การโพสต์รูปลูกลงโซเซียลฯ อาจจะเป็นเรื่องเป็นปกติสำหรับคุณพ่อคุณแม่ โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่พ่อแม่นิยมใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางเผยแพร่ความน่ารักของลูกให้ญาติพี่น้องได้ชื่นชมโดยทั่วกัน
ในขณะที่อีกหลายประเทศ มีการใช้กฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของเด็ก เพื่อปกป้องสิทธิ์รวมไปถึงคุ้มครองความปลอดภัยให้กับเด็กๆ ที่ยังไม่สามารถปกป้องตัวเองจากการใช้โซเชียลมีเดียของพ่อแม่ได้
เช่น ประเทศเยอรมนี ห้ามพ่อแม่หรือผู้ปกครองเช็กอินว่าเด็ก (อายุ 0-14 ปี) อยู่ที่ไหนบนสื่อออนไลน์ ส่วนที่สหรัฐอเมริกาก็มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กในอินเทอร์เน็ตและที่ฝรั่งเศสห้ามโพสต์รูปส่วนตัวของผู้อื่นสู่สาธารณะ ผู้อื่นในกรณีรวมถึงการโพสต์รูปลูกโดยไม่ได้รับการยินยอม ถ้าตรวจสอบว่ามีความผิด มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับเป็นเงิน 45,000 ยูโร หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1,590,000 บาท
นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงไม่ค่อยเห็นนักแสดงต่างประเทศโพสต์รูปลูกลงอินสตาแกรมหรือสื่อออนไลน์ต่างๆ
M.O.M เข้าใจดีว่าคุณพ่อคุณแม่ย่อมอยากใช้โซเซียลมีเดียเป็นเสมือนไดอารี่บันทึกความทรงจำ และแชร์ความน่ารักน่าเอ็นดูของลูก แต่อาจจะลืมคิดไปว่า การโพสต์รูปลูกแต่ละครั้ง อาจจะสร้างอันตรายให้ลูกคุณมากกว่าที่คิด
ดังนั้น ก่อนจะโพสต์รูปลูกทุกครั้ง เราอยากให้คุณพ่อคุณแม่ทบทวน 8 สิ่ง ที่จะช่วยปกป้องลูกน้อยจากภัยที่อาจเกิดจากการโพสต์รูปลงโซเชียลมีเดียมากขึ้น
1. ปิดโลเคชั่นก่อนโพสต์
ก่อนกดโพสต์รูปลูกลงเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ หรือสื่อออนไลน์ต่างๆ ลองเช็กสักหน่อยว่าคุณปิดการแสดงโลเคชั่นหรือยัง เพราะอาจมีผู้ไม่หวังดีคอยจับตาดูที่อยู่ โรงเรียน หรือแม้แต่สถานที่ที่คุณชอบพาลูกไปเช็กอิน เพื่อก่อเหตุร้ายได้ในภายหลัง
2. ไม่ตั้งค่าโพสต์รูปเป็นสาธารณะ
กรณีโพสต์รูปลงเฟซบุ๊ก พ่อแม่สามารถเลือกได้ว่าจะให้ใครเห็นสิ่งที่โพสต์ได้บ้าง ตัวเลือกที่พ่อแม่ไม่ควรเลือกเลยคือการเลือกโพสต์แบบสาธารณะ
ถ้าอยากแชร์ความน่ารักของลูกเอาไว้ดูกับญาติพี่น้องที่สนิทกันละก็ คุณพ่อคุณแม่ควรตั้งค่าระบุกลุ่มเพื่อนที่จะให้เห็นโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับลูกได้ แต่ถ้าอยากเก็บความน่ารักของลูกเอาไว้ดูคนเดียว ก่อนโพสต์ก็อย่าลืมตั้งค่าเป็นเฉพาะฉัน ก็จะมีแต่คุณเท่านั้นที่เห็นโพสต์และถึงแม้ on this day ย้อนมากี่ปีๆ ก็จะมีคุณคนเดียวที่เห็นความน่ารักของลูกได้
3. งดโพสต์เรียลไทม์
นิสัยการใช้โซเซียลฯ ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนชอบถ่ายปุ๊บโพสต์ปั๊บ แต่หากเป็นรูปที่มีลูกอยู่ด้วยแล้ว อยากจะขอให้คุณพ่อคุณแม่ใจเย็นลงสักหน่อย รอให้คุณและลูกออกจากสถานที่นั้นก่อนค่อยโพสต์รูปย้อนหลังก็ยังไม่สาย
4. ไม่โพสต์รูปลูกใส่ชุดนักเรียน
โรงเรียนเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการลักพาตัวเด็ก ดังนั้นการโพสต์รูปลูกในชุดนักเรียนทำให้ผู้ไม่หวังดี มีข้อมูลส่วนตัวของลูกมากขึ้น เพราะเพียงทราบว่าเรียนโรงเรียนอะไร ก็สามารถติดตามพฤติกรรมอื่นๆ ของเด็กได้ง่าย
5. ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของลูกในโพสต์
คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของลูกลงในอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นเอกสารประจำตัวต่างๆ พาสปอร์ต บัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด ขนมที่ลูกชอบกินหรือสถานที่ที่ลูกชอบไป
6. เขียนข้อความประกอบภาพด้วยถ้อยคำที่ให้เหมาะสมและเกียรติลูก
อย่าลืมว่าข้อความที่โพสต์ในอินเทอร์เน็ตสามารถคงอยู่ไปได้อีกนานเท่านาน แม้ว่าคุณอาจจะทำการแก้ไขหรือลบมันทิ้งไปแล้วก็ตาม ดังนั้นคำบรรยายประกอบภาพหรือแม้แต่คอมเมนต์ที่ไม่เหมาะสมก็ไม่ควรให้ปรากฏอยู่ในโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับลูกของเรา
7. ไม่โพสต์รูปลูกในท่าทางที่ไม่เหมาะสม
ทุกสิ่งที่ลูกทำในวัยเด็กย่อมเป็นสิ่งพ่อแม่อยากเก็บบันทึกไว้เป็นความทรงจำที่ดี แต่บางอิริยาบทของลูกที่คุณพ่อคุณแม่บันทึกไว้ในโซเชียลมีเดียอาจจะกลายเป็นเครื่องมือที่ย้อนกลับมาทำร้ายหรือทำให้ลูกอับอายในอนาคต
8. ไม่โพสต์รูปลูกที่ถ่ายคู่กับรถยนต์ของครอบครัว
การโพสต์รูปลูกคู่กับรถยนต์ของครอบครัวอาจจะดูเหมือนไม่อันตราย แต่ทางที่ดีควรสังเกตสักนิดว่ารูปที่ถ่ายนั้นไม่ได้ติดทะเบียนรถ จนผู้ไม่หวังดีอาจจะหาข้อมูลหรือติดตามมาจนถึงบ้านคุณได้
COMMENTS ARE OFF THIS POST