READING

ความสุขของการใช้ชีวิตคือการมีคุณภาพชีวิตที่ดีก็เพี...

ความสุขของการใช้ชีวิตคือการมีคุณภาพชีวิตที่ดีก็เพียงพอแล้ว: คุยกับ คุณแม่ไทยในต่างแดน กับแม่แหวน—ศลิษา นำชัยศิริ

คุณแม่ไทยในต่างแดน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนอยากย้ายประเทศคือการอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ญี่ปุ่น ก็เป็นประเทศที่นอกจากจะเป็นเป้าหมายท่องเที่ยวยอดฮิตของคนไทยแล้ว ยังติดอันดับประเทศที่คนไทยอยากย้ายไปลองใช้ชีวิตดูสักครั้งเช่นเดียวกันกับ แหวน—ศลิษา นำชัยศิริ ดีไซเนอร์สาวผู้มีเป้าหมายชีวิตคือการไปทำงานที่ต่างประเทศก่อนอายุสามสิบ และตั้งแต่สอบชิงทุนเพื่อไปเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อสิบปีที่แล้ว ทุกวันนี้เธอทำงานในบริษัทที่ถ้าบอกชื่อไปคนไทยก็คงรู้จักเป็นอย่างดี ได้ใช้ชีวิตและสร้างครอบครัวอยู่ในโตเกียว เป็นคุณแม่ของลูกสาววัยขวบกว่าที่กำลังน่ารักน่าเอ็นดู

เราชวนแหวนมาเล่าเรื่องราวการใช้ชีวิตในประเทศญี่ปุ่น สังคมทำงาน สวัสดิการ และคุณภาพชีวิต ทั้งในฐานะประชาชนคนหนึ่งและฐานะ คุณแม่ไทยในต่างแดน ประเทศญี่ปุ่นน่าอยู่หรือไม่น่าอยู่อย่างไรบ้าง

คุณแม่ไทยในญี่ปุ่น

สำหรับคนที่จะมาเรียนต่อและหางานทำที่ญี่ปุ่น การเป็นคนต่างชาติทำให้หางานยากหรือว่ามีโอกาสในการทำงานน้อยกว่าคนญี่ปุ่นหรือไม่

ไม่เลย แน่นอนว่าจะอยู่ที่นี่เราต้องได้ภาษาญี่ปุ่นในระดับหนึ่ง แต่พอเราเป็นคนต่างชาติ เราจะมีพื้นฐานภาษาอังกฤษมากกว่า ก็เลยกลายเป็นค่อนข้างได้เปรียบกว่า

จริงๆ ที่นี่อยากได้คนต่างชาติมาก โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ๆ รัฐบาลญี่ปุ่นค่อนข้างจะกดดันด้วยซ้ำว่าบริษัทใหญ่ๆ ควรมีพนักงานต่างชาติมากกว่ากี่เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ในมุมของบริษัทก็คิดว่าเขาไว้คุยได้ว่าบริษัทเรามีความหลากหลายนะ ดังนั้นเขาจะง้อเรามาก

อะไรคือเรื่องที่เตรียมตัวถ้าคิดจะไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ

นอกจากเรื่องภาษาที่สำคัญแน่ๆ แล้ว อย่างแรกก็คงเป็นการปรับตัว อย่างที่สองก็คือเราจะเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสังคมแบบไหน

ตอนอยู่เมืองไทยเราตั้งใจเรียนพยายามทำเกรดให้ดี พอมาอยู่ที่นี่ก็จะมีโอกาส มีตัวเลือกในการทำงานที่หลากหลาย แต่ขนาดเลือกแล้วกว่าจะปรับตัวเข้ากับสังคมที่นี่ได้ก็ใช้เวลานานเหมือนกัน

แต่เรื่องเกรดก็เป็นเพียงเหตุผลหนึ่ง สิ่งสำคัญคือเราควรมีจุดมุ่งหมายและเรื่องราวของตัวเองที่ชัดเจน ทำให้ทางบริษัทรับรู้ได้ว่าเราจะเข้าไปเป็น asset ที่ดีกับทีมของเขาได้

ขอตัวอย่างเรื่องที่ต้องปรับตัวหน่อย

ตอนที่เรามาเรียนปริญญาโท เรายังพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้เลย แต่ทำข้อสอบได้หมดนะ เตรียมตัวมาดี ทฤษฎีแน่น แต่พอปฏิบัติแล้วไม่ได้เลย ฟังไม่รู้เรื่อง การเรียนภาษามาในหนังสือ กับการใช้ภาษาในชีวิตจริง มันคนละเรื่องกันเลย ก็มีแอบไปร้องไห้ในห้องน้ำ แล้วคิดว่าไม่เอาแล้ว จะกลับบ้าน (หัวเราะ)

คิดว่าจะอยู่ไม่ได้จนอยากกลับเมืองไทยจริงๆ ไหม

ตอนนั้นคิดว่าจะอยู่เรียนโทให้จบภายในสองปี แล้วค่อยวางแผนอีกที ถ้าไม่ชอบพอที่จะอยู่ต่อก็จะคิดซะว่าได้มาเที่ยวฟรี เพราะได้ทุนมาแล้ว (หัวเราะ)

ตอนทำงานแรกๆ เราก็ลองทำดูก่อนว่าจะชอบไหม ยังไม่แน่ใจขนาดนั้น แต่พอได้เข้าไปทำจริงๆ แล้วแฮปปี้มาก ที่บริษัทให้ความสนใจเราเป็นพิเศษอาจจะเพราะเราเป็นผู้หญิง แล้วก็เป็นคนไทย คนญี่ปุ่นรักเมืองไทยมาก ตอนแรกรู้สึกว่าคนญี่ปุ่นอาจจะคบยาก แต่ถ้าเราเข้ากับทีมได้แล้ว ก็จะเฮฮาเหมือนเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน ทำอะไรเป็นหมู่คณะ เหมือนได้ใช้ชีวิตวัยรุ่นอีกรอบ

คุณแม่ไทยในญี่ปุ่น

เรามักมีภาพพนักงานบริษัทญี่ปุ่นเป็น salary man ที่เครียด เหนื่อย และจริงจังตลอดเวลา เป็นอย่างนั้นจริงไหม

เหมือนทุกคนจริงจัง เพราะเวลาทำงานแล้วก็อยากทำออกมาให้ดี ทุกคนจะซีเรียสกับงานของตัวเอง แต่สำหรับเราไม่เครียดเลยเพราะเข้าใจว่าทุกคนตั้งใจทำงานของตัวเองให้ดีที่สุด พอเลิกงานแล้วก็จะชวนกันไปสังสรรค์ ไม่มีเรื่องติดค้างให้ต้องผิดใจกัน และที่นี่จะไม่มีการยุ่งเรื่องส่วนตัวคนอื่น เช่น เวลาลางาน กฎของบริษัทก็คือห้ามเขียนเหตุผลในการลา เราสามารถลาพักร้อนเมื่อไรก็ได้ แต่ต้องคำนึงว่าจะสร้างความเดือดร้อนให้คนในทีมไหม และจะไม่มีเรื่องหัวหน้าชอบใครหรือไม่ชอบใคร เพราะทุกอย่างวัดผลจากการทำงาน เวลาทำงานก็เลยจริงจังมาก

แต่เรื่อง work life balance จะค่อนข้างดี เพราะญี่ปุ่นมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานเข้มแข็งมาก เขาจะกำหนดเลยว่าแต่ละเดือนเราจะทำงานได้ไม่เกินกี่ชั่วโมง และถ้าหากว่าเราทำมากกว่านั้น ก็จะนับเป็นชั่วโมงโอที แล้วถ้าใครทำโอทีเกิน 40 ชั่วโมงต่อเดือน ก็จะมีอีเมลไปเตือนที่หัวหน้า กลายเป็นความรับผิดชอบของหัวหน้า ถ้าปล่อยให้ลูกน้องทำงานหนักเกินไป หัวหน้าก็จะโดนเพ่งเล็ง บริษัทก็จะโดนไปด้วย ดังนั้นเขาจึงเคร่งครัดเรื่องนี้มาก

แต่สวัสดิการก็เยอะกว่าเมืองไทยมาก ลาพักร้อนได้ 22 วันต่อปี ถ้าใช้ไม่หมดเราสามารถสะสมได้ถึง 45 วัน ซึ่งปกติวันหยุดในญี่ปุ่นเยอะมากอยู่แล้ว เยอะจนเรารู้สึกว่าทำงานบ้างเถอะ ทำไม่ทันแล้ว (หัวเราะ) แล้วก็ห้ามทำงานวันหยุดด้วย ไม่งั้นจะนับเป็นชั่วโมงโอทีเพิ่มอีก 1.5 เท่า

เรารู้สึกว่าอยู่ที่นี่แล้วไม่ต้องไปเที่ยวเมืองนอกเพื่อจะได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีก็ได้ แค่เราเดินออกไปหน้าบ้าน ไปสวนสาธารณะข้างบ้านก็รู้สึกผ่อนคลายแล้ว

จากกระแส #ย้ายประเทศกันเถอะ ในเมืองไทย ญี่ปุ่นก็เป็นหนึ่งในประเทศที่หลายคนนึกถึง มีข้อดีข้อเสียอะไรที่อยากรีวิวญี่ปุ่นจากประสบการณ์ตัวเองบ้าง

เอาข้อเสียก่อนแล้วกัน ข้อแรกเลยคือคนญี่ปุ่นสนิทด้วยยาก มีความสันโดษ และมักจะคิดถึงภาพรวมมากกว่าสนใจเรื่องส่วนตัว ขนาดเพื่อนกลุ่มเดียวกันแล้ว ยังต้องคอยอ่านใจว่าเขาคิดอะไรอยู่ หรือต้องหากิจกรรมเป็นตัวเชื่อมสัมพันธ์ก่อนถึงจะช่วยละลายพฤติกรรมได้  และคนญี่ปุ่นจริงจังกับกฎหรือ goal ที่ตั้งขึ้นมาเองมากเกินไป จนบางครั้งก็ไม่ยืดหยุ่นและลืมคิดไปว่าจะทำอย่างนั้นเพื่ออะไร

ส่วนเรื่องที่เราชอบมากคือ ที่เมืองไทยบางคนอาจจะมองว่าการทักเรื่องรูปร่างหน้าตาหรือแซวกันในที่ทำงานเป็นเรื่องปกติ แต่ที่นี่จะจริงจังกับเรื่องนี้มาก เคยมีเคสหัวหน้าโดนฟ้องเพราะไปทักพนักงานผู้หญิงว่า ‘ตุ้มหูสวยจัง’ แต่มันทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่าการพูดแบบนั้นเป็นการแทะโลม ทุกคนจะจริงจังกับอะไรแบบนี้มาก

ส่วนเรื่องที่เห็นได้ชัดมากๆ คือคุณภาพชีวิตในญี่ปุ่นเป็นชีวิตที่ดี ไม่ว่าจะสภาพแวดล้อม การเข้าถึงการรักษาพยาบาล สาธารณูปโภคพื้นฐาน ความบันเทิงครบ เรารู้สึกว่าอยู่ที่นี่แล้วไม่ต้องไปเที่ยวเมืองนอกเพื่อจะได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีก็ได้ แค่เราเดินออกไปหน้าบ้าน ไปสวนสาธารณะข้างบ้านก็รู้สึกผ่อนคลายแล้ว

นอกจากนี้ ก็เป็นเรื่อง work life balance ที่พูดถึงไปแล้ว นโยบายจ้างงานตลอดชีวิตของญี่ปุ่น คือถ้าไม่มีอะไรเสียหายหรือทำผิดกฎบริษัทขั้นร้ายแรงจริงๆ บริษัทไม่สามารถไล่เราออกได้ มันทำให้เรามีงานที่มั่นคง ก็จะสามารถโฟกัสกับงานได้เต็มที่ โดยที่ไม่ต้องห่วงเรื่องอะไรเลย เพราะเขาจะเทกแคร์เราทุกอย่าง เช่น มีสหกรณ์เก็บเงินให้ มีกองทุนเกษียณให้เราไปลงทุนเองได้

คุณแม่ไทยในญี่ปุ่น

แล้วถ้าพูดถึงสวัสดิการบริษัทที่ได้รับในฐานะคุณแม่

มี parenting mode คือพนักงานที่มีลูก สามารถลดเวลาทำงานเหลือวันละ 4 ชั่วโมงได้โดยไม่ต้องใช้เป็นวันลา ทำได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง เงินเดือนก็จะลดตามสัดส่วนของเวลางาน แต่จะไม่ขึ้นเป็นแบล็กลิสต์ว่าเราขาดงาน และจะไม่มีผลต่อการพิจารณาในการเลื่อนขั้น

อย่างเราลาเพื่อออกมาเลี้ยงลูกหนึ่งปี ก็ยังได้เลื่อนตำแหน่ง เพราะเขาถือว่าการเลี้ยงลูกเป็นหนึ่งในการเรียนรู้ และเป็นสิ่งที่สามารถเอากลับไปใช้ในการทำงานได้

ขอถามถึงสวัสดิการของคนมีลูกที่ได้จากรัฐบาลด้วย

ขอเล่าตั้งแต่ก่อนมีลูกเลย ถ้าเราแต่งงานเกินสองปีแล้วยังไม่มีลูก จะถือว่าเข้าข่ายมีลูกยาก รัฐบาลก็จะมีเงินสนับสนุนให้ไปปรึกษาคุณหมอเฉพาะทางได้ เขาอยากให้ประชาชนมีลูกมาก (หัวเราะ)

สำหรับคนท้อง ก็เอาหลักฐานการตรวจจากโรงพยาบาลไปรับสมุดแม่และเด็กที่เขต ในสมุดจะมีคูปองสำหรับการตรวจครรภ์ เช่น ฝากท้องและอัลตร้าซาวด์ ซึ่งเราต้องไปตรวจทุก 2-3 สัปดาห์อยู่แล้ว ก็ใช้คูปองนั้นจ่ายให้โรงพยาบาลแทนเงินได้เลย

นอกจากนี้ยังมีคลาสโยคะ คอร์สฝึกเลี้ยงเด็ก ทางเขตเขาจะหามาให้ ถ้าอยากไปเข้าร่วมก็ทำได้

ช่วงใกล้คลอดทางรัฐบาลก็จะบังคับให้หยุดงานก่อนกำหนดคลอดอย่างน้อย 6 สัปดาห์ แล้วก็หลังคลอดไปอีก 8 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย โดยมีประกันสังคมจ่ายเงินเดือนให้สองในสามของเงินเดือนปกติ

พอครบวันลาคลอด ก็จะกลายเป็นช่วง maternity leave จากลาคลอดก็กลายเป็นการลาเลี้ยงลูก ทำได้จนกว่าลูกจะอายุครบ 1 ขวบ ถ้าเรายังหาเนอร์เซอรีให้ลูกไม่ได้ เช่น ไปสมัครที่นี่ไว้แต่มันเต็ม ลูกยังเข้าเนอร์เซอรีไม่ได้ ก็เอาหลักฐานไปให้ทางเขต เพื่อต่ออายุการลาได้จนถึงลูก 2 ขวบ

ที่นี่จะมีเนอร์เซอรีทั้งของเอกชนและรัฐบาล ทุกที่ค่าเทอมจะเท่ากัน โดยที่รัฐบาลจะกำหนดค่าเทอมสูงสุดให้ไม่เกิน 60,000 เยนต่อเดือน (ประมาณ 17,000 บาท) แล้วก็จะมีลดหย่อนค่าเทอมสำหรับคนที่มีรายได้น้อยอีกด้วย แล้วถ้ามีลูกคนที่สองก็จะได้เข้าทีเดียวกับพี่อัตโนมัติ แล้วก็ลดค่าเทอมให้ 50 เปอร์เซ็นต์

คุณแม่ไทยในญี่ปุ่น

สวัสดิการจะเหมือนกันทั้งประเทศหรือแล้วแต่เขต หรือเมือง 

หลักๆ แล้วจะแบ่งตามเมือง แล้วแต่ละเขตก็จะแตกต่างกันเล็กๆ น้อยๆ มันเจ๋งตรงที่แต่ละเขตก็จะรับภาษีส่วนหนึ่งจากคนที่อยู่เขตนั้น เขาก็เลยมีแรงจูงใจที่สร้างสวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น เนอร์เซอรี คือทำให้ดีที่สุด เพื่อให้คนย้ายไปอยู่ในเขตของเขา

ส่วนของสวัสดิการรัฐ เรารู้สึกว่าเขามีการสนับสนุนทุกช่วงชีวิตของประชากร ตั้งแต่เกิด ตรวจสุขภาพฟรี เรียนหนังสือฟรี ลดหย่อนภาษีคู่สมรสที่ไม่ได้ทำงาน ลดภาษีให้บ้านหลังแรก ดอกเบี้ยเงินกู้บ้านที่ญี่ปุ่นก็ถูกที่สุดในโลก และเราสวัสดิการที่ได้ของพลเมืองญี่ปุ่นกับคนต่างชาติอย่างเราก็เหมือนกันโดยไม่มีข้อยกเว้นอีกด้วย

บางคนบอกว่าอยู่เมืองไทย ถ้าเป็นคนรวยก็ถือว่ามีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว แต่ในมุมมองเรา เรามองว่าถึงจะมีเงินเยอะแต่ก็สุดท้ายต้องออกมาเดินบนฟุตปาธพังๆ มันก็พูดยากว่านั่นคือคุณภาพชีวิตที่ดีจริงๆ หรือเปล่า

จริงๆ หลายประเทศมักจะโดนนิยามว่า ‘น่าไปเที่ยว แต่ไม่น่าอยู่’ คิดว่าญี่ปุ่นเป็นอย่างนั้นไหม

น่าจะต้องถามว่าเราอยากได้อะไรในประเทศที่เราอาศัยอยู่ด้วย เพราะมันขึ้นอยู่กับว่าเราปรับตัวกับสังคมที่นั่นได้มากแค่ไหน ถ้าเราปรับตัวไม่ได้ก็อาจจะอยู่ยาก แต่ว่าเรื่องของคุณภาพชีวิตพื้นฐานที่นี่ดีมากๆ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ไม่มีพรีวิลเลจ คุณจะได้รับทุกอย่างอย่างเท่าเทียม อย่างที่เมืองไทยถ้าเรามีเส้นสาย เช่น ถ้ารู้จักครูคนนี้ ก็สามารถฝากลูกเข้าโรงเรียนนี้ได้ พอมันง่ายกว่าคนอื่นเราก็อาจจะมองว่าเมืองไทยน่าอยู่ บางคนบอกว่าอยู่เมืองไทย ถ้าเป็นคนรวยก็ถือว่ามีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว แต่ในมุมมองเรา เรามองว่าถึงจะมีเงินเยอะแต่ก็สุดท้ายต้องออกมาเดินบนฟุตปาธพังๆ มันก็พูดยากว่านั่นคือคุณภาพชีวิตที่ดีจริงๆ หรือเปล่า

เราไม่เคยมองเห็นความสำคัญของเรื่องพวกนี้เลยนะ จนกระทั่งมีลูกและพาลูกกลับเมืองไทย เราไม่รู้ว่าจะพาลูกไปที่ไหน พาลูกไปห้างฯ ก็ต้องฝ่ารถติดไป จะออกไปเล่นกลางแจ้งก็ไม่มีที่ ออกมาก็มี PM 2.5  แต่ที่ญี่ปุ่นพาลูกเดินไม่ถึงห้านาทีก็มีสนามเด็กเล่น หรืออยากพาลูกไปตั้งแคมป์ริมแม่น้ำก็ทำได้ เพราะเขาถือว่าเป็นพื้นที่สาธารณะให้ทุกคนมาพักผ่อนหย่อนใจได้ มันไม่ใช่ความสุขที่หรูหราอะไร แต่เป็นความสุขที่เรียบง่าย จากเรื่องใกล้ตัวทุกวัน

ตอนนี้สถานการณ์โควิด-19 ที่ญี่ปุ่นเป็นอย่างไรบ้าง

ก็ยังมียอดผู้ติดเชื้อสูง ญี่ปุ่นไม่สามารถล็อกดาวน์ได้ เพราะมีกฎหมายปกป้องเรื่องสิทธิมนุษยชน รัฐบาลจึงไม่มีสิทธิ์สั่งห้ามประชาชนออกจากบ้าน ก็ทำได้แค่เพียงขอความร่วมมือไม่ให้ประชาชนออกจากบ้าน ขอความร่วมมือให้ร้านอาหารปิดเร็วขึ้น แต่ก็จะมีเงินชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปในระหว่างที่ต้องปิดร้าน

ที่เมืองไทยโรงเรียนก็เป็นสถานที่แรกๆ ที่โดนสั่งปิด ญี่ปุ่นมีการดูแลเด็กๆ อย่างไร

ที่นี่มองว่าเด็กมีความเสี่ยงต่อโควิด-19 น้อย โรงเรียนและเนอร์เซอรีจึงพยายามเปิดตามปกติ เพราะเมื่อไหร่ที่ปิด ก็จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของพ่อแม่ทันที เขาก็เลือกที่จะเปิดภายใต้การมีมาตรการป้องกันที่ดี

แต่เขาจะมีออปชั่นให้เลือกนะ คือเราสามารถสมัครใจที่จะไม่ให้ลูกไปก็ได้ เขาก็จะช่วยลดค่าเทอมให้

แต่ที่สำคัญและอยากเน้นเลยก็คืออยากให้เขาเป็นเด็กที่มีรากเหง้าเป็นของตัวเอง ทั้งไทยและญี่ปุ่น เรารู้สึกว่าการเลี้ยงให้เขาเติบโตอย่างคนที่มีความเข้าใจในวัฒนธรรมนั้นๆ มันสำคัญพอๆ กับมรดกที่เป็นเงินทองเลยนะ 

เราหวังว่าพอเขาโตขึ้น เขาก็จะตัดสินใจเอง ว่าอยากทำอะไร อยากอยู่ที่ไหน อาจจะไม่ใช่เมืองไทยหรือญี่ปุ่นก็ได้  แต่ถ้าเขามีรากเหง้าของตัวเองไปด้วย เราคิดว่าเขาจะใช้มันในการปรับตัวให้เข้ากับชีวิตที่จะดำเนินต่อไปได้ในอนาคต

ย้อนกลับมาเรื่องเลี้ยงลูก ในฐานะแม่คิดว่าแนวทางการเลี้ยงลูกแบบไทยกับญี่ปุ่นมีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร 

เราคิดว่าเด็กญี่ปุ่นจะถูกเลี้ยงให้มีความรับผิดชอบ ทั้งรับผิดชอบต่อตัวเอง และรับผิดชอบต่อสังคม การรับผิดชอบต่อตัวเองก็คือทำอะไรด้วยตัวเองได้ ตื่นเช้าตามแสงอาทิตย์ ไม่ใช่นาฬิกาปลุก กินข้าว อาบน้ำ จัดกระเป๋า ใส่เสื้อผ้าได้เอง เนอร์เซอรีจะสอนเรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนหนึ่งขวบ

และเขาเชื่อว่าเด็กจะมีมาตรวัดของตัวเองว่าหิวเมื่อไหร่ อยากกินแค่ไหน เราจะไม่เห็นคนญี่ปุ่นตามป้อนข้าวลูกหรือต้องคะยั้นคะยอให้ลูกกินเลย

ส่วนรับผิดชอบต่อสังคมก็คือสอนให้ช่วยเหลืองานบ้าน ช่วยเหลือคนอื่น ไม่เล่นเกะกะขวางทางเดินสาธารณะ แต่จะค่อนข้างซีเรียสถ้าหากว่าลูกทำอะไรที่ทำให้เดือดร้อนคนอื่น

ซึ่งเราก็สนใจการเลี้ยงแบบญี่ปุ่นนี่แหละ แต่ที่สำคัญและอยากเน้นเลยก็คืออยากให้เขาเป็นเด็กที่มีรากเหง้าเป็นของตัวเอง ทั้งไทยและญี่ปุ่น เรารู้สึกว่าการเลี้ยงให้เขาเติบโตอย่างคนที่มีความเข้าใจในวัฒนธรรมนั้นๆ มันสำคัญพอๆ กับมรดกที่เป็นเงินทองเลยนะ

เราหวังว่าพอเขาโตขึ้น เขาก็จะตัดสินใจเอง ว่าอยากทำอะไร อยากอยู่ที่ไหน อาจจะไม่ใช่เมืองไทยหรือญี่ปุ่นก็ได้  แต่ถ้าเขามีรากเหง้าของตัวเองไปด้วย เราคิดว่าเขาจะใช้มันในการปรับตัวให้เข้ากับชีวิตที่จะดำเนินต่อไปได้ในอนาคต

คุณแม่ไทยในญี่ปุ่น

สมมติว่าพูดถึงเด็กไทย เรานึกถึงการถูกสอนให้อ่อนน้อมถ่อมต้น ถ้าเป็นเด็กญี่ปุ่นจะนึกถึงอะไร

น่าจะเรียกว่าสอนให้ใจดี ไม่ว่าจะใจดีกับเพื่อน ใจดีกับต้นไม้ ใจดีกับสัตว์ ใจดีกับธรรมชาติ ใจดีกับสิ่งของ คือมีความ gentle หรือปลูกฝังให้เด็กมีความอ่อนโยน

เราคิดว่าการสอนเด็กที่นี่จะค่อนข้างเป็นแนวมอนเตสเซอรี คือเขาจะไม่เอาความคิดหรือการประมวลผลของผู้ใหญ่ไปใส่ให้เด็ก เด็กต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง

การเป็นคุณแม่ที่ใช้ทั้งภาษาไทย ญี่ปุ่น และอังกฤษ ตอนนี้เลี้ยงลูกด้วยภาษาอะไร 

อันนี้เราก็คิดอยู่นานมาก เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เฉพาะทางเรื่องภาษามาก เราก็ไปศึกษางานวิจัยมา เขาบอกว่าการจะให้เด็กเรียนสามภาษาไปพร้อมกัน ถ้า exposure ไม่พอก็อาจจะไม่ไหวทั้งสามภาษา ดังนั้น ต้องมีภาษาหลักก่อน เราก็เลยคิดว่าตัวเองจะพูดกับลูกเป็นภาษาอังกฤษ เพราะชีวิตประจำวันหรือเวลาที่ลูกไปเนอร์เซอรีก็ต้องใช้ภาษาญี่ปุ่นอยู่แล้ว ส่วนภาษาไทยหรือภาษาที่สามวางแผนไว้ว่าจะเริ่มตอนเขาสามขวบ เราจะเฟซไทม์กับคุณตาคุณยายหรือญาติบ่อยๆ และพากลับไทยบ่อยๆ เขาก็จะได้ภาษาไทยด้วย

เมื่อหลายปีก่อนเด็กไทยจะได้รับการสอนเรื่อง ค่านิยม 12 ประการ เช่น ข้อหนึ่งต้องรักชาติ ศาสนา… 

ที่นี่ไม่มี (หัวเราะ) เรื่องศาสนาเขาไม่มีระบุใน ID ด้วย เขาถือว่าเป็นเรื่องปัจเจก เราคิดว่าการสอนเด็กที่นี่จะค่อนข้างเป็นแนวมอนเตสเซอรี คือเขาจะไม่เอาความคิดหรือการประมวลผลของผู้ใหญ่ไปใส่ให้เด็ก เด็กต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง

แล้วตอนนี้มีความคิดอยากย้ายกลับมาอยู่เมืองไทยไหม

(หัวเราะ) ยากจังเลย แต่ก็คงยังแหละ


Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST