คุณพ่อคุณแม่ทุกคนย่อมคาดหวังว่าจะเป็นคนแรกที่ลูกอยากจะเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่พบเจอให้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ หรือเรื่องเล็กน้อยแค่ไหน ลูกก็จะบอกเล่าทุกเรื่องราวให้ฟังเสมอ
แต่พอพบว่า เมื่อลูกเติบโตถึงวัยหนึ่ง คนที่ลูกไว้วางใจที่จะเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟังกลับไม่ใช่คุณพ่อคุณแม่ แต่กลายเป็นเพื่อนสนิท หรือคนอื่นที่ลูกสบายใจที่จะพูดคุยมากกว่า
Michael Nichols, Ph.D. ผู้เขียนหนังสือ The Lost Art of Listening กล่าวว่า “การฟังที่ดีคือการถ่ายทอดความเห็นอกเห็นใจ เพราะมันจะทำให้เด็กๆ รู้ว่าความคิดและความรู้สึกของพวกเขานั้นสำคัญ”
นั่นอาจแปลได้ว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ลูกไม่อยากเล่าเรื่องราวของตัวเองให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง ไม่ใช่เพราะลูกต้องการมีความลับที่อยากปิดบัง แต่เป็นเพราะลูกไม่รู้สึกว่าเรื่องนั้นๆ มีความสำคัญต่อคุณพ่อคุณแม่ หรือคุณพ่อคุณแม่อาจไม่ได้ทำตัวเป็นผู้ฟังที่ดีมากพอก็เป็นได้
แล้วทำอย่างไรคุณพ่อคุณแม่ถึงจะยืนหนึ่งในฐานะ ผู้ฟังที่ดี สำหรับลูก เราลองมาปรับพฤติกรรมตัวเองไปด้วยกันนะคะ
1. ให้ความสนใจและแสดงความใส่ใจทุกเรื่องที่ลูกเล่า

เข้าใจว่าบางครั้งลูกอาจจะเล่าเรื่องราวจิปาถะ เล่าเยอะ เล่าเก่ง จนคุณพ่อคุณแม่อาจจะเผลอหลุดโฟกัสไปจากเรื่องราวที่ลูกเล่าไปบ้าง สำหรับคุณพ่อคุณแม่อาจคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่อาจทำให้ลูกรู้สึกเสียความมั่นใจที่จะบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ในครั้งต่อไป
ดังนั้น ขณะที่ลูกกำลังเล่าเรื่องราวของตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ควรแสดงถึงความสนใจและใส่ใจเรื่องราวของลูก ด้วยการ สบตา ไม่หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาใช้ ไม่มองไปทางอื่น รวมถึงไม่พูดหรือแสดงความคิดเห็นแทรกแซงก่อนที่ลูกจะเล่าจบ เพื่อให้ลูกมั่นใจได้ว่าคุณพ่อคุณแม่ให้ความสนใจในเรื่องราวของเขาเสมอ
2. ชวนลูกคุยบ่อยๆ

เด็กแต่ละคนย่อมมีนิสัยที่แตกต่างกัน เด็กบางคนกล้าที่จะเป็นฝ่ายเริ่มพูดคุยหรือเปิดประเด็นที่ตัวเองต้องการพูดกับคุณพ่อคุณแม่ ในขณะที่บางคน มีเรื่องที่ต้องการจะเล่า แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี
สิ่งที่จะช่วยลูกได้คือการที่คุณพ่อคุณแม่คอยสังเกตพฤติกรรมและลักษณะนิสัยของลูก หากลูกไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นเล่าเรื่องราวของตัวเองได้อย่างไร คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถเป็นฝ่ายชวนลูกคุย เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกเล่าเรื่องราวออกมาง่ายขึ้น เช่น เป็นฝ่ายถามลูกว่า วันนี้หนูดูไม่สบายใจเลย มีอะไรให้แม่ช่วยหรือเปล่า
การตั้งคำถามและชวนคุยจะช่วยให้ลูกรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่สนใจและเต็มใจที่จะรับฟังเรื่องราวของเขาเสมอ
3. ตั้งใจฟังอย่างอดทน

เด็กๆ อาจจะไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราว หรือคิดคำพูดเพื่ออธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว บางครั้งลูกอาจจะเล่าเรื่องวกไปวนมา จนคุณพ่อคุณแม่แทบจับใจความไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญก็คือคุณพ่อคุณแม่จะต้องใจเย็น อดทน และตั้งใจฟังลูกให้จบ หากคุณพ่อคุณแม่บอกปัด ตัดจบ หรือแสดงท่าทีรำคาญออกมาแม้เพียงเล็กน้อย ก็จะทำให้ลูกเสียใจ ขาดความมั่นใจ และไม่อยากเล่าอะไรให้คุณพ่อคุณแม่ฟังอีก
4. ฟังลูกจากท่าทางร่วมด้วย

อย่างที่บอกไปในข้อที่แล้วว่าเด็กๆ อาจยังไม่สามารถสื่อสารเรื่องราวออกมาได้ดีนัก แต่สิ่งที่จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจลูกมากขึ้น ก็คือการสังเกตสีหน้าและลักษณะท่าทางที่ลูกแสดงออกมาในเวลานั้นๆ เพื่อสร้างความเข้าใจให้คุณพ่อคุณแม่สามารถตอบสนองอารมณ์และความรู้สึกของลูกได้ดีขึ้นนั่นเองค่ะ
COMMENTS ARE OFF THIS POST