READING

3 ข้อดี 3 ข้อเสีย ของการให้ลูกนอนยาวด้วยวิธี Cry i...

3 ข้อดี 3 ข้อเสีย ของการให้ลูกนอนยาวด้วยวิธี Cry it out

การนอนหลับพักผ่อนมีความสำคัญกับการเจริญเติบโตของทารก การกล่อมหรือทำให้ลูกน้อยนอนหลับลงได้เมื่อถึงเวลา จึงเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนปรารถนา ยิ่งถ้าลูกนอนหลับได้ยาวนานหรือนอนหลับได้ด้วยตัวเองแล้วละก็… ถือเป็นเรื่องราวดีๆ ของวันนั้นได้เลยใช่ไหมล่ะคะ

การเอาลูกน้อยเข้านอนสามารถแบ่งออกเป็นสองวิธี ได้แก่ No-cry method หมายถึงการให้ลูกน้อยนอนหลับลงได้โดยไม่ต้องมีซีนดราม่าเสียน้ำตา แต่อาจจะต้องแลกมาด้วยการที่คุณแม่ต้องคอยอุ้มและกล่อมลูกน้อยอยู่ในอ้อมแขนจนหลับไป แล้วค่อยพาลูกไปวางลงบนที่นอน

ส่วนอีกวิธีก็คือ Cry it out method วิธีนี้คุณแม่จะไม่ต้องอุ้มหรือกล่อมลูกใยอ้อมแขน แต่เมื่อถึงเวลานอน ก็วางลูกลงบนที่นอน หากลูกร้องก็ปล่อยให้ลูกร้องจนหลับไป โดยมีคุณแม่เฝ้ามองอยู่ห่างๆ

การฝึกให้ลูกเข้านอนด้วยวิธี Cry it out อาจต้องใช้เวลาประมาณ 4-7 วัน เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้ลูก โดยในช่วงแรก คุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีตั้งเวลา เช่น จะเข้าไปโอ๋หรือปลอบเมื่อลูกร้องไห้ต่อเนื่องได้สามนาที แล้วก็จะปล่อยให้ลูกลองนอนหลับด้วยตัวเองอีกครั้ง

ดูแล้วก็น่าเป็นวิธีที่น่าสนใจใช่ไหมคะ เพราะถ้าลูกน้อยนอนหลับเองได้โดยที่คุณแม่ไม่ต้องคอยอุ้มคอยกล่อมตลอดเวลา ย่อมเป็นเรื่องที่ดี แต่วิธี Cry it out ก็เหมือนกับทฤษฎีหลายๆ อย่าง ที่นอกจากจะมีข้อดีแล้ว ถ้าไม่ได้ถูกนำมาปรับใช้อย่างพอดีก็อาจมีข้อเสียได้

เราลองสรุปข้อดีข้อเสียของการให้ลูกเข้านอนด้วยวิธี Cry it out มาฝากคุณพ่อคุณแม่ เพื่อการนำมาใช้ให้มีประโยชน์มากที่สุดค่ะ

ข้อดี

1. ลูกเรียนรู้วิธีที่จะทำให้ตัวเองผ่อนคลาย

Cryitout_web_1

ในช่วงแรก การปล่อยให้ลูกนอนร้องไห้โดยไม่เข้าไปปลอบ อาจะดูเป็นวิธีการที่ตึงเครียดไปสักหน่อย แต่ Cry it out จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะจัดการกับความเครียดและหาวิธีการผ่อนคลายให้ตัวเองได้

มีผลการศึกษาพบว่าการเข้านอนด้วยการ Cry it out จะช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ทิซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่จะหลั่งเมื่อสมองเกิดความเครียด จึงแสดงให้เห็นว่าลูกจะสามารถเรียนรู้และจัดการกับความเครียดของตัวเองได้ดีขึ้น

2. ทำให้ลูกนอนหลับเร็วขึ้น

Cryitout_web_2

การพาลูกเข้านอนดูเหมือนจะเป็นกิจวัตรประจำวันที่ยากลำบากและใช้เวลานาน เพราะบางครั้งลูกก็มักจะพยายามถ่วงเวลาเพื่อที่จะไม่ต้องหลับตาลงง่ายๆ เช่น อยากเล่นกับคุณพ่อคุณแม่บ้าง ชวนคุณพ่อคุณแม่คุยบ้างวิธี Cry it out จะทำให้ลูกเรียนรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่มีเวลาจำกัดที่จะอยู่พาลูกเข้านอน ยิ่งถ้าลูกนอนหลับช้าเท่าไร เขาก็จะต้องอยู่คนเดียวนานขึ้นเท่านั้น

3. คุณพ่อคุณแม่มีเวลาส่วนตัวมากขึ้น

Cryitout_web_3

‘ลูกหลับแล้ว จะทำอะไรก็ได้’ ประโยคนี้คุณพ่อคุณแม่น่าจะเข้าใจได้เป็นอย่างดี เพราะช่วงเวลาทองของวันจะเกิดขึ้นเมื่อลูกน้อยนอนหลับ และยิ่งถ้าลูกนอนหลับได้นาน คุณพ่อคุณแม่ก็จะมีเวลาเป็นของตัวเองมากขึ้นไปด้วย

ข้อเสีย

1. อาจทำให้คุณแม่มีน้ำนมน้อยลง

Cryitout_web_4

สำหรับคุณแม่ให้ลูกด้วยนมแม่ การใช้วิธี Cry it out อาจทำให้คุณแม่เผชิญกับภาวะน้ำนมลดลง เพราะลูกมีโอกาสเข้าเต้าคุณแม่เพื่อดูดและกระตุ้นน้ำนมคุณแม่น้องลงไปด้วย

2. ลูกอาจรู้สึกเครียดได้

Cryitout_web_5

เด็กแต่ละคนมีความสามารถในการเรียนรู้และปรับตัวไม่เหมือนกัน แม้วิธีนี้จะช่วยให้ลูกเรียนรู้ที่จะจัดการกับความเครียดของตัวเองได้ แต่สำหรับเด็กบางคนการถูกปล่อยให้ร้องไห้คนเดียวนานเกินไป อาจทำเกิดความเครียดได้

3. ลูกสูญเสียความเชื่อใจในตัวคุณพ่อคุณแม่

Cryitout_web_6

การคอยปลอบประโลมและทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยเป็นหน้าที่สำคัญของคุณพ่อคุณแม่ และยังช่วยสานสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกได้ แต่การให้ลูกเข้านอนด้วยวิธี Cry it out หรือปล่อยให้ลูกร้องไห้คนเดียวนานเกินไป อาจทำให้ลูกรู้สึกหวาดกลัวการอยู่คนเดียวและไม่เชื่อมั่นคุณพ่อคุณแม่ได้

อ้างอิง
bitsybugboutique
bellybelly
sleepbaby
moms

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

COMMENTS ARE OFF THIS POST