READING

เมื่อลูกถูกคุณครูทำร้าย คุณพ่อคุณแม่จะดูแลจิตใจลูก...

เมื่อลูกถูกคุณครูทำร้าย คุณพ่อคุณแม่จะดูแลจิตใจลูกต่อไปอย่างไรดี

เมื่อมีข่าวการใช้ความรุนแรงกับเด็ก คนเป็นคุณพ่อคุณแม่คงยากที่จะทำใจได้ แต่ที่น่าตกใจมากขึ้นไปอีกก็ คือความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็ก มักเกิดขึ้นในสถานที่ที่คุณพ่อคุณแม่ไว้วางใจและเชื่อว่าจะปลอดภัยสำหรับลูกที่สุด

โรงเรียนจัดเป็นสถานที่ที่ได้รับความไว้วางใจจากคุณพ่อคุณแม่รองจากบ้านของตัวเองเลยก็ได้ รวมถึงคุณครูก็เป็นคนที่พ่อแม่และผู้ปกครองให้ความเชื่อใจว่าจะมีส่วนช่วยในการดูแล และผลักดันให้เด็กๆ เติบโตอย่างมีพัฒนาการที่ดีสมวัย

แต่เมื่อคุณครูกลับกลายเป็นคนที่ใช้ความรุนแรงกับเด็กๆ ไม่ว่าจะด้วยการทำร้ายทางร่างกาย หรือทำร้ายจิตใจด้วยการใช้คำพูดด่าทอรุนแรงและอ้างว่าเป็นการลงโทษเพราะเด็กทำผิดหรือเพราะหวังดีก็ตาม แต่ไม่ว่าจะอย่างไร การใช้ความรุนแรงกับเด็ก ก็นับเป็นความทารุณที่ยากจะเข้าใจได้ เพราะผลกระทบที่เกิดกับเด็กผู้ถูกกระทำนั้นอาจจะร้ายแรงเกินกว่าที่ครูคนหนึ่งจะรับผิดชอบได้ไหว

ถ้าคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกของเราถูกคุณครูหรือบุคลากรของโรงเรียนทำร้ายให้บาดเจ็บหรือถูกทำให้รู้สึกหวาดกลัว นอกจากจะต้องรีบดำเนินการให้ถึงที่สุดแล้ว ยังต้องรีบให้การเยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจลูกให้กลับมาเป็นเด็กที่พร้อมจะปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ เลิกหวาดกลัว รู้จักปกป้องตัวเองด้วยการรีบบอกคุณพ่อคุณแม่ทันทีที่โดนทำร้าย

และเพื่อไม่ให้การถูกทำร้ายเป็นรอบแผลเป็นในจิตใจลูกต่อไป สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พอจะช่วยให้ลูกรับมือกับความรู้สึกของตัวเองได้ มีดังนี้

1. เปิดโอกาสให้ลูกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

teacherhurts_web_1

เด็กที่โดนทำร้ายมาอาจจะยังรู้สึกหวาดกลัว และไม่อยากพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่การเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่าและระบายความในใจของตัวเองออกมา โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยปลอบด้วยความรัก เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเยียวยาจิตใจของลูก

นอกจากการให้ลูกเล่าด้วยคำพูดแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจจะใช้วิธีให้ลูกวาดรูปเหตุการณ์ หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้น แล้วนำมาพูดคุยกันเพื่อให้ลูกเปิดใจพูดถึงเรื่องราวและความรู้สึกของตัวเองได้ง่ายขึ้น

เมื่อลูกรู้สึกปลอดภัยที่จะเล่าให้คุณพ่อคุณแม่ฟังแล้ว การปลอบโยนด้วยความรักความอบอุ่นของคุณพ่อคุณแม่จะช่วยให้ความกลัวของลูกคลี่คลายลงได้

2. กระตุ้นความเชื่อมั่นในตัวลูก

teacherhurts_web_2

เด็กที่ถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ มักจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่มีความมั่นใจ คิดว่าทำอะไรก็จะต้องโดนตำหนิและลงโทษเสมอ ซึ่งความรู้สึกนี้จะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของลูกเป็นอย่างมาก

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรแก้ไขก็คือทำให้ลูกเชื่อมั่นในตัวเอง ด้วยการกล่าวชื่นชมว่าลูกทำสิ่งต่างๆ ได้ดี และมีความกล้าหาญในการตัดสินใจอะไรบางอย่าง รวมถึงการให้โอกาสลูกได้ดูแลและช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น ไม่ว่าจะไปเข้าห้องน้ำด้วยตัวเอง ใส่รองเท้าด้วยตัวเอง วิธีนี้จะเป็นการทำให้ลูกมองเห็นคุณค่าและกลับมาเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเองได้อีกครั้ง

3. สอนให้ลูกรู้จักแสดงความเสียใจออกมา

teacherhurts_web_3

เราอาจจะเคยได้ยินผู้ใหญ่คอยพูดกับเด็กเสมอว่า ‘อย่าร้องไห้’ หรือบอกให้รู้จักอดทนกับความเจ็บปวดให้ถึงที่สุด แต่การบอกเด็กอย่างนี้ ทำให้เด็กๆ หลายคนมองว่าความรู้สึกเจ็บปวดหรือเสียใจเป็นเรื่องที่ไม่ควรแสดงออก

แต่วิธีที่ดีที่สุดคือการสอนให้ลูกยอมรับว่าตัวเองกำลังรู้สึกอะไร เช่น หากถูกคุณครูที่โรงเรียนใช้ความรุนแรง ลูกรู้สึกเจ็บทั้งทางร่างกายและเสียใจที่ครูมีพฤติกรรมอย่างนั้น ก็สามารถแสดงออกหรือบอกให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจได้

4. สอนให้ลูกรู้ว่า ‘ความเจ็บปวด’ จะค่อยๆ หายไป

teacherhurts_web_4

เหตุการณ์ที่เลวร้ายย่อมนำมาซึ่งความทรงจำที่ไม่ดีในวัยเด็ก คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยเยียวยาจิตใจของลูกได้ด้วยการสอนให้ลูกเข้าใจว่าความเจ็บปวดหรือประสบการณ์ไม่ดีที่ลูกพบเจอ จะเกิดขึ้นแค่ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อคุณพ่อคุณแม่รู้แล้วว่าเกิดอะไรกับลูก ก็จะช่วยกันหาทางแก้ไขไม่ให้เหตุการณ์นั้นๆ เกิดขึ้นได้อีก แต่ลูกอาจต้องใช้เวลาสักพักถึงจะรู้สึกดีขึ้นได้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่หรือคนอื่นๆ ก็ต้องการเวลาช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้นเป็นเรื่องธรรมดาเช่นกัน

อ้างอิง
understood
goodtherapy
herfamily

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST