READING

โรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) สร้างเด็กที่เติบโตอย่าง...

โรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) สร้างเด็กที่เติบโตอย่างเป็นธรรมชาติ ผ่านการเล่น ดนตรี และศิลปะ

ลมเย็นของหน้าหนาวพัดเบาๆ ช่วยให้อากาศยามเช้าในรั้วโรงเรียนที่แสนร่มรื่นแห่งนี้น่ารื่นรมย์ยิ่งขึ้นไปอีก เด็กๆ ทยอยลงจากรถมาด้วยท่าทางกระปรี้กระเปร่า อาจเพราะพวกเขารู้อยู่แล้วว่า วันนี้ทั้งวัน จะมีแต่การ เล่น เล่น แล้วก็ เล่น

ทุกวันศุกร์ โรงเรียนจะจัดให้เป็นวัน free play หรือวัน ‘เล่นอิสระ’ ที่จะจัดฐานกิจกรรมจากปกติที่เด็กๆ เล่นในห้องเรียนมาขยายให้ใหญ่ขึ้น จากที่เคยมีพื้นที่และขอบเขตขนาดเท่าห้อง วันนี้ก็จะขยายอาณาเขตให้กว้างเท่ารั้วโรงเรียน ขยายช่วงเวลาให้นานขึ้น เพื่อนที่เคยเล่นและเจอกันแค่ในห้อง ก็จะเปิดกว้าง กลายเป็นเด็กทั้งโรงเรียน ทุกวัย ทุกห้อง ลงมาเข้าฐานเล่นร่วมกันได้ ‘ตามใจชอบ’

“การเล่นอิสระหมายถึง เด็กจะได้มีอิสรภาพที่จะเลือกเล่นในช่วงเวลาที่ใหญ่พอ เช้าวันนั้นคุณครูจะชวนเด็กๆ พูดคุยและวางแผนกันว่าจะเลือกเข้าฐานไหนบ้าง เพื่อให้เขาได้ตัดสินใจและประเมินตัวเองว่า เขาอยากจะเล่นอะไร และเล่นแค่ไหนในวันนั้น บางคนเลือกฐานเอาไว้เยอะมากในช่วงวางแผน แต่เมื่อถึงเวลาจริงเขาเล่นได้ไม่ครบ จะเกิดเป็นบทเรียนว่า ครั้งหน้าเขาควรจัดลำดับฐานที่อยากเล่นอย่างไร ควรจะต้องเลือกฐานให้น้อยลงหรือเปล่าหรือควรบริหารจัดการเวลาอย่างไรที่จะเล่นได้ครบ

หรือการประเมินตัวเองเรื่องความหิว ในวันปกติ เราจะมีช่วงเวลาให้เด็กๆ กินของว่างพร้อมกัน แต่ในวันเล่นอิสระนี้จะพิเศษกว่า คือเรามีฐานของว่าง ที่เตรียมพร้อมไว้ให้ดูแลตัวเอง ดังนั้นถ้าเด็กประเมินตัวเองแล้วว่าหิว ก็สามารถแวะเวียนเข้ามากินเมื่อไหร่ก็ได้ กินแค่ไหนก็ได้ หมดเมื่อไหร่ก็ค่อยเติม

และเพราะว่าเรามีวันแบบนี้ทุกสัปดาห์มันเลยทำให้เราได้เห็นการพัฒนา ในทุกสัปดาห์เขาจะรู้แล้วว่าควรปรับตรงไหน อะไรที่ทำได้ไม่เป็นไปตามเป้า สัปดาห์หน้าเขาจะทำให้มันดีขึ้น นี่คือโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง ที่เกิดขึ้นจากการปล่อยให้เขาได้มีอิสระในการเล่น”

ครูกลม—ธนกร กาศยปนันท์ ผู้อำนวยการและผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) เล่าให้เราฟังถึงกิจกรรมในวันเล่นอิสระที่กำลังเกิดขึ้น และทำให้การบันทึกเสียงพูดคุยของเราและครูกลมเพื่อทำความเข้าใจในความเป็น ‘จิตตเมตต์’ เริ่มคึกคักเป็นพิเศษ เพราะมีทั้งเสียงวี้ดว้าย โหวกเหวก เสียงหัวเราะ และเสียงตะโกนเรียกเพื่อนไปเล่นตรงโน้นตรงนี้ของเด็กๆ ดังแทรกเข้ามาไม่ขาด

“จิตตเมตต์เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้มาใช้ชีวิต เรียนรู้ทักษะชีวิตและได้พัฒนาตนเองผ่านกระบวนการเล่น ดนตรี และศิลปะ เพราะสามสิ่งนี้เป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญในการเรียนรู้ที่สร้างความสุขให้กับชีวิตเด็ก”

ทางเลือกของโรงเรียนทางเลือก

เมื่อพูดถึงโรงเรียนทางเลือก โรงเรียนจิตตเมตต์มักจะเป็นหนึ่งในชื่อที่ถูกกล่าวถึงอยู่เสมอ และในความเป็นโรงเรียนทางเลือก บ่อยครั้งก็ยังเฉพาะเจาะจงลงไปอีกว่าเป็นแนววอลดอร์ฟบ้าง มอนเตสซอรีบ้าง วิถีพุทธบ้าง แล้วทางที่จิตตเมตต์เลือกคืออะไร

“เราไม่ได้นิยามตัวเองให้เฉพาะเจาะจงว่าเป็นแนวไหน เพราะเชื่อว่าในการจัดการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กทุกแนวทาง ไม่ว่าจะเป็น วอลดอร์ฟ มอนเตสซอรี หรือวิถีพุทธ จะมีแก่นหรือรากฐานเดียวกัน คือการจัดการเรียนรู้บนความเข้าใจในพัฒนาการมนุษย์ อาจแตกต่างที่กระบวนการและรายละเอียดตามบริบทของโรงเรียน

ดังนั้น ถ้าต้องนิยาม จิตตเมตต์ เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้มาใช้ชีวิต เรียนรู้และได้พัฒนาตนเองผ่านกระบวนการเล่น ดนตรี และศิลปะ อย่างสมวัย เพราะสามสิ่งนี้เป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญในการเรียนรู้ที่สร้างความสุขให้กับชีวิตเด็ก และเมื่อเรามีสามสิ่งนี้เป็นแกนกลาง แนวทางต่างๆ จะถูกหยิบมาเลือกใช้ในกิจกรรมให้เหมาะสม

ถ้าเดินเข้ามาในจิตตเมตต์ อาจจะได้เห็นบางอย่างที่เป็นวอลดอร์ฟ กิจกรรมมอนเตสซอรีเราก็มี กิจกรรมเพื่อให้เด็กได้มีสติรับรู้อยู่กับตัวเองตามวิถีพุทธ เราก็มี แต่ที่มีทุกวัน ไม่เคยขาด ก็คือเสียงหัวเราะ และสีสันของความคิดสร้างสรรค์ที่ลอยอบอวลทั่วพื้นที่ในโรงเรียน”

เล่นอย่างไรที่จิตตเมตต์

“อนุบาลที่นี่จัดการเรียนการสอนแบบชั้นคละวัย คือเด็กวัย 3-6 ขวบใช้ชีวิตร่วมกันในห้องเรียน โดยคุณครูทำหน้าที่จัดกิจกรรมให้เด็กได้เล่น แต่ในการเล่นที่แสนธรรมดานั้น จะมีอุบายต่างๆ แฝงอยู่ทั้งหมด เด็กจะได้ตัดสินใจที่จะเลือก เมื่อเลือกและทำแล้วพบอุปสรรค ครูจะเปิดโอกาสให้เด็กได้คิดแก้ปัญหาด้วยตัวเอง สิ่งสำคัญคือครูต้องมองเห็นว่า ในการที่เราจัดกระบวนการเรียนรู้ครั้งนั้น เด็กจะได้อะไรบ้าง

การถอดบทเรียนจึงเป็นกระบวนการที่สำคัญมาก เพราะครูจะได้เห็นว่า สิ่งที่ครูตั้งใจคาดไว้ บางครั้งเขาค้นพบว่ามันมีมากกว่าหรือน้อยกว่านั้น ทีมคุณครูจึงต้องหมั่นทบทวนและถอดบทเรียน เพื่อปรับลดทอน หรือเพิ่มเติมให้เด็กทุกช่วงวัยได้เรียนรู้อย่างเหมาะสมตามวัยของเขา

และด้วยความที่เป็นชั้นแบบคละวัย นอกจากที่เด็กจะได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่คุณครูจัดให้แล้ว ยังเป็นโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านบทบาทของความเป็น พี่โต พี่กลาง น้องเล็ก ที่เขาได้มีหลายสถานะเหมือนในชีวิตจริง เป็นการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม และผ่านวิถีชีวิตจริงอันเป็นธรรมชาติ

ภายใต้กระบวนการจัดการการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมและการใช้ชีวิตนั้น มีสิ่งที่สำคัญที่ต้องคำนึงถึงหนึ่งคือ Self หรือการสร้างตัวตน เด็กทำสิ่งนั้นแล้วเขาภูมิใจและมองเห็นคุณค่าในตัวเองไหม Self คือตัวตนของเด็ก การทำงานกับมนุษย์นั้นมีความละเอียดอ่อนมาก เด็กแต่ละคนมีความต่าง เราต้องเข้าใจความต่างนั้นให้ได้ เคารพและเฝ้ามองเด็กๆสร้างความเป็นตัวเค้าขึ้นมา

สองคือ EF หรือ Executive Function เป็นกระบวนการทำงานของสมองส่วนหน้า เมื่อเด็กๆทำกิจกรรม และมีประสบการณ์ที่หลากหลายในการใช้ชีวิต ทำให้เขาได้เรียนรู้จดจำนำมาใช้ กำกับและควบคุมตนเอง พาตัวเองไปสู่เป้าหมาย

และสุดท้ายคือ พัฒนาการสี่ด้านของเด็ก (ร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา) ทุกอย่างต้องเหมาะกับวัยของเขา ตรงนี้สำคัญมากๆ เพราะถ้าเราจัดกิจกรรมที่เราคิดว่าดี แต่มันยากเกินกว่าวัยของเด็ก เมื่อเขาทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ มันส่งผลโดยตรงต่อ Self  และทำให้กระบวนการพัฒนาของทักษะสมอง EF เกิดขึ้นไม่สมบูรณ์

“ศิลปะคือธรรมชาติของเด็ก เป็นธรรมดาที่เด็กชอบขีดเขียนและศิลปะเป็นตัวเชื่อมโยงการมีเสรีภาพทางความคิด และมันก็มีอัตลักษณ์ของตัวเองบนลายเส้นและผลงาน

เด็กไม่เคยมีอุปสรรคในการสร้างสรรค์ศิลปะ

นอกจากจะเป็นวันเล่นอิสระ ที่ห้องประชุมของโรงเรียน กำลังมีการจัดนิทรรศการภาพวาดที่ได้แรงบันดาลใจจากดนตรีและนิทานเรื่อง โถน้ำผึ้งของหมีน้อย ของเด็กๆ ชั้นอนุบาล 3 ที่จัดจริงจังราวกับเรากำลังเดินเข้าไปในแกลเลอรีเท่ๆ เพื่อชมงานของศิลปินเบอร์ใหญ่

“ผลงานของทุกศิลปินมีคุณค่า รวมถึงผลงานของเด็กด้วย โรงเรียนจะมีการจัดทริปพาเด็กๆ ไปดูงานศิลปะนอกสถานที่อยู่เสมอ ซึ่งเวลาที่เขาไปดู ปกติงานศิลปะมันจะชิ้นใหญ่ ครูจึงออกแบบโจทย์ให้เด็กได้เลือกที่จะมองในมุมของเขา ว่าเขาชอบตรงไหน จากรูปใหญ่ๆ นั่น มีตรงไหนที่เขาสนใจและชอบ มันคือเสรีภาพในการเสพศิลปะของเด็ก และเราเคารพในความชอบของเขา

ที่ห้องศิลปะของโรงเรียนจะมีรูปภาพและหนังสือผลงานของศิลปินวางไว้ และเด็กๆ จะเปิดอ่านไม่ต่างจากนิทานในห้องสมุดเลย ที่บอกว่าศิลปะดูยากนั้นเป็นการตีความของผู้ใหญ่ทั้งนั้น ถ้าเราตัดข้อจำกัดนี้ออกไป เราจะเห็นเลยว่าศิลปะและภาษานั้นไม่เคยเป็นอุปสรรคหรือข้อจำกัดของเด็ก ศิลปินไม่ใช่เรื่องยิ่งใหญ่ที่แตะต้องไม่ได้ เด็กไม่รู้ด้วยซ้ำว่านั่นคือศิลปินระดับโลก ความสวยคือสวย ชอบก็คือชอบ สำหรับเด็กมีแค่เท่านั้น

ศิลปะคือธรรมชาติของเด็ก เป็นธรรมดาที่เด็กชอบขีดเขียนและศิลปะเป็นตัวเชื่อมโยงการมีเสรีภาพทางความคิด และมันก็มีอัตลักษณ์ของตัวเองบนลายเส้นและผลงาน ศิลปะนำมาซึ่งความคิดสร้างสรรค์ และในขณะที่เด็กทำงานศิลปะ เด็กได้อยู่กับตัวเอง ทำให้เกิดภาวะที่เขามีสติและเกิดสมาธิ สงบ และมีความสุขได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องอาศัยเพื่อน หรือของเล่นใดๆ

ในงานศิลปะจริงๆ คุณค่าไม่ใช่แค่ความคิดสร้างสรรค์​ แต่กระบวนการที่เด็กจะเลือกใช้สี เลือกใช้อุปกรณ์ต่างๆ มันมีความหมายกับตัวเขาทั้งหมด เป็นพื้นที่ให้เขาได้อยู่กับตัวเอง คุยกับตัวเอง และถ่ายทอดผ่านงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ ที่โรงเรียนเปิดกว้างให้เขาได้ทดลอง ทุกเย็นวันศุกร์ ห้องศิลปะจะเปิดต้อนรับให้เด็กๆ ได้เข้ามาเลือกประดิษฐ์อิสระ หรือจะทดลองทำงานศิลปะอะไรก็ได้เต็มที่ เราเพียงจัดเตรียมพื้นที่และสื่ออุปกรณ์ให้เขาเท่านั้น”

เคลื่อนไหวไปตามจังหวะดนตรีแบบออร์ฟ (Orff Schulwerk)

สิ่งสำคัญข้อที่สามต่อจากการเล่นและศิลปะ ก็คือการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมดนตรีและการเคลื่อนไหวสำหรับเด็ก ตามแนวทางของออร์ฟ ชูลส์แวร์ก ไม่เพียงแค่สอนให้เด็กมีทักษะ ความสามารถทางดนตรีเท่านั้น แต่คำนึงถึงการเรียนรู้อย่างมีความสุข สนุกสนาน คิดสร้างสรรค์และค้นพบความสามารถของตนเอง เป็นการนำเอาธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวเด็กออกมา เด็กได้เรียนรู้จังหวะ การเคลื่อนไหว เล่นเครื่องดนตรี และการใช้ชีวิตร่วมกัน ผ่านบทเพลงและท่วงทำนองที่หลากหลายตามบริบทอันเป็นวิถีชีวิตของชุมชนนั้นๆ

กิจกรรมที่เราได้เห็น คือเด็กๆ จะได้เคลื่อนไหวอย่างอิสระตามเสียงดนตรี แต่เมื่อถึงจังหวะที่เป็นสัญญาณของการหยุด แม้จะเป็นเด็กเล็กที่กำลังกระโดดโลดเต้น เขาสามารถจับจังหวะและกำกับตัวเองให้หยุด โดยที่ครูไม่ต้องออกคำสั่ง เป็นเพียงแค่ผู้ทำให้ดู จุดเล็กๆ ของการหยุดตามจังหวะคือทักษะการทำงานของสมองขั้นสูง หรือ EF ที่เด็กได้เรียนรู้ผ่านดนตรี

“ออร์ฟมีการเลือกใช้เครื่องดนตรีที่เหมาะสมกับความสามารถของเด็ก การเริ่มใช้เครื่องดนตรีประเภทตี เคาะ เขย่า เป็นเครื่องดนตรีที่เหมาะกับเด็กเล็ก

ระนาดไม้แบบออร์ฟที่ให้เด็กเล่น ก็จะเป็นแบบที่ถอดบาร์ตัวโน้ตออกได้ เพื่อให้เหลือโน้ตเท่าที่จะต้องใช้ในคีย์ของเพลงนั้นๆ เมื่อเด็กเล่นเสียงที่เกิดขึ้นจะไม่เพี้ยน เด็กตีแล้วก็เกิดความมั่นใจ  เมื่อร่วมเล่นกันเป็นวง ออกมาก็เป็นเสียงเพลงที่ไพเราะได้”

ห้องเรียนคละชั้นกับโอกาสในการเติบโตตามจังหวะของตนเอง

กิจกรรมการเล่น ทำงานศิลปะ ดนตรี เกิดขึ้นทุกวัน และสอดคล้องไปกับด้านที่เป็นการใช้ชีวิตในห้องเรียนแบบคละวัย ในหนึ่งห้องที่มีเด็กประมาณ 24-25 คน จะประกอบไปด้วยพี่โต พี่กลาง และน้องเล็ก ใช้ชีวิตดั่งครอบครัวโดยมีคุณครูสามคนเป็นเหมือนแม่ที่ดูแล จัดการเรียนรู้ และเฝ้าสังเกตการเติบโตของเด็กทุกคน

“การเรียนแบบชั้นคละวัยนั้นมีเสน่ห์ มีคุณแม่ที่มีลูกคนเดียวมาบอกว่า แม่ไม่คิดเลยว่าลูกเขาจะดูแลคนอื่นเป็น เพราะนี่คือโอกาสให้เด็กได้ใช้ชีวิตร่วมกันแบบครอบครัวที่มีพี่น้อง และยังได้โอกาสในการประเมินตัวเองเพื่อเติบโตตามจังหวะของเขา ที่บางครั้งก็อาจจะเร็วหรือช้ากว่าเพื่อนวัยเดียวกันไปบ้าง

เด็กบางคนเขาโตด้วยวัยก็จริง แต่ความพร้อมด้านอารมณ์และร่างกายอาจยังไม่เท่าเพื่อน ด้วยชั้นเรียนแบบนี้ เป็นโอกาสให้เขาได้เลือกที่จะเล่นกับน้องชั้นอนุบาลสอง เพราะเขาค้นพบความสำเร็จของเขา ว่าเขาทำได้เยอะกว่า พอเขาไปช่วยน้อง น้องก็จะชม มีน้องมาคอยดึงมือไปเล่นตรงโน้นตรงนี้ กลายเป็นขวัญใจของน้องๆ เขาก็จะเกิดความภูมิใจในตัวเองขึ้นมา เป็น Self ที่ค่อยๆ ก่อร่าง จนเมื่อวันหนึ่งเขาพร้อม เขาก็เดินเข้ากลุ่มเพื่อนวัยเดียวกัน เข้าไปเล่นกับเพื่อนๆ ได้ นั่นหมายความว่าเขาเติบโตและพร้อมแล้ว”

“โรงเรียนเราเชื่อว่าพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก คือพื้นที่ที่เด็กสามารถดูแล กำกับ และช่วยเหลือตัวเองได้ โดยไม่ต้องคอยมีผู้ใหญ่ระวังภัยให้เขาทั้งหมด เด็กควรได้รับโอกาสจากครูและพ่อแม่ ให้เขาได้เคลื่อนไหวใช้ร่างกายให้รู้ศักยภาพตัวเอง และใช้วิจารญาณเพื่อประเมินในสถานการณ์ต่างๆ”

เติบโตอย่างเป็นธรรมชาติ ในธรรมชาติ

สิ่งหนึ่งที่เชื่อว่าใครก็ต้องสัมผัสได้ เมื่อเดินเข้ามาในโรงเรียนแห่งนี้ คือบรรยากาศความสงบ อุ่นๆ มีความนุ่มละมุนของโทนสี เสียงดนตรีที่นำเด็กๆ เข้าแถวตอนเช้าก็เป็นเสียงระนาดไม้หลากหลายคีย์ตีกันสดๆ ซึ่งก็เป็นความตั้งใจของโรงเรียน ที่มองว่า พื้นที่และสภาพแวดล้อม ล้วนมีความสำคัญต่อการเรียนรู้และเติบโตของเด็กๆ

“ความเชื่อตั้งแต่ที่เราเริ่มทำโรงเรียน คือเราเชื่อในความเป็นธรรมชาติ การที่เด็กได้อยู่กับธรรมชาติ ใช้ชีวิตบนความเป็นธรรมชาติและธรรมดา เป็นสิ่งที่เราสอนไม่ได้ แต่เด็กจะเป็นและซึมซับผ่านการที่เราใช้ชีวิต

รายละเอียดในโรงเรียนล้วนเป็นโอกาสในการเรียนรู้ การที่เราใช้พื้นไม้ พื้นหิน พื้นผิวสัมผัสที่แตกต่าง การจัดภูมิสถาปัตย์เอาไว้แบบนี้ แม้ว่าเราไม่ได้จัดกิจกรรม แค่เด็กเดินเข้าในโรงเรียน เค้าก็ได้ตื่นรู้ตลอดเวลา เมื่อวิ่งจากพื้นเรียบไปเจอพื้นหิน เขาจะชะลอตัว กับพื้นที่มีหินขนาดต่างกัน เขาก็รู้ว่าจะปฏิบัติตัวกับผิวสัมผัสเหล่านั้นอย่างไร

หากมองจากอีกมุมอาจเห็นว่าเป็นความเสี่ยง แต่โรงเรียนเราเชื่อว่าพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก คือพื้นที่ที่เด็กสามารถดูแล กำกับ และช่วยเหลือตัวเองได้ โดยไม่ต้องคอยมีผู้ใหญ่ระวังภัยให้เขาทั้งหมด เด็กควรได้รับโอกาสจากครูและพ่อแม่ ให้เขาได้เคลื่อนไหวใช้ร่างกายให้รู้ศักยภาพตัวเอง และใช้วิจารญาณเพื่อประเมินในสถานการณ์ต่างๆ”

ในสัปดาห์แรกของการเปิดเทอม เราจะมีกิจกรรมปฐมนิเทศ ที่พาเด็กๆ เดินสำรวจรอบโรงเรียน เพื่อให้เด็กได้รู้จักพื้นที่ด้วยตัวเองก่อนจะเริ่มใช้ชีวิตในโรงเรียนนี้ เด็กควรจะได้รู้จักว่าบ้านของเขาเป็นอย่างไร เรามอบข้อมูลให้ ส่วนการประเมินตัวเองเป็นเรื่องของเขา

แต่แน่นอนว่าความเหมาะสมตามวัยยังต้องอยู่ เพราะมันคือสภาพแวดล้อมของเด็กวัยนี้ ให้ความโลดโผนในวัยที่เขารับมือได้ เราเป็นผู้อำนวยการสร้างและเฝ้าดู ไม่ได้ปล่อยให้เขาเผชิญตามลำพัง ช่วยระวังภัย และให้กำลังใจเขาไปพร้อมๆ กัน

“Sense of movement ที่ดีในวัยเด็กจะเชื่อมโยงไปสู่ทักษะด้านภาษาในวัยที่โตขึ้น ทักษะการฟังที่ดีเกิดขึ้นจากการเล่น จากดนตรี การฟังคือทักษะของการเรียนรู้เรื่องภาษา มันเป็นเรื่องเดียวกัน ทักษะทางภาษาไม่ใช่เพียงการอ่านออกเขียนได้ แต่คือความแตกฉาน คือ Literacy ที่ซับซ้อนกว่าเพียงแค่รู้ภาษา”

มอบเครื่องมือสู่การเรียนรู้ภาษา

ในยุคสมัยนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าความกังวลใจของพ่อแม่ที่มีต่อการเลือกโรงเรียนให้ลูกคือภาษาอังกฤษ และในโรงเรียนที่ให้ความสำคัญกับการเล่น ศิลปะ และดนตรีเช่นที่นี่ เอาภาษาอังกฤษไปไว้ตรงไหน และคิดเห็นอย่างไร

“เราเลือกชั่งน้ำหนักว่าในเด็กเล็กอะไรสำคัญที่สุด และพบว่า Self EF พัฒนาการสี่ด้าน และทักษะชีวิต คือสิ่งจำเป็นต้องสร้าง ถ้าเด็กคนหนึ่งโตขึ้นมาโดยได้รับสิ่งเหล่านี้ครบถ้วน เรามองว่าเขาจะมีศักยภาพในการเรียนที่ไม่ใช่แค่ภาษา และภาษาในที่นี้คือภาษาใดก็ได้ ไม่ใช่แค่เพียงภาษาอังกฤษ เขามีทักษะที่พร้อม เขาจะเลือกเรียนอะไรก็ได้

ตามหลักมนุษยปรัชญา ภาษายังเชื่อมโยงกับดนตรีและการเคลื่อนไหว Sense of movement ที่ดีในวัยเด็กจะเชื่อมโยงไปสู่ทักษะด้านภาษาในวัยที่โตขึ้น ทักษะการฟังที่ดีเกิดขึ้นจากการเล่น จากดนตรี การฟังคือทักษะของการเรียนรู้เรื่องภาษา มันเป็นเรื่องเดียวกัน ทักษะทางภาษาไม่ใช่เพียงการอ่านออกเขียนได้ แต่คือความแตกฉาน คือ Literacy ที่ซับซ้อนกว่าเพียงแค่รู้ภาษา

สิ่งที่โรงเรียนให้ ไม่ใช่การสอนภาษา แต่เรากำลังให้ทักษะพื้นฐาน ให้เครื่องมือเพื่อเด็กจะนำไปต่อยอดในวันที่เขาพร้อมและสนใจเรียนรู้ภาษา ครูเชื่อว่าหนูทำได้ถ้าหนูชอบ เพราะเด็กจะเรียนรู้ได้ดีต่อเมื่อเขารักที่จะเรียน และมีความสุขกับเรื่องนั้น”

โลกสวยงามตามความจริงของโรงเรียนทางเลือก

สุดท้ายการเดินเข้าไปในโรงเรียนทางเลือกสักแห่ง หนึ่งในสิ่งที่คนอาจคิดกังวลขึ้นมาก็คือ นี่มันเป็นการหลบหนีความจริงหรือเปล่า เพราะสังคมภายนอกมันโหดร้าย มันแข่งขัน เด็กที่เพียงวิ่งเล่นไปวันๆ อาจมีความสุขในตอนนี้เท่าที่มองเห็น แต่เมื่อเขาออกไปพ้นรั้วโรงเรียน โลกภายนอกจะยังเป็นพื้นทรายนุ่มๆ ที่รองรับเมื่อเขาล้มแบบนี้เสมอไปหรือ โลกในโรงเรียนทางเลือกแบบนี้ ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่โลกที่เขาต้องพบในชีวิตจริงใช่หรือเปล่า

“ทุกโรงเรียนมีเรื่องดีและไม่ดีเสมอ เสมือนจำลองโลกมาอยู่ในรั้วโรงเรียน มีเรื่องราวที่ทำให้เด็กทั้ง สุขและทุกข์ มีอารมณ์ต่างๆ นี่คือโลกแห่งความจริง และการเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นและสำรวจไปจนเห็นอารมณ์ทั้งหมด ก็คือความจริงทั้งนั้น ที่เด็กเล่นเขากำลังทำงาน เขากำลังใช้ชีวิต เขาเล่นกับเพื่อน ดีกัน โกรธกัน พูดจาไม่ดีต่อกัน แข่งขันกัน นี่คือสังคมจริงที่เด็กได้เผชิญผ่านการเล่นและใช้ชีวิต กลับกัน ถ้าเด็กนั่งโต๊ะอยู่กับตัวเอง ทำแบบฝึกหัด มีครูเป็นผู้ตัดสินถูกผิด ชี้ชะตาชีวิตว่าจะได้คะแนนเท่าไหร่ เป็นคนอย่างไร แบบนั้นน่าจะเป็นสิ่งที่เราควรกังวลมากกว่า ถ้าเค้าเติบโตไปในอนาคตเค้าจะมีทัศนคติต่อตัวเอง ผู้อื่นและโลกใบนี้อย่างไร  แต่เด็กที่ได้เล่น สุขทุกข์ตามวัย ผ่านความขัดแย้งกับเพื่อนจนต้องแก้ปัญหา วิ่งเล่นจนล้มคว่ำแล้วลุกขึ้นมาปัดแข้งปัดขาแล้วไปต่อ หรือร้องไห้เพราะเจ็บได้ครูมองว่านี่คือชีวิตที่แท้จริง

ดังนั้นการไปต่อชั้นประถมจึงไม่ใช่อุปสรรค แต่พ่อแม่ต้องเข้าใจก่อนว่าทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมไม่ง่าย ไม่ว่าเด็กจะมาจากโรงเรียนแนวไหน อย่างไรก็มีอุปสรรค เพราะมันคือการเริ่มต้นใหม่ แต่เด็กจะผ่านมันไปได้ดีเมื่อเขาเห็นคุณค่าในตัวเอง มี EF ในการกำกับตนเอง มีพัฒนาการพร้อมตามวัย และมีทักษะชีวิต มีความสุข ได้เล่นเพียงพอ เราเชื่อว่าเขาทำได้ ด้วยเครื่องมือทั้งหมดที่เด็กได้ใช้ตลอดการเติบโต ที่นี่

โลกของเด็กเหมือนโลกของเรา เพียงแค่ว่าเรามองไม่เห็นความทุกข์ของเขา เขามีความทุกข์ไม่ต่างจากที่เรามี แต่หากกายและใจเขาพร้อม เขาจะเผชิญปัญหาเหล่านั้นบนความเชื่อที่ว่า หนูทำได้ หนูจะผ่านมันไปได้ หนูจะลองหาวิธีดู เขาจะผ่านพ้นมันไปได้ เพราะ “เขาเห็นคุณค่าและเชื่อในศักยภาพของตัวเอง”

โรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย)
รับนักเรียนตั้งแต่: เตรียมอนุบาล-อนุบาล 3 (อายุ 1.8 – 6 ปี)
ค่าธรรมเนียมการศึกษา
1 ปีการศึกษา มี 2 ภาคเรียนใหญ่ (4 ภาคย่อย)
ภาคเรียนใหญ่ละประมาณ 71,900 บาท
ที่อยู่: 36/103  ถ.ทุ่งมังกร แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน กทม. 10170
เบอร์โทร: 02-8841303, 084-1454886
Website: http://www.jittamett.ac.th/
Facebook: https://www.facebook.com/jittamett.kindergarten 

Nidnok

‘นิดนก’ เป็นคุณแม่ของน้อง ณนญ / เป็นนักเขียนสาวเชิงรุก เจ้าของผลงานหนังสือ 'POWER BRIDE เจ้าสาวที่กลัวสวย' และ 'TO BE CONTINUE- โปรดติดตามตอนแต่งไป'

COMMENTS ARE OFF THIS POST