READING

สำลักอาหาร กลืนของเล่น เรื่องใหญ่ที่ (อาจ) อันตราย...

สำลักอาหาร กลืนของเล่น เรื่องใหญ่ที่ (อาจ) อันตรายถึงชีวิต

สำลักอาหาร

อันตรายที่เกิดจากการมีสิ่งแปลกปลอมอุดกลั้นทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะเกิดจากการ สำลักอาหาร หรือกลืนสิ่งของขนาดเล็กลงคอ จะทำให้เกิดอาการหายใจไม่ออกเฉียบพลัน หากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องและนำส่งโรงพยาบาลทันท่วงที อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ซึ่งเป็นวัยที่กำลังซุกซน อยากรู้อยากเห็น จึงมักมีพฤติกรรมชอบหยิบของใส่ปาก และวิ่งเล่นระหว่างกินอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ สำลักอาหาร ได้

วิธีป้องกันลูกจากการสำลักอาหาร

1. สอนให้ลูกนั่งกินข้าว

เด็กๆ มีโอกาสที่จะสำลักอาหารมากขึ้น หากคุณพ่อคุณแม่ยอมให้ลูกกินขณะที่กำลังนอนกลิ้ง หรือวิ่งเล่นไปด้วย ดังนั้นการสอนให้ลูกรู้จักเดินมานั่งที่นั่งเก้าอี้หรือแม้แต่นั่งบนพื้นเพื่อกินอาหารให้เรียบร้อย จะช่วยลดความเสี่ยงจากการสำลักอาหารได้

2. สอนให้ลูกเคี้ยวอาหารให้ละเอียดทุกครั้ง

เด็กๆ มักไม่ให้ความสำคัญกับการเคี้ยวอาหารให้ละเอียด อาจเกิดจากการที่ลูกเคี้ยวอาหารไม่เป็น หรือห่วงเล่นจนไม่ได้โฟกัสกับอาหารตรงหน้า ทำให้พวกเขาใช้วิธีรีบเอาอาหารใส่ปาก เคี้ยวหยับๆ เล็กน้อย แล้วรีบกลืนลงคอทันที

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือการสอนให้ลูกเคี้ยวอาหารอย่างถูกต้อง เช่น เลือกอาหารที่มีความแข็งเหมาะสมกับช่วงอายุของลูก ไม่เร่งให้ลูกรีบกินอาหารให้หมด และสอนให้ลูกรู้ว่าควรเคี้ยวอาหารนานแค่ไหนอาหารถึงจะละเอียดพอที่จะกลืนได้

3. เตรียมอาหารให้มีขนาดเล็ก

หากลูกยังเคี้ยวอาหารได้ไม่ดีพอ คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมอาหารที่เสี่ยงต่อการติดคอหรือทำให้สำลักให้มีขนาดเล็กกว่าเม็ดถั่ว เพราะทางเดินหายใจของลูกยังมีขนาดเล็ก อาหารที่แข็งและมีขนาดใหญ่กว่าเม็ดถั่วมีโอกาสที่จะติดค้างอยู่ในลำคอและหลอดลมได้

4. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีความเสี่ยง

เด็กอายุต่ำกว่าสามขวบ ควรระมัดระวังการกิน ถั่วเมล็ดใหญ่ เช่น อัลมอนด์หรือพิชตาชิโอทั้งเมล็ด รวมถึงไม่ควรปล่อยให้ลูกกินอาหารที่เสี่ยงต่อการสำลักและติดคอ เช่น ข้าวโพดอบกรอบ มาร์ชเมลโลว์ ลูกอม องุ่น หรือผลไม้ที่มีเมล็ดตามลำพัง

5. ไม่ให้ลูกหลับไปพร้อมขวดนม

เด็กๆ ส่วนมากมักจะนอนกินนมจากขวดนมแล้วหลับไป แต่ความจริงแล้ว คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยให้ลูกหลับไปโดยมีขวดนมที่ยังมีน้ำนมอยู่ในปาก เพราะลูกอาจจะเผลอดูดน้ำนมขณะหลับ ทำให้สำลักจนเกิดอันตรายได้

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อลูกสำลักอาหารหรือมีสิ่งแปลกปลอมติดคอ

ถ้าลูกยังสามารถไอแรงๆ ได้ พูดคุยได้ และหายใจได้ปกติ คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องลงมือทำอะไรนอกจากรีบพาลูกไปโรงพยาบาล ไม่ควรพยายามให้ความช่วยเหลือด้วยวิธีใช้นิ้วล้วงคอลูก เพราะอาจดันสิ่งแปลกปลอมเข้าไปขวางทางเดินหายใจจนเกิดอันตรายมากขึ้น

แต่ถ้าลูกมีอาการหายใจไม่ออก หน้าเขียว เล็บเขียว ไม่สามารถไอและพูดคุยได้ ควรรีบให้ความช่วยเหลือดังนี้

เด็กโตและยังมีสติรู้ตัวดี

ให้ใช้วิธีรัดท้องและอัดยอดอก

• ยืนข้างหลังลูก แล้วใช้แขนสองข้างโอบรอบเอวของลูก

• กำหมัดข้างหนึ่งวางบริเวณเหนือสะดือและใต้ลิ้นปี่ลูกเล็กน้อย (ตามรูป A)

• ใช้มืออีกข้างจับมือที่กำหมัดไว้แล้วทำการอัดเข้าท้อง กระทุ้งและดันขึ้นด้านบน (คล้ายกับจะพยายามยกตัวลูกขึ้น)

• อัดหมัดเข้าที่ท้องหลายๆ ครั้ง จนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมา

• หากลูกหมดสติ ให้โทร. 1669 เพื่อเรียกรถพยาบาล และเริ่มทำ CPR

ทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี ใช้วิธีตบหลังสลับกับกดหน้าอก

• จับทารกนอนควํ่าบนแขน ให้ศีรษะตํ่าลงเล็กน้อย

• ใช้ฝ่ามือตบลงตรงกลางหลังของทารก (ระหว่างกลางของสะบักทั้งสองข้าง) เร็วๆ 5 ครั้ง

• ถ้าไม่ได้ผล จับทารกนอนหงายบนแขนให้ศีรษะตํ่า แล้วใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางวางบนกระดูกหน้าอกเหนือกระดูกลิ้นปี่ แล้วกดเร็วๆ ให้หน้าอกลูกยุบลงประมาณ 0.5-1 นิ้ว

• ถ้าไม่ได้ผล ให้ทำการตบหลังสลับกับกดหน้าอกอย่างละ 5 ครั้ง จนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมา

อ้างอิง
doctor
raisingchildren
cdc

Guest Writer

นักเขียนรับเชิญ (แทบ) ไม่ซ้ำหน้า ที่จะมาแชร์ประสบการณ์และเรื่องราวที่ (แทบ) ไม่ซ้ำใคร

COMMENTS ARE OFF THIS POST