READING

Postpartum Panic Disorder ภาวะวิตกกังวลหลังคลอด กล...

Postpartum Panic Disorder ภาวะวิตกกังวลหลังคลอด กลัวทุกอย่างจนไม่กล้าเลี้ยงลูก!

ภาวะวิตกกังวลหลังคลอด

ช่วงเวลาหลังคลอด เป็นช่วงเวลาสำคัญมากสำหรับคุณแม่ เพราะนอกจากจะต้องดูแลลูกน้อยที่เพิ่งลืมตาดูโลกแล้ว ยังต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในสภาวะต่างๆ ของทั้งร่างกายและจิตใจ

คุณแม่หลายคนคงจะเคยได้ยินคำว่าภาวะซึมเศร้าหลังคลอด แต่จากการศึกษาพบว่า คุณแม่ร้อยละ 4-10 ยังต้องเผชิญกับ ภาวะวิตกกังวลหลังคลอด (Postpartum Panic Disorder) ซึ่งมักเกิดกับคุณแม่ท้องแรก หรือคุณแม่ที่มีปัญหาในช่วงตั้งครรภ์ เช่น เกิดโรคแทรกซ้อน หรือภาวะครรภ์เป็นพิษ ทำให้เกิดความเครียดมากกว่าปกติ บางรายถึงขั้นไม่กล้าเลี้ยงลูก เพราะกังวลว่าจะทำได้ไม่ดีพอและเป็นอันตรายกับชีวิตลูก

สาเหตุของ ภาวะวิตกกังวลหลังคลอด

เกิดจากระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างกะทันหัน โดยขณะตั้งครรภ์ระดับฮอร์โมนของคุณแม่จะพุ่งสูงขึ้น และเมื่อคลอดลูกระดับฮอร์โมนจะลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว ช่วง 6-8 สัปดาห์หลังคลอด จึงเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายคุณแม่กำลังพยายามปรับตัวให้กลับมาอยู่ในสภาวะปกติ ส่งผลให้สภาพร่างกายและจิตใจไม่คงที่ จึงเกิดความเครียดและวิตกกังวลได้ง่ายกว่าปกติ

นอกจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนแล้ว ประวัติทางสุขภาพบางอย่าง ยังมีส่วนในการเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะวิตกกังวลหลังคลอดมากขึ้น เช่น

– เคยมีอาการแพนิกมาก่อน

– โรคทางต่อมไทรอยด์

– มีภาวะกลัวการคลอดบุตร

– มีประสบการณ์ไม่ดีระหว่างตั้งครรภ์ เช่น เกิดโรคแทรกซ้อน

– พักผ่อนไม่เพียงพอ และขาดสารอาหาร

 

อาการของภาวะวิตกกังวลหลังคลอด

– ไม่ค่อยมีสมาธิ หลงลืม

– ประสิทธิภาพในการทำสิ่งต่างๆ น้อยลง

– มีอาการฟุ้งซ่าน ใจลอย

– นอนไม่หลับ

– ความอยากอาหารน้อยลง

– มีความวิตกกังวล หวาดกลัวมากกว่าปกติโดยเฉพาะเรื่องการเลี้ยงลูก เช่น กลัวลูกจมน้ำขณะอาบน้ำให้ลูก ไม่กล้าออกจากบ้านเพราะกลัวว่าเชื้อโรคจะติดตัวลูก

– มีพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ

 

หากคุณแม่มีอาการดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ควบคู่ไปกับการดูแลตัวเองระหว่างการเลี้ยงลูกอยู่ที่บ้าน เราจึงรวบรวมวิธีการดูแลตัวเองสำหรับคุณแม่ที่มีภาวะวิตกกังวลหลังคลอดมาฝากค่ะ

1. คุณแม่ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ

PostpartumPanic_web_1

สถาบันสุขภาพประเทศสหรัฐอเมริกาเผยว่า การพักผ่อนอย่างเพียงพอ จะช่วยบรรเทาความเครียดและความวิตกกังวลให้คุณแม่ในช่วงหลังคลอดได้เป็นอย่างดี โดยแนะนำให้คุณแม่พักผ่อนให้มากที่สุด หากนอนหลับไปพร้อมๆ กับลูกน้อยได้ก็จะดีมาก นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการเสพสื่อที่กระตุ้นให้เกิดความเครียด เช่น ข่าวอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับเด็ก หรือโศกนาฏกรรมที่เกิดจากการเลี้ยงดูลูก

2. หารือและพูดคุยกับคุณแม่คนอื่นๆ บ้าง

PostpartumPanic_web_2

หากคุณแม่ยังกังวลที่จะออกไปพบปะผู้คน แนะนำให้คุณแม่หาช่องทางแชตหรือพูดคุยกับผู้ที่มีประสบการณ์เป็นคุณแม่มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่ของเราเอง เพื่อนๆ หรือเพจที่ให้ความรู้เกี่ยวกับแม่และเด็ก การที่คุณแม่ได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนที่เข้าอกเข้าใจ หรือมีประสบการณ์ร่วมกัน ก็จะให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายและสบายใจมากขึ้นได้

3. ขอให้คุณสามีช่วยดูแลงานบ้านบ้าง

PostpartumPanic_web_3

ช่วงเวลาหลังคลอด อาจทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานบ้าน ดูแลตัวเอง และดูแลคนอื่นลดลง แต่หากคุณแม่ฝืนทำงานหนักมากจนเกินไป อาจส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจได้ คุณพ่อจึงควรเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยดูแลความเรียบร้อยภายในบ้านแทนคุณแม่

และเรายังอยากแนะนำให้คุณพ่อคอยให้กำลังใจ ให้ความร่วมมือ และช่วยคุณแม่เลี้ยงลูกเท่าที่สามารถทำได้ เพราะการได้รับกำลังใจและความเข้าใจจากคุณพ่อนี่แหละค่ะ จะช่วยลดความวิตกกังวลของคุณแม่ลงไปได้มากเลยล่ะค่ะ

อ้างอิง
Med.CMU
Posrpartumdepresstion
Zencare
Womenshealth

PITTAYARAT CH.

พิทยารัตน์ ชูพล: เด็กผู้หญิงผู้รับบทบาทลูกสาวคนเล็ก ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักเเละความใส่ใจจากคุณแม่ จนมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะมอบความรักอันยิ่งใหญ่แบบนี้ให้ใครสักคนบ้าง

COMMENTS ARE OFF THIS POST