LOST IN PLAY: อิสรภาพในช่วงเวลา (2)

lost in play

ยังคงอยากชวนคุยต่อเรื่อง ‘อิสรภาพในช่วงเวลา’ จากตอนที่แล้วที่เล่าว่า ความเป็นเจ้าของเวลาในชีวิตตัวเอง เป็นหัวใจสำคัญของเรื่องนี้ 

‘ความง่วน’ จึงเป็นอีกเรื่องที่เราอยากแตะไปให้ถึง เพราะในช่วงเวลาหนึ่ง ที่เด็กๆ ได้เล่น เรามองว่า เด็กๆ ควรมีโอกาสได้สัมผัสพลังงานแห่งความง่วนในช่วงเวลาเล่นสนุกของตัวเองบ้าง

การเล่นนั้นแสนวิเศษเหมือนหยุดเวลาได้ เวลาเล่นเพลินๆ ทีไร เด็กๆ มักจะลืมเหนื่อย ลืมหิว ลืมง่วง ลืมร้อน ลืมความเจ็บปวด ลืมความกังวลใจ ลืมเวลา ลืมสิ้นทุกสิ่งอย่าง เพราะใจที่จดจ่ออยู่แต่กับการเล่นและการเล่นเท่านั้น

No Text_Post_1 (1)

เราผู้หลงรักพลังงานแห่งความง่วน เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ช่วงเวลาต้องมนตร์แบบนี้จะเต็มไปด้วยพลังงานมหัศจรรย์ และเกิดขึ้นได้ในการเล่นทุกรูปแบบ อาจเป็นตอนที่เรากำลังวิ่งเล่นปีนป่ายกับเพื่อนๆ อยู่อย่างสนุกสนาน หรือตอนกำลังนั่งเล่นวีดีโอเกมตะลุยด่านก็เป็นได้ อาจจะมาตอนกำลังง่วนอยู่กับการต่อบล็อกไม้ หรือตอนที่กำลังสร้างสรรค์งานศิลปะบางอย่างขึ้นมาก็ได้

จะเรียกให้ดูดีว่าคือการมีสมาธิและจดจ่อก็พอได้ แต่สำหรับเรา เรียกว่าความง่วน ฟังดูมีพลังงาน มีความเมามัน และมีไดนามิกมากกว่าเยอะเลย 

อีกอย่างที่นึกถึง เมื่อพูดกันเรื่องเวลา ก็คือ ‘ความเบื่อ’

ที่จริง ความเบื่อก็ดีกับหัวใจของเด็กๆ อยู่หรอกนะ เราเชื่อมากว่าเด็กๆ ควรมีโอกาสได้เบื่อบ้าง ผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องคอยป้อนหรือสรรหากิจกรรมอะไรให้เด็กทำตลอดเวลา แค่เฝ้าดูเด็กๆ เล่นอย่างใจเย็นบ้าง เพราะเด็กๆ มีหนทางในการเล่นเยอะแยะไปหมด และเด็กๆ ก็คิดนอกกรอบกับการเล่นได้ในแบบที่ผู้ใหญ่ไม่มีทางคิดได้เด็กๆ น่ะ เมื่อเบื่อขึ้นมา เขาไม่มีทางยอมที่จะแห้งเหี่ยวเฉาไปนานหรอก เพราะเด็กๆ มองอะไรก็เห็นความเป็นไปได้นับร้อยพันเสมอ (ถ้าสัญชาตญาณแสนพิเศษตรงนี้ยังไม่ถูกผู้ใหญ่ทำลายไปเสียก่อน)) เด็กๆ มีไอเดียมหัศจรรย์ผุดขึ้นในหัวอยู่ตลอดเวลา คิด โปรเจ็กต์สนุกๆ และท้าทายตัวเองได้ตลอดเวลา เรียกว่าคิดหาทำ คิดก่อกวน คิดชวนกันสร้างวีรกรรมทำเรื่องพิสดารได้ตลอด พูดง่ายๆ ก็คือ เด็กๆ หาหนทางหาวิธีเล่นสนุกได้เสมอ

ด้วยเหตุนี้ สิ่งสำคัญที่สุดและดูเหมือนว่าจะง่ายที่สุดที่ผู้ใหญ่อย่างเราจะให้เด็กๆ ได้ก็น่าจะเป็น ‘เวลา’ หมายถึงเวลาที่เด็กๆ จะได้เล่นอย่างสุขใจ เวลาที่ไม่ถูกกำหนดให้ต้องใช้ไปกับสิ่งที่จำเป็นน้อยกว่านี้มาก

แล้วผู้ใหญ่อยู่ตรงไหน หรือควรทำอะไร ในช่วงเวลาที่เด็กๆ กำลังเล่น

ขณะที่เด็กๆ กำลังเล่นอย่างอิสระ ผู้ใหญ่กำลังสื่อสารกับเด็กๆ ว่า เราเชื่อใจในตัวเขา เราขอให้อิสระและจะเฝ้าดูอยู่ใกล้ๆ อาจจะมีเราร่วมเล่นอยู่ด้วย หรือไม่มีก็ได้ (อย่างที่เล่าไปตอนที่แล้ว เด็กๆ รู้ใจตัวเองดีที่สุดว่าต้องการหรือไม่ต้องการอะไรในช่วงเวลานั้น)

ถ้าเขาสบายใจที่จะเล่นโดยไม่มีเรา ก็ไม่ต้องเสียใจไปนะคะ ตักตวงช่วงเวลานี้จัดการงานสารพัดสารพันให้เสร็จทันก่อนเขาเรียกหาเราอีกครั้ง เด็กๆ บางคนสบายใจแค่ได้เล่นอยู่ใกล้ๆ อาจจะคอยเรียก คอยถาม คอยชวนเราให้หันมามองความมหัศจรรย์ที่เขาสร้างขึ้นมาให้พอรู้สึกอุ่นใจบ้างก็เท่านั้น 

บางคนอาจชอบความเป็นส่วนตัว ไม่ชอบให้ใครวุ่นวาย บางคนอาจต้องการเพื่อนเล่น ต้องการให้เราร่วมเล่นด้วยมากหน่อย ก็เป็นไปได้ แต่ไม่ว่าเราจะมีส่วนร่วมในการเล่นนั้นมากหรือน้อยแค่ไหน ถ้าเราทำให้เด็กๆ รับรู้ได้ว่า เรามีความสุขไปด้วย ตอนที่เขากำลังเล่น  มันก็จะยิ่งทำให้เขารู้สึกดีกับการเล่นมากขึ้นไปอีก สนุกมากขึ้นไปอีก และกล้าที่จะสำรวจผ่านการเล่นมากขึ้นไปอีก กลายเป็นโอกาสในการเรียนรู้อะไรได้มากยิ่งขึ้นไปอีก

การให้ ‘เวลา’ มีความเป็นศิลปะ เพราะบางทีเขากำลังง่วนมากกับสิ่งตรงหน้า เราอาจต้องรู้จักรอคอยจังหวะ อย่าเพิ่งซักอย่าเพิ่งถามอะไรมาก อย่าเพิ่งบอกว่า “เอาล่ะ ถึงเวลาไปอาบน้ำได้” บางทีก็ต้องปล่อยไหล และระวังที่จะไม่เข้าไปรบกวนหรือขัดจังหวะการเล่นที่กำลังไหลลื่น

เวลาที่เด็กๆ กำลังเล่น ผู้ใหญ่เองก็ต้องใจนิ่งมาก ต้องยอมให้การเล่นนั้นนำไปสู่การสำรวจตรวจสอบทฤษฎีใหม่ๆ ที่เขาเพิ่งคิดค้นขึ้นมาได้ อาจมีเลอะเทอะเปรอะเปื้อน อาจมีข้าวของเสียหาย อาจมีบาดเจ็บเล็กน้อย เรามีหน้าที่แค่ดูแลความปลอดภัยอยู่ห่างๆ ในระดับที่ปลอดภัยกำลังดี ไม่มากจนเด็กๆ ไม่กล้าทำอะไร และไม่น้อยจนเกิดอันตราย เราต้องใจเย็นๆ และให้เวลาเด็กๆ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองให้ได้ ระหว่างนั้นก็ฝึกหัวใจและฝึกสายตาไป นอกจากใจที่นิ่งแล้ว สายตายังต้องมองเห็นการเรียนรู้ที่กำลังเกิดขึ้นตรงนั้นแล้วของเด็กๆ ให้เจอให้ได้ เชื่อใจเด็กๆ ให้เด็กๆ เรียนรู้ในจังหวะของตัวเองให้ได้ ทำให้เด็กๆ รับรู้ความรู้สึกที่ว่า ‘เราเป็นเจ้าของในการเล่นและเรียนรู้นี้’  และมีสติเพื่อที่จะเตือนตัวเองให้ถอยออกมาบ้างในบางเวลาและหักห้ามใจที่จะไม่เข้าไปแทรกแซง คิดแทน ทำแทน หรือเลือกแทนเด็กให้ได้

นอกจากความปลอดภัยทางร่างกายและข้าวของ ทั้งของตัวเองและผู้อื่นแล้ว เวลาที่เด็กๆ กำลังเล่นสนุก เราไม่เพียงแต่ต้องสร้างความสุข แต่เราสร้างความรู้สึกปลอดภัยในหัวใจให้กับเด็กๆ ได้ด้วยนะ ทำให้เขารับรู้ว่าเราอยู่ไม่ไกล และเขาสามารถเรียกหาเราเมื่อต้องการได้เสมอ ทำให้เขารู้ว่าเขามีอิสระที่จะเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ โดยที่เราจะไม่ตัดสินอะไรทั้งสิ้น ทำให้เขารู้ว่า การเล่นนี้ไม่ต้องเป็นการเล่นที่ทรงคุณค่า ไม่ต้องมีสาระ ไม่ต้องมีประโยชน์ ไม่ต้องตอบโจทย์ หรือบรรลุวัตถุประสงค์อะไรเลยก็ได้ ธรรมชาติในการเล่น ณ ขณะนั้นเป็นยังไง เราต้องเรียนรู้ที่จะน้อมรับมันมา เพราะมันคือตัวตนของเด็กคนนั้น เปิดหัวใจ และยอมรับการเล่นในแบบของเขาให้ได้

No Text_Post_2 (1)

หลายครั้งเราจะพบว่า การเล่นของเด็กๆ เป็นวิธีที่เขาจะใช้จัดการกับภาวะอารมณ์ข้างใน โดยเฉพาะในสถานการณ์ยากลำบากที่เขากำลังต้องเผชิญ ทั้งความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยในการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง หรือความอึดอัดคับข้องใจ เด็กๆ จำเป็นต้องระบายหรือปล่อยออกมา 

บางทีก็ออกมาในรูปแบบของการเล่นที่รุนแรงไปบ้าง เสียงดังไปบ้าง เล่นโยนข้าวของ เล่นต่อสู้ หรือเล่นแบบสร้างเสร็จแล้วทำลายล้างบ้าง เอกสาร Play in Crisis ของ IPA แนะนำว่า เราควรหาของหรืออุปกรณ์ที่พังได้ แล้วปล่อยให้เขาเล่นไปเลย เช่น กระดาษลังที่ฉีกหรือขาดได้ ใช้ตัวช่วยแบบพวกดินหรือแป้งโดว์ที่จะทำอะไรกับมันก็ได้ หรือไม่ก็หาชุดที่เลอะเทอะได้ให้ใส่ แล้วอนุญาตให้ออกไปเล่นปล่อยพลังเลอะเทอะได้เต็มที่ (แต่ว่าก็ควรกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจนว่าตรงไหนเลอะได้ ตรงไหนเลอะไม่ได้ด้วย แถมปล่อยพลังเสร็จแล้ว ต้องไม่ลืมที่จะชวนกันเก็บของ เก็บพื้นที่กันด้วยนะ ก็เป็นช่วงเวลาแห่งการสลายพลังไปอีกแบบ เพราะเด็กๆ หลายคนก็สนุกตอนทำความสะอาดพื้นที่ไม่ต่างจากตอนได้เล่นเลยล่ะ)

เอกสารฉบับนั้นยังแนะนำถึงขั้นที่ว่า ให้ผู้ใหญ่ไปทำความเข้าใจกับเพื่อนบ้านไว้ก่อนเลยนะ ว่าช่วงนี้อาจจะมีการเล่นที่โหวกเหวกช้งเช้งไปบ้าง เพราะเด็กๆ กำลังต้องการการเยียวยาผ่านการเล่น 

เราอ่านถึงตรงนี้แล้วประทับใจจัง การเล่นของเด็กๆ เป็น priority จริงๆ นะ ซาบซึ้งใจที่ผู้ใหญ่ให้คุณค่ากับการเล่นของเด็กๆ อย่างไร้เงื่อนไข แม้จะเป็นการเล่นในแบบที่หลายๆ คนมองว่าไม่ค่อยจะสร้างสรรค์นัก

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติ เราชวนกันมองให้เห็นได้ว่า การเล่นของเด็กๆ ต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพผู้อื่น เคารพพื้นที่ เคารพธรรมชาติรอบตัว อย่างไร เป็นต้นว่า ถ้าเราเสียงดังเกินไปจะไปรบกวนคนอื่นนะ ถ้าเราเล่นแรงเกินไป เพื่อนที่เล่นด้วยก็จะเจ็บ ไม่สนุก และไม่อยากเล่นด้วยนะ ให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางและสร้างข้อตกลงด้วยกันได้

จริงๆ มันง่ายแค่นี้เองนะ ไม่ต้องกังวลใจว่าเราไม่รู้และเข้าใจเกี่ยวกับทฤษฎีในการเล่น จิตวิทยา และพัฒนาการเด็กใดๆ เลย แค่ ‘ให้เวลา’ เด็กๆ ได้เล่นทั้งวัน แค่จัดสรรเวลาร่วมเล่นด้วยบ้าง หรือมากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ แค่สนุกไปด้วยกัน ไม่ต้องรีบร้อน ไม่ต้องมีผลลัพธ์ ไม่ต้องมีเป้าหมาย เล่นเรื่อยเปื่อยได้ เล่นเพี้ยนๆ ได้ ยอมให้มีความชุลมุนวุ่นวายได้ ยอมให้เด็กๆ พาเราหลุดเข้าไปในโลกแห่งความฝันและจินตนาการได้

 

 

ก็ไม่ใช่เจ้าการเล่นเพี้ยนๆ ที่ดูเหมือนจะไม่มีสาระอะไรนี่หรอกหรือ ที่ดูแลหัวใจและสายตาของเด็กๆ นักเล่น ผู้มองเห็นความเป็นไปได้นับร้อยนับพัน และพาเด็กๆ ของเราให้เติบโตขึ้นทุกวันจนไปไหนต่อไหนได้ไกลแสนไกลมาแล้ว


อ้อมขวัญ เวชยชัย

ใบปอ—อ้อมขวัญ เวชยชัย คุณครูผู้ก่อตั้ง CREAM Bangkok

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST