READING

เพิ่มความยืดหยุ่นในจิตใจให้ลูกด้วยหลัก 7C’s...

เพิ่มความยืดหยุ่นในจิตใจให้ลูกด้วยหลัก 7C’s

เวลาได้ยินคำว่าความยืดหยุ่น คุณพ่อคุณแม่คิดว่ามันคืออะไรและสำคัญต่อการเลี้ยงลูกอย่างไรบ้าง

ความยืดหยุ่นในเชิงจิตวิทยา (Resilience) คือ การปรับตัว การฟื้นคืนกลับมามีความสุขได้หลังจากสถานการณ์ที่เลวร้าย ความยืดหยุ่นจึงมีความสำคัญต่อจิตใจของคนเรา ถือเป็นสกิลสำคัญที่ทำให้เรารับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นกับชีวิตได้ เมื่อล้มก็กลับมาลุกขึ้นยืนได้ ไม่เสียเวลาอยู่กับความเครียดหรือความวิตกกังวลมากและนานเกินไป

ความยืดหยุ่น ไม่ได้มีความสำคัญกับผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เด็กๆ ก็สามารถเจอเรื่องที่ทำให้ผิดหวัง เสียใจ และมีปัญหาในแบบของตัวเองเช่นเดียวกัน

M.O.M จึงได้นำแนวคิด 7C’s ที่ว่าด้วยความยืดหยุ่นมาฝากคุณพ่อคุณแม่เพื่อที่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้สอนให้ลูกเติบโตขึ้นอย่างคนที่สามารถรับมือและแก้ปัญหาที่เข้ามาในชีวิตได้

1. Competence

Resilience_web_1

คือความสามารถในการจัดการสถานการณ์ได้ดี ไม่ว่าจะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การรับมือกับเหตุการณ์ไม่ดีที่เกิดขึ้น ว่าเราจะจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นประคองให้ไม่แย่ไปกว่าเดิมอย่างไร

คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนลูกได้ด้วยการปล่อยให้ลูกเผชิญกับความผิดพลาดบางอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตบ้าง ไม่ปกป้องลูกมากเกินไป รวมถึงเปิดโอกาสและสนับสนุนให้ลูกรู้จักแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยเป็นที่ปรึกษาและอยู่เคียงข้าง

2. Confidence

Resilience_web_2

ถ้าเด็กเติบโตอย่างคนที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ก็จะทำให้กลายเป็นคนที่ไม่กล้าทำอะไรด้วยตัวเอง ไม่กล้าริเริ่มหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ รวมถึงหากเขาเจอกับปัญหาก็จะไม่สามารถรับมือได้เพราะคิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถมากพอ

การจะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับลูกนั้นไม่ใช่เรื่องยากคุณพ่อคุณแม่เพียงแค่คอยสนับสนุนในสิ่งที่ลูกรักและอยากทำ คอยให้กำลังใจและชื่นชมในความพยายาม ความกล้าคิดกล้าทำของลูกได้โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ลูกประสบความสำเร็จอย่างเดียวเท่านั้น เท่านี้ก็มีส่วนช่วยให้ลูกเติบโตอย่างคนที่มีความมั่นใจได้แล้ว

3. Connection

Resilience_web_3

ความสัมพันธ์ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการใช้ชีวิตอยู่ในสังคม โดยเฉพาะสังคมขนาดเล็กที่สำคัญที่สุดอย่างครอบครัว การหมั่นเอาใจใส่ คอยให้ความช่วยเหลือ และดูแลซึ่งกันและกัน ด้วยสภาพแวดล้อมแบบนี้ จะทำให้เด็กมีอารมณ์และความรู้สึกมั่นคง มองโลกในแง่บวก และพร้อมที่จะจัดการความรู้สึกต่างๆ หากเจอเรื่องร้ายๆ ที่ผ่านเข้ามาได้ดี

การเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว นอกจากจะเป็นไปเองตามธรรมชาติแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรอนุญาตให้ลูกแสดงความรู้สึกและอารมณ์ของตัวเองออกมาให้คนในครอบครัวรับรู้ รวมถึงการแสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ในครอบครัวนั้นสำคัญ หากใครมีปัญหา ทุกคนก็พร้อมที่จะรับฟังและยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือเสมอ

4. Character

Resilience_web_4

บุคลิกและอุปนิสัยเป็นเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็น เพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่าควรหรือไม่ควรปฏิบัติตัวกับคนอื่นอย่างไร รวมถึงการให้ลูกได้เรียนรู้บุคลิกและอุปนิสัยที่ตัวเองไม่ชอบจากคนอื่น เพื่อระมัดระวังไม่ให้ตัวเองมีพฤติกรรมเช่นเดียวกัน

5. Contribution

Resilience_web_5

การสนับสนุนและส่งเสริมลูกเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ลูกรู้ว่าตัวเขาเองมีความสำคัญต่อครอบครัวและโลกใบนี้อย่างไร เพื่อให้ลูกเรียนรู้ที่จะมีความรับผิดชอบทั้งกับตนเองและกับคนอื่นมากขึ้น

6. Coping

Resilience_web_6

มาต่อกันที่การรับมือ หากเด็กรู้จักการรับมือกับปัญหาต่างๆ ได้ดี ลูกก็จะรู้จักกำจัดความเครียดที่ไม่จำเป็นออกไปจากชีวิต คุณพ่อคุณแม่อาจสอนลูกด้วยวิธีสร้างเหตุการณ์สมมติ เช่น หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นลูกคิดว่าจะทำอย่างไร หรือถ้าทำแบบนี้จะเกิดเหตุการณ์อะไรต่อไปบ้าง เพื่อให้ลูกรู้จักคิดและเตรียมตัวรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

7. Control

Resilience_web_7

การทำให้ลูกรู้สึกมั่นใจว่าเขาสามารถรับมือและควบคุมสถานการณ์ได้ จะทำให้ลูก ไม่รู้สึกอ่อนแอ หดหู่ หรือจมอยู่กับปัญหา คุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีให้กำลังใจและสร้างความเชื่อมั่นให้ลูก ด้วยการบอกลูกว่าคุณรู้สึกภูมิใจในตัวเขา และกระตุ้นให้ลูกมั่นใจว่าปัญหาต่างๆ ไม่ยากเกินความสามารถที่ลูกจะลงมือแก้ไข

อ้างอิง
heysigmund
diggingdeep
optionb

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

COMMENTS ARE OFF THIS POST