READING

พฤติกรรมลอกเลียนแบบ (Copycat) เรื่องธรรมดาของเด็ก ...

พฤติกรรมลอกเลียนแบบ (Copycat) เรื่องธรรมดาของเด็ก ที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม

พฤติกรรมลอกเลียนแบบ

Copycat เป็นคำแสลงที่หมายถึงคนที่มีนิสัยชอบลอกเลียนแบบพฤติกรรมของคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการลอกเลียนแบบพฤติกรรมของคนดังเพื่อให้ตัวเองได้รับความสนใจหรือเป็นที่รู้จัก การก่ออาชญากรรมในลักษณะเดียวกับอาชญากรที่เคยเป็นข่าว และยังมีความรวมถึง พฤติกรรมลอกเลียนแบบในเด็ก อีกด้วย

พฤติกรรมลอกเลียนแบบ หรือ Imitation Behavior โดยเฉพาะพฤติกรรมลอกเลียนแบบในเด็ก เกิดจากพัฒนาการของเด็กในช่วงวัยหนึ่งจะเริ่มสังเกต เรียนรู้ และซึมซับพฤติกรรมของคนใกล้ตัว ยิ่งพฤติกรรมนั้นส่งผลต่อจิตใจและอารมณ์ของเด็กมากเท่าไร ก็มีโอกาสที่เด็กจะจดจำและนำมาเป็นพฤติกรรมของตัวเองมากขึ้น

 

ทำไมจึงใช้คำว่า Copycat ซึ่งมีความหมายเชิงลบ มาใช้กับพฤติกรรมลอกเลียนแบบ ของเด็ก?

มีงานวิจัยจากนักจิตวิทยาหลายชิ้น เผยว่า พฤติกรรมลอกเลียนแบบเป็นสัญชาตญาณตามธรรมชาติของมนุษย์ โดยเฉพาะในวัยเด็ก เพราะการลอกเลียนแบบทำให้เกิดการเรียนรู้ขั้นพื้นฐาน และนำไปสู่กระบวนการพัฒนาต่อไปในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้นการเลียนแบบยังช่วยให้มนุษย์รู้สึกกลมกลืนและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสังคมรอบตัวอีกด้วย

ดังนั้น การลอกเลียนแบบพฤติกรรมจะเป็นไปในทางที่ดีหรือแย่นั้นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมรอบตัว โดยเฉพาะสถาบันครอบครัว ซึ่งพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่คุณพ่อคุณแม่แสดงออกมาทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว สามารถส่งต่อและหล่อหลอมเป็นนิสัยไม่น่ารักติดตัวลูกได้ และพฤติกรรมที่เด็กมักลอกเลียนแบบหรือได้รับอิทธิพลจากคนรอบข้างมีอะไรบ้าง เราชวนคุณพ่อคุณมาสังเกตและทำความเข้าใจไปพร้อมกันค่ะ

1. เสียงดังใส่คนในบ้าน

Copycat_web_1

การตะโกนหรือส่งเสียงดังส่งผลต่ออารมณ์ทางด้านลบของลูกเป็นอย่างมาก ในช่วงแรกลูกอาจแสดงอาการหวาดกลัว เช่น กรี๊ด ร้องไห้ออกมา จนสะสมเป็นความเครียด และนำไปสู่การเป็นเด็กเก็บกด อารมณ์รุนแรงได้

ยิ่งไปกว่านั้น หากคุณพ่อคุณแม่ยังคงทำพฤติกรรมดังกล่าวต่อไปเรื่อยๆ จนลูกเกิดความเคยชินและเริ่มเลียนแบบการตะโกนเสียงดังไปใช้กับเพื่อนๆ ที่โรงเรียน หรือแม้แต่นำมาใช้กับคุณพ่อคุณแม่และผู้ใหญ่คนอื่นๆ ถึงตอนนั้นคงเป็นการยากที่จะปรับนิสัยให้ลูกกลับมาเป็นเด็กที่น่ารักเหมือนเดิมได้

2. ชอบให้ลูกพูดหรือแสดงท่าทางตามกระแสโซเชียลฯ

Copycat_web_2

ปัจจุบันสื่อต่างๆ ในโซเชียลมีเดียสามารถเข้าถึงได้ง่าย ทำให้ลูกมีโอกาสได้เห็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะกับวัยได้มากขึ้น เช่น การใช้คำหยาบคาย ท่าเต้นที่สื่อถึงเรื่องเพศ

หลายครั้งที่คุณพ่อคุณแม่มองว่าการเลียนแบบพฤติกรรมดังกล่าวเป็นเรื่องตลก แต่เมื่อไม่นานมานี้มีสื่อต่างประเทศเปิดเผยคำให้การณ์ของผู้ก่อเหตุคดีล่วงละเมิดเด็กเล็ก ซึ่งมีภาวะ Pedophilia หรือ โรคใคร่เด็ก ว่า หนึ่งในเหตุจูงใจในการก่อเหตุ เกิดขึ้นจากการเห็นคลิปวิดิโอเด็กเต้นแบบผู้ใหญ่ในโซเชียลฯ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรตระหนักถึงความเหมาะสมและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลอกเลียนแบบพฤติกรรมจากอินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดียอย่างใกล้ชิด

3. ตีลูกบ่อย

Copycat_web_3

มีงานวิจัยเผยว่าการลงโทษลูกด้วยวิธีการตีหรือใช้ความรุนแรง ส่งผลต่อสภาพจิตใจ และทำให้ลูกเกิดพฤติกรรมลอกเลียนแบบ นำสิ่งที่ตัวเองได้รับไปทำกับเพื่อน รวมถึงเป็นการบ่มเพาะนิสัยก้าวร้าว ชอบใช้ความรุนแรงอีกด้วย

คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกใช้วิธีการลงโทษลูกอย่างสร้างสรรค์ เช่น การทำ Time-out ลดเวลาเล่น หรืองดการออกไปเที่ยวในวันหยุด พร้อมทั้งให้คำแนะนำที่เหมาะสม เพื่อให้ลูกได้ปรับปรุงแก้ไขและเข้าใจถึงความผิดที่ตัวเองทำอย่างแท้จริง

4. พูดจาไม่ดีกับผู้สูงวัยในบ้าน

Copycat_web_4

สำหรับบ้านที่อยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ โดยเฉพาะมีผู้สูงอายุในบ้าน คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังการใช้คำพูดและจัดการกับอารมณ์ให้ดี เพราะการเลี้ยงลูกเล็กไปพร้อมกับการดูแลผู้สูงอายุ อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่เหนื่อยล้าจนเกิดความเครียด กลายเป็นคำพูดและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมให้ลูกเห็น

เมื่อลูกอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่คุณพ่อคุณแม่พูดจาหรือปฏิบัติไม่ดีกับผู้สูงอายุ ลูกจะค่อยๆ กลายเป็นเด็กไม่เคารพผู้ใหญ่ และจดจำพฤติกรรมเหล่านั้นไปใช้กับคุณครู ผู้ใหญ่รอบตัว หรือแม้แต่คุณพ่อคุณแม่ก็จะได้รับพฤติกรรมเช่นนั้นด้วย

อ้างอิง
FirstcryParenting
Medium
Britannica

PITTAYARAT CH.

พิทยารัตน์ ชูพล: เด็กผู้หญิงผู้รับบทบาทลูกสาวคนเล็ก ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักเเละความใส่ใจจากคุณแม่ จนมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะมอบความรักอันยิ่งใหญ่แบบนี้ให้ใครสักคนบ้าง

COMMENTS ARE OFF THIS POST