READING

อันตรายจากคนใกล้ตัว : วิธีสอนลูกให้ระวังคน ‘ไม่’ แ...

อันตรายจากคนใกล้ตัว : วิธีสอนลูกให้ระวังคน ‘ไม่’ แปลกหน้า แต่ไม่ได้แปลว่าน่าไว้ใจ

อันตรายจากคนใกล้ตัว

คุณพ่อคุณแม่ส่วนมากมักจะกังวลและคอยสอนลูกให้ระวังอันตรายจากคนแปลกหน้า เสมอ แต่เชื่อไหมว่า ตามสถิติแล้ว อาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับเด็กกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ มักกระทำโดยบุคคลที่เด็กรู้จักหรือคุ้นเคยมากกว่ากระทำโดยคนแปลกหน้า

สถิติยังยืนยันว่า อันตรายจากคนใกล้ตัว กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศก็เกิดจากคนที่ครอบครัวไว้ใจ 30 เปอร์เซ็นต์กระทำโดยคนในครอบครัว หรือญาติสนิทที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี และมีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่กระทำโดยคนแปลกหน้า และ 90 เปอร์เซ็นต์ของการลักพาตัวเด็กก็เกิดจากคนที่ครอบครัวคิดว่าไว้ใจได้เช่นกัน

ดังนั้นนอกจากคุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกระวังคนแปลกหน้าแล้ว ยังควรสอนให้ลูกระมัดระวัง อันตรายจากคนใกล้ตัว หรือคนแปลกหน้าที่ลูกรู้สึกคุ้นเคย เช่น เพื่อนบ้าน พนักงานในร้านสะดวกซื้อ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่โรงเรียน ฯลฯ ด้วยการสอนให้ลูกรู้จักสังเกตพฤติกรรมของคนที่เข้ามาใกล้ ทักทาย ตีสนิท และ สอนทักษะการป้องกันตัวเองเบื้องต้นให้ลูกตั้งแต่เนิ่นๆ

1. อธิบายพฤติกรรมของ ‘คนที่ไม่น่าไว้ใจ’ ให้ลูกฟัง

trickyperson_web_1

ช่วงวัยที่ดีที่คุณพ่อคุณแม่จะเริ่มพูดถึงอันตรายจากคนใกล้ตัว ให้ลูกเข้าใจได้ คือ เมื่อลูกอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เพราะเป็นวัยที่ลูกกำลังเริ่มเข้าใจอะไรที่เป็นเหตุเป็นผลได้ดีขึ้น

Pattie Fitzgerald ผู้ก่อตั้งและผู้สร้าง Safely Ever After และผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับความปลอดภัยของเด็ก ให้คำแนะนำว่าคุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกเข้าใจว่า ‘คนที่ไม่น่าไว้ใจ’ หมายถึงคนที่ทำให้ลูกรู้สึกอึดอัดหรือไม่ปลอดภัยไม่ว่าจะทางร่างกายหรือจิตใจ เช่น คนที่แสดงความสนใจต่อลูกมากเป็นพิเศษ คนที่หาทางอยู่กับลูกตามลำพัง หรือคนที่พยายามหลอกล่อลูกให้ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ

trickyperson_web_2

• คนที่ไม่น่าไว้ใจมักจะเข้ามาขอความช่วยเหลือ คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้ว่า โดยปกติแล้ว ผู้ใหญ่จะไม่ขอความช่วยเหลือจากเด็ก ดังนั้นถ้ามีคนมาบอกให้ลูกช่วยตามหาสุนัข หรือขอให้ช่วยเดินไปเป็นเพื่อนทางอื่น ลูกต้องรีบปฏิเสธและเดินหนีออกมาทันที

• คนหวังร้ายมักจะพูดกับลูกว่า ‘อย่าบอกใคร’ ถ้ามีคนมาบอกหรือทำอะไรแล้วขอให้ลูกเก็บไว้เป็นความลับ หรือขู่ว่าจะเกิดอันตรายหากลูกบอกคนอื่น นั่นแหละคือสัญญาณเตือนว่าคนคนนั้นไม่น่าไว้ใจ และลูกควรบอกให้คุณพ่อคุณแม่รู้ให้เร็วที่สุด

• อย่าคุยกับคนที่บอกว่าจะพาไปหาคุณพ่อคุณแม่ ถ้าใครมาบอกลูกว่ามีเหตุฉุกเฉิน หรือจะพาไปหาคุณพ่อคุณแม่ และลูกต้องไปกับเขาทันที รวมไปถึงการบอกให้ลูกฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ต่างๆ เช่น เรียกให้ออกมาจากบ้าน นี่คือพฤติกรรมของคนที่ไม่น่าไว้ใจเป็นอย่างยิ่ง

• คนไม่น่าไว้ใจอาจมาในรูปแบบของคนคุ้นเคย เช่น คนข้างบ้าน พี่เลี้ยง แม่บ้าน พนักงานส่งของ คนที่พบเจอบ่อยๆ หรือใครก็ตามที่มีพฤติกรรมที่ทำให้ลูกรู้สึกอึดอัด นั่นหมายความว่าลูกควรระมัดระวังใครคนนั้นมากขึ้น และหลีกเลี่ยงที่จะอยู่ใกล้กับคนคนนั้นตามลำพัง

ข้อควรระวัง: คุณพ่อคุณแม่ควรระวังคนรู้จักที่มักจะเสนอตัวเข้ามาช่วยดูแลลูก ด้วยความกระตือรือร้นเกินไป และคนคุ้นเคยที่พยายามโน้มน้าวหรือเกลี่ยกล่อมให้คุณพ่อคุณแม่ปล่อยลูกไว้กับเขาตามลำพัง

2. สร้างโค้ดลับฉบับครอบครัว

trickyperson_web_3

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ง่ายคือผู้ไม่หวังดีบอกว่าคุณพ่อคุณแม่ให้มาพาไปหา ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรสร้างโค้ดหรือรหัสลับที่รู้กันในครอบครัว โดยสามารถใช้เป็นประโยคที่ลูกจดจำได้ง่าย แต่เป็นคำพูดเฉพาะตัว คนทั่วไปมักไม่ค่อยพูดประโยคเหล่านี้ เช่น ก้อนเมฆเป็นรูปกอริลล่า หิวเท่าสไปโนซอรัส (เพราะลูกชอบไดโนเสาร์ชนิดนี้มาก) และสอนให้ลูกรู้จักใช้คำถามเพื่อถามรหัสลับจากคนคนนั้น หากเขาตอบไม่ตรงตามที่ตกลงกับคุณพ่อคุณแม่เอาไว้ ก็แปลว่าลูกห้ามออกไปไหนกับคนนั้นเด็ดขาด

3. ฝึกให้ลูกติดธงแดง และส่งเสียงเตือนภัยในใจก่อน

trickyperson_web_4

ทักษะหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกก็คือ ให้ลูก ‘เชื่อในสัญชาตญาณตัวเอง’ หากลูกรู้สึกประหม่า กระอักกระอ่วน หรือไม่สบายใจเมื่อต้องอยู่กับใคร ขอให้ลูกเชื่อในความรู้สึกนั้น และระมัดระวังตัวเองหรือหลีกเลี่ยงออกมาให้มากที่สุด

• ยกธงแดงในหัว เช่น ถ้ามีคนเข้ามาถามเรื่องส่วนตัวของลูก นี่คือสัญญาณอันตรายที่ลูกต้องยกธงแดงในใจ รีบเดินหนี และหาคนที่สามารถช่วยเหลือลูกได้

• สอนลูกส่งสัญญาณด้วยนิ้วโป้ง หากลูกตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีคนรู้จักเข้ามาหา คุณพ่อคุณแม่อาจไม่ได้จับตามองในระยะใกล้ หรือแค่เฝ้ามองอยู่ห่างๆ ให้ลูกรู้วิธีส่งสัญญาณด้วยการชูนิ้วโป้งขึ้น เพื่อบอกคุณพ่อคุณแม่ว่าทุกอย่างปกติดี  ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง และคว่ำนิ้วโป้งลง เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่รู้ว่าลูกกำลังอึดอัด รู้สึกไม่ปลอดภัย และต้องการให้คุณพ่อคุณแม่เข้ามาช่วยเหลือ

4. ให้ลูกจดจำสี่คำมหัศจรรย์ : ไม่ วิ่ง ร้อง บอก (No, Go, Yell, Tell)

trickyperson_web_5

YVONNE WALUS ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ที่ปรึกษาอาวุโสด้านระบบการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ในโอ๊คแลนด์ และคุณแม่ลูกสองผู้มีเทคนิคฝึกลูกหนีจากคนไม่น่าไว้ใจ ด้วย 4 คำท่องจำง่าย คือ ไม่ / วิ่ง / ร้อง / บอก

หากลูกรู้สึกว่ากำลังถูกคุกคาม หรือมีคนอื่นให้ทำอะไรที่ทำให้รู้สึกไม่ดี ให้ตะโกนส่งเสียงคำว่า ‘ไม่’ ออกมาให้ดังที่สุด แล้ววิ่งหรือเดินหนีออกมาจากตรงนั้นให้เร็วที่สุด

หากลูกรู้สึกเป็นอันตรายและต้องการความช่วยเหลือ ก็ขอให้ตะโกนร้องขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่คนอื่นเสมอ

การสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวคือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับลูกๆ คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นผู้ที่รับฟังที่ดีให้กับลูก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและทำให้ลูกกล้าเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟังด้วยความรู้สึกมั่นใจได้

 

— อ่านบทความ: สอนลูกรับมือคนแปลกหน้า: 5 เทคนิคฝึกลูกให้ระวังและปกป้องตัวเองจากคนแปลกหน้า
อ้างอิง
everydaymomsquad.com
totstoteens.co.nz
gooddayswithkids.com
journalistsresource.org

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST