การเลือกโรงเรียนอนุบาลเป็นอะไรที่สำคัญหนักมาก จะเลือกโรงเรียนอนุบาลซึ่งเป็นเหมือนบ้านหลังที่สองให้ลูกทั้งที คุณพ่อคุณแม่คงต้องคิดหนักกันไปข้างหนึ่ง
ไหนจะโรงเรียนทางเลือก โรงเรียนสองภาษา โรงเรียนนานาชาติ หรือจะเลือกตามแนวทางการเรียนการสอน เช่น มอนเตสซอรี (Montessori), วอลดอร์ฟ (Waldorf), เรกจิโอเอมิเลีย (Reggio Emilia) และวิถีพุทธ ก็ยิ่งตัดสินใจเลือกยากเข้าไปอีก
แต่ก่อนจะตัดสินใจเลือกโรงเรียนให้เจ้าตัวเล็ก เราชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความรู้จักกับโรงเรียนอนุบาลรูปแบบต่างๆ กันอีกครั้ง มาดูกันว่าโรงเรียนแบบไหนที่จะเหมาะกับสไตล์ของครอบครัวเราที่สุดกันแน่
1. โรงเรียนอนุบาลแนวเตรียมความพร้อม
โรงเรียนอนุบาลแนวเตรียมความพร้อม หรือที่บางคนเรียกว่า ‘โรงเรียนทางเลือก’ เป็นโรงเรียนสุดฮิตที่คุณพ่อคุณแม่สนใจกันมากขึ้นทุกปี เน้นพัฒนาศักยภาพของลูกโดยมีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง มีความเชื่อว่าปฐมวัยเป็นวัยที่เหมาะกับการเรียนรู้ผ่านการเล่นและลงมือทำ จึงไม่เน้นการอ่านเขียน หรือให้เด็กท่องจำตำรา
โรงเรียนอนุบาลแนวเตรียมความพร้อมหลายโรงเรียน ให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมกับการเรียนของลูก และให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อม เช่น จัดให้โรงเรียนดูอบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน หรือมีความน่ารักน่าสำรวจ มีของเล่นกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กๆ จากภายใน ซึ่งแบ่งออกเป็นสไตล์ต่างๆ ดังนี้
-
สนุกอย่างอิสระแต่มีขอบเขตแบบมอนเตสซอรี (Montessori)
ถูกสร้างโดยมาเรีย มอนเตสซอรี—แพทย์ชาวอิตาลีช่วงปลายค.ศ.1800 ถือเป็นแนวคิดยุคแรกๆ ที่คิดว่าไม่ควรใช้ความรุนแรงสอนเด็ก แต่ควรให้เด็กเติบโตตามธรรมชาติและความสามารถของเขา เด็กจึงเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้
จุดเด่น
– มีความเชื่อว่าเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน จึงควรได้รับการยอมรับและพัฒนาในแบบของแต่ละคน
– เด็กจะเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมรอบตัว จึงควรจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ให้เหมาะกับการเรียนรู้
– คุณครูเป็นผู้สนับสนุน แนะนำ และสังเกตความสนใจของเด็ก โดยเปิดโอกาสให้เด็กแก้ปัญหาเอง และเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจอย่างอิสระ
– เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเองตามความสนใจจากสิ่งแวดล้อม และเรียนรู้ผ่านการเล่นและการทำกิจกรรมกลุ่ม ซึ่งใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5
– เปิดโอกาสให้เด็กทำงานในสถานการณ์และอุปกรณ์จริง เช่น ทำอาหาร ทำความสะอาด และช่วยเหลือตัวเอง ทำให้เด็กรู้จักรับผิดชอบ ฝึกฝนทักษะชีวิต พอใจและภาคภูมิใจต่อความสำเร็จที่เกิดขึ้น ทำให้เชื่อมั่นและเห็นคุณค่าตัวเอง
– เด็กได้เรียนร่วมกับเพื่อนที่มีความแตกต่างกัน เพราะในแต่ละห้องเรียนจะจัดกลุ่มคละกันในห้อง สำหรับเด็กที่ช่วงอายุห่างกันประมาณ 3 ปี เช่น อายุ 0-3 ปีเรียนด้วยกัน
-
รักษาจิตวิญญาณความเป็นเด็กเแบบวอลดอร์ฟ (Waldorf)
มีรากฐานมาจากรูดอล์ฟ ชไตเนอร์—นักปรัชญาชาวออสเตรีย เป็นแนวคิดที่เชื่อในมนุษยนิยม ให้ความสำคัญกับจินตนาการ เน้นรักษาสมดุลและความเป็นธรรมชาติของวัยเด็ก
จุดเด่น
– ให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ ต้องการรักษาจิตวิญญาณและจิตใจของเด็ก
– คุณครูมองเด็กในฐานะมนุษย์ ที่ประกอบด้วยร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณที่มีความแตกต่าง รู้จักเด็กให้ถึงลักษณะเฉพาะของแต่ละคนให้มากที่สุด และส่งเสริมให้เกิดแรงจูงใจจากข้างใน เพื่อให้เด็กเรียนรู้และค้นพบจุดแข็งและความสามารถตามธรรมชาติของเขา
– ไม่มีการสอนอ่านเขียน หรือคำนวณในระดับอนุบาล เด็กจะได้เรียนรู้ผ่านการเล่นและการทำกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการทำตามแบบอย่างของครู เด็กๆ จะได้คิดและลงมือทำด้วยตัวเองทั้งกระบวนการ เพื่อพัฒนาจิตวิญญาณ จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ด้วยการเชื่อมโยงความรู้รอบด้าน
– ปรัชญาของวอลดอร์ฟเน้นศิลปะ ดนตรี และการเล่น ซึ่งถือเป็นงานของเด็กเล็ก และให้ความสำคัญกับจินตนาการมาก
– จัดสภาพแวดล้อมโรงเรียนให้ดูอบอุ่นและเป็นกันเองเหมือนบ้าน ด้วยของเล่นไม้ วัสดุจากธรรมชาติ และสีสันที่มีผลต่อพฤติกรรมเด็ก
– ไม่ให้เด็กใช้สื่อต่างๆ และโทรทัศน์ก่อนวัยสมควร เพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งที่กีดขวางจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก
-
โตไปเป็นพลเมืองที่ดีของโลกแบบเรกจิโอเอมิเลีย (Reggio Emilia)
เริ่มต้นจากทางเหนือของอิตาลีโดย เรกจิโอ เอมิเลีย ปัจจุบันแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา หลักการโดยรวมคือสนับสนุนให้เด็กๆ สำรวจสิ่งรอบตัว โดยมีครูเป็นคนช่วย และเน้นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและสังคม
จุดเด่น
– แนวคิดก็คือการสร้างพลเมืองที่ดีและมีความรับผิดชอบต่อโลก
– เด็กๆ จะสื่อความเข้าใจ สิ่งที่เขาคิด อารมณ์ และความคิดสร้างสรรค์ผ่านการวาดภาพ การเต้น การเคลื่อนไหว การเล่น ดนตรี และอื่นๆ ได้อีกเป็นร้อยวิธี ซึ่งถือเป็นภาษาที่เด็กๆ สื่อสารออกมา
– ความสัมพันธ์เป็นหัวใจสำคัญในการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับผู้ใหญ่หรือเด็กคนอื่นๆ โรงเรียนจึงเน้นให้เด็กๆ มีความร่วมมือกันด้วยการทำงานเป็นกลุ่ม ให้เด็กแต่ละคนมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน
– บทบาทของผู้ใหญ่คือสังเกต ฟังคำถาม และเรื่องราวของเด็กๆ เพื่อค้นหาสิ่งที่เขาสนใจ โดยครูคอยให้ความช่วยเหลือ ใช้คำถามของเด็กๆ เป็นโอกาสในการเรียนรู้และค้นหาคำตอบร่วมกัน แทนที่จะตอบคำถามเด็กเพียงอย่างเดียว
– ครูต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เด็ก ต้องมีลักษณะเป็นนักค้นคว้า นักวิจัย และนักสำรวจ เพื่อนำพาเด็กไปสู่การเรียนรู้ที่ก้าวหน้า ให้เป็นคนที่อยากจะเรียนรู้ตลอดชีวิต
– สิ่งแวดล้อมเป็นครูคนที่สาม มีหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ กระตุ้นให้เด็กๆ เกิดความสนใจในเรื่องต่างๆ ครู พ่อแม่ และชุมชนจึงต้องมีส่วนร่วมในการจัดสภาพแวดล้อมให้เด็กได้เรียนรู้ สังเกต ตั้งสมมติฐาน และสำรวจ
-
ฝึกเป็นนักวิจัยตัวน้อยด้วยการเรียนรู้แบบโครงการ (Project Approach)
คือแนวคิดที่พัฒนามาจากการเรียนรู้แบบเรกจิโอเอมิเลีย เป็นการเรียนที่เปิดโอกาสให้เด็กสืบค้นข้อมูลด้วยตัวเองในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างลึกซึ้ง
จุดเด่น
– เชื่อว่าเด็กวัยอนุบาลชอบสำรวจสืบค้น และสนุกสนานกับการเรียนรู้สิ่งรอบตัว การเรียนจึงเน้นให้โอกาสเด็กๆ ได้ศึกษาสิ่งรอบตัวที่สนใจ
– วิธีการเรียนของเด็กจะคล้ายกับวิธีที่เราทำโพรเจกต์ คือ…
ขั้นเริ่มต้น: เด็กๆ บอกสิ่งที่ตัวเองสงสัย แล้วเลือกว่าจะศึกษาเรื่องอะไร มีครูให้คำแนะนำโดยไม่บอกคำตอบ แต่ให้เด็กคาดเดาคำตอบว่าน่าจะเป็นอะไร เอาไว้เปรียบเทียบทีหลัง
ขั้นรวบรวมข้อมูล: วางแผนไปสถานที่ต่างๆ หรือใช้หนังสือและสื่อต่างๆ เพื่อสำรวจสืบค้นให้ได้คำตอบ โดยมีครูช่วย รวมถึงจัดหาผู้เชี่ยวชาญที่สามารถตอบคำถามของเด็กๆ ได้ มาให้ความรู้ และรายงานสิ่งที่ค้นพบจากกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับเพื่อน
ขั้นสรุป: เด็กๆ นำสิ่งที่ค้นพบมาพูดคุย และจัดแสดงผลงานเพื่อแบ่งปันความรู้
– เป็นวิธีที่สอนให้เด็กรู้วิธีการเรียนรู้ (Learning to Learn) ทำให้สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองไปตลอดชีวิต และยังสอนวิธีการคิดรูปแบบต่างๆ (Learning to Think) ทำให้สามารถพิจารณาข้อมูลอย่างมีเหตุมีผล รู้จักนำข้อมูลมาเปรียบเทียบ วิเคราะห์ และสังเคราะห์ได้ตามวัย เป็นวิธีการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการทำงานของสมอง
– ครูจะช่วยบูรณาการกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคมศึกษา หรือสุขศึกษาเข้าไป ให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง
-
เรียนภาษาอย่างธรรมชาติ (Whole Language Approach)
คือการสอนภาษาแบบบูรณาการ ผ่านการฟัง พูด อ่าน และเขียน เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการด้านภาษาได้ง่ายและเร็วขึ้น
จุดเด่น
– เชื่อว่าเด็กเกิดมาพร้อมกับความสามารถเรียนรู้ภาษาด้วยตัวเองจากสิ่งต่างๆ รอบตัว ผ่านการพูด ฟัง อ่าน และเขียน เน้นสอนให้เด็กเข้าใจความหมายของคำเป็นประโยคเพื่อใช้สื่อสาร ไม่ใช่ท่องจำเป็นคำๆ
– จัดสภาพแวดล้อมให้เด็กได้ใช้ภาษาสื่อสาร เช่น การถามตอบง่ายๆ การเล่านิทาน หรือการแสดงบทบาทสมมติ
– ครูกระตุ้นให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและครูในบรรยากาศอบอุ่น ไม่บังคับให้ท่องจำ หรือทำโทษเมื่อพูดผิดเขียนผิด ทำให้เด็กมีทัศนคติดีกับภาษา เพราะเด็กเรียนรู้ภาษาด้วยตัวเอง
– เด็กจะฟัง พูด อ่าน และเขียนได้โดยวิธีธรรมชาติ เพราะความคุ้นเคยกับหนังสือ และมีประสบการณ์กับตัวหนังสือที่มาพร้อมกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ทำให้เคยชินกับการเรียนรู้ภาษาจากสิ่งรอบตัว และฝึกฝนให้เป็นนักอ่านนักเรียนรู้ภาษาที่ดี
– เด็กจะมีจินตนาการและพัฒนาการสมวัย เพราะเรียนรู้จากการสร้างสัญลักษณ์แทนภาษาขึ้นมา ก่อนจะพัฒนาไปสู่การเรียนการสอนแบบอ่านออกเขียนได้
-
วางแผนและลงมือกับไฮหรือสโคป (High/Scope Approach)
แนวคิดนี้มาจากทฤษฎีพัฒนาการทางจิตวิทยา และงานวิจัยของนักจิตวิทยากับนักการศึกษา ซึ่งเน้นพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ ของเด็ก ทั้งความอิสระ การแก้ปัญหา และทักษะการสื่อสารที่จำเป็นในสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
จุดเด่น
– เน้นการเรียนรู้แบบลงมือทำ ผ่านการเล่นที่หลากหลาย ด้วยสื่อและกิจกรรมที่เหมาะกับพัฒนาการของวัยนั้นๆ
– ในแต่ละวันเด็กๆ จะได้ลงมือทำ ในห้องเรียนที่จัดสภาพแวดล้อมไว้อย่างดี และทำกิจวัตรประจำวันสม่ำเสมอ
– ครูเป็นผู้สนับสนุนและผลักดันให้เด็กๆ เกิดกระบวนการ plan, do, review คือก่อนที่จะเริ่มทำกิจกรรม เด็กๆ จะวางแผนโดยมีครูช่วย เช่น จะทำอะไร จะใช้อะไรทำ ทำกับใคร จากนั้นลงมือทำให้สำเร็จ แล้วทบทวนสิ่งที่พวกเขาได้ทำกับครูและเพื่อนร่วมชั้น โดยแต่ละกิจกรรมจะใช้วิธีนี้จนเป็นกิจวัตร
– เน้นการเรียนรู้แบบ Active Participatory Learning คือการที่เด็กๆ มีประสบการณ์ตรงกับคน สิ่งของ เหตุการณ์ และความคิด ซึ่งหัวใจสำคัญของไฮ/สโคปก็คือ การที่เด็กๆ มีความสนใจและมีทางเลือก
-
ความฉลาดไม่ได้มีแค่ด้านเดียว กับการเรียนสไตล์พหุปัญญา (Multiple Intelligences)
แนวคิดนี้นำมาจากทฤษฎีของนักจิตวิทยาการพัฒนาชาวอเมริกัน—โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ ในปี 1983 ซึ่งต่างจากทฤษฎีเรื่องความฉลาดที่เชื่อกันแต่เดิม ด้วยการเสนอว่าความฉลาดนั้นมีหลายด้าน ไม่ได้มีแค่คณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์
จุดเด่น
– ความฉลาดตามทฤษฎีของการ์ดเนอร์ แบ่งออกเป็น 8 มิติ
- ด้านการพูดและภาษา (Verbal/Linguistic Intelligence): ความสามารถการเรียนรู้ภาษาพูด ภาษาอ่าน และภาษาเขียน
- ด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ (Logical/Mathematical Intelligence): ส่วนนี้ใกล้เคียงกับแนวความเชื่อด้านความฉลาดดั้งเดิม คือความฉลาดเรื่องการให้เหตุผลและการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ เช่น แก้ไขโจทย์ตัวเลข และการคิดวิเคราะห์
- ด้านมิติสัมพันธ์ (Visual/Spatial Intelligence): ความสามารถในการรับรู้สภาพแวดล้อมโดยรอบ เช่น การกะระยะทางความลึก ความสูง ขนาด ความจุ และการใช้แผนที่
- ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว (Kinaesthetic Learning): ความสามารถในการเรียนรู้และควบคุมร่างกาย รวมถึงการมีเซนส์เรื่องเวลาที่ดี
- ด้านดนตรีและจังหวะ (Musical Intelligence): เกี่ยวกับการรับรู้ถึงเสียง จังหวะ การร้องเพลง และการเล่นดนตรี
- ด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น (Interpersonal Intelligence): มีความสามารถในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เป็นตัวกลาง เข้าใจและมีความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ
- ด้านการรู้จักตัวเอง (Intrapersonal Intelligence): ความสามารถในการเข้าใจตัวเอง ว่ามีความสนใจและเป้าหมายอะไร และควบคุมอารมณ์ตัวเองได้
- ด้านธรรมชาติ (Naturalistic Intelligence): ความสามารถในการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ
– เน้นเคารพจุดแข็งและความสนใจของเด็กแต่ละคน
– เด็กๆ จะมีพื้นที่เรียนรู้ที่ออกแบบมา เพื่อพัฒนาความฉลาดแต่ละด้านที่แตกต่างกัน
– กิจกรรมมีการผสมผสานกันอย่างลงตัว ระหว่างกิจกรรมในร่มและกลางแจ้ง และการทำงานเป็นรายบุคคลและกลุ่ม
-
เข้าใจความจริงของชีวิตแบบแนววิถีพุทธ
เป็นแนวการเรียนรู้ที่ใช้หลักธรรมคำสอนตามหลักพระพุทธศาสนา มาผสมผสานอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอน
จุดเด่น
– เป็นโรงเรียนปกติทั่วไป แต่นำหลักธรรมของพระพุทธศาสนามาประยุกต์ในการเรียน ซึ่งหลักศาสนาพุทธคือการศึกษาความจริงเป็นตัวตั้ง เรียนเรื่องข้างนอกเพื่อพัฒนาจิตใจข้างในตัวเอง
– นำวิถีวัฒนธรรมของชาวไทยส่วนใหญ่แต่ดั้งเดิม ที่มุ่งเน้นให้เข้าใจชีวิตที่แท้จริง และสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โรงเรียนวิถีพุทธจึงเน้นความเรียบง่ายและสมถะ
– เน้นการพัฒนาตามหลักไตรสิกขาอย่างบูรณาการ ได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา ให้ครอบคลุมการดำเนินชีวิตทุกด้าน สู่การพัฒนาที่สมบูรณ์
– มีบรรยากาศที่เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ทั้งครูต่อนักเรียน นักเรียนต่อครู นักเรียนต่อนักเรียน และครูต่อครูด้วยกัน
-
ผสมผสานตะวันตกตะวันออก แบบนีโอฮิวแมนิสต์ (Neo-Humanist)
แนวคิดนี้เริ่มต้นมาจาก พี.อาร์. ซาร์การ์ (P.R. Sarkar)—นักปราชญ์ชาวอินเดีย ที่นำศาสตร์ทางตะวันออกและตะวันตกมาผสมผสานเข้าด้วยกัน ทำให้นอกจากจะเห็นการเรียนการสอนที่ใช้เสียงเพลงและวิทยาศาตร์แล้ว ยังมีการให้เด็กๆ ฝึกสมาธิ ทำโยคะอีกด้วย
จุดเด่น
– พัฒนาเด็กอย่างเป็นองค์รวม โดยเชื่อว่าจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เกิดจากศักยภาพ 4 ด้านคือ ร่างกาย (Physical) ที่แข็งแรง, จิตใจ (Mental) มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เป็นตัวของตัวเอง มีความคิดสร้างสรรค์, จิตวิญญาณ (Spiritual) ที่จะช่วยเหลือผู้อื่น มีความเมตตา และมีความรู้ (Academic) มีความรู้เพื่อหาเลี้ยงตัวเองได้ การศึกษาที่ดีจะต้องจัดให้ครบทั้งหมดนี้
– ใช้กิจกรรมที่ทำให้คลื่นความถี่ของสมองต่ำ อ้างอิงจากงานวิจัยที่เชื่อว่าร่างกายที่อยู่ในภาวะคลื่นความถี่ของสมองต่ำ ทำให้เกิดความสงบทางจิตใจ อารมณ์ดี ใจเย็น มีความคิดสร้างสรรค์สูง เรียนรู้ได้ดี และเกิดสมาธิง่าย จึงฝึกให้เด็กๆ ทำโยคะ นั่งสมาธิก่อนเข้าห้องเรียน นอกจากนั้น การเล่านิทาน การกอด เสียงเพลง ท่าที หรือแม้แต่คำพูดจากคนรอบข้าง มีส่วนทำให้คลื่นความถี่สมองต่ำได้เช่นเดียวกัน
– มีความเชื่อว่าความฉลาดสามารถฝึกฝนกันได้ ขึ้นกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าพันธุกรรม และใช้หลักการพัฒนาเซลล์ประสาท ซึ่งเซลล์ประสาทจะทำงานประสานขยายตัวได้ดี เมื่อมือกับเท้าทำงานมาก เพราะปลายประสาทจะอยู่ตรงส่วนนี้มาก จึงให้เด็กทั้งเรียนและเล่น กิจกรรมเลยให้เด็กๆได้ออกนอกห้อง ได้ปีนป่าย ได้วิ่งเล่น เพื่อให้มือกับเท้าทำงานมากที่สุด
– พลังบวกเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งซึมซับในจิตใต้สำนึกตั้งแต่วัยเด็ก จึงควรปลูกฝังเรื่องด้านบวกและเรื่องที่ดีให้เขา ไม่ใช่การบ่นหรือดุว่าเขาเป็นเด็กดื้อ เด็กซน และเชื่อว่าถ้าเด็กรู้สึกว่าเขาได้รับความรักเต็มที่ เขาจะเผื่อแผ่ความรักไปสู่ผู้อื่น คุณครูในโรงเรียนนีโอฮิวแมนิสต์จึงต้องอ่อนโยน ยิ้มแย้มแจ่มใส ให้คำชมพร้อมสัมผัสเด็กด้วยการกอดซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความรัก
– พฤติกรรมของครูคือบทเรียนที่ดีที่สุดของเด็ก คุณครูจึงต้องสมบูรณ์พร้อมทั้งพฤติกรรมส่วนตัวและเทคนิคการสอน คุณครูต้องเชื่อมั่นในศักยภาพความเป็นมนุษย์ของเด็ก (Neo-Humanist Education) และเชื่อว่าเด็กตัวเล็กๆ สามารถพัฒนาได้อีกมากมาย
2. โรงเรียนอนุบาลแนววิชาการ
โรงเรียนอนุบาลแนววิชาการ เป็นโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ เน้นให้เด็กสามารถอ่านออกเขียนได้โดยเร็ว เนื่องจากเชื่อว่าเด็กมีศักยภาพในการเรียนรู้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสมอง เน้นฝึกฝนทางวิชาการในแต่ละด้าน เช่น วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ เพื่อเตรียมตัวเรียนในระดับสูงต่อไป
3. โรงเรียนอนุบาลหลักสูตรสองภาษา (Bilingual School)
ใช้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ เน้นการเรียนการสอนสองภาษา คือภาษาไทยกับภาษาที่สอง เช่น ภาษาอังกฤษหรือภาษาจีน และบางโรงเรียนอาจเพิ่มเป็นสามภาษา และใช้แนวความคิดของโรงเรียนทางเลือกเข้ามาผสม
4. โรงเรียนอนุบาลหลักสูตรนานาชาติ (International School)
เป็นโรงเรียนที่ไม่ใช้หลักสูตรการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ใช้หลักสูตรการศึกษาของต่างประเทศ เช่น หลักสูตรของประเทศสหรัฐอเมริกา หลักสูตรของประเทศอังกฤษ หลักสูตรของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งใช้ภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่นๆ เป็นหลัก
แต่ละโรงเรียนจะมีแนวทางเป็นของตัวเอง บางโรงเรียนก็นำหลายหลักสูตรมาประยุกต์รวมกัน เช่น โรงเรียนนานาชาติที่ใช้แนวคิดแบบมอนเตสซอรี ผสมเรกจิโอเอมิเลีย หรือโรงเรียนที่ชั้นเตรียมอนุบาลอาจใช้แนวทางหนึ่ง ส่วนอนุบาลและประถมใช้อีกแนวหนึ่งก็มี แล้วแต่ความชอบของคุณพ่อคุณแม่และลูกๆ
NO COMMENT