READING

ลูกล้มหัวกระแทกพื้น: อันตรายมากน้อยแค่ไหน และพ่อแม...

ลูกล้มหัวกระแทกพื้น: อันตรายมากน้อยแค่ไหน และพ่อแม่ควรทำอย่างไรดี?

ลูกล้มหัวกระแทกพื้น

อุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นกับลูก เป็นสิ่งที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวลใจเสมอ โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่เกิดกับเด็กเล็ก ที่ไม่สามารถอธิบายหรือบอกเล่าอาการบาดเจ็บของตัวเองได้ดีเท่าที่ควร

โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกอยู่ในวัยหัดคลาน นั่ง ยืน และเดิน ย่อมเคยมีประสบการณ์ ลูกล้มหัวกระแทกพื้น กระแทกประตู ลื่นล้มหงายหลัง ด้วยกันทั้งสิ้น

แต่ถึงอย่างนั้น อุบัติเหตุที่ทำให้ลูกเกิดการบาดเจ็บบริเวณศรีษะ ไม่ว่าจะเป็น หัวโน หัวแตก หรือแม้แต่การบาดเจ็บที่ไม่มีร่องรอยภายนอกให้สังเกตเห็น ก็เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าระวังและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพราะบางครั้งการล้มหัวกระแทกพื้น อาจไม่มีอาการเลือดตกยางออกภายนอก แต่นำมาซึ่งอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับอวัยวะภายในอย่างรุนแรงได้

เด็กเล็ก เด็กวัยหัดเดิน และเด็กก่อนวัยเรียน กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ มักเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการกระแทกศีรษะได้ง่าย ไม่ว่าจะเกิดจากการนอนดิ้นตกเตียง วิ่งชนของแข็ง นั่งหงายหลัง เดินเซ หรือวิ่งเล่นจนหกล้มรุนแรง

Dawn D. Johnson ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ของสถาบันสุขภาพเด็ก Children’s Health℠ Pediatric Group ระบุว่า การที่เด็กวัยนี้หกล้มได้ง่าย เป็นเพราะว่าศีรษะของเด็กยังไม่ได้สัดส่วนที่สมบูรณ์ ทำให้ยังทรงตัวได้ไม่ดี และอยู่ในช่วงวัยที่กล้ามเนื้อยังไม่แข็งแรงเท่าที่ควร อีกทั้งเด็กวัยนี้เป็นวัยเรียนรู้ อยากรู้อยากเห็น ส่งผลให้เด็กๆ ทำกิจกรรมที่อาจเป็นอันตรายได้ง่าย แต่อุบัติเหตุทั่วไปที่เกิดขึ้นกับเด็กวัยนี้มักจะไม่รุนแรง ไม่อันตรายถึงชีวิต และมีโอกาสน้อยมากที่จะทำให้ศีรษะหรือสมองบาดเจ็บสาหัสได้

แต่ในทางตรงกันข้าม ก็มีอุบัติเหตุประเภทที่เป็นอันตรายกับเด็กเล็ก และควรได้รับการดูแลมากเป็นพิเศษ เช่น ตกบันได ตกจากที่สูง ตกจากจักรยานโดยไม่สวมหมวกนิรภัย การเล่นกีฬาที่มีแรงกระแทกสูง หรือการถูกกระแทกบริเวณศีรษะโดยตรงอย่างรุนแรง ก็จะมีความเสี่ยงต่อสมองและถึงขั้นเสียชีวิตในเวลาต่อมาได้

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำเมื่อ ลูกล้มหัวกระแทกพื้น

1. อาการภายนอกที่สังเกตได้

#ร้องไห้งอแง ลูกอาจจะร้องไห้เพราะเจ็บบริเวณที่โดนกระแทก ประมาณ 10 นาที ก็จะกลับมาวิ่งเล่นได้เหมือนเดิม หรือเด็กบางคนอาจใช้เวลามากขึ้น เพราะความเจ็บและตกใจ ในขณะที่เด็กบางคนอาจจะขอนั่งพักเฉยๆ ประมาณ 15 – 30 นาที แต่หลังจากนั้นก็จะดีขึ้นและกลับมาเป็นปกติ

#หัวโนหรือห้อเลือด โดยเฉพาะบริเวณหน้าผาก จะมีเลือดไปเลี้ยงบริเวณนี้มาก หากได้รับบาดเจ็บมักจะทำให้เลือกออกใต้ผิวหนัง จนทำให้เกิดรอยช้ำหรือห้อเลือดที่สังเกตเห็นได้ง่าย

วิธีปฐมพยาบาลคือ ประคบเย็น ด้วยผ้าขนหนูสะอาดห่อน้ำแข็ง วางไว้บริเวณที่บวมประมาณ 20 นาที และทำซ้ำได้เรื่อยๆ หรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น และควรสังเกตอาการต่ออีกสองชั่วโมง หากไม่มีการบวมเพิ่มขึ้น ถือว่าไม่มีอะไรผิดปกติ

#มีแผลเลือดออกเล็กน้อย สำหรับแผลถลอกให้ล้างออกด้วยน้ำเปล่า แต่หากมีเลือดออก ให้ใช้ผ้าพันแผลหรือผ้าสะอาด กดที่บาดแผลเอาไว้จนกว่าเลือดจะหยุด

#หัวแตก หากเกิดจากอุบัติเหตุไม่รุนแรง ส่วนใหญ่แผลหัวแตกจะไม่มีผลต่อสมอง และสามารถรักษาได้ด้วยการทำแผลหรือเย็บแผลให้เรียบร้อย แต่ก็มีประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่หัวแตกและมีอาการกระโหลกร้าวร่วมด้วย

แต่หากคุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจ โดยเฉพาะเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับลูกอายุต่ำกว่า 1 ขวบ ก็สามารถพาลูกไปพบคุณหมอ เพื่อความปลอดภัยของลูกได้

2. ติดตามสังเกตอาการอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด

#เฝ้าดูอาการสองชั่วโมงแรก หลังจากลูกหัวกระแทกพื้น หรือหกล้มหงายหลัง สิ่งแรกที่ควรทำคือสำรวจบาดแผลภายนอก ให้ลูกนั่งพัก และเฝ้าติดตามอาการตลอดสองชั่วโมงแรก ลูกอาจรู้สึกเจ็บบริเวณที่ถูกกระแทกอยู่บ้าง แต่หากไม่มีอาการผิดปกติรุนแรง สามารถให้ลูกเริ่มทำกิจกรรมเบาๆ หรืองีบหลับได้

#ติดตามอาการภายใน24ชั่วโมง ให้คุณพ่อคุณแม่เฝ้าดูอาการของลูกอย่างระมัดระวังต่อไปอีก 24 ชั่วโมง เช่น หลังจากลูกนอนหลับได้สองชั่วโมง ให้ลองปลุกลูกและสังเกตว่าลูกสามารถตอบสนอง พูดคุย และลุกขึ้นเดินได้ตามปกติ

#สังเกตต่ออีก48ชั่วโมงเพื่อความแน่ใจ หากลูกยังมีตื่นตัวและตอบสนองได้ดี เป็นสัญญาณว่าคุณพ่อคุณแม่เริ่มเบาใจได้แต่ก็ยังควรเฝ้าดูอาการและสังเกตความผิดปกติต่อไปอีก 36-48 ชั่วโมง เพราะอาจมีอาการบาดเจ็บรุนแรงที่เกิดขึ้นช้ากว่าปกติได้

3. ร้องไห้ หัวโน แต่ไม่ซึมและกินข้าวได้ ก็เบาใจได้

ระหว่างเฝ้าสังเกตอาการลูกภายใน 24 ชั่งโมงแล้ว พบว่าลูกยังกินข้าว กินนม  ไม่มีอาการเซื่องซึม และวิ่งเล่นร่าเริงได้ตามปกติ ก็เริ่มเบาใจได้ว่าสมองของลูกไม่ได้รับบาดเจ็บ

4. อาเจียน ชัก ง่วงซึมหลับ ทรงตัวไม่ได้ คือสัญญาณอันตราย

จากข้อมูลของโรงพยาบาลเด็กซีแอตเติล ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า สัญญาณอันตรายของการบาดเจ็บอย่างรุนแรงที่ศีรษะ อาจแสดงอาการในอีกหลายชั่วโมงต่อมา (ส่วนใหญ่มักจะไม่เกิน 1 วัน)

หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

#อาเจียน หลังเกิดเหตุ ลูกมีการอาเจียนมากกว่า 2-3 ครั้ง

#สลบ หรือหมดสติ นานกว่า 5 วินาที หรือมีอาการนอนนิ่ง ไม่ร้อง และไม่ลุกขึ้นหลังเกิดการกระแทก

#ตัวซีดผิดปกติ นานกว่า 1 ชั่วโมง

#หัวโนบวมมาก สังเกตบริเวณที่โดนกระแทก หากเกิดการบวมใหญ่กว่า 1 นิ้วหรือ 2.5 เซนติเมตร หรือบวมมากขึ้นเรื่อยๆ

#เลือดออกไม่หยุด หากมีแผลเปิดเป็นวงกว้าง เลือดออกเยอะ และไหลไม่หยุดนานเกิน 10 นาที ให้นำส่งโรงพยาบาลเพื่อเย็บแผล และสังเกตอาการอื่นๆ ร่วมด้วย

#พฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เลือดกำเดาไหล ร้องกวน จำอะไรไม่ได้ชั่วคราว กระสับกระส่าย สับสน พูดไม่เป็นคำ เดินหรือนั่งไม่มั่นคง แขนขาอ่อนแรง หลับแล้วตื่นยาก เซื่องซึมอย่างเห็นได้ชัด มีอาการชัก อาจมีอาการปวดหัวรุนแรงมากขึ้น

นอกจากนั้น หากมีอาการผิดปกติอื่นๆ ที่คุณพ่อคุณแม่เห็น ก็ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ทันทีค่ะ

อ้างอิง
sutterhealth
childrens
seattlechildrens
verywellfamily

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST