READING

NEWS UPDATE: อนามัยโลกเตือน ยาน้ำอินเดียปนเปื้อนอา...

NEWS UPDATE: อนามัยโลกเตือน ยาน้ำอินเดียปนเปื้อนอาจเกี่ยวข้องกับเด็กในแกมเบียจากไตวายเฉียบพลัน 66 ราย

องค์การอนามัยโลกประกาศแจ้งเตือนการใช้ยาน้ำแก้ไอและลดไข้ที่ผลิตโดย ‘ไมเดน ฟาร์มาซูติคอลส์’ บริษัทผลิตเวชภัณฑ์และยาจากประเทศอินเดีย หลังตรวจพบความเชื่อมโยงของสารปนเปื้อนในตัวยาและการเสียชีวิตของเด็กจำนวน 66 รายในประเทศแกมเบีย

องค์การอนามัยโลก แจ้งว่ายาที่องค์การอนามัยโลกประกาศแจ้งเตือนมี 4 ชนิด ได้แก่ ยาน้ำแก้แพ้ Promethazine Oral Solution ยานำแก้ไอสำหรับเด็ก 2 ชนิด ได้แก่ Kofexmalin Baby Cough Syrup และ Makoff Baby Cough Syrup รวมถึงยาลดไข้ชนิดน้ำ Magrip N Cold Syrup

โดยทางองค์การอนามัยโลกได้รับข้อมูลยืนยันจากองค์การควบคุมมาตรฐานยากลางแห่งชาติอินเดียว่า ตัวยาทั้ง 4 ชนิดดังกล่าว มีปริมาณไดเอทิลีนไกลคอลและเอทิลีนไกลที่เป็นสารเจือปนอยู่ในระดับที่เป็นอันตราย ส่งผลให้ผู้ที่ใช้ยามีอาการปวดท้อง อาเจียน ท้องร่วง ปัสสาวะไม่ออก ปวดศีรษะ สภาพจิตใตสับสน และภาวะไตวายเฉียบพลัน

สอดคล้องกับที่เท็ดรอส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ให้ข้อมูลต่อนักข่าวว่า ยาน้ำจากไมเดน ฟาร์มา เชื่อมโยงกับรายงานการเสียชีวิตของเด็ก ด้วยอาการไตวายเฉียบพลันจำนวน 66 รายในประเทศแกมเบีย และยังกล่าวอีกว่า องค์การอนามัยโลกกำลังเร่งสืบสวนเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวกับบริษัทผู้ผลิตยาและหน่วยงานที่กำกับดูแลในอินเดีย

ด้านเจ้าหน้าที่แกมเบียได้เริ่มเก็บรวบรวมยาพาราเซตามอล และยาน้ำ Promethazine จากครัวเรือนในชนบทของภูมิภาคชายฝั่งตะวันตก และภูมิภาคแม่น้ำตอนบนของประเทศแล้วในวันที่ 6 ตุลาคม ขณะที่การสืบสวนอันหนึ่งโดยกระทรวงสาธารณสุขของแกมเบียที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนถึงปัจจุบัน ระบุว่าเชื้อแบคทีเรียอีโคไลสามารถเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของภาวะไตวายเฉียบพลันนี้ได้

ส่วนเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขอินเดียก็กล่าวต่อสำนักข่าวรอยเตอร์ในวันเดียวกันว่า กำลังสอบสวนการที่เด็กจำนวนมากเสียชีวิตในแกมเบีย ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับยาที่ผลิตโดยบริษัทสัญชาติอินเดีย หลังได้รับข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก และจะมีการดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นทั้งหมด โดยอินเดียกำลังรอรายงานที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของสาเหตุการเสียชีวิตกับผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหา

อย่างไรก็ดี องค์การอนามัยโลกระบุว่า จนถึงตอนนี้ยังไม่ได้รับการการันตีใดๆ จากบริษัทไมเดน ฟาร์มา ทั้งในเรื่องของความปลอดภัยและคุณภาพของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ และว่าบริษัทผู้ผลิตยารายนี้ได้ผลิตและส่งออกยาที่พบสารเจือปนไปทั้งภายในประเทศแกมเบีย และประเทศโดยรอบในทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นไปได้ว่ายาอินเดียที่ปนเปื้อนนี้อาจแพร่กระจายไปทั่วโลกเช่นกัน

อ้างอิง
matichon

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST