READING

ลูกทะเลาะกับเพื่อน : คุณพ่อคุณแม่จะรับมืออย่างไร เ...

ลูกทะเลาะกับเพื่อน : คุณพ่อคุณแม่จะรับมืออย่างไร เมื่อลูกมีปัญหากับเพื่อนที่โรงเรียน

ลูกทะเลาะกับเพื่อน

เมื่อลูกโตขึ้น สังคมของลูกก็กว้างขึ้น เมื่อคุณพ่อคุณแม่ส่งลูกไปโรงเรียน ย่อมคาดหวังว่าลูกจะปรับตัวเข้ากับเพื่อนและคุณครูที่โรงเรียนได้ดี แต่วันดีคืนดี ลูกกลับบ้านมาพร้อมด้วยสีหน้าบูดบึ้ง ถามว่าเพราะอะไร ก็ได้คำตอบว่าลูกทะเลาะกับเพื่อนมานั่นเอง

การทะเลาะเบาะแว้งระหว่างเด็กๆ หรือ ลูกทะเลาะกับเพื่อน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ดังที่ Honora Einhorn—นักบำบัดและผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กกล่าวว่า การทะเลาะกับเพื่อนทำให้เด็กได้เห็นความแตกต่างของมนุษย์ ได้เรียนรู้การจัดการและการสื่อสารอารมณ์ในจิตใจ ทำให้เด็กรู้จักการเอาใจใส่คนรอบข้าง และสร้างทักษะการเข้าสังคมได้อีกด้วย

แต่ถึงอย่างนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรปล่อยให้ปัญหา ลูกทะเลาะกับเพื่อน เกิดขึ้นบ่อยและต่อเนื่อง โดยไม่ได้รับการแก้ไขหรือปล่อยให้ลูกจัดการความสัมพันธ์ของตัวเองอย่างโดดเดี่ยว

เพื่อไม่ให้การทะเลาะกับเพื่อนกลายเป็นปัญหาลุกลาม เช่น ทำให้ลูกไม่อยากไปโรงเรียน กลายเป็นคนเก็บตัว เข้ากับคนอื่นไม่ได้ ฯลฯ คุณพ่อคุณแม่จึงควรมีวิธีรับมือกับสถานการณ์ ลูกทะเลาะกับเพื่อน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างเหมาะสมต่อไป

1. รับฟังและพูดคุยอย่างใจเย็น

fightwithfriend_web_1

เมื่อเห็นว่าลูกกลับบ้านด้วยหน้าตาบึ้งตึง และอารมณ์ไม่สู้ดี คุณพ่อคุณแม่ต้องคุยกับลูกอย่างใจเย็น ลองถามว่าที่โรงเรียนวันนี้เป็นอย่างไรและมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง หรือช่วยสะท้อนอารมณ์ให้ลูกเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองมากขึ้น เช่น วันนี้ลูกกลับมาแล้วหงุดหงิดมาก อยากเล่าอะไรให้คุณแม่ฟังไหมคะ แล้วคอยตั้งใจรับฟังเรื่องราวของลูกอย่างใจเย็น

2. สร้างความมั่นใจว่าลูกมีพ่อแม่อยู่เคียงข้างเสมอ

fightwithfriend_web_2

การทะเลาะกันระหว่างเด็กๆ อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับคุณพ่อคุณแม่ แต่ก็ทำให้ลูกรู้สึกสั่นคลอนในความสัมพันธ์กับคนตัวและความมั่นใจในตัวเองได้ สิ่งสำคัญก็คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่มองว่าเรื่องของลูกเล็กน้อยหรือไร้สาระเกินไป แต่ควรทำให้ลูกรู้ว่าไม่ว่าลูกจะมีปัญหาอะไร ก็ยังมีพ่อแม่ที่เข้าใจและรับรู้ความรู้สึกของลูกเสมอ

คำพูดง่ายๆ ที่จะทำให้ลูกรู้สึกมั่นคงในจิตใจมากขึ้นได้ เช่น พ่อแม่เข้าใจว่าทำไมลูกถึงโกรธ, จากที่ลูกเล่ามา มันก็เป็นเรื่องยากสำหรับลูกจริงๆ แต่… เพราะการที่คุณพ่อคุณแม่แสดงออกว่าเข้าใจความรู้สึกและการกระทำของลูก แม้จะไม่เห็นด้วยทั้งหมด จะทำให้ลูกใจเย็นลง และพร้อมเปิดใจรับฟังคุณพ่อคุณแม่มากขึ้นเช่นกัน

3. เอาใจเขามาใส่ใจเรา

fightwithfriend_web_3

ความโกรธมักเกิดจากการไม่พอใจการกระทำหรือคำพูดของคนอื่น ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกทำความเข้าใจมุมมองของคนอื่นด้วย เช่น ลูกโกรธที่เพื่อนไม่ยอมเล่มด้วย แต่ลองให้ลูกคิดหาเหตุผลว่าทำไมเพื่อนถึงไม่อยากเล่นกับลูก เป็นเพราะลูกชอบใช้ความรุนแรงหรือเปล่า หรือว่าเป็นเพราะลูกไม่ทำตามกติกาของคนอื่น

เมื่อลองให้ลูกคิดทบทวนหาต้นเหตุของปัญหาได้แล้ว ลองให้ลูกคิดในทางกลับกันหรือเอาใจเขามาใส่ใจเรา เช่น หากลูกเจอคนที่มีนิสัยแบบเดียวกันนี้ ลูกก็คงไม่อยากเล่นกับคนนั้นเช่นกัน

4. ช่วยตั้งคำถามปลายเปิดให้ลูกหาทางออก

fightwithfriend_web_4

คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องรีบชี้นำวิธีแก้ไขปัญหาให้ลูกในทันที แต่ควรลองตั้งคำถามปลายเปิด เพื่อให้ลูกคิดหาทางออกหลายๆ ทาง เช่น ถ้าเกิดเรื่องนี้ขึ้นอีก ลูกคิดว่าควรทำยังไงดี, หรือ ถ้าไม่อยากให้เกิดปัญหาแบบเดิม เราลองมาหาทางป้องกันดีไหม จะช่วยให้ลูกได้คิดทบทวนและคิดวิธีรับมือกับปัญหาด้วยตัวเองก่อน โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยช่วยให้คำแนะนำเพิ่มเติมก็ยังไม่สายนะคะ

5. ให้ลูกได้ลองแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อน

fightwithfriend_web_5

คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยประเมินสถานการณ์ของปัญหา หากปัญหาที่ลูกเจอไม่ใช่การกลั่นแกล้งรุนแรง คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่จำเป็นต้องรีบแสดงตัวด้วยการ โทร. หาคุณครู หรือผู้ปกครองของเพื่อนลูกทันที เพราะจะทำให้ลูกไม่มีโอกาสได้ลองแก้ปัญหาด้วยตัวเอง และทำให้ลูกเข้าใจว่าเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น แค่นำเรื่องมาบอกคุณพ่อคุณแม่ ก็จะมีคนคอยเข้าไปจัดการให้เสมอ ผลที่ตามมาก็คือลูกไม่ได้เรียนรู้วิธีปรับตัว ทำให้มีทักษะการเข้าสังคมน้อย และเสี่ยงต่อการมีปัญหากับคนอื่นมากขึ้นด้วยค่ะ

อ้างอิง
Kids First

PITTAYARAT CH.

พิทยารัตน์ ชูพล: เด็กผู้หญิงผู้รับบทบาทลูกสาวคนเล็ก ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักเเละความใส่ใจจากคุณแม่ จนมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะมอบความรักอันยิ่งใหญ่แบบนี้ให้ใครสักคนบ้าง

COMMENTS ARE OFF THIS POST