“คุณแม่คะ หนูขอกินขนมได้ไหมคะ” เสียงเล็กๆ ของเจ้าตัวน้อยพูดขึ้นกับคุณแม่ “กินข้าวให้เสร็จก่อนนะ แล้วค่อยกินขนมกัน” สิ้นเสียงต่อรองของคุณแม่ปุ๊บ เจ้าเด็กก็ร้องไห้โฮปั๊บ แล้วไม่ว่าคุณจะพยายามอย่างไร ลูกก็ไม่ยอมหยุดร้องไห้และงอแงมากขึ้นทุกที วิธีเดียวคือยอมแพ้ ยอมให้ลูกกินขนมก่อน แล้วค่อยกินข้าวก็ได้…
ไม่ใช่แค่เหตุการณ์อย่างนี้เท่านั้น เพราะยังมีอีกหลายครั้งที่ลูกใช้วิธีร้องไห้งอแงเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตัวเองต้องการ พฤติกรรมนี้เป็นเรื่องธรรมดาของเด็กๆ ที่ยังไม่รู้จักควบคุมตัวเอง และยังไม่เข้าใจเหตุผลที่คนเราต้องอดทนรอคอย ดังนั้นนอกจากคุณพ่อคุณแม่ควรจะสอนให้ลูกรู้จักอดทนรอคอยแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการสอนให้ลูกรู้จัก ‘การควบคุมตัวเอง’ (Self Control)
การควบคุมตัวเอง เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดี สมวัย และทำให้ลูกมีปัญหาทางพฤติกรรมต่างๆ น้อยลง เช่น เมื่อถึงวัยเข้าโรงเรียน ลูกพบว่าเด็กคนอื่นมีของเล่นหลายชิ้นที่เขาอยากได้ หากลูกไม่รู้จักการควบคุมตัวเอง ลูกอาจเข้าไปแย่งของเล่นคนอื่น ทำให้เกิดปัญหาการเข้าสังคมตามมาได้
การจะสอนให้ลูกรู้จักการควบคุมตัวเองทำได้หลายวิธี แต่ M.O.M ขอเลือกวิธีสอนลูกด้วยเกมและกิจกรรมสนุกๆ ที่ช่วยฝึกให้เจ้าตัวน้อยรู้จักควบคุมตนเอง บอกเลยว่านอกจากจะเป็นการสอนที่ไม่น่าเบื่อแล้ว ยังร่วมสนุกกันได้ทั้งครอบครัวอีกด้วย
1. เกมเต้นแล้วหยุด
คุณพ่อคุณแม่ลองเปิดเพลงแล้วเต้นไปพร้อมๆ กับลูกด้วยท่าทางอิสระกติกาก็คือลูกต้องหยุดเต้นหรือขยับตัวทันที เมื่อเสียงดนตรีหยุด หากใครเผลอขยับตัวหรือเต้นต่อไปถือว่าแพ้
โดยหากเป็นเพลงเร็วก็ให้เต้นแบบเร็วๆ หากเพลงช้าก็ให้เต้นช้าๆ หรืออาจใช้วิธีสลับกติกา เช่น เพลงช้าต้องเต้นเร็ว เพลงเร็วต้องเต้นช้า จะทำให้เด็กๆ รู้จักอดทน และพยายามทำตามกติกาของเกม รวมทั้งทำให้เขารู้จักควบคุมตัวเองที่จะหยุดเต้นทันทีเมื่อเสียงเพลงหยุด
2. เกมสัญญาณไฟจราจร
ให้คุณพ่อคุณแม่ประดิษฐ์กระดาษให้เป็นสัญญาณไฟจราจรสีแดง สีเหลืองสีเขียว แล้วกำหนดพื้นที่จุดเริ่มต้นและเส้นชัย ให้ลูกสมมติตัวเองเป็นรถยนต์ หากมีคนชูป้ายไฟจราจรสีเขียวและส่งเสียงบอกว่า ไฟเขียว ให้ลูกวิ่งหรือเดินไปตามเส้นทางที่กำหนด และเมื่อมีคนชูป้ายไฟจราจรสีแดงและส่งเสียงบอกว่า ไฟแดง ทุกคนในเกมจะต้องหยุดเคลื่อนไหว ถ้าใครไม่หยุดหรือหยุดไม่ทัน จะต้องกลับไปที่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง และเกมจบเมื่อมีคนวิ่งไปถึงเส้นชัยเป็นคนแรก
3. เกมวงออเคสตร้า
คุณพ่อหรือคุณแม่จะต้องสมมติตัวเองเป็นผู้ควบคุมวงดนตรีออเคสตร้า ด้วยการใช้ไม้ยาวหรือไม้บรรทัดโบกสะบัดไปมาตามจังหวะเพลงที่เปิดคลอ แต่กติกาก็คือลูกจะต้องคอยสังเกตจังหวะการขยับมือและไม้ของผู้ควบคุมวง เช่น เมื่อผู้ควบคุมขยับหรือโบกมืออย่างรวดเร็ว ลูกจะต้องเด้นเป็นจังหวะรวดเร็ว และเมื่อจังหวะการโบกมือช้าลง ก็ต้องเต้นช้าลงด้วยเช่นกัน
4. เกมเงาของกระจก
ให้ลูกจับคู่กับพ่อหรือแม่ แล้วกำหนดว่าใครจะรับหน้าที่เป็นเงาที่อยู่ในกระจก และใครจะรับหน้าที่เป็นคนส่องกระจก วิธีการเล่นคือ คนส่องกระจกจะทำท่าทางอย่างไรก็ได้ ให้คนที่เล่นเป็นเงาต้องทำท่าตามเสมือนเป็นเงาที่อยู่ในกระจก
เกมนี้นอกจากจะฝึกการควบคุมตนเองแล้วยังได้ประโยชน์เรื่องการควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกายและทักษะการทำท่าเลียนแบบได้อีกด้วย
5. เกมแตะร่างกาย
คุณพ่อคุณแม่จะต้องเป็นผู้นำในการสั่งคำสั่ง โดยให้ลูกเป็นผู้รับและปฏิบัติตามคำสั่ง เช่น หากพูดว่าให้ข้อศอก เด็กก็ต้องแตะข้อศอก หากบอกว่าไหล่ ก็ต้องแตะไหล่ โดยอาจเริ่มจากจังหวะช้าก่อนค่อยๆ เพิ่มความเร็วขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนี้ยังสามารถตั้งกติกาใหม่ เช่น หากพูดว่าข้อศอก เด็กจะต้องอวัยวะอื่นที่ไม่ใช่ข้อศอก
6. เกมช้างแตกตื่น
เกมนี้เหมาะสำหรับเล่นกับเด็กๆ หลายคน เช่น ในห้องเรียนหรือเพลย์กรุ๊ปขั้นแรกจะต้องมีการกำหนดพื้นที่ที่จะใช้เล่นเกม ระบุจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดให้เรียบร้อยเสียก่อน โดยให้เด็กยืนเรียงแถวต่อกัน เพื่อเดินไปให้ถึงจุดหมาย ก่อนที่คุณพ่อคุณแม่หรือคุณครู จะเล่นสมมติตัวเองเป็นช้างตัวโต ที่จะคอยเดินไปเดินมาใกล้ๆ แถวของเด็กๆ
เมื่อมีช้างเดินมา เด็กๆ ทุกคนจะต้องหยุดเดิน และเมื่อช้างเดินออกไปไกลแล้วเด็กๆ ถึงจะสามารถเดินขยับกันได้เรื่อยๆ ไปจนถึงเส้นชัย ถ้าในแถวของเด็กๆ มีคนที่หยุดเดินไม่ทันเมื่อช้างเดินเข้ามาใกล้ ก็จะต้องกลับไปที่จุดเริ่มต้นพร้อมกันทั้งแถว
COMMENTS ARE OFF THIS POST