READING

ลูกทำเป็นไม่ได้ยิน : 5 เทคนิครับมือลูกไม่ฟังหรือได...

ลูกทำเป็นไม่ได้ยิน : 5 เทคนิครับมือลูกไม่ฟังหรือได้ยินแต่ไม่สนใจ

ลูกทำเป็นไม่ได้ยิน

อยากให้ลูกเชื่อฟังและเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย ทฤษฎีบอกให้พูดกับลูกดีๆ พ่อแม่ก็พยายามเต็มที่แล้ว แต่พูดดีแล้วไม่ค่อยได้ผลนี่สิ…

พอลูกโตถึงวัยหนึ่ง คุณพ่อคุณแม่จะพบว่าเวลาพูดหรือบอกอะไรไปแล้ว ลูกทำเป็นไม่ได้ยิน หรือได้ยินแต่ทำเป็นไม่สนใจ พอเป็นอย่างนี้ จากที่คุณพ่อคุณแม่ตั้งใจว่าจะพูดกับลูกดีๆ ใช้เหตุผลกับลูกให้มากที่สุด กลายเป็นต้องเผลอใช้อารมณ์ขึ้นมาทุกที

คุณพ่อคุณแม่อาจคิดว่า เวลาที่ ลูกทำเป็นไม่ได้ยิน นั้นหมายถึงลูกกำลังดื้อ ต่อต้าน แต่ความจริงแล้ว นี่อาจเป็นหนึ่งในพัฒนาการตามช่วงวัยของลูก ที่กำลังเริ่มจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ตัวเองสนใจ เช่น อยากทำอย่างอื่นมากกว่าสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่บอก หรือความอยากรู้อยากลองว่าถ้าขัดใจคุณพ่อคุณแม่แล้ว ผลจะออกมาเป็นอย่างไรบ้าง

ดังนั้น วิธีพูดให้ลูกรับฟังและปฏิบัติตาม หรือวิธีรับมือเมื่อลูกทำเป็นไม่ได้ยิน คุณพ่อคุณพ่อจึงต้องหาเทคนิควิธีมาใช้อย่างเหมาะสมค่ะ

1. บอกสิ่งที่ต้องการให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ChildIgnores_web_1

คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตว่า เราเป็นพ่อแม่ที่ชอบใช้ประโยคบอกเล่าที่มีความหมายกว้างเกินไปกับลูกหรือเปล่า เช่น “เก็บของให้เป็นระเบียบนะคะ” สำหรับเด็กเล็ก อาจยังไม่เข้าใจว่าทำอย่างไรถึงจะเรียกว่าเก็บของเป็นระเบียบ และไม่รู้ต้องเริ่มอย่างไร จึงเลือกที่จะเพิกเฉยเหมือนไม่ได้ยินที่คุณพ่อคุณแม่พูดเลยดีกว่า

ทางที่ดีคือคุณพ่อคุณแม่ลองเปลี่ยนเป็นใช้คำพูดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น “ถ้าเล่นเสร็จแล้วลูกช่วยเก็บของเล่นทั้งหมดลงกล่องด้วยนะคะ” ลูกก็จะรู้ว่าควรทำอย่างไร และให้ความร่วมมือกับคุณพ่อคุณแม่ได้ไม่ยาก

2. สังเกตความรู้สึกของลูก

ChildIgnores_web_2

เวลาที่ลูกทำเป็นไม่ได้ยิน หรือเพิกเฉยต่อคำพูดของคุณพ่อคุณแม่ สิ่งสำคัญก็คือคุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอารมณ์และความรู้สึกของลูกในเวลานั้นๆ เช่น ลูกกำลังหงุดหงิด เสียใจ หรือไม่สบายใจและต้องการความช่วยเหลือจากคุณพ่อคุณแม่มากกว่าหรือไม่

ถ้าเป็นอย่างนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรให้เวลาลูกได้อยู่กับตัวเอง ไม่ควรกดดันหรือคาดคั้นให้ลูกทำอะไรทันที แต่ลองเปลี่ยนเป็นการพูดคุยซักถาม และรอให้ลูกพร้อมที่จะรับฟังคุณพ่อคุณแม่อีกครั้งจะดีกว่า

3. หลีกเลี่ยงการใช้คำว่า ‘ไม่’ ‘ห้าม’ และ ‘อย่า’

ChildIgnores_web_3

บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ชอบใช้คำสั่งเพื่อหยุดไม่ให้ลูกทำอะไรบางอย่าง แต่การใช้คำว่า ‘ไม่’ หรือคอยบอกลูกว่า ‘ห้าม’ ทำอะไรตลอดเวลา จะยิ่งกระตุ้นความอยากรู้อยากลองในตัวลูก ทำให้ลูกอยากพิสูจน์ว่าถ้าขัดใจหรือไม่ทำตามคำสั่งคุณพ่อคุณแม่จะเป็นอย่างไรบ้าง

แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ลองเปลี่ยนการห้ามสิ่งที่ไม่ควรทำ เป็นการยื่นข้อเสนอที่ลูกควรทำมากกว่า เช่น “ถ้าลูกออกไปเล่นบอลนอกบ้าน จะสนุกกว่าเล่นในบ้านนะคะ”

4. ไม่จู้จี้จุกจิกและพูดเรื่องเดิมซ้ำๆ

ChildIgnores_web_4

การที่ลูกเมินเฉยต่อคำพูดคุณพ่อคุณแม่อาจเป็นสัญญาณเตือนว่า คุณพ่อคุณแม่พูดเรื่องนี้บ่อยเกินไปแล้ว

ทางที่ดีคืออาจต้องหยุดจู้จี้กับลูก เปลี่ยนเป็นการสร้างข้อตกลงที่ชัดเจน และบอกผลลัพธ์หากลูกทำหรือไม่ทำตามข้อตกลง แล้วคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องทำตามข้อตกลงนั้นด้วยเช่นกัน

5. ไม่ใช้น้ำเสียง คำพูด หรือท่าทางที่แสดงถึงการออกคำสั่งมากเกินไป

ChildIgnores_web_5

การบอกให้ลูกทำหรือไม่ทำอะไร สามารถปรับรูปแบบการพูดได้หลายวิธี ลองนึกถึงตัวเองว่าไม่ชอบท่าที คำพูด หรือน้ำเสียงที่แสดงถึงการออกคำสั่งอย่างไร ลูกเองก็ไม่ชอบให้คุณพ่อคุณแม่ทำอย่างนั้นเช่นกัน

การเปลี่ยนวิธีพูดรวมถึงการสร้างข้อตกลงร่วมกันแต่แรก จะทำให้คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องคอยบอกหรือออกคำสั่งกับลูกซ้ำๆ ไม่ทำให้ลูกรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่จู้จี้น่ารำคาญ ช่วยลดท่าทีไม่สนใจหรือแกล้งทำเป็นเมินเฉยของลูกได้

อ้างอิง
empoweringparents
cafemom
parentguidenews
babycentre

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST