READING

4 ผลกระทบ เมื่อลูกรับรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่ทะเลาะกัน...

4 ผลกระทบ เมื่อลูกรับรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่ทะเลาะกัน

คนสองคน เมื่อต้องมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในฐานะสามีภรรยา ย่อมต้องอาศัยการปรับตัว ปรับจูนทัศนคติ เพื่อประคับประคองชีวิตคู่ให้อยู่ด้วยกันได้ตลอดรอดฝั่ง

แต่ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหนก็ตาม ความแตกต่างระหว่างคนสองคนหลายครั้งก็นำมาซึ่งความไม่เข้าใจ ขัดแย้ง นำมาสู่การมีปากเสียงและทะเลาะเบาะแว้งได้

แต่ความขัดแย้งระหว่างสามีภรรยาอาจไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วงเท่ากับการทะเลาะเบาะแว้งที่เกิดขึ้นเมื่ออยู่ในฐานะพ่อและแม่ของลูกอันเป็นที่รักของทั้งสองคน

คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจเข้าใจว่าลูกยังเด็กเกินกว่าจะเข้าใจความขัดแย้งของผู้ใหญ่ หลายครั้งลืมตัวเผลอทะเลาะกัน ต่อว่ากันรุนแรงให้ลูกเห็น โดยลืมคิดไปว่า แม้ลูกอาจจะไม่เข้าใจความซับซ้อนของอารมณ์และคำพูดของผู้ใหญ่ได้ทั้งหมด แต่พฤติกรรมที่คุณพ่อคุณแม่แสดงออกใส่กัน จะส่งผลกระทบต่อจิตใจและพฤติกรรมของลูกต่อไปได้

1. ทำให้ลูกเป็นเด็กก้าวร้าว

Parentsquarrel_web_1

การทะเลาะกันไม่ว่าจะเถียง ตะโกนตะคอกใส่กัน หรือใช้ความรุนแรงต่อกันต่อหน้าลูก ทำให้ลูกซึมซับอารมณ์และความเกรี้ยวกราดของคุณพ่อคุณแม่ จนเกิดการเลียนแบบเพราะเด็กจะเข้าใจว่าเมื่อไม่พอใจ หรือไม่เข้าใจกัน การโต้เถียงกันด้วยถ้อยคำรุนแรงเป็นหนึ่งในวิธีแก้ปัญหา และเขาก็จะใช้วิธีการเดียวกันนี้เมื่อเกิดสถานการณ์เดียวกันขึ้นกับตัวเอง ส่งผลให้ลูกชอบแสดงอารมณ์รุนแรงและก้าวร้าว

2. ทำให้ลูกอารมณ์ไม่มั่นคง

Parentsquarrel_web_2

ลูกที่เห็นหรือรับรู้ว่าพ่อแม่ทะเลาะกันบ่อยๆ โดยเฉพาะหากมีการใช้ความรุนแรงหรือทำร้ายร่างกาย จะทำให้ลูกรู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจ หวาดกลัว และรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ใช่คนที่จะมอบความปลอดภัยทางร่างกายและจิตใจให้เขาได้ เกิดเป็นความเครียดและกดดันจนนำมาซึ่งปัญหาทางสุขภาพทางจิต ไม่ว่าจะโรควิตกกังวลหรือโรคซึมเศร้าได้

3. ล้มเหลวในความสัมพันธ์ของตัวเอง

Parentsquarrel_web_3

เด็กที่คุ้นเคยและซึมซับการทะเลาะกันของพ่อแม่อยู่เป็นประจำ มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเป็นคนที่ล้มเหลวในความสัมพันธ์ของตัวเอง เนื่องจากต้องอยู่กับสถานการณ์ที่พ่อแม่เป็นผู้สร้างความหวาดกลัว ความไม่มั่นใจ และไม่เคยเรียนรู้ถึงวิธีที่ถูกต้องในการแก้ปัญหาทางความสัมพันธ์

4. ความนับถือตนเองต่ำลง

Parentsquarrel_web_4

เด็กที่เห็นพ่อแม่ทะเลาะหรือใช้ความรุนแรงใส่กัน มักจะเข้าใจว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งหรือต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา เกิดเป็นความรู้สึกผิดและกดดัน จนไม่รู้จะวางตัวอย่างไร หรือเลือกเข้าข้างฝ่ายใดในสถานการณ์นั้นๆ ส่งผลให้เด็กขาดความมั่นใจ ไม่ภาคภูมิใจในตัวเอง สับสน และไม่นับถือตัวเอง เพราะเข้าใจว่าตัวเองมีส่วนทำให้ครอบครัวต้องมีปัญหา

อ้างอิง
verywellfamily
parentingfirstcry

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

COMMENTS ARE OFF THIS POST