READING

ลูกเรียนรู้ช้า: ทำความรู้จักภาวะบกพร่องทางการเรียน...

ลูกเรียนรู้ช้า: ทำความรู้จักภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disorder) และ 4 วิธีรับมือ เมื่อลูกเรียนรู้ช้ากว่าคนอื่น

ลูกเรียนรู้ช้า

คุณพ่อคุณแม่หลายคน พอมีโอกาสได้พาลูกไปเจอเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันมากขึ้น ก็อาจจะเคยนึกเปรียบเทียบ กังวล และไม่แน่ใจว่า ลูกเรียนรู้ช้า กว่าเด็กในวัยเดียวกันหรือเปล่า…

ทั้งที่เวลาอยู่บ้าน ลูกก็สามารถพูดคุย โต้ตอบ และตอบสนองสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สื่อสารได้ดี แต่เมื่อเทียบกับเด็กวัยเดียวกัน ทำไมลูกถึงยังดูเหมือนเรียนรู้ได้ช้ากว่าอยู่ดี ยิ่งพอถึงวัยเข้าโรงเรียนแล้วลูกอ่านเขียนได้น้อยกว่าเด็กคนอื่น ก็ยิ่งทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวลใจว่า ลูกแค่ติดเล่นสนุกมากเกินไป หรือว่าลูกกำลังมีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้กันแน่

ดังนั้น นอกจากคุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตพฤติกรรมของลูกอย่างใกล้ชิด เรายังอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความรู้จักและเรียนรู้ 4 วิธีรับมือ เมื่อลูกมีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ เพื่อหาทางแก้ไขและส่งเสริมพัฒนาการการเรียนรู้ให้ดีขึ้นต่อไป

ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disorder) ที่ทำให้ ลูกเรียนรู้ช้า คืออะไร?

LearningDisorder_web_1

ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้  (Learning Disorder) หรือ LD คือความผิดปกติของกระบวนการเรียนรู้ที่แสดงออกทางด้านการอ่าน การสะกดคำ และการคำนวณ เช่น ผันเสียงวรรณยุกต์ไม่ได้ เรียงลำดับตัวอักษรผิด หรือไม่เข้าใจค่าของตัวเลข ซึ่งเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง ทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น แต่ยังคงมีระดับสติปัญญาและความสามารถด้านอื่นๆ ปกติ

คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตพฤติกรรมเบื้องต้นที่บ่งบอกว่าลูกอาจมีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ ดังต่อไปนี้

1. ลูกไม่ชอบหรือพยายามหลีกเลี่ยงการอ่าน การเขียน

2. ลูกไม่มีสมาธิในการเรียน ทำการบ้านช้า

3. ลูกขาดความมั่นใจในตัวเอง มักปฏิเสธว่า ‘ทำไม่ได้’ หรือ ‘ไม่รู้’ อยู่บ่อยๆ

4. ความจำไม่ดี

5. หงุดหงิดง่าย และมักแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวกับคนรอบตัว

4 วิธีรับมือ เมื่อลูกมีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้

1. อธิบายให้ลูกเข้าใจภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้

LearningDisorder_web_2

เด็กที่มีภาวะ LD มักรู้สึกว่าตัวเอง ‘เรียนไม่เก่งเท่าเพื่อน’ จึงพยายามเลี่ยงการเรียนรู้ทักษะด้านอื่นไปด้วย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าลูกไม่ได้ด้อยกว่าคนอื่น ทักษะการอ่าน สะกดคำ และการคำนวณของลูก อาจเป็นไปได้ช้า แต่สามารถฝึกฝนและพัฒนาได้

ที่สำคัญลูกสามารถเรียนรู้ทักษะอื่นๆ เช่น การวิเคราะห์เชิงเหตุผล การวาดรูป หรือทักษะการใช้ชีวิต และลูกจะประสบความสำเร็จในเส้นทางที่ตนเองถนัดได้ไม่ต่างกับเพื่อนคนอื่นเลย

2. ปรับแผนการเรียนให้เข้ากับลูก

LearningDisorder_web_3

เด็กที่เรียนรู้ช้า เพราะภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ จะมีทักษะด้านการอ่าน การเขียน และการคิดคำนวณเชิงคณิตศาสตร์ ช้ากว่าคนอื่น คุณพ่อคุณแม่จึงควรหาเวลาส่งเสริมทักษะดังกล่าวให้ลูกมากเป็นพิเศษ ด้วยการหากิจกรรมสนุกๆ ให้ลูกเกิดความรู้สึกเชิงบวกกับการพัฒนาทักษะที่ลูกบกพร่อง และไม่ทำให้บรรยากาศการเรียนเคร่งเครียดจนเกินไป เช่น อ่านนิทานต่อกัน ทายศัพท์จากคำใบ้ ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสอนลูกอย่างใจเย็น ไม่กดดันลูกจนเกินไป

นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาคุณครู และร่วมกันปรับการสอนให้เข้ากับลูก อาจจะใช้เวลาหลังเลิกเรียนสักหนึ่งชั่วโมงเรียนพิเศษกับคุณครู หรือฝึกการอ่าน การเขียน และการคำนวณอย่างค่อยเป็นค่อยไป

3. ชื่นชมความพยายามเสมอ

LearningDisorder_web_4

การฝึกฝนและความพยายามเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับลูกที่มีภาวะ LD คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับกระบวนการการฝึกฝนของลูกมากกว่าผลลัพธ์ที่ได้ออกมา เพราะการพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนของลูกจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ต้องใช้เวลามากกว่าปกติ จึงจะเห็นพัฒนาการและความแตกต่าง คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้กำลังใจและชื่นชมในความพยายามของลูกเสมอ

4. ปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง

LearningDisorder_web_5

LD หรือภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้จัดเป็นโรคหนึ่งที่ควรได้รับการรักษาและคำแนะนำจากกุมารแพทย์ เพราะคุณหมอจะรู้วิธีที่ทำให้ลูกเรียนรู้ได้ดีขึ้น สามารถจัดการกับความเครียดและความกดดันของลูกได้อย่างตรงจุด และจ่ายยาเพื่อช่วยรักษาอาการสมาธิสั้นของลูกได้ด้วยค่ะ

อ้างอิง
RamaMental
MAYO Clinic
ADDITUDE

PITTAYARAT CH.

พิทยารัตน์ ชูพล: เด็กผู้หญิงผู้รับบทบาทลูกสาวคนเล็ก ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักเเละความใส่ใจจากคุณแม่ จนมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะมอบความรักอันยิ่งใหญ่แบบนี้ให้ใครสักคนบ้าง

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST