กี่ครั้งแล้วที่คุณต้องคอยบอกเจ้าตัวเล็กว่า “อย่าตีคุณแม่นะคะ”
รู้ไหมคะว่า การที่ลูกชอบตีตัวเองหรือตีคนอื่นนั้น อาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น ลูกกำลังโกรธ ลูกไม่พอใจ เขาอาจทำไปโดยสัญชาตญาณ หรือเป็นพฤติกรรมเลียนแบบเวลาที่พ่อแม่โมโหและลงมือตีเขา
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าลูกจะตีตัวเองหรือคนอื่นด้วยเหตุผลอะไร นี่คือวิธีที่จะทำให้ลูกหยุดตีได้ค่ะ
1. เข้าใจหนูหน่อย

อันดับแรกคุณต้องเข้าใจลูกก่อน ว่าทำไมลูกถึงตี เมื่อคุณเห็นลูกกำลังจะตีคนอื่น ให้คุณเข้าไปถามลูกว่าเกิดอะไรขึ้น แทนที่จะถามว่า ทำไมลูกถึงตีเขา เพราะลูกอธิบายไม่ได้หรอก ว่าทำไมถึงลงมือทำอย่างนั้น
คุณอาจถามลูกอีกว่า ลูกเคยเห็นคนตีกันจากที่ไหนมาก่อน จากโทรทัศน์ หรือเห็นเพื่อนทำที่โรงเรียน การทำแบบนี้จะทำให้เด็กเห็นถึงพฤติกรรมของตัวเอง และคุณก็จะเข้าใจมากขึ้น ว่าอะไรคือตัวกระตุ้นที่ทำให้ลูกไปตีคนอื่น
2. ตอบสนองทางกายภาพ

สอนให้ลูกสังเกตว่า ก่อนที่เขาจะตีคนอื่น ร่างกายเขามีความรู้สึกอะไรบ้าง เช่น หัวใจเต้นเร็ว หน้าและหูเริ่มร้อน หายใจเร็ว กำมัดแน่น เพื่อให้ลูกรู้ว่า ถ้าเขามีอาการแบบนี้ แปลว่าเขากำลังโกรธ และกำลังจะตีอีกฝ่าย
คุณอาจเสนอทางเลือกอื่นให้กับลูกแทนการตี เช่น หายใจเข้าลึกๆ เดินหนี หรือบีบลูกบอลแทน เป็นต้น
3. จับตาดูลูก

บางทีลูกอาจดูรายการโทรทัศน์ที่มีความรุนแรงมากเกินไปจนเอามาเลียนแบบ กรณีนี้ คุณอาจลดเวลาดูโทรทัศน์ของลูกลง และคัดกรองรายการที่ลูกควรดูให้มากขึ้น หรือบางทีลูกอาจเห็นเพื่อนลงมือตีคนอื่น จึงทำตาม คุณควรคุยกับลูกว่า แม่รู้ว่าลูกเห็นเพื่อนตีคนอื่นเวลาที่เขาโกรธ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าลูกควรทำตามเขา
4. หลีกเลี่ยงการตีลูก

การที่คุณตีลูก ลูกจะเข้าใจว่า การตีเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถกระทำกับผู้อื่นได้ และการตีจะช่วยแก้ปัญหาได้ เวลาที่ไม่ชอบหรือไม่พอใจอะไร เพราะฉะนั้น ถ้าคุณไม่อยากให้ลูกไปตีคนอื่น คุณก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีด้วยการไม่ตีลูกเช่นกัน
NO COMMENT