READING

Interview: ครูนุช-อนุสรา ดีไหว้ จากลูกศิษย์สู่การเ...

Interview: ครูนุช-อนุสรา ดีไหว้ จากลูกศิษย์สู่การเป็นอาจารย์ผลิตผู้สร้างหนังสือเด็ก กับความท้าทายบนโลกที่มีแพลตฟอร์มหลากหลายยิ่งขึ้น

“ตราบใดที่เด็กยังเกิดทุกวัน หนังสือสำหรับเด็กก็จะยังไม่หายไปไหน”

เป็นสิ่งที่เพิ่งรู้เมื่อได้ทำการสัมภาษณ์ครั้งนี้ ว่าเราเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียที่มีการสอนวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก ในการศึกษาระดับปริญญาตรี ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่น ผู้ยิ่งใหญ่ด้านการผลิตวรรณกรรมและหนังสือภาพสำหรับเด็ก จนกลายเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสูงมีตลาดใหญ่โต และมีแนวโน้มว่าโตขึ้นได้อีก ยังมีการเรียนการสอนสาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็กเฉพาะหลักสูตรปริญญาโทเท่านั้น

แต่บ้านเราที่ยังถือว่าล้มลุกคลุกคลานกับการสร้างวัฒนธรรมการอ่าน และการผลิตสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน การมีสาขาวิชาที่สอนเรื่องนี้โดยเฉพาะ ก็ทำให้ดูเหมือนอนาคตด้านการอ่านหนังสือของเด็กไทยน่าจะสดใสมากขึ้นเรื่อบๆ

“เรามองว่า มันเป็นเป็นพันธกิจของเรา ที่อาจารย์ทุกคนในสาขาวิชาจะบ่มเพาะให้ลูกศิษย์เห็นความสำคัญของการอ่านและการพัฒนาเด็กให้กับนิสิตได้ซึบซับ เพราะนั่นคือการพัฒนารากฐานของสังคม”

ครูนุช–อนุสรา ดีไหว้ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวรรณกรรมสําหรับเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บอกกับเราเพื่อตอบคำถามที่ว่า ‘สาขาวิชานี้เขาเรียนอะไรกัน’ คำตอบนี้ไม่ได้ถ่ายทอดจากแค่มุมของความเป็นอาจารย์เท่านั้น แต่ครูนุชยังเป็นศิษย์เก่ารุ่นแรกๆ ของคณะมนุษย์ศาสตร์ สาขาวิชาวรรณกรรมเด็ก ในวันที่คุณครูแนะแนวยังไม่รู้ว่าสาขาวิชานี้เขาเรียนและสอนอะไรกัน แต่ด้วยความชอบอ่าน ชอบเขียน ครูนุชเลยได้เข้าไปเล่าเรียนเพื่อเป็น  ‘นักทำหนังสือสำหรับเด็ก’

รู้ตัวอีกที ชื่ออนุสรา ดีไหว้ ก็กลายเป็นทั้งนักเขียน นักแปล บรรณาธิการ และกลับไปเป็นอาจารย์ที่สำนักเก่า เพื่อส่งต่อประสบการณ์ในยุทธภพหนังสือเด็ก สู่คนรุ่นต่อไป

มันเป็นเป็นพันธกิจของเรา ที่อาจารย์ทุกคนในสาขาวิชาจะบ่มเพาะให้ลูกศิษย์เห็นความสำคัญของการอ่านและการพัฒนาเด็กให้กับนิสิตได้ซึบซับ เพราะนั่นคือการพัฒนารากฐานของสังคม”

ด้วยความที่เป็นศิษย์เก่า จนตอนนี้กลับมาเป็นอาจารย์ สาขาวิชานี้มีอะไรเปลี่ยนไปบ้างไหม

ก็เป็นอย่างนี้แหละ อาจารย์เราทุกคนเหมือนสตาฟเอาไว้แล้ว เราเรียนเมื่อยี่สิบปีเขาเคยเป็นยังไง ตอนนี้เขาก็เหมือนเดิม ยังมีความเท่ มีความสวยประหาร และยังทันสมัยอยู่ คืออาจารย์ในสาขาวิชา เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เราอยากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เพราะเรารู้สึกว่าอาจารย์เราโคตรเท่เลย

เราได้เรียนกับ รศ.เกริก ยุ้นพันธุ์, อาจารย์อัจฉรา ประดิษฐ์, ผศ. รพินทร ณ ถลาง ที่ตอนนั้นเพิ่งเรียนจบ Children Literature มาจากเมืองนอก อายุยังไม่สามสิบก็ได้มาสอนเราแล้ว ภาพของสาขาวิชาเราเลยทันสมัยมาก เท่มาก

อย่างอาจารย์เกริกแม้จะอายุเยอะ แต่ทำให้เรารู้สึกได้เลยว่าถ้าเจอครูศิลปะแบบนี้ตั้งแต่เด็กๆ ป่านนี้เราวาดรูปเก่งไปแล้ว เพราะอาจารย์แกให้กำลังใจเก่งและไม่ปิดกั้น คอยเชียร์ตลอดว่าดี ทำเลย ลองเลย ทำให้กล้าทดลองทำอะไรใหม่ๆ และไม่กลัวการวาดรูป

แต่มายุคนี้สิ่งที่แตกต่างก็คือเราต้องปรับหลักสูตรให้ทันสมัยต่อโลกที่เปลี่ยนไปมากขึ้น ให้สอดรับกับความต้องการของผู้ประกอบการด้วย ต้องใช้งานได้จริงและเด็กสามารถประยุกต์ได้จริง อยู่ในโลกธุรกิจก็ได้ หรือจะเป็นฟรีแลนซ์ก็ต้องเอาตัวรอดได้

ทำไมเราต้องมีสาขาวรรณกรรมสำหรับเด็กโดยเฉพาะด้วย

เพราะว่าสื่อสำหรับเด็กนั้นมีความแตกต่างจากเวลาเราทำหนังสือหรือสื่อทั่วไป  อย่างแรกเลย แน่นอนว่าเราต้องคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมาย ถ้ากลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ทั่วไป เราก็สามารถจะทำอะไรก็ได้ตามที่นักเขียน หรือคนผลิตสื่อนั้นๆ ต้องการ อยู่ที่ว่าเราจะเจอผู้เสพที่มาตรงกัน กลุ่มเป้าหมายที่มันตรงกันได้อย่างไรเท่านั้นเอง พี่ปุ้ย—ปาริฉัตร ศาลิคุปต์ (นักเขียนนามปากกา กิ่งฉัตร) เคยพูดไว้ว่า นักเขียนงานผู้ใหญ่ อยากเขียนอะไรก็เขียนเลย เพราะเมื่องานออกไปแล้ว เราจะเจอกลุ่มเป้าหมายที่สอดรับกับงานของเราเอง ดังนั้นจงเป็นตัวตนของเราให้เต็มที่

แต่หนังสือ วรรณกรรม และสื่อสำหรับเด็กไม่ใช่แบบนั้น เราต้องคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายซึ่งก็คือเด็ก แต่เด็กไม่สามารถที่จะกำเงินแล้วไปซื้อหนังสือเองได้ ดังนั้นเราก็ต้องคำนึงถึงพ่อแม่เด็กอีกต่อหนึ่ง คุณครูที่โรงเรียนอีกต่อหนึ่ง ว่าเขาจะซื้อหนังสือของเราไหม ซื้อแล้วเอาหนังสือไปใช้อย่างไร

ก่อนหน้านี้วิชาวรรณกรรมสำหรับเด็กมักจะเป็นวิชาหนึ่งในภาควิชาภาษาไทยในคณะที่สอนด้านภาษา อย่างน้อยต้องรู้จักการเขียนเรื่องสำหรับเด็ก เพราะเด็กบางส่วนเขาจะไปเป็นครู และครูส่วนใหญ่จะใช้นิทานเป็นสื่ออยู่แล้ว

หรือบางทีก็ไปอยู่ในสาขาบรรณารักษ์ เพราะเขาทำห้องสมุดไง แล้วห้องสมุดก็จะมีกิจกรรมสำหรับเด็กใช่ไหมคะ วรรณกรรมเด็กก็จะเข้าไปอยู่เป็นวิชาหนึ่ง

แล้วก็คณะสายครุศาสตร์ปฐมวัย จะเรียนเกี่ยวกับจิตวิทยาเด็กและการศึกษาสำหรับเด็กเลย และก็จะมีวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็กเป็นติ่งอยู่ แต่กรอบการมองหนังสือหรือวรรณกรรมเด็ก ก็จะมองผ่านสายตาของนักการศึกษา มากกว่ามุมของคนสร้างวรรณกรรม

คือเป็นใช้หนังสือหรือวรรณกรรมเป็นสื่อหนึ่งในการสอนอะไรอย่างนั้น?

ใช่ เป็นแนวทางของเขา แต่อาจจะไม่สามารถเขียนหรือสร้างสรรค์วรรณกรรมได้อย่างสนุก หรืออาจจะมีกลวิธีไม่แยบคายเท่ากับคนที่เรียนวรรณกรรมสำหรับเด็กมา

เมื่อเป็นแบบนั้น อาจารย์ของภาคบรรณารักษ์ที่มศว นำโดยอาจารย์สมบูรณ์ สิงฆมานันท์และอาจารย์เกริก ยุ้นพันธ์ เลยผลักดันให้เกิดสาขาวรรณกรรมสำหรับเด็กขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อผลิตนิสิตที่เข้าใจเด็กและเข้าใจสื่อสำหรับเด็กจริงๆ ออกไปรับใช้สังคม

เพราะอย่างน้อย ประมาณแปดสิบเปอร์เซ็นต์ในโลกของเด็ก คนที่ไม่ได้จบวรรณกรรมสำหรับเด็กก็ทำได้ แต่ถ้าเกิดมีสัก 20-30 เปอร์เซ็นต์ที่มีความเข้าใจ ค่อยๆ ขยายจำนวนไปเรื่อยๆ เพราะตอนนี้ภาควิชาก่อตั้งมา 27 ปีแล้ว มีบัณฑิตเป็นพันคน ความรู้มันก็ค่อยๆ ขจรขจายออกไปในวงกว้าง แม้ทุกคนจะไม่ได้ออกไปทำหนังสือกันหมด แต่เขาก็ไปเป็นแม่ เป็นพ่อ เป็นคนที่ได้พบเจอเด็กๆ สุดท้ายเขาก็เอาความรู้ตรงนี้ไปต่อยอดได้

สี่ปีของคนทำหนังสือสำหรับเด็ก จะได้เรียนอะไรกันบ้าง

         เด็กๆ ที่นี่เขานิยามตัวเองว่าเป็นเป็ด คือรู้กว้างไปหมดทุกอย่าง แต่อาจจะทำไม่ได้ดีทั้งหมด เพราะจะบอกว่าเราเป็นนิเทศ-วารสารฯ ก็ได้ เป็นครุศาสตร์ก็ได้ เป็นปฐมวัยก็ได้ ภาษาไทยเราก็ได้ ศิลปะเราก็ทำได้ แค่ว่าเราอาจจะไม่ได้ลงลึกซึ้งในทุกศาสตร์ ขึ้นอยู่กับว่าผู้เรียนจะปรับใช้และเลือกที่จะให้น้ำหนักกับด้านไหนเป็นพิเศษ

         ภาพเด็กของเราจะแบ่งออกเป็นสามเส้นทาง  ทางแรกเลยคือสายวรรณกรรม สายการคิดวิเคราะห์ สายเขียน เรียกรวมๆ ว่าเป็นคนผลิตคอนเทนต์สำหรับเด็ก เขาจะเน้นวิชาการเขียนสารคดี การเขียนบันเทิงคดี การเขียนสร้างสรรค์ การวิเคราะห์ การตีความวรรณกรรม และจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก อันนี้ต้องเรียน ทุกคนต้องผ่านวิชาวิชาบังคับโดยเราจะให้อาจารย์หมอมาสอน เพราะเรามองว่ามันเป็นศาสตร์ที่เด็กต้องมีติดในเนื้อในตัว เพื่อจะมองออกว่า เด็กแต่ละช่วงวัยมีความต่างกันอย่างไร พัฒนาการเป็นอย่างไร สนใจแบบไหน เราจะเลือกสื่อสารอย่างไรให้เหมาะสมกับเขา

         สายที่สองคือสายอาร์ต เป็นลูกครึ่งของศิลปกรรม กับนวัตกรรมการสื่อสาร เขาจะเรียนทำภาพประกอบหนังสือเด็กเลย เริ่มตั้งแต่วิชาพื้นฐานการวาด ก่อนจะต่อยอดไปเป็นการพัฒนาการสร้างตัวละครต่างๆ วิชาคอมพิวเตอร์เพื่อผลิตสื่อสำหรับเด็ก ออกแบบรูปเล่ม เด็กที่สนใจทางนี้เขาก็จะได้ทำทุกกระบวนการ ทำภาพประกอบ ออกแบบรูปเล่ม จัดอาร์ตเวิร์ก ทำเองได้ทุกขั้นตอน ส่วนอีกสายหนึ่งจะเป็นเรื่องการจัดกิจกรรมสำหรับเด็ก เช่น เราจะมีวิชาเล่านิทาน เพราะทุกคนที่เรียนวรรณกรรมสำหรับเด็กต้องเล่านิทานได้ แต่เราเชื่อเสมอว่าทุกคนในโลก ก็สามารถเล่านิทานได้หมด

“พ่อแม่เล่านิทานให้ลูกฟังที่บ้านเรามีลูกแค่หนึ่งหรือสองคน แต่นักจัดกิจกรรมสำหรับเด็กต้องเจอเด็กเป็นสิบหรือมากกว่านั้น ดังนั้นทักษะจึงสำคัญ”

ถ้าทุกคนเล่าเป็นแล้วทำไมต้องสอนกัน

เพราะเราไม่ได้เล่าแบบเบสิก แต่เพิ่มสไตล์และชั้นเชิงเข้าไป พ่อแม่เล่านิทานให้ลูกฟังที่บ้านเรามีลูกแค่หนึ่งหรือสองคน แต่นักจัดกิจกรรมสำหรับเด็กต้องเจอเด็กเป็นสิบหรือมากกว่านั้น ดังนั้นทักษะจึงสำคัญ เราเลยสอนตั้งแต่การเล่านิทานหลากหลายรูปแบบ เล่นละครนิทาน เล่นละครใบ้ ผลิตสื่อเพื่อใช้ในการเล่านิทาน เล่านิทานจากกระดาษ เล่านิทานหุ่น เยอะมาก แต่ก็เป็นทักษะที่นิสิตต้องฝึกฝน ก่อนจะต่อยอดไปสู่วิชาการละครสำหรับเด็ก

ดังนั้นเมื่อมองจากความหลากหลายของทักษะที่เด็กเรามี จึงคิดว่าเขาจะไม่ตกงานนะ ทุกสายมีงานรองรับเขาได้หมด สายขีดเขียนก็ไปเป็นบรรณาธิการ เป็นกองบรรณาธิการ นักเขียนฟรีแลนซ์ คนทำคอนเทนต์ พวกชอบอาร์ต ก็ทำภาพประกอบได้ เป็นฝ่ายศิลปกรรมในงานหนังสือ ส่วนสายจัดอีเวนต์ เขาก็ไปจัดกิจกรรมสำหรับเด็ก ไปเป็นครูก็ยังได้ เพราะครูปฐมวัยในโรงเรียนเอกชนสมัยนี้ ไม่ต้องจบครุศาสตร์มาก็สามารถไปทำได้ เขามีองค์ความรู้เกี่ยวกับเด็กเป็นต้นทุนอยู่แล้ว

ได้ยินแบบนี้แล้ว ก็เลยเข้าใจว่าหนังสือเด็กไม่ใช่คิดจะทำอะไรก็ได้ แต่เบื้องหลังมันคือการสร้างคนที่มีความเข้าใจมากพอ ในขณะที่บางทีพ่อแม่ก็จะรู้สึกว่าทำไมหนังสือเด็กถึงแพงนัก

การทำสื่อสำหรับเด็กมันไม่ง่ายนะ ตั้งแต่คิดไอเดียตั้งต้นมันก็ไม่ง่ายแล้ว เพราะไม่ว่าจะกี่ร้อยปี เด็กทุกคนก็ต้องการความรัก ต้องการกินข้าว ต้องการแปรงฟัน จะยุคสมัยไหนมันก็เป็นเรื่องนี้ ดังนั้นเราจะสร้างพล็อต สร้างโครงเรื่องอย่างไรให้มันไม่ซ้ำ ให้มันสร้างสรรค์พอ ที่สำคัญคือสนุกและมีเสน่ห์

นี่เพิ่งเป็นขั้นตอนแรก จากนั้นเรายังจะต้องคิดต่ออีกว่า แล้วเราจะเอาเรื่องนี้ไปขายใคร เพราะเด็กก็มีหลายช่วงวัย พัฒนาการการรับรู้ของเขาไม่เท่ากัน หนังสือเราจะเล่าเรื่องแบบไหน

 

สมมติทำหนังสือให้เด็กวัย 0-3 ปี

วัยนี้ยิ่งเล็กเข้าไปใหญ่ เราคิดแค่เด็กไม่ได้แล้ว แต่เราต้องคิดถึงการขายพ่อแม่ให้เข้าใจด้วย รวมถึงศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล ต้องเข้าใจด้วย เพราะหนังสือสำหรับเด็กวัยนี้รายละเอียดจะไม่เยอะ ใช้คำน้อย ภาพน้อย ดังนั้นคนทำภาพประกอบก็จะต้องเข้าใจ

อย่างนิทานที่เป็นตัวอย่างสำหรับเด็กวัยนี้คือเซ็ตแมวน็อนตัน (ชุด น็อนตัน แมวจอมป่วน, สำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก) ที่นุชเป็นบรรณาธิการหนังสือชุดนั้น มันเป็นเรื่องราวที่ผู้ใหญ่อ่านจะรู้สึกว่าไม่มีอะไร แต่ในความน้อยมันยิ่งทรงคุณค่า กว่าจะกลั่นออกมาเพื่อลดทอนให้เหลือน้อยที่สุดแต่ยังเล่าเรื่องได้ มันยากนะ ภาพประกอบอีก ในความน้อยของมันจะมีรายละเอียดซ่อนอยู่ ซึ่งมันมีผลต่อการรับรู้ของเด็กทั้งหมด

นุชยังมองว่าหนังสือสำหรับเด็กอย่างไรก็ต้องผ่านกระบวนการบรรณาธิการเพราะต้องมีคนมาช่วยนักเขียนและนักวาดดูภาพรวม แม้ว่าศิลปินหรือนักเขียนคนนั้นจะเก่งแค่ไหน ขนาดครูชีวัน วิสาสะ ครูปรีดา ปัญญาจันทร์ อาจารย์เกริก หรือพี่แต้ว—ระพีพรรณ พัฒนาเวช ทุกคนยังต้องมีบรรณาธิการคอยทำหน้าที่ดูแลคุณภาพก่อนออกไปสู่สายตาเด็ก

ด้วยการ…

     บรรณาธิการที่ดีจะช่วยมองในสิ่งที่คนเขียนคนวาดมองไม่เห็น ชี้ช่องว่างให้ว่ามันเหมาะสมที่จะส่งไปถึงตัวเด็กจริงๆ ถึงพ่อแม่จริงๆ คือช่วยพัฒนาต้นฉบับ รักษาสมดุลให้มันทั้งดีต่อเด็กและต่อคนซื้อคือพ่อแม่ ไม่ให้รู้สึกว่าหนังสือติสต์มาก พ่อแม่ไม่เข้าใจ ก็เลยไม่ซื้อ

แบบนั้นหนังสือที่เราทำมันก็ไปไม่ถึงเด็ก

ใช่ ทำมาแทบตาย สุดท้ายเด็กไม่ได้อ่าน กระบวนการบรรณาธิการจึงจำเป็น หนังสือเด็กบางเล่มทำกันเป็นปีหรือสองปี เพราะบางทีคนทำรู้สึกว่ามันยังไม่ดีพอ บางทีเขียนเรียบร้อย ร่างภาพเรียบร้อย สเก็ตช์เรียบร้อยแล้ว ลองลงสีดูแล้ว มันไม่ใช่ ต้องเปลี่ยนอีก พอจัดอาร์ตเวิร์ก ตัวหนังสือต้องวางตรงไหน เลือกฟอนต์อะไร ตรงนี้ก็ใช้เวลาอีก เพราะมันไม่เหมือนหนังสือผู้ใหญ่ที่จะใช้ฟอนต์อะไรก็ได้ตามใจคนออกแบบ แต่ภาพของตัวอักษรในหนังสือเด็กมันคือภาพจำในใจเขา ดังนั้นมันต้องอ่านง่าย ได้มาตรฐาน เป็นตัวอักษรมีหัว เพราะเขาดูตัวอักษรเหล่านี้เป็นแนวทางในการเขียนหนังสือต่อไป

การตรวจทานหนังสือเด็กต้องใช้วิธีการอ่านออกเสียง เพราะเวลาพ่อแม่ใช้หนังสือ เขาก็อ่านออกเสียงให้ลูกฟัง บางทีอ่านแล้วต้องคิดว่า คำพวกนี้เด็กๆ ใช้จริงหรือเปล่า บางทีต้องลงไปอยู่กับเด็กด้วยซ้ำ ว่าเด็กใช้คำนี้จริงไหม นี่มันไม่ใช่ภาษาเด็กนะ

ยกตัวอย่างทีมบรรณาธิการหนังสือของมูลนิธิเอสซีจี อาจารย์อัจฉรา ประดิษฐ์ พี่เอ๋—วิภาวี ฉกาจทรงศักดิ์ กับครูชีวัน เขานั่งอีดิตกันทีละคำเลยนะ ว่าคำนี้ใช่หรือไม่ใช่ หรืออย่างเวลาเราแปลงาน เสียงห่านมันร้องยังไงนะ เราถามคนทั้งวงการเลยนะ ตอนเราแปลเสียงห่าน ทำถึงขนาดไปนั่งฟังว่าห่านมันร้องยังไง ห่านไทยร้องแบบนี้ ห่านฝรั่งร้องอีกแบบ มันเป็นความประณีตที่ทุกคนตั้งใจทำ เพราะเรารู้ว่ามันส่งผลกับเด็ก

เป็นงานที่ต้องใส่ใจรายละเอียดมาก

ใช่ คิดดูว่าแค่นี้ก็เหนื่อยแล้ว แต่เรายังต้องทำงานกลับไปกลับมาระหว่างนักเขียนและนักวาดอีก จะใช้ตัวหนังสือแบบไหน ขนาดนี้เล็กไปหรือใหญ่ไป หนังสือควรหนาแค่ไหน จะทำปกแข็งหรือปกอ่อน ถ้าเน้นขายง่ายก็เอาปกอ่อน พ่อแม่มีกำลังซื้อเพราะราคาไม่แพงมาก แต่ถ้าอยากขายยาวๆ เป็นหนังสือที่มีคุณค่าทางจิตใจ ก็ต้องทำปกแข็ง หรือจะทำทั้งสองอย่าง

ไหนจะเรื่องกระดาษ แกรมต้องหนาเท่าไหร่ การใช้สีของศิลปินก็มีผลกับการเลือกกระดาษด้วย เช่น สีน้ำถ้าไปอยู่บนกระดาษอาร์ตมันจะไม่สวยเท่าบนกระดาษปอนด์หรือกระดาษการ์ดขาว กระดาษจากแต่ละแหล่งก็ไม่เหมือนกัน ถ้าสังเกตหนังสือญี่ปุ่นเขาจะมีกระดาษที่เป็นสีขาวแบบ ขาวนวล ที่พิมพ์ออกมาแล้วจะให้ภาพที่นุ่ม สวยงามกว่า

         ในขั้นตอนการพิมพ์ ถ้าเป็นสื่ออื่นๆ เราอาจจะลดขั้นตอนด้วยการพรูฟดิจิทัลได้ แต่กับหนังสือเด็ก เรายืนยันเสมอว่าดูแค่นั้นไม่ได้ เพราะมันเป็นสีไม่จริง เป็นสีบนคอมพิวเตอร์​ บางเล่มพอพิมพ์จริงออกมา สีเน่าเฟะไม่สวยไปเลยก็มี

นุชเคยทำชุดนิทานไทย ซึ่งเป็นดำริของคุณชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ที่เชิญศิลปินระดับประเทศมา 11 ท่าน เช่น อาจารย์ปรีชา เถาทอง,​ประหยัด พงษ์ดำ, ชัย ราชวัตร ทุกคนเป็นศิลปินจริงๆ การทำงานกับท่านเหล่านั้นจึงค่อนข้างท้าทาย คือจะไปบอกว่าอาจารย์วาดแบบนี้ไม่ได้นะคะก็ไม่ได้ หรือศิลปินอย่างอาจารย์เนติกร ชินโย เขาก็วาดโดยใช้สีชมพูอะไรก็ไม่รู้ เหมือนตอนนุชทำงานแปลของทาโร โกมิ เขาก็จะมีสีชมพูเฉพาะของเขา ที่พอเราส่งให้ทางญี่ปุ่นพรูฟเท่าไรเขาก็ไม่ให้ผ่านเสียที จนสุดท้ายมารู้ว่าเป็นที่กระดาษของประเทศเราและก็งานเดียวกันนี้ ศิลปินแต่ละท่านใช้เทคนิคกันเต็มที่ หน้าที่ของเราจึงเป็นการทำอย่างไรก็ได้ให้งานของทุกท่านลงไปอยู่บนหนังสือด้วยรายละเอียดครบถ้วนเหมือนจริงมากที่สุด

ครูนุชคิดว่าเหตุผลหลักที่คนทำหนังสือเด็กต้องทำงานละเอียดขนาดนี้เป็นเพราะอะไร

เราว่าหน้าที่ของคนทำหนังสือเด็ก หรือบรรณาธิการหนังสือเด็กคือการเป็นสื่อกลางที่จะถ่ายทอดสิ่งที่ศิลปินต้องการให้ถึงมือผู้รับ ไปสู่พ่อแม่และเด็กได้อย่างครบถ้วนที่สุด หนังสือเด็กจะเป็นเหมือนแกลเลอรีที่บ้านของเด็กๆ โดยไม่ต้องมาถึงหอศิลป์ นั่นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เป็นจรรยาบรรณที่เราต้องมี

เพราะแบบนั้นที่คนมองว่าหนังสือเด็กราคาแพง ก็เกิดจากค่าใช้จ่ายเบี้ยบ้ายรายทางเพื่อความละเอียดเหล่านี้ นุชว่าปัจจุบันทุกคนเข้าใจมากขึ้น และปัจจุบันเขาก็คุมราคาได้ดีขึ้นนะ จำได้ว่ายุคแรก หนังสือปกแข็งอย่างราชสีห์กับหนู ที่แพรวเพื่อนเด็กทำ สมัยนั้นราคาสองร้อยบาท เมื่อปี 2538 ที่ฟองสบู่กำลังจะแตกนะ ราคานั้นเลย ดังนั้นพอมาดูในปัจจุบัน ราคามันก็ประมาณนี้ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือพ่อแม่เข้าใจมากขึ้น

เราต้องใช้ความเข้าใจในการทำหนังสือเด็ก เริ่มต้นจากการเข้าใจเด็กก่อน รู้จิตวิทยาการเรียนรู้ของเด็ก และก็ศาสตร์และศิลป์มากมายก่ายกอง ในขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจพ่อแม่ เอื้อประโยชน์ให้เขา และใช้ความรู้เขาไปพร้อมๆ กันด้วย

“อาจจะไม่สามารถจะเปลี่ยนได้ทั้งหมดในทันที แต่เราค่อยๆ แทรกซึมไป อย่างที่บอก เด็กจบไปสามสิบคน ทำงานหนังสือจริงๆ อาจจะแค่สองคน แต่ที่เหลือไปเป็นพ่อแม่ เขาก็ไปสอนลูกเขาต่อได้”

แต่ในโลกธุรกิจจริงๆ เราทำงานด้วยอุดมการณ์ขนาดนั้นได้เหรอ

เราจะบอกเด็กของเราเสมอว่านี่คือในห้องเรียนนะ แต่ด้วยการที่เราเคยทำงานในวงการนี้มา เราก็เลยจะรู้ว่าธุรกิจจริงๆ ก็จะเป็นอีกแบบ ครูไม่อยากให้เราไปสุดในทางใดทางหนึ่ง อยากให้ปรับตัวเป็นรู้จักที่จะประนีประนอมแล้วประยุกต์เป็น อยู่บนโลกแห่งความเป็นจริงให้ได้

เช่น เราเรียนกันมาว่า หนังสือเด็กโดยเฉพาะการตั้งชื่อ ไม่ควรจะไปแปะป้ายตำหนิเด็ก เช่น ขี้เกียจ ขี้แง ฯลฯ แต่เราก็จะพบว่ามันมีให้เห็นในท้องตลาด เขาเห็นแล้วก็อาจจะไม่สบายใจ แต่ในทางธุรกิจมันก็คือจุดขาย เป็นเหมือนพลังภาษาที่จะดึงดูดคนซื้อ มันคือเรื่องของการตลาดในปัจจุบัน ที่เราจะต้องสอนเด็ก ให้เขารับรู้ด้วยว่ามันมีสิ่งนี้เกิดขึ้นนะ ดังนั้นถ้าเรียนจบไปทำงานในกองบรรณาธิการ ตั้งชื่อหนังสือดีๆ ไปแล้วโดนหัวหน้าแก้ ก็ไม่ต้องตกใจ มันเป็นกลไกตลาด หนังสือเด็กมันมีหลายปัจจัยเหลือเกิน มันไม่ได้อยู่แค่อุดมการณ์ของเรา แต่อย่างน้อยเนื้อในของหนู หนูยังมีคุณความดีงามที่จะทำคุณประโยชน์เพื่อสังคม

ถ้าวันหนึ่งที่เราปีกกล้าขาแข็งพอที่จะสอนใครได้ ประสบการณ์ของเรามากพอ พิสูจน์ตัวเองมาจนถึงจุดหนึ่ง เราก็จะสามารถค่อยๆ ที่จะเปลี่ยนทัศนคติบนโลกใบนี้ ของคนหลายคน หรือของหลายหน่วยงานได้ อาจจะไม่สามารถจะเปลี่ยนได้ทั้งหมดในทันที แต่เราค่อยๆ แทรกซึมไป เหมือนอย่างที่บอก เด็กจบไปสามสิบคน ทำงานหนังสือจริงๆ อาจจะแค่สองคน แต่ที่เหลือไปเป็นพ่อแม่ เขาก็ไปสอนลูกเขาต่อได้

ความคาดหวังของเราก็คือ อย่างน้อยลูกศิษย์เราทุกคนรู้ว่า อุดมการณ์ที่ดีที่จะทำเพื่อเด็กคืออะไร แต่ว่าโอกาสที่เขาจะเอาไปใช้จริงๆ มันขึ้นอยู่กับโอกาสของแต่ละคนด้วย แต่ก็อยากให้เขามีมันเป็นพื้นฐานอยู่แล้วนะ แล้วค่อยไปปรับเอาตามสภาพสังคมที่มันเปลี่ยนไป เท่านั้นเอง

ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ www.childrenlitswu.com

ในยุคที่สื่อมีรูปแบบหลากหลาย ภาควิชาของเรามีความจำเป็นและจะยืนระยะต่อไปอย่างไร

สาขาของเราอยู่มา 27 ปีแล้ว เราน่าจะอยู่ต่อไปได้นะ หลายคนก็เป็นห่วง โดยเฉพาะห้าปีหลังมานี้ ทุกคนบอกแพลตฟอร์มมันเปลี่ยนไป สำนักพิมพ์ก็ตาย นิตยสารปิดตัว แต่เรามองว่า ถึงแม้แพลตฟอร์มจะเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนก็ตาม เราเรียกตัวเราเองว่าเป็นคนผลิตคอนเทนต์สำหรับเด็ก เราเป็นคนสร้างคอนเทนต์ ไม่ว่าโลกจะถล่มทลาย แต่สุดท้ายเด็กยังเกิดทุกวัน สิ่งที่เด็กต้องเรียนรู้เหมือนกันตั้งแต่เมื่อสองร้อยปีก่อนจนถึงปัจจุบัน ก็ยังเป็นเรื่องเดิมๆ

เราเลยไม่กลัว แต่ตื่นเต้นมากกว่าว่าจะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้มันไปถึงเด็กได้ด้วยกลวิธีที่มันเหมาะสมกับยุคสมัย เช่น เรามีเรื่องอยู่เรื่องหนึ่ง เราทำเป็นทั้งหนังสือภาพ แล้วก็ปรับเป็นแอนิเมชันด้วยก็ยังได้ เราแค่มองหาลู่ทางที่มันสอดรับกับโลกที่เปลี่ยนไป

หรืออย่างเรื่องภาษา เด็กเราทักษะการเขียนที่ค่อนข้างดี ใช้ภาษาประณีตสวยงาม แต่เขาก็ไปเจอปัญหาตอนฝึกงานกับสื่อออนไลน์ว่างานมันเร็ว และภาษามันไม่งดงามอย่างที่เขาเคยใช้ เราก็บอกเด็กว่าต้องปรับตัว เพราะแพลตฟอร์มที่ต่างกันภาษามันก็ต้องปรับตาม ขนาดบทวิเคราะห์ถ้าเป็นลงหนังสือ หรือบทความวิชาการก็เป็นแบบหนึ่ง ลงในเว็บไซต์หรือสื่อออนไลน์ก็ต้องเขียนแบบหนึ่ง เราเป็นนักสื่อสาร เราต้องปรับตัวได้

แม้กระทั่งคำนิยามของความเป็นวรรณกรรมเด็กและเยาวชนเอง เราก็ต้องมองกันใหม่ ให้มันกว้างและหลากหลายขึ้น ว่ามันไม่ได้มีแค่มิติที่เล่าให้เด็กฟัง หรือทำวรรณกรรมให้วัยรุ่นอ่าน เพราะวรรณกรรมเยาวชนหนึ่งเรื่องมันไม่ใช่แค่เด็กสิบสองขวบอ่าน ผู้ใหญ่ก็ต้องอ่าน ดังนั้นเราก็เลยขยายฐานมากขึ้น เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ทดลองวิธีการที่หลากหลาย กลุ่มเป้าหมายที่กว้างออกไป พยายามให้จับศาสตร์วรรณกรรมสำหรับเด็กกับศาสตร์สหวิทยาให้มันครอบคลุม

เพราะไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นโลกใบนี้ พื้นฐานมันเกิดจากเด็กทั้งสิ้น เกิดจากการรับสื่อในวัยเด็ก ดังนั้นเราจะทิ้งได้ยังไง ไม่ว่าปัจจุบันแพลตฟอร์มมันจะเปลี่ยนอะไรไปมากมายก่ายกอง แต่เรานั่นแหละที่ต้องสร้างคอนเทนต์ให้มันสอดคล้องกับยุคสมัยจริงๆ


Nidnok

‘นิดนก’ เป็นคุณแม่ของน้อง ณนญ / เป็นนักเขียนสาวเชิงรุก เจ้าของผลงานหนังสือ 'POWER BRIDE เจ้าสาวที่กลัวสวย' และ 'TO BE CONTINUE- โปรดติดตามตอนแต่งไป'

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST