READING

คนแปลกหน้ากอดลูก: สอนลูกวัยอนุบาลรับมือกับอ้อมกอดท...

คนแปลกหน้ากอดลูก: สอนลูกวัยอนุบาลรับมือกับอ้อมกอดที่ไม่ต้องการ

คนแปลกหน้ากอดลูก

การกอดของคุณพ่อคุณแม่ ช่วยสร้างความรู้สึกอบอุ่น มั่นใจ และความรู้สึกปลอดภัยให้กับลูกได้ แต่ในทางตรงกันข้าม หากคุณพ่อคุณแม่ยินยอมให้ คนแปลกหน้ากอดลูก รวมถึงญาติหรือคนในครอบครัว หากลูกไม่เต็มใจที่จะถูกกอดแล้ว กลับยิ่งส่งผลในทางตรงกันข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจว่าการกอด อาจนำไปสู่การล่วงละเมิดที่ร้ายแรงยิ่งขึ้นได้

จากข้อมูลของหน่วยงานสาธารณสุขแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (CDC : Centers for Disease Control and Prevention) ระบุว่า ประมาณ 1 ใน 4 ของเด็กผู้หญิง และ 1 ใน 13 ของเด็กผู้ชายในสหรัฐอเมริกาเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ และผู้กระทำกว่า 91% คือคนที่เด็กรู้จักและไว้ใจ รวมทั้งคนใกล้ชิดในครอบครัว รวมทั้งมีการรับแจ้งเหตุเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศทุกๆ 9 นาที ตามรายงานของหน่วยงานคุ้มครองเด็กสหรัฐอเมริกาในปี 2559

ตัวเลขที่น่าตกใจ แม้เวลาจะผ่านมากว่า 5 ปีแล้ว ข้อมูลตัวเลขของเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศก็ยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรปล่อยให้ คนแปลกหน้ากอดลูก และสามารถสอนลูกวัยอนุบาลรับมือการถูกกอดหรือสัมผัสที่ไม่หวังดีจากผู้อื่น รวมทั้งการกอดที่ลูกไม่เต็มใจหรือทำให้รู้สึกไม่ดีจากคนใกล้ชิด เพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

1. สอนลูกเรื่องความมีอิสระทางร่างกาย

AnyoneElseHug_web_1

#ร่างกายนี้เป็นของลูก ความมีอิสระทางร่างกาย เป็นแนวคิดสำคัญที่สอนให้ลูกรู้ว่าทุกคน ไม่เว้นแม้แต่เด็กๆ ย่อมมีสิทธิ์ในฐานะเจ้าของร่างกาย สามารถเลือกและตัดสินใจเกี่ยวกับร่างกายของตัวเองได้โดยปราศจากการบังคับ แต่อย่าลืมย้ำกับลูกว่าต้องเป็นเรื่องที่ไม่ผิดกฏหมายและไม่ใช่การทำร้ายตัวเอง

ในกรณีของเด็กเล็ก Steph Lee โฆษกของ American Academy of Pediatrics และกุมารแพทย์ในเพนซิลเวเนีย อธิบายว่า การให้เด็กมีอิสระในร่างกายตัวเองจะช่วยสร้างความมั่นใจและเน้นย้ำให้เด็กๆ รู้ว่า เขาสามารถควบคุมร่างกายของตัวเองได้

เมื่อลูกรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของร่างกายตัวเอง จะทำให้ลูกรู้ว่าร่างกายเป็นสิ่งที่ต้องปกป้องและกล้าปฏิเสธเมื่อถูกล่วงเกินทางร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการกอด จับมือ หอมแก้ม หรือการสัมผัสที่ไม่พึงประสงค์และทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัยในทุกสถานการณ์

2. ไม่บังคับลูก

AnyoneElseHug_web_2

#ไม่บังคับให้ลูกแสดงความรักด้วยการสัมผัสทางกาย คุณพ่อคุณแม่อาจจะเคยบอกให้ลูกแสดงความรักกับคนรู้จักหรือญาติที่ไว้ใจ ด้วยการกอดหรือหอมแก้มโดยไม่ขออนุญาตหรือถามความสมัครใจของลูก แต่ความจริงแล้ว การบังคับให้ลูกกอดหอมหรือยอมให้คนอื่นสัมผัสตัวโดยไม่จำเป็น จะทำให้ลูกไม่กล้าปกป้องตัวเองและไม่รู้จักปฏิเสธเมื่อกำลังรู้สึกถูกคุกคาม

#ให้ลูกเลือกแสดงความรักด้วยตัวเอง คุณพ่อคุณแม่สามารถแนะนำหรือเสนอทางเลือกให้ลูกแสดงความรักต่อคนอื่นได้หลายวิธี เช่น บอกรัก สวัสดีอย่างนอบน้อม การโบกมือลา การแตะมือไฮไฟว์ การส่งจูบหรือสามารถโอบกอดและหอมแก้มได้ เมื่อลูกรู้สึกสบายใจที่จะทำอย่างนั้น

และที่ไม่ควรมองข้ามก็คือการสอนให้ลูกรู้จักขออนุญาตสัมผัสหรือแตะต้องตัวคนอื่น เช่น เมื่อรู้สึกอยากกอดเพื่อน อยากหอมแก้มเพื่อน เพื่อให้ลูกเรียนรู้ที่จะเคารพและให้เกียรติร่างกายของผู้อื่นเช่นกัน

3. อธิบายว่าการสัมผัสที่ดีและไม่ดีเป็นยังไง

AnyoneElseHug_web_3

คุณพ่อคุณแม่สามารถอธิบายให้ลูกฟังได้ว่า การสัมผัสที่ดีไม่ว่าจะเป็นการจับมือ การแตะไหล่ หรือโอบกอด ล้วนเป็นวิธีที่ผู้คนใช้แสดงออกถึงความรู้สึกดีๆ ที่มีให้กัน เช่น แสดงความรัก ความเป็นห่วง ปลอบโยน หรือให้กำลังใจ  ส่วนการสัมผัสที่ไม่ดี เช่น การตี การลูบไล้ โอบกอดโดยไม่เต็มใจ การสัมผัสอวัยวะในเสื้อผ้ารวมถึงการสัมผัสที่ลูกไม่ชอบ ทำให้รู้สึกไม่ดี หวาดกลัว ลูกต้องกล้าที่จะพูดว่า ‘ไม่’ หรือบอกให้อีกฝ่ายหยุดหรือและเอาตัวออกมาจากตรงนั้นทันที

4. เปิดอกพูดคุยกับญาติผู้ใหญ่

AnyoneElseHug_web_4

Marcie Beigel ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมครอบครัวและผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงดูและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตแห่ง BCBA-D จากนครนิวยอร์ก ระบุว่า คุณพ่อคุณแม่สามารถบอกกับญาติๆ ตามตรงว่าลูกไม่ชอบให้กอดหรือหอมแก้มได้ แม้จะเป็นเรื่องที่ลำบากใจสักหน่อย แต่ก็ยังดีกว่าการบังคับให้ลูกแสดงความรักโดยที่ลูกรู้สึกไม่สบายใจไปเรื่อยๆ

Airial Clark ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงดูและสุขภาพทางเพศ ยืนยันว่า การบอกเรื่องนี้อาจทำให้ปู่ย่าตายายหรือญาติๆ รู้สึกผิดหวัง แต่เชื่อได้ว่า ญาติผู้ใหญ่จะสามารถรับมือกับการถูกปฏิเสธจากลูกหลานได้ดี และและพร้อมที่จะหาวิธีแสดงความรักด้วยวิธีการอื่นที่ทำให้ลูกหลานสบายใจมากขึ้น

ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่จะต้องทำทุกอย่างโดยใช้แนวคิดความมีอิสระทางร่างกายให้เป็นเรื่องปกติ ให้เกียรติและเคารพร่างกายของลูก และเป็นตัวอย่างที่ดีในการเคารพร่างกายคนอื่น ก็จะช่วยให้ลูกเรียนรู้และซึมซับการดูแลปกป้องตัวเองจากการกอดหรือสัมผัสตัวของคนแปลกหน้าได้ดียิ่งขึ้น

 

— อ่านบทความ: อ้อมกอดของคุณพ่อคุณแม่มีประโยชน์มากกว่าที่คิด: 4 เหตุผลที่ว่าทำไมควรกอดลูกบ่อยๆ

 

อ้างอิง
healthychildren
cbc.ca
parents
parents
cdc

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

COMMENTS ARE OFF THIS POST