READING

ลูกขี้กลัว : ต้องขี้กลัวขนาดไหนถึงจัดว่าเป็นโรคแพน...

ลูกขี้กลัว : ต้องขี้กลัวขนาดไหนถึงจัดว่าเป็นโรคแพนิก (Panic Disorder)

ลูกขี้กลัว

ความกล้าหาญเป็นลักษณะนิสัยหนึ่งที่พ่อแม่อยากปลูกฝังให้ลูก เพราะเด็กที่กล้าหาญและไม่กลัวอะไรง่ายๆ จะมีความกล้าคิดกล้าทำ กล้าเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ

แต่ถึงอย่างนั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจเริ่มกังวลใจที่ลูกกลายเป็นขี้กลัว เพราะการที่ ลูกขี้กลัว ไม่กล้าเล่นกล้าลองอะไรใหม่ๆ อาจทำให้เสียโอกาสที่จะเรียนรู้หลายอย่าง เช่น เมื่อลูกกลัวไม่กล้าลงน้ำ ก็อาจทำให้ลูกไม่สามารถเรียนว่ายน้ำได้ รวมถึงความกลัวที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ไม่กล้าขึ้นลิฟต์ กลัวมาสคอตที่เจอในห้างสรรพสินค้าหรือสวนสนุก กลัวความมืดจนไม่สามารถปิดไฟนอนได้ อาการเหล่านี้เรียกว่า ลูกขี้กลัว จนถึงขั้นเป็น โรคแพนิก (Panic Disorder) ได้หรือเปล่า…

โรคแพนิก (Panic Disorder) คืออะไร

Panic_web_1

โรคแพนิก มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า โรคตื่นตระหนก จัดโรควิตกกังวลชนิดหนึ่ง (Anxiety Disorder) ที่มักเกิดขึ้นกะทันหันโดยไม่ทันตั้งตัว ซึ่งแตกต่างกับอาการหวาดกลัวหรือวิตกกังวลทั่วไป เนื่องจากผู้ป่วยจะเกิดอาการตื่นตระหนกหรือหวาดกลัวอย่างรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้

คนขี้กลัวเท่ากับเป็นโรคแพนิกเสมอไปหรือไม่?

อีกจุดหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่และคนส่วนใหญ่เข้าใจผิด จริงๆ แล้วความกลัวของลูกเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่แปลกใหม่ ไม่คุ้นเคย หากเป็นความหวาดกลัวทั่วไป ลูกมักจะแสดงออกผ่านสีหน้าหรือการร้องไห้งอแง แต่หากเป็นอาการของโรคแพนิก ลูกจะมีอาการหวาดกลัวผิดปกติ จนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ และมีอาการทางกายภาพอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ตัวสั่น หายใจถี่ วิงเวียนศีรษะ อุณหภูมิร่างกายแปรปรวน หรือใจสั่น (หัวใจเต้นแรงเกิน 100 ครั้ง/นาที)

และอาการทางกายภาพหรือ Panic Attacks นี่แหละคือความน่ากลัวของโรคแพนิก เพราะ เมื่อลูกมีอาการครั้งหนึ่งแล้ว ลูกจะมีอาการหวาดระแวง กลัวว่าจะมีอาการใจสั่น หายใจไม่ออก หรือควบคุมสติตัวเองไม่ได้อีก ทำให้ลูกรู้สึกฝังใจในสถานที่หรือสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ จนอาจกลายเป็นคนเก็บตัว ไม่กล้าเผชิญโลกภายนอกได้

เมื่อพบว่าลูกมีอาการของโรคแพนิกคุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อประเมินแนวทางการรักษาต่อไป แต่อย่างไรก็ตามนอกจากการดูแลจากคุณหมอแล้ว การดูแลจากคุณพ่อคุณแม่ก็สำคัญไม่ต่างกัน เราจึงมาแบ่งปันการดูแลมาฝากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

1. อธิบายให้ลูกเข้าใจถึงอาการแพนิก

Panic_web_2

การสอนให้ลูกเข้าใจถึงข้อเท็จจริงของโรคนี้ จะทำให้ลูกรับมือกับอาการที่เกิดขึ้นได้ดียิ่งขึ้น ทั้งอาการก่อนจะเกิด Panic Attacks และอาการทางกายภาพเบื้องต้นที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับลูกว่าโรคแพนิกถือเป็นอาการป่วยที่เกิดขึ้นได้ ไม่ต่างจากการเป็นไข้หวัด เพื่อที่ลูกจะได้ไม่รู้สึกว่าตัวเองแตกต่างและแปลกแยกจากเด็กคนอื่น

2. พ่อแม่ต้องไม่ตื่นตกใจเกินกว่าเหตุ

Panic_web_3

คุณพ่อคุณแม่อาจจะตกใจและไม่สบายใจเมื่อรู้ว่าลูกเจ็บป่วยและไม่สบาย แต่คุณพ่อคุณแม่ควรตอบสนองอาการป่วยของลูกด้วยความใจเย็น เพราะเมื่อลูกเห็นว่าคุณพ่อคุณแม่และคนรอบตัวไม่ได้มีอาการตื่นตกใจเกินไป ความหวาดกลัวในใจลูกก็จะผ่อนคลายลงเช่นกัน

หากคุณพ่อคุณแม่เริ่มสังเกตเห็นอาการแพนิกของลูก ควรเข้าหาลูกด้วยความอ่อนโยน พูดกับลูกด้วยน้ำเสียงผ่อนคลาย เมื่อลูกเริ่มสงบลง จึงพาไปพบคุณหมอทันที

3. สอนลูกฝึกหายใจควบคุมสติ

Panic_web_4

หนึ่งในอาการ Panic Attacks ที่จะทำให้ลูกหวาดกลัวมากที่สุดก็คือการหายใจไม่ออก เมื่ออาการกำเริบลูกมักจะหายใจเร็ว อาจทำให้รู้สึกเวียนหัว เจ็บหน้าอก ตัวแข็งเกร็ง คุณพ่อคุณแม่จึงต้องฝึกการหายใจที่ถูกต้องให้ลูกเมื่อมีอาการ เพราะการหายใจที่มีคุณภาพจะช่วยให้อวัยวะและระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ปกติและเต็มประสิทธิภาพ

– ฝึกควบคุมลมหายใจเข้าออก (Breathing Control) โดยสูดลมหายใจเข้าทางจมูก และเป่าออกทางปาก สลับกันช้าๆ

– ฝึกหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อกะบังลม (Deep Breathing Exercise) วางมือตรงหน้าท้องและอก หายใจเข้าทางจมูกให้ท้องป่อง หายใจออกท้องยุบ ทำซ้ำ 5 ครั้งต่อรอบ วันละ 3-4 ครั้ง

อ้างอิง
Childrensnational
Childmind
AACAP

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST