เทศกาลตรุษจีน หรือวันขึ้นปีใหม่ของจีน ถือเป็นวันและเทศกาลสำคัญของคนจีน รวมถึงคนไทยเชื้อสายจีน ที่นอกจากการเฉลิมฉลองกับคนในครอบครัวแล้ว ยังมีกิจกรรมที่ทำเพื่อความเป็นศิริมงคลต่างๆ เช่น การเซ่นไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษ ด้วยอาหาร ผลไม้ และขนมหวานที่หากินไม่ได้ในเวลาทั่วไป
แม้คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะคุ้นหน้าคุ้นตาขนมต่างๆ ในเทศกาลตรุษจีนกันดีอยู่แล้ว (เพราะเห็นอยู่ทุกปี) แต่พอถึงเวลาจะต้องตอบคำถามเจ้าตัวเล็กว่าขนมแต่ละอย่างเรียกว่าอะไร และมีที่มาอย่างไร ก็อาจจะนึกไม่ออกบ้างล่ะ ไม่แน่ใจชื่อเรียกของมันบ้างล่ะ
วันนี้ M.O.M Cyclopedia มีคัมภีร์ชื่อเรียกขนมต่างๆ ที่มักจะได้เห็นในเทศกาลตรุษจีน คุณพ่อคุณแม่จะได้เอาไว้อธิบายให้ลูกฟังได้ง่ายๆ มาฝากค่ะ

ขนมเข่ง
- ชื่อจีนเรียก ‘เหนียนเกา’
- มีต้นกำเนิดจากมณฑลฝู่เจี้ยน (ฮกเกี้ยน)
- เป็นขนมทำจากแป้งข้าวเหนียว และน้ำตาล
- มีความหมายให้ชีวิตหวานชื่น ราบรื่นประสบความสำเร็จทุกอย่าง
ขนมเทียน
- มีต้นกำเนิดที่ประเทศไทย โดยดัดแปลงจากขนมเข่ง
- ทำจากแป้งข้าวเหนียว มีทั้งไส้คาวและหวาน ห่อด้วยใบตองทรงกรวยแหลมเหมือนเจดีย์
- เป็นขนมมงคลมักใช้ในวันสำคัญทั้งชาวไทยและชาวจีน
- มีความหมายถึงความสว่างรุ่งเรืองในชีวิต
หมั่นโถว
- เดิมเรียก ‘หม่านโถว’
- มาจากตำนานในสามก๊ก
- เล่ากันว่าข้งเบ้งนำแป้งมาปั้นเป็นศีรษะของเชลยศึกเพื่อเซ่นไหว้เทพ
- เมื่อก่อนมีไส้แต่ดัดแปลงเรื่อยๆ จนไม่มี
- มีความหมายถึงการห่อโชค ห่อลาภ ห่อเงินห่อทอง
ขนมฟู
- ภาษาจีนแต้จิ๋วเรียก ‘ฮวกก้วย’
- เป็นขนมโบราณที่มาจากคนจีน
- มีลักษณะเนื้อแตกฟู เบา มักนิยมสีชมพูและขาว
- นิยมนำไปไหว้เจ้า และใช้ในงานมงคล
- มีความหมายถึงความเฟื่องฟู เจริญงอกงามทั้งหน้าที่และการงาน
จันอับ
- จันอับเป็นเพียงแค่ชื่อกล่องที่ใส่ขนม แปลว่า ปิ่นโต
- ชื่อขนมจริงๆ คือ ‘แต้เหลี้ยว’
- เป็นขนมหวานอย่างแห้งของชาวแต้จิ๋ว ชาวฮกเกี้ยน และชาวกวางตุ้ง
- มีขายในประเทศไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา
- นิยมนำมาไหว้เจ้า และใช้ในงานมงคล
- ประกอบด้วยขนม 5 อย่าง ได้แก่ ขนมถั่วตัด ขนมงาตัด ถั่วเคลือบน้ำตาล ฟักเชื่อม ขนมข้าวพอง
- มีความหมายถึงชีวิตเจริญก้าวหน้า ชีวิตหอมหวาน
COMMENTS ARE OFF THIS POST