READING

ทำไมลูกชอบร้องไห้เวลาอึ : ทำความรู้จัก ภาวะร้องเวล...

ทำไมลูกชอบร้องไห้เวลาอึ : ทำความรู้จัก ภาวะร้องเวลาถ่ายอุจจาระในทารก (infant dyschezia)

ทำไมลูกชอบร้องไห้เวลาอึ

ปัญหาการขับถ่ายของวัยทารก เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่แม่มือใหม่เป็นกังวลอย่างมาก เพราะไม่รู้เลยว่า ลูกเป็นอะไรหรือเปล่า และอาการที่ลูกเป็นนี่คืออาการปกติของทารกหรือไม่

คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกวัยทารกเคยสังเกตไหมคะ ทำไมลูกชอบร้องไห้เวลาอึ หรือบางครั้งก็เบ่งจนหน้าดำหน้าแดง แต่พอขับถ่ายออกมาก็ดูเหมือนจะปกติดี ถ้าลูกของคุณมีอาการเหล่านี้ล่ะก็ อาจะเป็นไปได้ว่ากำลังเป็น ภาวะร้องเวลาถ่ายอุจจาระในทารก (infant dyschezia)

วันนี้เราจะพาคุณพ่อคุณแม่ไปรู้จักภาวะร้องเวลาถ่ายอุจจาระในทารก (infant dyschezia) รวมถึงลักษณะอาการ ตลอดจนวิธีการรับมือกันค่ะ

ภาวะร้องเวลาถ่ายอุจจาระในทารก (infant dyschezia) คืออะไร

infantdyschezia_1

ภาวะร้องเวลาถ่ายอุจจาระในทารก (infant dyschezia) เกิดจากกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการขับถ่ายยังไม่ประสานกัน ส่วนที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนอุจจาระทำงานแล้ว แต่ลูกยังไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณทวารหนักให้คลายตัวได้ จึงใช้วิธีการออกแรงด้วยกะบังลมและกล้ามเนื้อหน้าท้องในการเบ่ง หรือเรียกง่ายๆ ว่าเบ่งถ่ายอุจจาระยังไม่เก่งนั่นเอง

ลักษณะอาการเป็นอย่างไร

infantdyschezia_2

สำหรับอาการที่บ่งบอกว่าลูกเป็น ภาวะร้องเวลาถ่ายอุจจาระในทารก (infant dyschezia) คือ ลูกทารกมักจะร้องไห้เวลาก่อนถ่ายอุจจาระ เบ่งจนหน้าดำหน้าแดง และอาจเบ่งนานถึง 10 นาที โดยอุจจาระมีลักษณะนิ่มเป็นปกติ ไม่แข็ง ซึ่งหลังถ่ายเสร็จแล้วก็สามารถเล่นหรือนอนหลับต่อได้ มักพบในทารกอายุ 1 เดือน ซึ่งภาวะนี้สามารถหายได้เพียงไม่กี่สัปดาห์หรืออาจจะนานกว่านั้น แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะหายไปก่อนอายุ 6 เดือน เนื่องจากระบบย่อยอาหารของทารกเริ่มทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

วิธีรับมือเมื่อลูกร้องไห้เวลาอึ

infantdyschezia_3

แม้ภาวะร้องเวลาถ่ายอุจจาระในทารก จะยังไม่ใช่เรื่องที่ต้องเป็นกังวลถึงขั้นพาลูกไปหาหมอ แต่ก็มีงานวิจัยบางชิ้นแนะนำว่าการนวดทารกสามารถช่วยกระตุ้นระบบประสาทและพัฒนาการทางร่างกายของทารกได้ แม้จะไม่ใช่การรักษาโดยตรง แต่การนวดเป็นประจำอาจช่วยปรับปรุงการประสานงานระหว่างสมองและร่างกายที่ต้องพัฒนาเพื่อเรียนรู้วิธีการถ่ายอุจจาระได้

โดยการนวดสามารถทำได้ เช่น วางนิ้วชี้และนิ้วกลางบนท้องแล้วขยับตามเข็มนาฬิกาพร้อมกับออกแรงกดเล็กน้อย จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของลำไส้ หรือ การยกเข่าของทารกขึ้นมาที่หน้าอก ก็สามารถบรรเทาอาการเจ็บปวดได้

นอกจากนี้ การมอบสัมผัสที่อ่อนโยน อย่างการวางมือบนหน้าท้องอย่างเบาๆ ก็ทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและมีแนวโน้มจะผ่อนคลายมากขึ้น

อ้างอิง
Colic SOS
icliniq
clevelandclinic
Sriphat Medical Center

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST