READING

ลูกคุณไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน : เมื่อลูกสร้างความ...

ลูกคุณไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน : เมื่อลูกสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น พ่อแม่ควรรับมืออย่างไร

ลูกคุณไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ต่อให้ลูกสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้มากแค่ไหน แต่พอได้เห็นแววตาใสๆ หน้าซื่อๆ ของลูกแล้ว ก็พร้อมที่จะใจอ่อนและให้อภัยลูกอยู่เสมอ

แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คำกล่าวที่ว่า ลูกคุณไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน เป็นเรื่องจริงเสมอ โดยเฉพาะในวันที่คุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้ลูกน้อยแสนน่ารักของเราไปสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ เพราะพฤติกรรมที่ไม่น่ารักของลูก สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ การที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนให้ลูกเรียนรู้การอยู่ในสังคม การใช้พื้นที่สาธารณะ และการมีพฤติกรรมกับคนอื่นอย่างเหมาะสม

Mona Delahooke ผู้เขียนหนังสือ Beyond Behaviors ระบุว่า การมีความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว และได้รับความอบอุ่นจากผู้ปกครอง มีส่วนช่วยให้ลูกอยากจะทำสิ่งต่างๆ ให้ดีและมีพฤติกรรมที่ดีกับคนอื่นต่อไป

ดังนั้น การสร้างพื้นฐานให้ลูกมีพฤติกรรมที่ดี ไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น ไม่ให้ใครมาตำหนิคุณพ่อคุณแม่ได้ว่า ลูกคุณไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน นั้นต้องอาศัยการการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ใช่แค่ของลูก แต่หมายถึงการหล่อหลอมจากพฤติกรรมและการดูแลของคนในครอบครัว

1. ยอมรับ และไม่ปกป้องเมื่อลูกทำผิด

TroublemakingChild_web_1

James Lehman ผู้เขียนหนังสือ Transform Your Problem Child แนะนำสามสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำเมื่อลูกเริ่มมีพฤติกรรมสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ได้แก่

• ยอมรับในพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูก คุณพ่อคุณแม่ควรยอมรับในความผิดพลาดหรือพฤติกรรมที่ไม่น่ารักและสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

• อย่าปกป้องลูกจากความผิด คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรใช้ข้ออ้างหรือเหตุผลว่าลูกทำผิดเพราะยังเป็นเด็ก เพราะจะทำให้ลูกเข้าใจว่าการเป็นเด็กทำให้ได้รับสิทธิ์ในการสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นได้

• อย่าปกป้องลูกจากผลที่ตามมา เช่น เมื่อลูกทำลายทรัพย์สินในห้องเรียน หรือทำให้เพื่อนร่วมห้องบาดเจ็บ ลูกต้องขอโทษ และรับผิดชอบความเสียหายที่ตามมาจากการกระทำนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ ไม่สอนให้ลูกเรียนรู้ผลลัพธ์จากการกระทำของตัวเอง มัวแต่เพิกเฉย หรือมองข้ามความผิดของลูก ลูกก็จะไม่ได้เรียนรู้ และมีโอกาสที่จะทำความผิดซ้ำได้

2. เพิ่มเติมความเข้มงวด

TroublemakingChild_web_2

เมื่อคุณพ่อคุณแม่รู้ว่าลูกของเราไปสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น นั่นคือเวลาที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องเข้มงวดกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ด้วยวิธีการที่หนักแน่น เด็ดขาด แต่ไม่ใช้ความรุนแรงกับลูก เช่น สอบถามถึงเหตุผล อะไรทำให้ลูกตัดสินใจทำอย่างนั้น บอกถึงผลเสียหรือความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับคนอื่น และการกระทำของลูกจะกระทบมาถึงคุณพ่อคุณแม่อย่างไรบ้าง พร้อมบอกบทลงโทษที่สมเหตุสมผล และเหมาะสมกับช่วงวัยของลูก

3. รู้จักการเชื่อมโยงอารมณ์กับพฤติกรรมของลูก

TroublemakingChild_web_3

Julie Lythcott-Haims ผู้เขียนหนังสือ How to Raise an Adult ระบุว่า สิ่งที่จะช่วยให้ลูกควบคุมตัวเองได้ดี คุณพ่อคุณแม่จะต้องใช้วิธีเชื่อมโยงพฤติกรรมและอารมณ์ด้านบวก

โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถเปลี่ยนจากการพูดเรื่องพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูกบ่อยๆ เป็นการถามคำถามที่สะท้อนอารมณ์ เพื่อเชื่อมโยงไปถึงพฤติกรรมที่ลูกแสดงออกแทน เช่น วันนี้ลูกดูอารมณ์ไม่ดี มีคนใจร้ายกับลูกหรือเปล่า เพียงแค่คุณพ่อคุณแม่ถามแบบนี้ นอกจากจะช่วยให้สะท้อนอารมณ์ของตัวลูกเองแล้ว ยังทำให้ลูกนึกถึงสิ่งที่ตัวเองทำลงไปอีกด้วย

การพยายามเข้าใจอารมณ์และพฤติกรรมของลูกด้วยคำถามเชิงบวกจะสามารถเปลี่ยนจากเด็กเจ้าปัญหา ให้เป็นเด็กที่ใจดีที่สุดคนหนึ่งได้เลยทีเดียว

4. เปลี่ยนตัวปัญหาให้กลายเป็นนักสร้างความน่ารัก

TroublemakingChild_web_4

เด็กหลายคนมีพฤติกรรมที่ไม่น่ารักจนถูกมองว่าเป็นเด็กไม่ดี เด็กที่ชอบสร้างปัญหา และทำให้คุณพ่อคุณแม่มักใช้คำพูดเชิงลบกับลูกเสมอ แต่เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกอย่างสร้างสรรค์ คุณพ่อคุณแม่ควรเปลี่ยนการใช้คำพูดหรือพูดถึงลูกด้วยถ้อยคำเชิงตำหนิ เช่น เด็กจอมดื้อหรือเจ้าตัวปัญหา เป็นคำพูดที่แสดงถึงความรักและความเข้าใจที่มีต่อลูกจะดีกว่า

Melanie Wilson นักจิตวิทยา แนะนำวิธีสร้างแรงจูงใจให้ลูกเป็นเด็กใจดี ในแบบฉบับของคุณแม่ที่มีลูก 6 คน ด้วยการให้ทุกคนในครอบครัวล้อมวง เล่าเรื่องที่น่ารักของเด็กๆ ในวันเกิดของลูกแต่ละคน เพื่อให้ลูกรู้สึกภาคภูมิใจในการเป็นที่รักและเป็นเด็กดีในสายตาคนอื่นต่อไป

Eileen Kennedy-Moore นักเขียนและนักจิตวิทยาคลินิกในเมืองพรินซ์ตัน รัฐนิวเจอร์ซีย์ แนะนำวิธีการใช้ ‘สมุดบันทึกความดี’ เพื่อสร้างมุมมองเชิงบวกให้กับลูก ลดปัญหาพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก ด้วยการเขียนและสิ่งดีๆ ที่ลูกทำ เขียนความคิดเห็นจากคุณพ่อคุณแม่ และเขียนผลกระทบต่อผู้อื่นในเชิงบวก

สมุดบันทึกเล่มนี้จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นสิ่งดีๆ ที่ลูกทำ และยังทำให้ลูกเป็นนักสะสมความดี สู่การเป็นนักสร้างความน่ารักให้ตัวเองและผู้อื่น ให้คุณพ่อคุณแม่ได้ชื่นใจในระยะยาว

อ้างอิง
psychologytoday
psychowith6
empoweringparents
washingtonpost

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST