คุณพ่อคุณแม่อาจเคยเจอปัญหา ลูกรับปากว่าจะทำอย่างนั้น ไม่ทำอย่างนี้ เช่น สัญญาว่ากลับถึงบ้านแล้วจะทำการบ้าน แต่เอาเข้าจริง กลับนั่งเล่นเกมและไม่ทำการบ้านเสียอย่างนั้น
หากปล่อยให้ ลูกไม่รักษาคำพูด หรือไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับคนอื่นจนเคยชินแล้วละก็ อาจทำให้ลูกเติบโตเป็นคนที่ขาดความน่าเชื่อถือ และมีแนวโน้มจะเป็นคนชอบโกหกต่อไปในอนาคต
เพื่อแก้ปัญหา ลูกไม่รักษาคำพูด และทำให้ลูกเห็นความสำคัญของการให้คำสัญญากับคนอื่นมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่สามารถนำ 4 เทคนิคดีๆ ที่เรารวบรวมมาไปปรับใช้เพื่อสร้างนิสัยให้ลูกเป็นเด็กรักษาคำพูดและไม่ผิดสัญญากับคนอื่นต่อไปค่ะ
1. อธิบายให้ลูกเข้าใจถึงความสำคัญของการรักษาคำพูด

เด็กๆ อาจไม่เคยได้ยินและไม่เข้าใจความหมายของสำนวนที่ว่า ‘คำพูดเป็นนายเรา’ แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนให้ลูกเห็นความสำคัญของการพูดหรือรับปากกับคนอื่น ด้วยการจำลองสถานการณ์ที่ลูกเข้าใจได้ง่าย เช่น ถามว่าลูกจะรู้สึกอย่างไร หากแม่รับปากกับลูกแล้วไม่ทำตามนั้น หรือหากพ่อผิดคำพูดกับลูกบ่อยๆ ต่อไปลูกยังจะเชื่อพ่ออยู่หรือไม่…
เมื่อลูกเข้าใจความรู้สึกของการเป็นฝ่ายถูกผิดสัญญาแล้ว ลูกจะเรียนรู้ที่จะพยายามรักษาสัญญาหรือทำตามคำพูดของตัวเองให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้ต้องกลายเป็นคนไม่รักษาสัญญาเสียเอง
2. สอนลูกให้พูดด้วยความจริงใจ

หัวใจสำคัญของการรักษาคำพูดหรือให้คำสัญญากับคนอื่น ก็คือลูกต้องรู้จักประเมินว่าสิ่งนั้น ไม่เกินความสามารถ หรือความพยายามที่ตัวเองจะสามารถทำได้ เช่น ไม่สัญญาในสิ่งที่คิดว่าตัวเองทำไม่ได้ หรือไม่รับปากในสิ่งที่ไม่คิดจะทำตั้งแต่ต้น
และที่สำคัญ ไม่ว่าจะพูดหรือสัญญากับใคร ควรเป็นการพูดที่ออกมาจากความจริงใจและตั้งใจจริง ก็จะช่วยให้ลูกสามารถรักษาสัญญาหรือทำตามคำพูดของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น
3. คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นคนรักษาคำพูด

แม้ว่าพื้นฐานนิสัยของเด็กแต่ละคนจะแตกต่างกันไป แต่ต้องยอมรับว่าพฤติกรรมบางอย่างของลูกส่วนมากมักเกิดจากการเลียนแบบพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ ถ้าคุณพ่อคุณแม่เป็นคนชอบรับปากแล้วไม่รักษาคำพูดกับลูกบ่อยๆ ลูกก็มีแนวโน้มที่จะเป็นคนไม่รักษาคำพูดเช่นกัน
4. สอนลูกให้มีระเบียบวินัย

คำสัญญาที่ลูกรับปากกับคุณพ่อคุณแม่มักจำเป็นต้องใช้ความอดทน พยายาม และการมีวินัยที่จะทำตามสัญญาให้ลุล่วงไปได้ ดังนั้นการฝึกให้ลูกเป็นเด็กมีระเบียบวินัย จะช่วยให้ลูกสามารถรักษาคำพูดของตัวเองได้ง่ายขึ้น
COMMENTS ARE OFF THIS POST