READING

ให้ลูกเล่นเกม (?) : ลูกวัยอนุบาลให้เล่นเกมจะดีหรือ...

ให้ลูกเล่นเกม (?) : ลูกวัยอนุบาลให้เล่นเกมจะดีหรือเปล่านะ

ให้ลูกเล่นเกม

เด็กที่เกิดและเติบโตในยุคดิจิทัล ย่อมจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้มากที่สุด รวมถึงการใช้งานคอมพิวเตอร์ แทบเล็ต สมาร์ตโฟน ก็เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่ให้ทั้งความบันเทิง และแหล่งข้อมูลความรู้ที่มีประโยชน์

รวมถึงการ ให้ลูกเล่นเกม ที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจสับสนจว่า เกมที่ต้องเล่นผ่านหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั้นจะมีประโยชน์ในการพัฒนาสมอง เสริมสร้างทักษะให้ลูกวัยอนุบาล หรือจะทำลายการเรียนรู้และพัฒนาการของลูกกันแน่

จากการสำรวจของเว็บไซต์ BabyCenter จากกลุ่มครอบครัวกว่า 3,000 คน พบว่า ครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้ ผู้ปกครองปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบเล่นสมาร์ตโฟน เพื่อช่วยเบี่ยงเบนความสนใจ และสมาร์ตโฟนของผู้ปกครองเกือบหนึ่งในสี่ มีการติดตั้งแอปพลิเคชั่นสำหรับเด็กเอาไว้ นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปีส่วนมาก รู้จักและสามารถใช้สมาร์ตโฟนหรือคอมพิวเตอร์เบื้องต้นได้ ซึ่งตรงกับการศึกษาล่าสุดโดย Common Sense Media ยืนยันว่า เด็กที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็น มักเริ่มเรียนรู้ที่จะใช้คอมพิวเตอร์ตั้งแต่อายุเฉลี่ย 3 ปีครึ่ง

Rosemary Ward Laberee ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาแบบโฮมสคูล มีความเห็นว่า เด็กวัย 3 ปี ที่ปีนต้นไม้ได้คล่องแคล่วนั้น ดีกว่าเด็กอายุ 3 ปีที่สามารถเข้าถึงยูทูบผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือแทบเล็ตของผู้ปกครองได้ภายในไม่กี่วินาที อีกทั้งเด็กที่เล่นเกมมากกว่า 90 นาทีต่อวัน มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาในการเข้าสังคมมากขึ้นถึงสองเท่า และมีโอกาสที่ทำให้ผลการเรียนแย่ลงได้

แต่ถึงอย่างนั้น การ ให้ลูกเล่นเกม หรือเปิดโอกาสให้ลูกเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม ก็เป็นหนึ่งในวิธีการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ดังนั้น เพื่อช่วยให้คุณพ่อคุณแม่คลายความสงสัยว่าจะให้ลูกวัยอนุบาลให้เล่นเกมได้ไหม ลองมาพิจารณาจากข้อมูลเหล่านี้ดีกว่าค่ะ

1. งดหน้าจอทุกชนิดก่อนสองขวบ

playgame_web_1

#ก่อนสองขวบควรงดหน้าจอทุกชนิด American Academy of Pediatrics (AAP) ยืนยันว่า การใช้หน้าจอเป็นการขัดขวางพัฒนาการทางภาษาและทักษะทางสังคม โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุต่ำกว่าสองขวบ ไม่ควรให้ยุ่งเกี่ยวกับหน้าจอโดยเด็ดขาด

Dr. Carolyn Jaynes นักออกแบบการเรียนรู้ของ Leapfrog Enterprises อธิบายเพิ่มเติมว่า เด็กเล็กอายุต่ำกว่าสองขวบ อาจจะชอบเล่นกดปุ่ม สนใจดูภาพเคลื่อนไหวจากจอทีวีหรือสมาร์ตโฟน แต่ไม่ได้หมายความว่า เด็กๆ พร้อมที่จะเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีหรือการใช้หน้าจอแล้ว เด็กวัยนี้พร้อมเรียนรู้ได้ดีที่สุดจากประสบการณ์ สำรวจโลกผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า และการโต้ตอบกับคุณพ่อคุณแม่

#สามขวบเริ่มดูหน้าจอได้ คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ให้กับลูกวัยนี้ได้ แต่ต้องอยู่ในการควบคุมดูแล และเลือกเนื้อหาที่เหมาะกับช่วงวัยให้ลูกอย่างใกล้ชิด

นอกจากนั้น เด็กวัยนี้มักจะมีความกระตือรือร้นอยากใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตามผู้ใหญ่ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยให้ลูกพยายามหาวิธีใช้ด้วยตัวเอง แต่ควรใช้โอกาสนี้สอนให้ลูกใช้ฟังก์ชันที่จำเป็นและมีประโยชน์ เช่น แนะนำให้ลูกรับสายเรียกเข้า หรือโทร. ออกเบอร์ฉุกเฉินได้

2. ฉลองอายุ 5 ขวบด้วยเกมสำหรับเด็ก 

playgame_web_2

#ห้าขวบแล้วเล่นเกมได้ Jeannie Galindo หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีการเรียนการสอนของ Manatee County School District แห่งรัฐฟลอริดา ให้คำแนะนำว่า เด็กเล็กวัย 4-5 ปี สามารถเริ่มให้เล่นเกมสำหรับเด็กผ่านสมาร์ตโฟน หรือแทบเล็ตได้ รวมทั้งให้ลูกเรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์โดยมีผู้ใหญ่คอยกำกับและดูแลอย่างใกล้ชิด

#วัยที่เริ่มมีอุปกรณ์เป็นของตัวเองได้ คุณพ่อคุณแม่สามารถพิจารณาซื้อสมาร์ตโฟนหรือแทบเล็ตสำหรับใช้เพื่อการศึกษาและติดต่อสื่อสารให้กับลูกได้เมื่ออายุ 11-13 ปี

จากการศึกษาของ Alison Lane ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านกิจกรรมบำบัดที่ Ohio State University ระบุว่า การเล่นเกมของเด็กเล็ก มักจะมุ่งเน้นการค้นหาเป้าหมายของเกม มากกว่าอยากเล่นเพื่อเอาชนะเหมือนเด็กโต

ยกตัวอย่างเช่น เกม Chipmunk Fun ที่มีวิธีเล่นคือให้คลิกใบหน้าชิปมังค์ให้ได้มากที่สุดภายในเวลา 20 วินาที เด็กโตหรือเด็กอายุ 10 ปี ขึ้นไป จะพยายามคลิกให้ได้จำนวนครั้งมากที่สุด ส่วนเด็กเล็กหรือเด็กในช่วงอายุ 3–5 ปี จะพยายามคลิกเมาส์ให้ตรงกับใบหน้าของชิปมังค์โดยไม่สนใจจำนวนครั้ง สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า เด็กเล็กสามารถเข้าใจการเล่นเกม แม้จะมีจุดประสงค์ที่แตกต่างออกไป

3. เกมดิจิทัล ช่วยฝึกฝนทักษะด้านการเคลื่อนไหวได้

playgame_web_3

Warren Buckleitner บรรณาธิการของ Children’s Technology Review ระบุว่า การเล่นเกมมีส่วนช่วยให้เด็กๆ ทำความเข้าใจเรื่องวิชาการ เช่น คณิตศาสตร์พื้นฐาน และยังช่วยฝึกฝนทักษะการเคลื่อนไหวได้ โดยเฉพาะการใช้นิ้วคลิกเมาส์และกดปุ่มที่ต้องควบคุมกล้ามเนื้อให้ทำงานประสานกับสายตาและกระบวนการคิด เช่นเดียวกับการเรียนรู้วิธีใช้คอมพิวเตอร์ของเด็กอนุบาล ก็มีความสำคัญเทียบเท่ากับการเขียนและการอ่านในห้องเรียน คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ลูกวัยนี้ฝึกฝนการใช้คอมพิวเตอร์ ลองกดตัวอักษรจากแป้นพิมพ์ และการใช้เมาส์ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ลูกก็จะสามารถใช้งานคอมพิวเตอร์ได้อย่างคล่องแคล่วซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อลูกมากขึ้น

4. เล่นเกมได้ ภายในเวลาที่กำหนด

playgame_web_4

ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีได้แนะนำว่า สำหรับเด็กวัย 4–5 ปี สามารถเล่นเกมไม่เกินครึ่งชั่วโมงต่อวัน เด็กประถมต้น 6–7 ปี ให้เล่นเกมได้ไม่เกินหนึ่งชั่วโมงต่อวัน ส่วนในเด็กมัธยมไม่ควรเล่นเกมนานเกินสองชั่วโมงต่อวัน ยกเว้นการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา เช่น ทำการบ้าน ทำรายงาน หรือการสืบค้นเพื่อหาข้อมูลต่างๆ คุณพ่อคุณแม่สามารถเปิดโอกาสให้ลูกมีเวลามากขึ้นได้ เพื่อพิสูจน์ว่าตัวลูกโตพอที่จะจัดการเวลาใช้งานคอมพิวเตอร์ของตัวเองได้

#กฎ20-20-20 จักษุแพทย์ให้คำเตือนเรื่องปัญหาสายตาเมื่ออยู่หน้าจอนานเกินไป และเพื่อให้ลูกได้พักสายตา ในทุก 20 นาทีของการมองจอ และใช้เวลา 20 วินาทีเพื่อมองสิ่งที่อยู่ห่างออกไป 20 ฟุต หรือประมาณ 6 เมตร

#KidMode คุณพ่อคุณแม่ควรจำกัดการเข้าถึงเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่น ก่อนที่จะให้ลูกอยู่กับหน้าจอหรือเล่นเกมตามลำพัง รวมถึงการติดตั้งซอฟต์แวร์ความปลอดภัยจากการเข้าถึงเนื้อหาหรือเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม

#เลิกเล่นเกมทันทีเมื่อมีเหตุการณ์ไม่เหมาะสม กำชับเรื่องกฎเหล็กของการเล่นเกม เช่น ต้องมีผู้ใหญ่ในครอบครัวเข้าร่วมเล่นเกม หรือร่วมสังเกตการณ์ เพื่อคัดกรองและช่วยเป็นหูเป็นตา ป้องกันลูกจากคนไม่หวังดี มิจฉาชีพ หรือแม้แต่คนที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวหยาบคาย หากพบแล้วให้หลีกเลี่ยงหรือออกจากเกมทันที

อ้างอิง
pbs.org
babycenter
quora
sciencedaily

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST