READING

5 พฤติกรรมธรรมด๊า ธรรมดาของลูก ทีทำให้พ่อแม่เป็นกั...

5 พฤติกรรมธรรมด๊า ธรรมดาของลูก ทีทำให้พ่อแม่เป็นกังวล

child behaviors

การเฝ้าสังเกตพัฒนาการของลูกน้อย คือสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะพัฒนาการในช่วงเวลาห้าปีแรกของลูก ที่นอกจากจะเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของช่วงวัยแล้ว พัฒนาการและพฤติกรรมต่างๆ ของลูกยังต้องการการส่งเสริม สนับสนุน และความเข้าใจจากคุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างมาก

เพราะอะไรน่ะเหรอ… ก็เพราะบางพฤติกรรมของลูก ถึงแม้จะพอเข้าใจได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการตามธรรมชาติ แต่พอลูกทำบ่อยๆ เข้า คุณพ่อคุณแม่ก็เริ่มไม่แน่ใจว่า เอ๊ะ นี่ลูกเรากำลังเรียนรู้ หรือกำลังท้าทาย (และกวนประสาท) หรือบางพฤติกรรมก็ทำให้คุณพ่อคุณแม่มีความกังวลว่า มีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นกับลูกหรือเปล่า…

ก่อนที่จะไม่สบายใจกันมากไปกว่านี้ เรามาดูพฤติกรรมธรรมดาของเด็กๆ ที่คุณพ่อคุณแม่เห็นแล้วมักจะ เอ๊ะ… นี่มันธรรมดาจริงๆ ใช่ไหมเนี่ย! กันดีกว่า

1. ลูกชอบหยิบของเข้าปาก

toddlerdevelopment_web_1

เด็กวัย 4-6 เดือน พอเริ่มใช้มือหยิบจับสิ่งของเองได้ ก็จะเอาสิ่งของนั้นเข้าปากทันที เพราะเด็กวัยนี้กำลังเรียนรู้สิ่งรอบตัวจากการสัมผัส และการสัมผัสที่คุ้นเคยที่สุดก็คือลองเอาเข้าปาก เพื่อเรียนรู้ทั้งเรื่องรสชาติ ความแข็ง ความนุ่ม และผิวสัมผัสของสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง

และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เมื่อลูกอายุได้ 6 เดือน เป็นวัยที่ฟันน้ำนมเริ่มขึ้น ทำให้ลูกรู้สึกคันเหงือก อยากจะกัดแทะสิ่งของให้หายคันเหงือกสักเล็กน้อย คุณพ่อคุณแม่อาจใช้เวลานี้เพิ่มโอกาสพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ ให้ลูกได้เรียนรู้ เช่น เปลี่ยนจากสิ่งของมาเป็นขนมที่เหมาะกับช่วงวัยของลูก เพื่อให้ลูกได้ลองหัดเคี้ยว และเรียนรู้เรื่องการรับรสชาติจากขนมจะดีกว่าสิ่งของจะดีกว่าเป็นไหนๆ

2. ลูกชอบโยนของ

toddlerdevelopment_web_2

  เด็กในวัยหัดเดิน หรือช่วงอายุตั้งแต่ 1 ขวบครึ่งถึง 3 ขวบ เรียกได้ว่าเริ่มเป็นวัยแห่งนักสำรวจ นักทดลอง มักจะชอบจับสิ่งของและปล่อยลงพื้นหรือขว้างทิ้ง เพราะเริ่มเรียนรู้ว่าตัวเองสามารถเคลื่อนไหวและทำอะไรกับสิ่งของได้บ้าง จึงรู้สึกสนุกเมื่อได้หยิบของแล้วโยนออกไปให้ไกลที่สุด ได้ปาของลงพื้นแล้วเห็นการกระเด็นกระดอน และบางทีก็รู้ว่าเมื่อเขาเริ่มขว้างปาสิ่งของ คุณพ่อคุณแม่ก็จะรีบเข้ามาห้ามหรือตามมาเก็บของทันที จึงใช้วิธีนี้เรียกร้องความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่

แต่พอลูกเริ่มมีพฤติกรรมขว้างปาสิ่งของบ่อยเข้า คุณพ่อคุณแม่ก็เริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า ควรจะปล่อยให้ลูกเรียนรู้ศักยภาพของตัวเองต่อไปหรือต้องรีบหยุดพฤติกรรมลูกตั้งแต่ตอนนี้…

เราอยากจะบอกคุณพ่อคุณแม่ทุกคนว่า นี่คือโอกาสอันดีที่เราจะได้ส่งเสริมพัฒนาการของลูกด้วยการเปลี่ยนจากการโยนสิ่งของเป็นชวนลูกเล่นโยนลูกบอลใส่ตะกร้า หรือโยนของลงในถังน้ำแล้วสังเกตว่าสิ่งของนั้นจะเป็นอย่างไร ก็จะช่วยฝึกให้ลูกเป็นเด็กช่างสังเกต พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก และใช้โอกาสนี้สอนให้ลูกรู้ว่าสิ่งของอะไรที่ไม่ควรขว้างปา และอะไรที่สามารถนำมาเล่นได้

3. ลูกชอบพูดคุยคนเดียว

toddlerdevelopment_web_3

พอลูกอายุได้ 2-3 ปี คุณพ่อคุณแม่อาจจะเคยสังเกตว่าลูกเริ่มมีพฤติกรรมพูดคุยคนเดียว หรือบางครั้งก็ทำเหมือนกำลังคุยกับเพื่อนในจินตนาการมีงานวิจัยจาก Bangor University และ University o f Chicago สรุปเอาไว้ว่าคนที่พูดคุยกับตัวเอง และสัตว์เลี้ยงบ่อยๆ มีแนวโน้มที่จะเป็นคนฉลาดกว่าคนทั่วไป และจากการทดลองกับอาสาสมัคร 20 คน เพื่อดูความแตกต่างระหว่างการพูดกับตัวเองแบบออกเสียงและไม่ออกเสียง อ่านหนังสือแบบออกเสียงและอ่านในใจ และการจดจำสิ่งของต่างๆ ในซูเปอร์มาร์เก็ตด้วยการพูดทวนซ้ำๆ ผลลัพธ์ที่ออกมาแสดงให้เห็นว่าการพูดคุยและอ่านแบบมีเสียงกับตัวเอง ทำให้มีสมาธิมากขึ้น และหาสิ่งของในซูเปอร์มาร์เก็ตได้ไวขึ้นประมาณ 50 ถึง 100 มิลลิวินาที

 ดังนั้น ในช่วงวัยนี้ ถ้าเห็นลูกนั่งเล่นคนเดียว และพูดคนเดียวบ้างก็อย่าเพิ่งเข้าไปห้ามหรือกลัวว่าลูกจะมีความผิดปกติไปเลยค่ะ แต่ให้ลองเฝ้าดูพฤติกรรมของลูกไปเรื่อยๆ เพราะโดยธรรมชาติแล้วพฤติกรรมเหล่านี้จะลดและหายไปเองเมื่อโตขึ้น

4. ลูกถามไม่หยุด

toddlerdevelopment_web_4

พอลูกอายุได้ 3-4 ปี ก็ถึงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนนิยามว่าลูกเริ่มทำตัวเป็นเจ้าหนูจำไม เพราะชอบสงสัยและตั้งคำถาม แล้วยังถามย้ำๆ ซ้ำๆ หรือถามในสิ่งที่รู้คำตอบอยู่แล้ว นั่นเป็นเพราะเด็กวัยนี้เริ่มเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ลูกจะชอบสังเกต อยากรู้อยากเห็น และต้องการคำอธิบายไปซะทุกเรื่อง

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรแสดงท่าทีรำคาญ ตัดบท หรือไม่รับฟังคำถามของลูก เพราะจะทำให้ลูกสูญเสียความมั่นใจและขัดขวางการเรียนรู้ของลูกได้

5. ลูกชอบแย่งของเพื่อน

toddlerdevelopment_web_5

เด็กวัย pre school หรือวัยเตรียมตัวเข้าโรงเรียน จะเริ่มว่ารู้ตัวเองชอบและไม่ชอบอะไร อยากได้อะไร อยากทำอะไร เรียกได้ว่าเป็นวัยที่เข้าใจถึงการมีตัวตนของตัวเองเต็มที่ และยังเป็นวัยที่ชอบแย่งของของคนอื่นอีกด้วย!

เห็นแบบนี้คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องกังวลใจเป็นธรรมดา กลัวว่าลูกจะเป็นเด็กไม่ดีในสายตาคนอื่น และจะมีปัญหาในการเข้าสังคมต่อไปไหม

แต่ความจริงแล้วพฤติกรรมแย่งของคนอื่นเป็นหนึ่งในพัฒนาการตามธรรมชาติของเด็กที่เริ่มเข้าสังคม แต่ด้วยความที่ลูกยังไม่เข้าใจกฎกติกาของการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เมื่อรู้สึกอยากได้อะไร ก็จะใช้วิธีพยายามแย่งชิงมาเป็นของตัวเอง เพราะไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรจึงจะเหมาะสม

ดังนั้นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก็คือสอนให้ลูกรู้ว่า เมื่อลูกต้องการของของคนอื่นควรทำอย่างไร เช่น ขออนุญาตจากเจ้าของ และรอให้เจ้าของเป็นคนยื่นสิ่งของนั้นให้ด้วยตัวเอง นอกจากนั้นยังใช้โอกาสนี้สอนให้ลูกรู้จักการแบ่งปันเมื่อมีคนต้องการหยิบยืมของของเราควบคู่ไปด้วยก็ยังได้

อ้างอิง
cdc
childdevelopmentinfo
theconversation

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST