READING

7 คำพูดคุณพ่อคุณแม่ที่มีผลต่อพัฒนาการของลูก...

7 คำพูดคุณพ่อคุณแม่ที่มีผลต่อพัฒนาการของลูก

คุณพ่อคุณแม่อาจจะนึกไม่ถึงว่า คำพูดของเราจะมีส่วนกำหนดนิสัยใจคอและอนาคตของลูก 

เด็กที่เติบโตขึ้นมาเป็นคนขี้อายไม่กล้าแสดงออก ดื้อเงียบไม่รับฟังความคิดเห็นของคนรอบข้าง หรือเป็นคนไม่กล้าคิด ไม่กล้าตัดสินใจ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากคำพูดและพฤติกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ปฏิบัติกับเขา รวมถึงคำพูดที่มีผลกระทบกับจิตใจ ยังส่งผลให้ลูกมีพัฒนาการช้าลงอีกด้วย

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรไตร่ตรองคำพูดที่จะใช้พูดกับลูก มีสติ และไม่ใช้อารมณ์ และคิดเสมอว่าคำพูดของเรามีผลต่อนิสัยใจคอของลูกต่อไปในอนาคต

1. “ทำไมทำอะไรไม่ได้สักอย่าง”

wordaffect_web_1

เมื่อคุณพ่อคุณแม่พูดประโยคนี้ด้วยอารมณ์ตำหนิ ตัดพ้อ หรือไม่พอใจตอนที่ลูกกำลังพยายามทำกิจวัตรประจำวันของตัวเอง เช่น ใส่ถุงเท้า ใส่รองเท้า ใส่เสื้อผ้า หรือแปรงฟัน เมื่อโดนตำหนิว่าทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดีพอ จะส่งผลให้ลูกหมดความมั่นใจในตัวเอง กลัวความผิดพลาด และกลายเป็นคนกลัวความไม่สำเร็จในที่สุด

หากคุณพ่อคุณแม่เผลอตำหนิความสามารถของลูก และลูกตอบสนองกลับมาด้วยคำถาม เช่น คุณเผลอดุที่ลูกใส่ถุงเท้าเองไม่ได้ แล้วลูกถามกลับมาว่า ต้องใส่อย่างไร การใส่อารมณ์ หงุดหงิด หรือแม้แต่รำคาญที่จะตอบคำถามของลูก อาจทำให้ลูกพัฒนาการหยุดชะงักได้

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรพูด พูดให้กำลังใจลูก สร้างความมั่นใจ สนับสนุน ส่งเสริม และปลอบใจให้ลูกมั่นใจว่าครั้งต่อไป ลูกจะทำได้ดีกว่าครั้งแรก

นอกจากนี้ให้คุณพ่อคุณแม่คิดว่าการที่ลูกกล้าถามหรืออยากรู้วิธีแก้ปัญหา ย่อมเป็นเรื่องดี เพราะจะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ที่ดี

2. “ถ้าทำได้จะให้รางวัล”

wordaffect_web_2

คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องให้รางวัลกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ลูกทำ และไม่ควรใช้คำพูดเชิงต่อรองแลกเปลี่ยนด้วยของรางวัลเมื่อต้องการให้ลูกทำเรื่องง่ายหรือเรื่องที่ควรทำในชีวิตประจำวัน เพราะเด็กจำเป็นต้องแยกแยะให้ได้ว่าสิ่งไหนคือหน้าที่และความรับผิดชอบของตัวเอง หรือสิ่งไหนคือภารกิจที่สำคัญพอที่จะมีรางวัลเป็นเครื่องสร้างแรงจูงใจได้

หากคุณพ่อคุณแม่ใช้คำพูดต่อรองว่าจะให้รางวัลกับลูกบ่อยเกินไป จะทำให้ลูกคาดหวังสิ่งตอบแทนและมีรางวัลเป็นเป้าหมายในการทำทุกสิ่ง มากกว่าการเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเอง

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรพูด ให้เปลี่ยนจากการให้รางวัลมาเป็นคำพูดชื่นชม บอกให้ลูกรู้ว่าคุณดีใจและภูมิใจในสิ่งที่เขาทำ

3. “ทำแบบนี้เดี๋ยวพ่อกับแม่จะไม่รัก”

wordaffect_web_3

ลูกอาจจะยังเด็กเกินกว่าที่จะเข้าใจว่า ควรทำแบบไหนถึงจะถูกใจคุณพ่อคุณแม่ เช่น เมื่อคุณแม่บอกให้ลูกหยิบของให้ และลูกไม่ตอบสนองทันที คุณอาจจะหงุดหงิดและบอกลูกว่า “ทำแบบนี้ แม่จะไม่รักนะ”

การขู่ว่า ‘จะไม่รัก’ อาจมีผลต่อจิตใจลูกในช่วงแรก แต่เมื่อลูกได้ยินบ่อยเข้า อาจคิดจริงจังว่าพ่อแม่ไม่รักเขาแล้ว และอาจเป็นความเคยชินว่าตัวเองไม่เป็นที่รักของพ่อกับแม่

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรพูด ควรเปลี่ยนเป็นการพูดกับลูกด้วยเหตุและผล เช่น “ของวางอยู่ใกล้ลูก ลูกช่วยหยิบให้คุณแม่ได้ไหมคะ” ถ้าลูกเพิกเฉยคำพูดของคุณ แทนที่จะขู่ว่าไม่รัก ลองเปลี่ยนเป็นบอกความรู้สึกจริงๆ ของคุณออกมา เช่น “แม่เสียใจที่ลูกไม่ช่วยหยิบของมาให้” หรือ “ถ้าลูกไม่ช่วย แม่ก็จะต้องเดินไปหยิบและเดินกลับมาอีกนะคะ”

4. “ทำไมไม่มีความรับผิดชอบเลย”

wordaffect_web_4

คำพูดบางอย่าง ยากเกินความเข้าใจของเด็ก เช่น การตำหนิว่าลูกไม่มีความรับผิดชอบ ลูกอาจจะไม่เข้าใจความหมายของคำนั้น แต่จะรู้สึกได้ถึงการกล่าวโทษ เกิดเป็นความไม่เข้าใจและน้อยใจในที่สุด

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรพูด ถ้าคุณต้องการตำหนิที่ลูกไม่รับผิดชอบสิ่งที่คุณมอบหมายให้ ลองเปลี่ยนคำพูดเป็น “แม่เสียใจที่หนูไม่ทำตามที่เราตกลงกันไว้”

5. “ทำไมไม่ทำตัวน่ารักเหมือนคนอื่น”

wordaffect_web_5

การพูดเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น ไม่ได้เป็นแรงผลักดันให้ลูกทำในสิ่งที่ดี แต่ส่งผลตรงกันข้าม ลูกจะรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า รู้สึกโกรธ รู้สึกอิจฉา แสดงพฤติกรรมต่อต้านอย่างรุนแรง และมีพฤติกรรมพูดย้อนคุณพ่อคุณแม่ จนกลายเป็นเด็กก้าวร้าว

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรพูด ลองให้กำลังใจในสิ่งที่ลูกทำหรือพยายาม และชื่นชมในสิ่งที่ลูกเป็น ดีกว่าการเปรียบเทียบ

6. “เดี๋ยวรอให้กลับบ้านก่อนเถอะ!”

wordaffect_web_6

คุณพ่อคุณแม่หลายคนมักพูดแบบนี้กับลูกเมื่อลูกมีพฤติกรรมไม่น่ารักตอนที่อยู่นอกบ้าน แต่คำพูดนี้ นอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้แล้ว ยังทำลายความน่าเชื่อถือของคุณพ่อคุณแม่ลงไป ทำให้ลูกไม่เชื่อฟังคุณพ่อคุณแม่อีก

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรพูด คุณพ่อคุณแม่ควรบอกข้อตกลงกับลูกก่อนออกจากบ้าน เช่น “วันนี้ไปห้างฯ แต่เราจะไม่ซื้อของเล่นนะคะ” หากไปถึงห้างฯ แล้วลูกยังร้องไห้งอแงจะซื้อของเล่น คุณควรรีบพาลูกออกจากสิ่งเร้า เช่น พามาสงบสติอารมณ์ในที่จอดรถหรือพามานั่งในรถ เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนคนอื่น

7. “อย่าดื้อ เดี๋ยวตำรวจจับ”

wordaffect_web_7

ประโยคขู่ที่ไม่สมเหตุสมผล จะทำให้ลูกขาดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ และเมื่อลูกโตพอที่จะรู้ว่าสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ขู่เป็นเรื่องโกหก จะทำให้ลูกขาดความเชื่อถือในตัวคุณ

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรพูด ภาษาที่คุณพ่อคุณแม่ใช้สื่อสารกับลูกเป็นสิ่งสำคัญในการลำดับความคิดของลูก การบอกเหตุและผลที่สอดคล้องและเชื่อถือได้ จะทำให้ลูกมีพัฒนาการทางด้านภาษาที่ดี และพัฒนาการทางสมองก็จะดีตามไปด้วย

 

 

 

อ้างอิง
Saraphanpunha
Thairath
Parentsone
Amarinbabyandkids

Panitnun W.

'แพม' ไม่มีลูกเป็นของตัวเอง แต่รักเด็กเป็นชีวิตจิตใจ ว่างไม่ได้ต้องหาคลิปเด็กมาดู ถ้าได้ดูคลิปเด็กก่อนนอนนี่คือจะฟินมาก และที่ชอบมากอีกอย่างคือ แซลมอน ความฝันคือ ถ้ามีเงินจะเปิดฟาร์มแซลมอน

COMMENTS ARE OFF THIS POST