ปัจจุบัน มีปัญหามลพิษและโรคร้ายต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย จึงเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่รวมไปถึงคนที่กำลังเป็นพ่อแม่กำลังรู้สึกกังวลใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมตอนนี้อาจส่งผลกระทบต่อลูกของเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
โดยเฉพาะสถานการณ์โรคระบาดอย่างเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ุใหม่ 2019 ที่สร้างความเดือดร้อนเสียหายไปทั่วโลก ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจำนวนผู้เสียชีวิตที่ยังคงมีอยู่
รวมไปถึงปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่มีปริมาณมากจนส่งผลกระทบต่อร่างกาย แม้อาจจะไม่แสดงอาการทันที แต่เมื่อผ่านการสูดดมเป็นระยะเวลายาวนาน ก็เป็นอันตรายและอาจแสดงอาการได้ในอนาคต
วันนี้ M.O.M ได้มีโอกาสเข้าร่วมเสวนางาน ‘ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 และ ฝุ่นพิษ PM 2.5’ จากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดย รศ.นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ได้มาให้ความรู้แก่ผู้ปกครองที่มีความเป็นห่วงและกังวลว่าลูกจะมีโอกาสได้รับผลกระทบจากปัญหาทั้งสองอย่างนี้
ความเป็นมาของไวรัสโคโรน่า 2019
คุณหมออดิศักดิ์ได้เริ่มต้นอธิบายเรื่องราวและความเป็นมาของไวรัสโคโรน่า ว่าความจริงแล้ว ไวรัสโคโรน่านั้นเคยแพร่ระบาดมาก่อนหน้านี้หลายปี และเราอาจจะเคยได้ยินมาก่อนในชื่อ โรคซาร์ส (SARS) ซึ่งเกิดจากการแพร่เชื้อจากค้างคาวไปชะมด และข้ามมาสู่คน มีอัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 10
โรคเมอร์ส (MERS) เกิดจากค้างคาวแพร่เชื้อไปสู่อูฐ และข้ามมาสู่คน มีอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 30 แต่ความน่าสนใจอยู่ที่ ทั้งโรคซาร์สและเมอร์สนั้นไม่ติดต่อจากคนสู่คนด้วยกัน ซึ่งต่างจากไวรัสโคโรน่าที่คาดการว่าเชื้อเริ่มจากค้างคาวไปถึงงูเห่า ก่อนจะแพร่เชื้อสู่คน และเชื้อกลับกลายพันธุ์ ทำให้เกิดการติดต่อจากคนสู่คนได้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การกระจายตัวของไวรัสนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
คุณหมออดิศักดิ์เล่าต่อว่าเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 เป็นเชื้อที่สามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้ในขณะที่ผู้ป่วยยังไม่แสดงอาการ ซึ่งการแพร่กระจายจะเป็นในลักษณะ droplet หมายถึง กระจายไปตามการไอ จาม น้ำมูก หรือสารคัดหลั่งต่างๆ ที่ฟุ้งออกจากร่างกายและตกลงสู่พื้น โดยอัตราการแพร่กระจายในตอนนี้อยู่ที่ 1:15 ซึ่งถือว่าเป็นการกระจายเชื้อที่รวดเร็วเอามากๆ
การป้องกันการแพร่ระบาด
มาถึงตรงนี้คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจเริ่มกังวลมากแล้วสิคะ แต่ที่จริง แล้วการป้องกันโรคที่เกิดจากไวรัสดังกล่าวก็สามารถทำได้หลายวิธี โดยสิ่งที่คุณหมออดิศักดิ์เน้นย้ำอย่างมากเลยก็คือ การล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช้มือสัมผัสใบหน้าของตนเอง อยู่ห่างจากคนที่มีการไอหรือจามประมาณ 1 เมตร รวมไปถึงหากตนเองมีอาการไม่สบายก็ควรใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น เพราะหากพูดกันจริงๆ ผู้ที่มีเชื้อไวรัสแล้วใส่หน้ากาก มีเปอร์เซ็นต์ป้องกันการติดต่อไปยังผู้อื่นมากกว่าการให้คนปกติสวมใส่หน้ากากอนามัยเสียอีก
ดังนั้นผู้ที่มีอาการป่วย จึงควรตระหนักในความสำคัญของการป้องกันการแพร่เชื้อจากตัวเองไปสู่ผู้อื่น และใส่หน้ากากอนามัยจะดีที่สุด
กลับมาในด้านของเด็กกันบ้าง คุณพ่อคุณแม่คงจะรู้กันดีว่าการสอนเด็กให้ป้องกันตัวเองจากโรคติดต่อต่างๆ ย่อมเป็นเรื่องยาก เพราะเด็กคือวัยแห่งการสำรวจ บางครั้งก็ชอบที่จะใช้มือสัมผัสบนใบหน้า บางครั้งก็ชอบที่จะหยิบจับสิ่งของเข้าปาก การใส่หน้ากากอนามัยจึงมีส่วนสำคัญที่เป็นทั้งตัวช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อที่ฟุ้งกระจายจากคนอื่นเข้าถึงตัวเด็ก และเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กเอาอะไรใส่ปากได้ง่าย
แต่ในขณะเดียวกันหน้ากากอนามัยอาจกลับกลายเป็นตัวการที่ทำให้เด็กเผลอสัมผัสกับเชื้อโรคได้เช่นกัน เพราะพวกเขาอาจเผลอไปจับบริเวณด้านหน้าของหน้ากาก ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนจากเชื้อที่มาจากผู้อื่น
ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรสอนให้ลูกรู้จักการใส่และถอดหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง สอนให้ลูกรู้ว่าเขาไม่ควรจับหน้ากากอนามัยบริเวณด้านหน้าที่เป็นส่วนของการสัมผัสเชื้อโรคจากภายนอก หากต้องถอดหน้ากากอนามัย ควรจับบริเวณเชือกที่คล้องหู และไม่ควรสลับหรือแลกหน้ากากอนามัยที่สวมใส่แล้วคนคนอื่น
หน้ากากอนามัยแบบไหนที่จะช่วยปกป้องเราได้
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันมีหน้ากากอนามัยในตลาดให้เห็นหลากหลายรูปแบบ แต่หน้ากากอนามัยแบบไหนกันแน่ที่เหมาะกับการป้องกันอันตรายจากฝุ่น PM 2.5 และเชื้อไวรัสโคโรน่าได้
คำตอบก็คือหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (สีเขียวที่สามารถหาได้ทั่วไป) หรือหน้ากากอนามัยที่ทำจากผ้า ก็สามารถป้องกันเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่แม้จะมีอนุภาคเล็กกว่าฝุ่น PM 2.5 แต่ก็ไม่สามารถแพร่กระจายเชื้อด้วยตนเอง ต้องผ่านการนำพาของสารคัดหลั่งอย่างน้ำมูกน้ำลายซึ่งเป็นอนุภาคขนาดใหญ่ได้ แต่ทั้งนี้ คุณหมออดิศักดิ์ก็ได้เตือนว่า สิ่งสำคัญคือการซักหน้ากากอนามัยที่ทำจากผ้าควรแยกซักทันที ไม่รอทำความสะอาดรวมกับเสื้อผ้าทั่วๆ ไป
ในขณะที่ฝุ่น PM 2.5 เป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็กมาก เพียงแค่สูดดมก็สามารถเข้าไปถึงระบบสำคัญต่างๆ ภายในร่างกายได้แล้ว วิธีที่จะป้องกันได้จึงต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย N95 ที่มีคุณสมบัติในการป้องกันฝุ่น PM 2.5 เท่านั้น
ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลใจก็คือ หน้ากากอนามัย N95 ยังไม่มีรุ่นที่ผลิตขึ้นสำหรับเด็กโดยเฉพาะ จึงทำให้การใส่หน้ากาก N95 กับเด็กเล็กนั้นเป็นเรื่องยากไม่น้อย และการใช้หน้ากากอนามัยที่ขนาดไม่เหมาะสมกับใบหน้าก็ยังทำให้ประสิทธิภาพในการใช้ป้องกันฝุ่นลดลงอีกด้วย
การป้องกันตัวในชีวิตประจำวัน
นอกจากการป้องกันด้วยหน้ากากอนามัย คุณหมอได้เน้นย้ำให้คุณพ่อคุณแม่หรือคุณครู สอนเด็กเรื่องการล้างมือบ่อยๆ เพราะการล้างมือ ถือเป็นหัวใจสำคัญในการป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ โดยการล้างมือสามารถล้างด้วยสบู่กับน้ำสะอาดหรือใช้เจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือก็ได้
และหากพบว่าเด็กมีอาการป่วย เป็นไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก เจ็บหน้าอก ก็ควรหยุดเรียนเพื่อดูอาการและพาไปพบแพทย์ โดยเฉพาะหากมีประวัติการเดินทางหรือเป็นคนที่มีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อ ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่คนอื่นอีกด้วย
คำถามจากผู้ร่วมฟังการเสวนา
นอกจากคุณหมออดิศักดิ์จะให้ความรู้มากมายแล้ว ก็ยังได้เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้ร่วมพูดคุยถามคำถามที่ค้างคาใจ เช่น
ถาม: ไวรัสโคโรน่า 2019 สามารถติดต่อจากการสัมผัสสิ่งของร่วมกับผู้ป่วยได้หรือไม่
ตอบ: เชื้อไวรัสโคโรน่านั้นจะต้องมีตัวกลางอย่างสารคัดหลั่งจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนเท่านั้น ดังนั้นหากเชื้อกระจาย หยด หรือกระเด็น ออกจากผู้ป่วยไปสู่สิ่งของหรือสิ่งไม่มีชีวิต เชื้อก็จะไม่สามารถคงอยู่หรือติดต่อไปสู่คนต่อไปได้
ส่วนเรื่องของฝุ่น PM 2.5 นั้น วิธีหลีกเลี่ยงที่ดีที่สุด ก็คือการตรวจสอบวัดคุณภาพอากาศทุกวัน และปรับกิจวัตรประจำวันเพื่อหลีกเลี่ยงการออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งในวันที่ค่าฝุ่นสูง โดยเฉพาะเด็ก เป็นวัยที่หายใจเร็วกว่าผู้ใหญ่มาก จึงมีโอกาสได้รับฝุ่นพิษเข้าสู่ร่างกายได้มากให้เด็กออกมาทำกิจกรรมภายนอก ควรอยู่ภายในบ้าน
แม้ทั้งสถานการณ์ไวรัสโคโรน่า 2019 และฝุ่น PM 2.5 จะว่าฟังดูน่ากังวลไม่น้อย แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรมีสติในการรับมือและทำตามคำแนะนำจากคุณหมอและผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง การล้างมือบ่อยๆ เพื่อกำจัดเชื้อ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด รวมถึงคอยติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เท่านี้คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถช่วยบรรเทาความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับลูกน้อยไปได้มากเลยล่ะค่ะ
COMMENTS ARE OFF THIS POST