสูตรการเรียนการสอน จึงทำให้พลเมืองที่เติบโตมาในเจเนเรชั่นก่อนๆ ดูดซับอำนาจนิยมเข้าไปเต็มที่ แต่ก็ต้องขอชื่นชมคุณครูรุ่นใหม่และผู้บริหารรุ่นใหม่ไฟแรง ที่มีแนวคิดที่จะทำลายอำนาจนิยมในระบบการศึกษา
ก่อนหน้านี้คุณเคยเป็นครูในระบบมาก่อนหรือเปล่า
เรามีความฝันอยากเป็นครู ก็เลยเลือกเรียนคณะครุศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่พอจบมาก็เป็นคุณครูนอกระบบเลย เพราะการจะสอบเข้ารับราชการครูต้องแต่งตัวตามเพศกำเนิด แต่ด้วยความที่เราเป็น LGBTQ+ และเราก็รับสภาพที่ตัวเองแต่งตัวเป็นผู้ชายไม่ได้ วันที่แต่งตัวเป็นผู้ชายใส่กางเกงแสล็ก เสื้อเชิ้ต ผูกเน็กไทด์ครั้งสุดท้ายคือวันที่รับปริญญาบัตร ก็เลยเลือกที่จะเป็นคุณครูนอกระบบ เป็นอาจารย์พิเศษในโรงเรียนและติวเตอร์
แม้ว่าในปัจจุบันสังคมของเราจะเปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่ถ้ามองเข้าไปจริงๆ ก็ไม่ได้เปิดกว้างมากขนาดนั้น แต่เราไม่แน่ใจว่ากฎกระทรวงการศึกษาธิการปัจจุบันแก้ไขกฎหมายให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศแต่งตัวตามเพศสภาพได้อย่างเป็นทางการหรือยัง แต่สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้อำนวยการแต่ละสถานศึกษาด้วย อันนี้คือเรี่องใหญ่กว่ากฎหมายด้วยซ้ำ ซึ่งคำว่า ‘ดุลยพินิจ’ อันตราย เพราะมันเป็นการใช้อำนาจตามใจและจำกัดสิทธิเสรีภาพหลายๆ คนในสังคมไทย
เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สนใจเข้ามาในสนามการเมืองหรือเปล่า
ส่วนตัวเรายึดมั่นอุดมการณ์ เสรีนิยม และประชาธิปไตยมากๆ เราจึงเลือกมาทำงานกับพรรคก้าวไกล เพราะมีอุดมการณ์ไปในทางเดียวกัน และพรรคก้าวไกลก็มีนโยบายเกี่ยวกับการไม่บังคับชุดนักเรียน ใครอยากใส่ก็ใส่ หรือใครอยากใส่ชุดไปรเวทที่สุภาพก็ใส่ได้ ให้เป็นไปตามความสมัครใจของผู้เรียน
ความจริงก็มีหลายโรงเรียนที่ยื่นหยุ่นเรื่องนี้มากขึ้น ทรงผมก็ยืดหยุ่นมากขึ้นหลายโรงเรียนก็อนุญาตให้ผู้ชายไว้ผมรองทรงได้ ส่วนผู้หญิงก็ไว้ผมยาวได้ บางโรงเรียนก็อนุญาตให้เด็กนักเรียนใส่ชุดไปรเวทมาโรงเรียนได้หนึ่งวันต่อสัปดาห์ แต่ทั้งหมดนี้มันก็จะไปสอดคล้องกับคำว่า ‘ดุลยพินิจ’ อีกนั่นแหละ ถึงแม้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการก็ได้ออกมาประกาศ ยกเลิกระเบียบการบังคับใส่เครื่องแบบแล้ว แต่ยังคงให้แต่ละโรงเรียนใช้ดุลยพินิจของผู้อำนวยการ
ดิฉันก็ได้พูดคุยกับทางพรรคก้าวไกลว่า ถ้าเราได้เข้าไปทำงานในสภา เราจะมาศึกษาดูตรงนี้ว่าระเบียบกระทรวงฉบับใดที่ไม่ชัดเจนในเรื่องของการบังคับใส่ชุดนักเรียนที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน เราจะต้องแก้
ประเด็นน้องหยกที่เกิดขึ้นตอนนี้ ทำให้สังคมขยายประเด็นไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและปัญหาเชิงโครงสร้างระบบของการศึกษาไทยมากขึ้น
คนที่บอกว่าการใส่ชุดนักเรียนจะช่วยให้ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำในโรงเรียน เราก็ใส่ชุดนักเรียนกันมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ขอย้อนถามกลับไปกวนๆ ว่าแล้วความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมันดีขึ้นไหม (หัวเราะ) ความเหลื่อมล้ำมีอยู่ในทุกพื้นที่ของสังคมเรา ความเก่า-ใหม่ของชุดนักเรียนที่สวมใส่ในทุกๆ วันก็ยังมีความเหลื่อมล้ำกันได้
เวลาที่ดิฉันไปสอนเด็กนักเรียนก็จะชอบทำโพลสำรวจระหว่างยกเลิกชุดนักเรียน กับยังคงใส่ชุดนักเรียนอยู่ แต่มีความยืดหยุ่น นักเรียนจะเลือกอะไร คนภายนอกก็อาจจะคิดว่าคนรุ่นใหม่หัวแข็ง ยังไงก็ต้องเลือกยกเลิกการใส่ชุดนักเรียนอยู่แล้ว แต่เชื่อไหมนักเรียนส่วนใหญ่ หกสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ เลือกยังอยากใส่ชุดนักเรียนอยู่ แต่ขอให้มีการยืดหยุ่นให้มากขึ้น ความจริงชุดนักเรียนก็มีข้อดีเพราะใส่ง่าย แต่ก็ต้องการความยืดหยุ่นด้วย
เรียกได้ว่าเราไม่สามารถหลุดพ้นจากความเหลื่อมล้ำได้
ความเหลื่อมล้ำส่วนหนึ่งก็มาจากการใช้อำนาจนิยม ส่วนตัวดิฉันเข้าใจบริบทในสังคมไทย เราอยู่ในโครงสร้างอำนาจนิยมมานาน จะให้เลิกปุปปับคงเป็นไปได้ยาก แต่ดิฉันเชื่อในการพูดคุยด้วยเหตุผล และผู้ใหญ่ต้องเปิดใจรับฟังเด็กให้มากขึ้น และหาจุดกึ่งกลางร่วมของทั้งสองฝ่ายให้ได้ ดิฉันมองว่าเครื่องแบบชุดนักเรียนไม่ใช่องค์ประกอบสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือสื่อการเรียนการสอน ความพร้อมของห้องเรียน ความพร้อมของผู้สอน
เราผ่านมาในยุคสมัยที่ใช้อำนาจนิยมเป็นเรื่องปกติ เช่น โดนพ่อแม่ตี โดนครูตี หรือแม้แต่การล้อเลียนเพศหลากหลาย แต่ความจริงแล้วเรื่องพวกนี้มันไม่ใช่เรื่องปกติ เวลาผ่านไปมันก็เลยทำให้เราเห็นว่าการใช้ความรุนแรงและอำนาจนิยมมันเป็นเรื่องเลวร้ายและไม่ควรมีอีกแล้ว จริงๆ มันไม่ควรมีมาตั้งนานแล้วด้วยซ้ำ
เราต้องก้าวเข้าสู่โลกแห่งความเสมอภาค โลกแห่งความเป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงสักที แต่ก็เข้าใจว่าอำนาจนิยมมันอยู่ในสังคมไทยมานาน อาจจะต้องมียุทธศาสตร์ในการค่อยๆ เปลี่ยน อาจจะมีเร็วช้าหนักเบา แต่ก็ต้องค่อยๆ ปรับจูนเข้าหากันในแต่ละเจเนเรชั่น อาจจะปรับเปลี่ยนคนละครึ่งทาง
มนุษย์เป็นสัตว์การเมือง หลายคนบอกว่าเบื่อการเมืองจังเลย อย่ามาพูดเรื่องการเมืองกับฉันได้ไหม แต่เราจำเป็นต้องเรียนรู้และเข้าใจนะว่าเรื่องนี้มันสามารถถกเถียงกันได้ แม้เราจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างกัน เราลุกขึ้นมาต่อต้านได้ แต่เราต้องมีสติเหตุผลและคุยกันได้ มนุษย์ไม่สามารถสลัดคำว่าการเมืองออกไปได้ เพราะชีวิตเราเกี่ยวข้องกับการเมืองทุกย่างก้าว เราไม่จำเป็นต้องมาเห็นด้วยเหมือนกันหมด เพราะเห็นด้วยเหมือนกันหมดก็ไม่ได้นะ มันเป็นเผด็จการ ความหลากหลายนี่แหละคือเสน่ห์ของประชาธิปไตย
“ดิฉันเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ใจกว้างที่จะรับฟังทุกความคิดเห็น เพราะฉะนั้นคนรุ่นเก่าต้องวางอีโก้ลงนิดนึง แล้วหันหน้ามาคุยกันด้วยเหตุผล”
แต่การที่เด็กนักเรียนลุกขึ้นมาต่อต้านชุดนักเรียน อาจถูกมองว่าเป็นความพยายามฝืนกฎ
ดิฉันมองว่าการที่เด็กพยายามออกมาฝืนกฎ มันคือการแสดงออกทางสัญญะ เขาทำเพื่อที่จะบอกอะไรบางอย่างให้กับคนในสังคมได้รับรู้ เราต้องมองให้มันลึกลงไปว่าจริงๆ แล้วเขาต้องการสื่อสารอะไร ปัญหาอำนาจนิยมที่กดทับนักเรียนหรือเปล่า ตอนที่เกิดเหตุก็ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียอย่างรุนแรง แต่พอผ่านไปได้แล้วเราใช้สติให้มากขึ้น ถ้ามองให้ลึกลงไปถึงนัยยะที่เขาต้องการจะสื่อ แล้วนำมาถกกันอย่างมีวิจารณญาณ อย่างปัญญาชน ก็จะเห็นในสิ่งที่เขาต้องการจะสื่อความหมายมากขึ้น ดิฉันเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ใจกว้างที่จะรับฟังทุกความคิดเห็น เพราะฉะนั้นคนรุ่นเก่าต้องวางอีโก้ลงนิดนึง แล้วหันหน้ามาคุยกันด้วยเหตุผล
“ดิฉันคิดว่าหลักสูตรเป็นสารตั้งต้นของความล้มเหลวการศึกษาไทยในปัจจุบันด้วย ที่ผ่านมาเด็กไทยเรียนวิชาบังคับเยอะมากนะ 1,200 ชั่วโมงต่อปี อาจจะต้องลดลงเหลือ 800 ชั่วโมงต่อปี แล้วก็เพิ่มการศึกษาทางเลือก ให้เด็กเลือกเรียนตามความสนใจของเขาจริงๆ”
ต่อจากนี้ รัฐบาลจะทำให้การศึกษามีคุณภาพและตอบสนองความต้องการของนักเรียนมากขึ้นได้อย่างไร
ในทางรูปธรรมคือต้องเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษา เราจะต้องสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ให้ได้ เพราะในโลกยุคใหม่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ถ้าเราหยุดนิ่งที่จะเรียนรู้ เราก็จะกลายเป็นคนตกยุค
นอกจากนี้ต้องปรับปรุงเรื่องหลักสูตร เพราะในประเทศไทยยังใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานปี 2551 อยู่เลย มันล้าสมัยและควรปรับเปลี่ยนได้แล้ว ดิฉันคิดว่าหลักสูตรเป็นสารตั้งต้นของความล้มเหลวการศึกษาไทยในปัจจุบันด้วย ที่ผ่านมาเด็กไทยเรียนวิชาบังคับเยอะมากนะ 1,200 ชั่วโมงต่อปี อาจจะต้องลดลงเหลือ 800 ชั่วโมงต่อปี แล้วก็เพิ่มการศึกษาทางเลือก ให้เด็กเลือกเรียนตามความสนใจของเขาจริงๆ ยกตัวอย่างเช่น วิชาป้องกันตัวจากศาสตร์มืดของสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มันน่าสนใจมาก ฟังดูแล้วเหมือนไปอยู่ฮอกวอตส์ แต่จริงๆ แล้วเป็นวิชาที่ให้นักเรียนได้มีกระบวนการเรียนรู้ที่จะจัดการอารมณ์และความคิดของตัวเอง ถ้าเราไปเจอความเครียด เราจะจัดการอารมณ์และความรู้สึกขุ่นมัวของเรายังไง หรือถ้าเราเจอการคุกคามต่างๆ จะแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าอย่างไร เห็นไหม มันทันสมัยมากเหมาะกับโลกยุคใหม่ แล้วไม่ใช่แค่นักเรียนที่อยากเรียนนะ ครูก็อยากเรียนด้วย เพราะเครียดมาก (หัวเราะ)
นี่ก็เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ดิฉันและพรรคก้าวไกลจะต้องไปทำด้วย เราจะต้องร่างหลักสูตรที่เหมาะกับยุคสมัยใหม่ วิชาอะไรที่พ้นยุคสมัยไปแล้ว อาจจะต้องค่อยๆ ลดลงหรือทำให้หมดไป และไม่ใช่เรียนแค่เอาความรู้ แต่ต้องเพิ่มทักษะที่จำเป็นมากต่อโลกยุคใหม่ด้วย
COMMENTS ARE OFF THIS POST