‘ความผิดพลาด’ และ ‘ความพ่ายแพ้’ อาจสร้างความผิดหวังให้กับทุกคน โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ยังขาดประสบการณ์และภูมิคุ้มกันทางใจ ยิ่งลูกที่เติบโตมากับความคาดหวังของคุณพ่อคุณแม่ ก็ยิ่งหวาดกลัวต่อความผิดหวังและพ่ายแพ้ของตัวเองได้ง่าย
โดยธรรมชาติแล้วเด็กผู้ชายโดยเฉพาะในช่วงวัย 4-6 ขวบ มักจะมีนิสัยชอบเอาชนะ อยากเป็นที่รัก และต้องการสร้างตัวตนที่เป็นที่ยอมรับของคนอื่น การสอนให้ลูกชายรับมือกับความผิดพลาดและผิดหวังให้เป็น จะช่วยให้ลูกเติบโตมาเป็นคนที่สามารถ ยอมรับแต่ไม่ยอมแพ้ ซึ่งหมายถึงการยอมรับความผิดพลาด ผิดหวัง เสียใจ แต่ไม่ยอมแพ้หรือย่อท้อต่ออุปสรรคง่ายๆ ดังนั้นการสอนให้ลูกรู้จักยอมรับความผิดหวัง แต่ก็พร้อมที่จะลุกขึ้นสู้กับอุปสรรคจึงเป็นทักษะสำคัญในสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน
M.O.M จึงได้รวมเอา 5 เทคนิควิธีที่จะสอนให้ลูกเป็นเด็กที่รู้จัก ยอมรับแต่ไม่ยอมแพ้ มาฝากคุณพ่อคุณแม่ให้นำไปปรับใช้กับลูกน้อยไปด้วยกันนะคะ
1. สอนให้ลูกเข้าใจว่า ‘ไม่ใช่ทุกสิ่งที่ควบคุมได้’
สาเหตุที่ลูกไม่สามารถรับมือกับความผิดหวังหรือความรู้สึกพ่ายแพ้ของตัวเอง เนื่องจากลูกยังเด็กเกินกว่าจะเข้าใจได้ว่าตัวเองไม่สามารถคาดหวังและควบคุมให้ทุกอย่างเป็นอย่างที่ต้องการได้
คุณพ่อคุณแม่จึงควรเริ่มจากการอธิบายให้ลูกเข้าใจว่า ถึงแม้ลูกจะตั้งใจและพยายามอย่างเต็มที่แล้ว แต่ในสถานการณ์จริง ย่อมมีปัจจัยมากมายที่ลูกควบคุมไม่ได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะทำอะไร ลูกจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อมและเตรียมใจรับความผิดหวังเอาไว้เสมอ
นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่อาจลองเล่าสถานการณ์ความผิดพลาดและผิดหวังของตัวเองที่ผ่านมาให้ลูกฟัง เพื่อให้ลูกเข้าใจว่าความผิดพลาดและผิดหวังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน
2. ฝึกทักษะการแก้ไขปัญหาให้ลูก
ทักษะการแก้ปัญหาเปรียบเสมือนกุญแจที่จะช่วยให้ลูกก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ด้วยตัวเองได้ คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มจากการสอนให้ลูกรู้จักพึ่งพาตัวเองในเรื่องง่ายๆ เช่น เมื่อลูกทำของเล่นเสียหาย ลองให้ลูกหาวิธีซ่อมหรือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยตัวเองก่อน แล้วคุณพ่อคุณแม่ค่อยเข้าไปให้คำแนะนำหรือให้ความช่วยเหลือภายหลัง
นอกจากนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมให้ลูกเป็นเด็กช่างสังเกต ขี้สงสัย และตั้งคำถาม เพราะการตั้งคำถาม จะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้กระบวนการค้นหาคำตอบ และพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาต่อไปอย่างก้าวกระโดดเลยค่ะ
3. ไม่พูดซ้ำเติมลูก
เวลาลูกทำผิดพลาด คุณพ่อคุณแม่อาจเผลอตำหนิ ต่อว่า หรือใช้คำพูดทำร้ายจิตใจลูกโดยไม่รู้ตัว เช่น ถ้าเชื่อแม่แต่แรกคงไม่เป็นอย่างนี้, ลูกพยายามไม่มากพอ, หรือเรื่องแค่นี้ทำไมทำไม่ได้…
ถึงแม้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะไม่ตั้งใจทำร้ายความรู้สึกลูก หรือต้องการพูดเพื่อสร้างแรงกดดันให้ลูกมีความพยายามมากขึ้น แต่ความจริงแล้ว ประโยคแง่ลบเหล่านี้อาจทำให้ลูกสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าลงมือทำสิ่งใหม่ๆ เพราะกลัวความผิดพลาด จนถึงถอดใจและยอมแพ้ต่ออุปสรรคง่ายๆ ได้อีกด้วย
4. สอนให้ลูกเป็นผู้ช่วยและเพื่อนร่วมงานที่ดี
การมอบหมายหน้าที่หรือขอความช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ จากลูก เช่น ให้ลูกเป็นลูกมือช่วยคุณแม่เตรียมอาหารเย็น ชวนลูกช่วยดูแลญาติผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุในบ้าน พาลูกออกไปทำกิจกรรมเวิร์กช็อปพบปะเด็กวัยเดียวกัน จะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้ทักษะการเป็นผู้ช่วยที่ดี กล้าขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น เรียนรู้การเข้าสังคม การทำงานเป็นทีม และฝึกทักษะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้
เมื่อลูกโตขึ้นและเผชิญกับปัญหาที่ยากจะรับมือด้วยตัวคนเดียว ลูกจะรู้จักการมองหาวิธีการที่หลากหลายในการแก้ปัญหา และกล้าที่จะขอความช่วยเหลือเพื่อให้เป้าหมายของตัวเองผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
5. เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก
ลูกวัยเตาะแตะมักชอบจดจำและเลียนแบบพฤติกรรมจากคุณพ่อคุณแม่ ดังนั้นตัวอย่างของการเป็นนักสู้ที่ดีที่สุดสำหรับลูกก็คือคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง
โดยคุณพ่อคุณแม่ต้องทำให้ลูกเห็นว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องยอมรับและหาทางแก้ไข หรือป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำสอง ด้วยสถานการณ์เล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ‘วันนี้น้ำซุปเค็ม เพราะแม่ใส่ซอสมากไปหน่อย ครั้งหน้าแม่จะระวังมากขึ้น’ หรือ ‘พ่อขอโทษที่ทำของเล่นลูกหัก เราลองมาช่วยกันซ่อมดีไหม’ ลูกจะค่อยๆ เรียนรู้และซึมซับการยอมรับความผิดพลาด และพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาต่อไปได้
COMMENTS ARE OFF THIS POST