READING

WORK WITH KIDS: คุยกับนักจิตวิทยาพัฒนาการ เมื่อควา...

WORK WITH KIDS: คุยกับนักจิตวิทยาพัฒนาการ เมื่อความรุนแรงในโรงเรียนทำให้เด็กต้องได้รับการเยียวยา

เมื่อโรงเรียน—สถานที่ที่ควรจะอบอุ่นและปลอดภัยสำหรับเด็กจนได้รับการเปรียบเทียบว่าเป็นเหมือนบ้านหลังที่สอง กลายเป็นที่ที่สร้างประสบการณ์และความทรงจำอันเลวร้ายให้กับเด็ก โดยเฉพาะในเด็กปฐมวัยซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญของการเจริญเติบโต การโดนทำร้ายจากคนที่ควรจะเป็นที่พึ่งให้เขาได้ ย่อมนำมาซึ่งความกระทบกระเทือนจิตใจและส่งผลต่อพัฒนาการด้านต่างๆ

M.O.M มีโอกาสได้คุยกับ คุณกิ๊บ—พนิดา จิตติมานุสรณ์ นักจิตวิทยาพัฒนาการ ถึงเรื่องราวการทำร้ายเด็กในโรงเรียน ที่อยู่ในความสนใจของพ่อแม่และผู้ปกครองในช่วงเดือนที่ผ่านมา ตอบข้อสงสัยว่าเด็กจะได้รับผลกระทบทางใจอย่างไรบ้าง พ่อแม่จะช่วยเยียวยาลูกที่ถูกกระทำอย่างรุนแรงได้อย่างไร และเพื่อไม่ให้เหตุการณ์เกิดขึ้นได้อีก พ่อแม่จะสังเกตพฤติกรรมของลูกอย่างไร

“เด็กในวัยอนุบาลอาจจะยังสื่อสารไม่เก่ง เพราะเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขารู้สึกอะไร เขารู้แต่ว่ามันมีบางอย่างที่ทำให้เขารู้สึกหวาดหวั่นและไม่มีความสุข”

เมื่อส่งลูกเข้าโรงเรียนแล้ว พ่อแม่จะมีวิธีสังเกตหรือรู้ได้อย่างไรว่า ลูกไปพบเจออะไรที่โรงเรียนบ้าง

โดยธรรมชาติแล้วทุกคนจะมีความสามารถในการรับมือกับโลกภายนอก ส่วนตัวเราคือโลกภายในที่คอยแปลสิ่งที่เจอจากโลกภายนอกออกมาเป็นความคิดและความรู้สึก

หมายความว่า ถ้าโลกภายนอกไม่มีความสุข โลกภายในก็ไม่มีความสุข และถ้าร่างกายคนเราสามารถสื่อสารตรงไปตรงมา คนภายนอกก็จะสามารถสังเกตได้ว่าเรากำลังมีปัญหาอะไร เช่น เราเห็นลูกไม่สดชื่น พฤติกรรมเปลี่ยนไป พูดน้อยลง พูดติดอ่างมากขึ้น หรือสภาวะที่เข้มข้นมากกว่านั้นก็คือ มีอาการฉี่ราด นอนกัดฟัน นี่คือสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะสังเกตได้ และถ้าเห็นลูกมีอาการแบบนี้ อาจจะลองสื่อสารกับลูกดูว่าช่วงนี้เป็นอะไรทำไมไม่มีความสุข ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับเด็กว่าเขาจะสื่อสารออกมาได้หรือไม่

เพราะความสามารถในการสื่อสารก็ขึ้นอยู่กับช่วงอายุอีก เด็กในวัยอนุบาลอาจจะยังสื่อสารไม่เก่ง เพราะเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขารู้สึกอะไร เขารู้แต่ว่ามันมีบางอย่างที่ทำให้เขารู้สึกหวาดหวั่นและไม่มีความสุข ส่วนเด็กที่สามารถสื่อสารได้ดีคือเด็กที่สามารถลำดับเหตุการณ์จากความทรงจำที่ผ่านมา และสามารถเล่าออกมาเป็นเรื่องราวได้แต่ถ้าเด็กยังเล่าหรือสื่อสารไม่ได้ วิธีที่จะช่วยสังเกตลูกได้ดีที่สุดสำหรับเด็กเล็ก คือ การเล่นบทบาทสมมติ เช่น เล่นคุณครูกับนักเรียน เล่นทําอาหาร เพราะเวลาที่เด็กเล่นบทบาทสมมติ มันทำให้เขาหยิบเรื่องราวในความทรงจำตัวเองออกมาทำซ้ำอีกครั้ง

เพราะฉะนั้นการสังเกตลูกต้องเริ่มจากสำรวจพฤติกรรมภายนอกก่อนว่าลูกเปลี่ยนไปในทิศทางไหนต่อมาคือสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัวของเขา ซึ่งคำว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กก็มีแค่ไม่กี่ที่ หนึ่งคือบ้านและสองก็คือโรงเรียน

ถ้าลูกอยู่ในช่วงวัยประถมต้น ความคิดเขาก็เริ่มซับซ้อนมากขึ้น เรื่องราวในโรงเรียนก็อาจจะไม่ใช่แค่คุณครูแต่มีเรื่องของเพื่อนเพิ่มเข้ามาอีก

แต่ถ้าเป็นเด็กอนุบาลหรือเด็กปฐมวัยจะสำรวจได้ง่ายกว่า เพราะเขายังมีการแสดงออกที่ตรงไปตรงมา ยังไม่มีกลไกการป้องกันตัว หรือบดบังพฤติกรรมและความรู้สึกข้างไหน ทำให้เมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นกับเขาไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม เขาก็จะมีพฤติกรรมให้สังเกตเห็นได้ทันที

พ่อแม่จะถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ลูกเจอมาอย่างไร ไม่ให้กระทบจิตใจลูก

เราตื่นนอนขึ้นมาทุกวันเพื่อเก็บเรื่องราวใหม่ๆ ส่วนเรื่องของวันก่อนก็จะกลายเป็นความทรงจำที่ค่อยๆ เลือนลางออกไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นพ่อแม่ต้องสร้างบรรยากาศใหม่ให้ลูก ถ้าลูกเจอเหตุการณ์ที่รุนแรงมา สิ่งที่พ่อแม่ทำได้คือเล่นสนุกกับลูกเพื่อให้เขาคลายความเครียดจากเรื่องนั้นก่อน แล้วค่อยๆ ถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และสังเกตอาการของลูกควบคู่ไปด้วย เช่น ถ้าลูกเริ่มมีอาการหวาดกลัว ผวา หรือยังไม่กล้าเล่ารายละเอียดมากนัก ก็ไม่จำเป็นต้องกดดันเอาคำตอบจากลูก ต้องรอเวลาให้เขาผ่อนคลาย

บางครั้งเด็กที่ถูกทำร้ายไม่กล้าบอกใครว่าตัวเองถูกทำร้าย พ่อแม่ควรจะสอนลูกอย่างไรดี

ต้องดูว่าเขามีพัฒนาการด้านภูมิต้านทานมากแค่ไหน เจ้าพัฒนาการตัวนี้จะไปคาบเกี่ยวกับพื้นอุปนิสัย เด็กบางคนอ่อนไหวต่อโลก แต่มีพัฒนาการร่างกายดี คือ ร่างกายแข็งแรงสามารถควบคุมการจัดการร่างกายได้ดี ระบบความคิดดี สามารถแยกแยะเหตุและผล แยกเรื่องจริงและเรื่องไม่จริงได้ ถึงแม้ว่าจะอ่อนไหว แต่เขาจะคิดได้ว่าถ้าสิ่งนั้นเกิดขึ้นกับฉัน จะตอบโต้ยังไง ให้ตัวเองไม่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่โดนกระทำรุนแรงถ้าเป็นเด็กที่พัฒนาการไม่ค่อยดี และยังเป็นเด็กที่อ่อนไหว สิ่งที่เราเห็นได้ก็คือเก็บตัวและก้าวร้าว เพราะเขายังไม่สามารถจัดการกับความรู้สึกของตัวเองได้ มันก็เลยปั่นป่วน สับสน และงุ่นง่านอยู่ภายใน สมองก็เลยสั่งให้แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมาเพื่อปกป้องตัวเอง อันนี้เป็นพฤติกรรมที่พ่อแม่ต้องสังเกต

สิ่งสำคัญที่สุดคือรับฟังลูกให้มากที่สุด กระชับความสัมพันธ์กับลูก สนิทกับลูกให้ได้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก และการรับฟังที่ดีคือต้องรับฟังจริงๆ พ่อแม่บางคนรับฟัง แต่ด้วยความที่รักและเป็นห่วงลูกมาก ฟังไปได้นิดเดียวก็อยากช่วยแก้ปัญหา รีบบอกให้ลูกทำแบบนั้นแบบนี้ ลูกก็จะรู้สึกว่า เรื่องของเขายังไม่ได้ถูกส่งไปถึงใจพ่อแม่เลย เพราะสำหรับเด็ก เรื่องบางเรื่อง เขาแค่อยากเล่าให้ฟังเท่านั้น

ถ้าเด็กรู้สึกว่า พ่อแม่ไม่ค่อยรับฟังหรือบางครั้งบอกแล้วยังโดนตำหนิกลับมา เขาก็จะไม่อยากเล่าให้พ่อกับแม่ฟัง และกดเรื่องนั้นไว้ในใจ แล้วก็หาทางปรับให้ตัวเองดำเนินชีวิตอยู่ต่อไปได้

เด็กที่ได้รับความกระทบกระเทือนจิตใจ จำเป็นต้องพบจิตแพทย์เสมอไปหรือเปล่า

ไม่ต้องพาไปหาคุณหมอในทันที แต่ให้พ่อแม่เริ่มจากการสังเกตว่าภายในสองสัปดาห์ อาการของลูกเป็นยังไงบ้าง ดูว่าสภาวะตื่นตระหนก วิตกกังวล อารมณ์ไม่ดี ก้าวร้าวมากขึ้น หรือร้องไห้หวาดผวา ค่อยๆ ลดน้อยลงบ้างไหม แต่ในระหว่างนั้นพ่อแม่ต้องไม่ใช่แค่ดูอย่างเดียว ต้องช่วยประคับประคองใจลูกไปด้วย เช่น จัดกิจวัตรประจำวันให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายหรือเล่นกับลูก ให้เขาสนุกสนานและสบายใจ

แล้วภายในสองสัปดาห์ก็มาดูว่าเขาอาการดีขึ้นไหม สงบขึ้นไหม ความหวาดผวาน้อยลงไหม ถ้ามีแนวโน้มที่ดีขึ้นก็อาจจะยังไม่ต้องพาไปพบจิตแพทย์ แต่ถ้าไม่ดีขึ้นเลย แนะนำว่าควรไปพบคุณหมอ เพื่อหาแนวทางว่าเราควรดูแลลูกประเด็นไหนเป็นพิเศษ หรือว่าลูกมีปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่ยังเราคาดการณ์ไม่ออกอีกหรือเปล่า

“สำหรับเด็กเล็ก การเยียวยาที่ดีที่สุดคือเล่นกับเขา เล่นแบบไม่ต้องใช้ความคิด เพราะเมื่อเด็กใช้ความคิด เขาจะสนุกน้อยลง”

แล้วจะมีวิธีช่วยเหลือและเยียวยาสภาพจิตใจลูกอย่างไร

มนุษย์ทุกคนและทุกวัยเวลาเครียด กล้ามเนื้อและหัวใจจะทำงานหนัก เวลาที่เรารู้สึกอะไร หัวใจของเราจะบีบตัวด้วยจังหวะที่ต่างกัน อุณหภูมิที่เกิดขึ้นในร่างกายจะส่งผลกระทบถึงกล้ามเนื้อ

แต่เด็กเล็กเขาจดจำอะไรได้ไม่นาน เพราะสมองเขาไม่โตพอที่จะเก็บข้อมูลอะไรได้มาก แต่กล้ามเนื้อจะจดจำได้นานกว่า ยาครอบจักรวาลส่วนใหญ่ที่เราใช้คือการนวด เพราะกล้ามเนื้อของเขาได้รับความเครียด เราก็ช่วยคลายออกและเล่นกับเขาไปเลย

สำหรับเด็กเล็ก การเยียวยาที่ดีที่สุดคือเล่นกับเขา เล่นแบบไม่ต้องใช้ความคิด เพราะเมื่อเด็กใช้ความคิด เขาจะสนุกน้อยลง เพราะฉะนั้น การเล่นแบบที่ต้องใช้ร่างกาย เช่น เล่นน้ำ เล่นขายของ หรือเล่นบทบาทสมมติ เล่นเป็นคุณครูกับนักเรียนก็ได้ และอย่าไปสร้างคำถามให้เขาเยอะ เพราะเราไม่ได้เล่นเพื่อยกระดับพัฒนาการ แต่เราเล่นเพื่อให้เขารู้สึกผ่อนคลาย ส่วนเด็กประถม อาจจะใช้วิธีชวนทำอะไรก็ได้ที่ลูกอยากทำ

และอีกอย่างก็คือ จีบลูกก่อนนอน หมายถึงการคุยเพื่อสร้างความสนิทสนมทางใจ เพราะหลายครั้งพ่อแม่จะได้รับข้อมูลเมื่อวันนั้นทั้งวันผ่านไปแล้ว หรือกว่าจะลูกอยากเล่าเรื่องราวให้คุณพ่อคุณแม่ฟังก็ตอนก่อนเข้านอนแล้ว

เพราะช่วงเคลิ้มๆ เรื่องมันพรั่งพรู แต่ถ้าเขาไม่ได้เล่า ไม่ได้เคลียร์ออกมา จิตไร้สำนึกก็จะทำงานตอนหลับ เพราะความรู้สึกมันยังปั่นป่วนอยู่ แม้ว่าจะหลับไปแล้ว แต่สมองยังคงทำงานและเปลี่ยนรูปแบบออกมาความฝันบ้าง หรือแสดงออกมาในรูปแบบอาการทางกาย เช่น นอนดิ้น นอนกัดฟัน นอนฉี่รดที่นอน

การนอนโดยที่สมองยังเครียดอยู่ทำให้ Growth hormone หรือฮอร์โมนที่ควบคุมการเจริญเติบโตไม่ได้หลั่งในเวลานอนอย่างที่ควรจะเป็น

ส่วนในเด็กประถมพ่อแม่ต้องคุยเพื่อซื้อใจลูกให้ได้ก่อน แล้วคุณจะรู้ว่าควรจะทำงานยังไงกับเขา แต่ถ้ามีพื้นฐานความสนิทสนมระหว่างพ่อแม่กับลูกมาตั้งแต่แรก การซื้อใจลูกในวัยประถมก็จะไม่ยาก

 โดยปกติแล้วการเยียวยาจิตใจเด็ก ต้องใช้เวลานานแค่ไหน 

เวลาที่เด็กมีเรื่องกระทบจิตใจมาและพฤติกรรมปั่นป่วน ถ้าเขาไม่โดนทำซ้ำอีก เท่าที่สังเกต อาการเขาควรจะดีขึ้นภายในสองสัปดาห์ คือมันค่อนข้างเป็นวงจรนะ เช่น วันจันทร์ถึงวันศุกร์ไปโรงเรียน วันเสาร์กับวันอาทิตย์อยู่บ้าน นับเป็นหนึ่งรอบถ้าสัปดาห์นี้ลูกโดนทำร้าย แต่สัปดาห์ต่อไปไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงซ้ำ หรือเป็นวันจันทร์ถึงศุกร์ที่มีเรื่องราวใหม่เข้ามาในสมองเขาแทน ความเครียดของเขาก็จะคลี่คลาย เพราะเด็กถือว่าเป็นวัยที่ฟื้นฟูง่าย เขามีข้อมูลใหม่ๆ เข้ามาในสมองตลอด แต่ถ้าภายในสองสัปดาห์ลูกยังดูไม่สดชื่นขึ้นเลย คุณพ่อคุณแม่ต้องทำอะไรสักอย่าง เพราะนั่นเริ่มแสดงว่ามีอะไรไม่ปกติแล้ว

แต่ถ้าเด็กที่อ่อนไหวมากๆ อาจจะมีอารมณ์และความรู้สึกที่ติดค้างนานกว่าคนอื่น ก็ต้องจะใช้เวลาตั้งแต่สามสัปดาห์ไปถึงสี่เดือนก็มี ซึ่งถือว่านานมาก

“เวลาเจอครูใจร้าย คำพูดที่ครูพูดออกมาแล้วมันไปกระทบตัวตนของเด็ก ก็จะทำให้เขาเกิดบาดแผล แต่การจัดการกับบาดแผล ขึ้นอยู่กับช่วงวัย เมื่อเวลาผ่านไปบาดแผลนี้อาจจะอยู่ในใจลึกๆ ไม่ส่งผลต่อพฤติกรรมภายนอก เป็นแค่ความรู้สึกฝังใจว่าไม่ชอบคุณครูคนนั้น”

เด็กที่เจอเหตุการณ์รุนแรง จะส่งผลต่อจิตใจเขาในอนาคตหรือไม่

ถ้าเด็กมีภูมิต้านทานดี บาดแผลก็จะไม่ค่อยลึก เขาก็จะสามารถปรับตัวได้โดยไม่เกิดปัญหา แต่ถ้าเด็กที่ภูมิต้านทานที่ไม่ดี อย่างบางเรื่อง ผู้ใหญ่อย่างเรายังจำเหตุการณ์ตอนเด็กที่ถูกทำให้เสียใจได้อยู่เลย เช่น เวลาเจอครูใจร้าย คำพูดที่ครูพูดออกมาแล้วมันไปกระทบตัวตนของเด็ก ก็จะทำให้เขาเกิดบาดแผล แต่การจัดการกับบาดแผล ขึ้นอยู่กับช่วงวัย เมื่อเวลาผ่านไปบาดแผลนี้อาจจะอยู่ในใจลึกๆ ไม่ส่งผลต่อพฤติกรรมภายนอก เป็นแค่ความรู้สึกฝังใจว่าไม่ชอบคุณครูคนนั้น

แต่ถ้าเด็กโชคร้าย เจอคุณครูแบบนี้ทุกปีซ้ำๆ ความมั่นใจในตัวเองของเขาจะหายไปเรื่อยๆ และถ้าเป็นเด็กที่อ่อนไหวง่าย บาดแผลนั้นอาจจะกลายเป็นโรควิตกกังวล โรคเครียด หรือรุนแรงเลยก็คือกลายเป็นโรคซึมเศร้า

เมื่อเด็กเจอเหตุการณ์รุนแรงที่โรงเรียน จำเป็นต้องย้ายโรงเรียนหรือไม่

สิ่งสำคัญคือสัมพันธภาพที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียน จะด้วยประเด็นอะไรก็แล้วแต่ ให้กลับไปดูที่สัมพันธภาพในโรงเรียน ว่าการจัดการในโรงเรียน หรือผู้ใหญ่ในโรงเรียนเขาจัดการแก้ปัญหายังไง และพ่อแม่สามารถรับมือต่อไปได้ไหม

สัมพันธภาพกับโรงเรียนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าพ่อแม่รู้สึกไม่ดีกับโรงเรียนแล้ว อยู่ต่อไปก็รู้สึกกระอักกระอ่วน หรือคิดว่าจะรับมือต่อไปไม่ไหว ก็ควรย้ายออก แต่ว่าการย้ายโรงเรียนให้ลูก ต้องหมายถึงการที่พ่อแม่ได้พยายามเคลียร์ปัญหาจนถึงที่สุดแล้วนะ เพราะคนที่ต้องปรับตัวมากที่สุดในการย้ายโรงเรียนก็คือลูก

ในกรณีที่ต้องย้ายโรงเรียน จะช่วยให้ลูกปรับตัวกับโรงเรียนใหม่ได้อย่างไรบ้าง

บอกเขาว่า เดี๋ยวเราจะเปลี่ยนโรงเรียนกันแล้วนะ เราจะเจอคุณครูคนใหม่และเพื่อนใหม่ บอกเพื่อให้เขาได้รู้ตัวล่วงหน้า วิธีต่อมาคือพาเขาไปทำความคุ้นเคยกับโรงเรียนใหม่เพื่อปรับตัว หรือรบกวนคุณครูสักคนที่ไว้ใจได้ เพื่อที่จะบอกลูกได้ว่า ถ้ามีปัญหาที่โรงเรียนในไปหาคุณครูคนนี้ เพราะลูกจะต้องการที่พึ่งทางใจอย่างมากในเวลาที่ไม่มีคุณพ่อคุณแม่


Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST