หนีรถติดไปนอกเมือง นั่งคุยกับคุณพ่อศิลปินกราฟิตี้แนวหน้าของไทย พัชรพล แตงรื่น หรือคนในวงการอาจจะรู้จักเขาในชื่อ Alex Face ที่สตูดิโอย่านพุทธมณฑลสาย 2 ที่ Alex บอกกับเราว่า ตัดสินใจย้ายจากในเมืองออกมาแถวนี้ตั้งแต่ทราบว่า คุณแพท (ภรรยา) ตั้งท้อง เพราะการระบายอากาศในเมืองมันไม่เหมาะกับงานศิลปะที่ต้องใช้สีเท่าไรนัก
และถึงจะผ่านการให้สัมภาษณ์มาไม่น้อย แต่นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ Alex เปิดบ้านรับการพูดคุยในสถานะคุณพ่อของน้องมาร์ดี—ลูกสาววัยแปดขวบ
เชื่อว่าเขาคงไม่ถนัดการพูดคุยเรื่องพ่อๆ ลูกๆ เท่ากับการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับผลงานศิลปะของตัวเอง เพราะต้องคุยกันไปสักพักเลยกว่าที่คุณพ่อ Alex จะคลายอาการเกร็งในการพูดคุย และหันมาใช้คอนเซ็ปต์การพูดคุยที่ว่า “เอาเป็นเหมือนคุยเล่นกันดีกว่าครับ” (หัวเราะ)
ก่อนจะมาเป็นศิลปินอิสระ คุณทำอะไรมาบ้าง
ที่จริงเราก็ทำงานศิลปะ วาดรูป เขียนงาน พวกกราฟิตี้ พ่นสเปรย์ ก็ทำมาเรื่อยๆ มันเป็นสิ่งที่เราชอบ แต่ในประเทศเรา คำว่าศิลปินอิสระมันฟังดูไม่มีอนาคตใช่ปะ (หัวเราะ) ไม่มีเงิน มันดูเป็นอาชีพไม่ได้หรือเปล่าสำหรับประเทศเรา… ก็เลยต้องทำงานอื่นเสริมเพื่อให้เราอยู่รอดด้วย แต่ว่างานเสริมพวกนั้นมันก็อยู่ในเส้นทางศิลปะนี่แหละ
อะไรที่ทำให้คิดว่า เป็นศิลปินก็จำเป็นต้องมีเงิน
ลูกนี่แหละเป็นความตั้งใจของเราเลย เพราะเมื่อก่อนเราทำงาน เราก็ทำเพราะความสนุกและความชอบ ก็คาดหวังว่ามันจะเลี้ยงเราได้ แต่ก็ไม่ได้ทุ่มเทขนาดนั้น ณ ตอนนั้น มันก็ทำแบบฉับพลัน ฉับไว พ่นก็ไปพ่นแบบเร็วๆ ไม่ได้นึกว่ามันต้องออกมาดีหรือเปล่า จนมีลูก
มันทำให้เรามีพาวเวอร์ขึ้นมาโดยอัตโนมัติเลย ว่าเราต้องทำงาน เรามีลูก ลูกเรากำลังจะเกิด หลายๆ อย่างทำให้เราตั้งใจทำงานมากขึ้น โฟกัสกับอนาคต เรารู้ว่าเราต้องทำงานไปเพื่ออะไร เพราะเมื่อก่อนเราทำเพื่อตัวเอง แต่ตอนนี้ทำเพื่ออนาคตของลูกด้วย กว่าเด็กจะโตต้องใช้เงินเท่าไร มันทำให้เราเป็นคนจริงจังขึ้นมาเลย
อย่างตอนแพทท้องเนี่ย โอย กินน้ำมะพร้าวทุกวันครับผม ลูกจะได้ผิวดี (หัวเราะ) เราก็ต้องดูแลเขาด้วยทำงานไปด้วย ต้องแยกสตูดิโอออกมาจากบ้าน เมื่อก่อนอยู่โชคชัย 4 ก็ย้ายมาอยู่แถวพุทธมณฑล เราตั้งใจขยับขยายให้มันสบายขึ้น ต้องปรับตัวกันหลายอย่าง แต่พออยู่ไปก็ชิน แล้วก็ชอบมากกว่าในเมือง เพราะอากาศดีกว่า สภาพรอบข้างดีกว่า
คิดว่าการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมหรือว่าลูก มีส่วนสำคัญในการคิดงานตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ตอนเริ่มก็ไม่ได้คิดงานออกหรอก แต่การมีลูกมันทำให้เราคิดอะไรหลายๆ มุม จากที่เมื่อก่อนไม่ได้สนใจอะไรมากมายกับโลกใบนี้ เราอยู่แค่ในโลกของตัวเอง แต่พอมีลูก มันเริ่ม… เฮ้ย! ลูกเราต้องโตขึ้นไปอยู่ในสังคม เราก็เลยเริ่มมองสังคมว่า ต่อไปสังคมที่ลูกเราต้องอยู่มันจะเป็นยังไงวะ เริ่มเกิดคำถาม เริ่มสนใจประเด็นอื่นๆ ในสังคมไปโดยปริยาย ความรู้สึกนั้นก็เลยมาอยู่ในงานศิลปะของเราด้วย แล้วก็เริ่มวาดหน้าลูกเพื่อบอกเล่าเรื่องสังคม
เหมือนเราก็ได้แรงบันดาลใจจากลูกมาใช้ในการทำงานศิลปะ จนกลายเป็นว่างานของเราก็โตตามจังหวะชีวิตเขามาเรื่อยๆ เด็กสามตาที่ได้แรงบันดาลใจมาจากน้อง ก็เลยมีอายุแปดปีเท่าน้อง เพราะมันเริ่มตั้งแต่ตอนที่เราเห็นหน้าเขาตอนเขาเกิด
เราสงสัยว่าทำไมเขาทำหน้าบึ้งๆ หรือทำไมเด็กทุกคนถึงต้องหน้ามุ่ยๆ แบบนี้ เราสงสัย เราก็เอาคาแรกเตอร์นี้แหละมาคิด ว่าเขาสงสัยอะไร เขาสงสัยอนาคตหรือเปล่า เราก็เอาตรงนี้มาเล่า แล้วตัวการ์ตูนมันก็น่าจะเล่าเรื่องได้ซอฟต์กว่า เราอาจจะพูดเรื่องซีเรียสในมุมที่มันซอฟต์ลงได้
เราว่าทุกคนมันก็เป็นห่วง มีความกังวล แต่จริงๆ โลกก็เป็นของมันอย่างนี้ คือไม่ใช่ว่าเราเครียดทั้งวันว่าลูกกูจะเป็นยังไงวะ ไม่ได้เป็นขนาดนั้น แต่เราก็เอาพวกนี้มาเตือนผ่านงานศิลปะ เพื่อสื่อให้คนอื่นเห็นและคิดตามบ้าง
จำภาพแรกที่วาดคาแรกเตอร์เด็กผู้หญิงสามตาออกมาได้ไหม
ภาพแรกมันเป็นสเก็ตช์ลงในสมุดก่อน คือการวาดรูปของเรามันเหมือนการเขียนไดอารี่มั้ง แค่ไม่ได้เขียนเป็นตัวอักษร พอเรามีลูก ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ณ ตอนนั้น เราก็ต้องวาดหน้าเขา หรือเวลานั่งวาดอะไรเล่น เราก็วาดหน้าเด็ก
แล้วตอนนั้นเป็นช่วงที่มีจุดเปลี่ยนอีกอย่างคือ เราพ่นกราฟิตี้หน้าตัวเองมาประมาณ 7-8 ปีแล้ว มันเลยเป็นที่มาของ Alex Face จนมันเริ่มตันแล้ว พอมีลูกก็เหมือนเรากำลังหาคอนเซ็ปต์ใหม่ๆ วิธีการทำงานใหม่ๆ พอดี ก็เลยเปลี่ยนมาเขียนหน้าเขาเลย
จากสเก็ตช์ในสมุด จำกำแพงแรกที่ได้พ่นหน้าเด็กคนนั้นลงไปได้ไหม
กำแพงแถวศูนย์สิริกิติ์ จำได้ว่าไปกับเพื่อน เข้าไปในซอยเป็นป่าหญ้า เราก็พ่นอยู่ตรงนั้น แบบไม่ได้มีคาแรกเตอร์อะไร แต่ก็เป็นหน้าเขา ใส่ชุดแรกเกิดใส่หมวกไหมพรม ยังไม่ได้มีกระต่ายหรือมีชุดอะไรมาคลุม
แล้วพัฒนาการของคาแรกเตอร์เริ่มมาตอนไหน
มันก็เปลี่ยนมาเรื่อยๆ นะ หลังจากพ่นหน้าเด็กบนกำแพงแรก เพื่อนก็ชวนไปทำโชว์ที่เชียงใหม่ ก็ไปพ่นชิ้นที่สอง แล้วก็เป็นหน้าเด็กมาเรื่อยๆ ไอเดียมันก็ค่อยๆ มาเอง
อย่างตอนแรกเราก็พ่นสัตว์หลายๆ แบบ มีไก่ วัว กวาง ช้าง หลายคาแรกเตอร์ แต่หลังๆ พ่นกระต่ายบ่อย เพราะมีช่วงหนึ่งเรารู้สึกว่ากระต่ายมันน่าจะเล่าเรื่องได้ดี มันดูมีความเป็นเหยื่อของสังคม
ทำไมเลือกคาแรกเตอร์ที่แสดงออกถึงความเป็นเหยื่อ
เพราะตอนที่มีลูก เราได้ยินข่าวเด็กถูกทำร้ายบ่อย ซึ่งช่วงนี้ก็อาจจะมี หรือมีตลอดหรือเปล่า… แต่เราก็หวังว่ามันจะหมดสักทีนะ คือตอนนั้นมีข่าวนึงที่แม่งเฮิร์ตมากคือ เด็กห้าเดือนถูกพ่อเมาทุบม้ามแตก แล้วมาร์ดีอายุไม่ห่างจากนั้นมาก ก็ 5-6 เดือนเหมือนกัน เราก็กำลังเป็นพ่อมือใหม่ ลูกเราห้าเดือนเขาตัวเล็กนิดเดียว แล้วถูกกระทืบม้ามแตก เราแบบน้ำตาจะไหลอะ อึ้งเหมือนกันนะ ว่าเด็กตัวนิดเดียวเอง เขาทำได้ไง
เราก็เลยรู้สึกว่าเด็กเป็นเหยื่อของหลายๆ อย่าง เลยพยายามเอาคาแรกเตอร์ที่ให้ความรู้สึกเป็นเหยื่อมาสื่อ แล้วกระต่ายมันก็เล่าอารมณ์นั้นได้ เพราะมันเป็นสัตว์ที่มักจะถูกล่า
ในฐานะศิลปินที่ทำงานสะท้อนสังคม คุณกังวลอะไรในสังคมที่ลูกสาวจะเติบโตขึ้นมาอีกบ้าง
ก็ห่วงหลายเรื่องนะ แต่ถ้าที่สุดก็คงเป็นเรื่องคน เพราะว่าคนเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนได้ทุกอย่าง ทำได้ทั้งดีและไม่ดี ไม่อยากให้เขาไปเจอคนเห็นแก่ตัว คนไม่ดี จิตไม่ปกติ โมโหร้าย ก็เลยกลัวเรื่องนี้
มาร์ดีรู้ไหมว่าตัวเองเป็นที่มาทำให้มีคาแรกเตอร์ตัวนี้
เขารู้นะ เพราะเราคุยกับเขาตลอด ว่าป๊าได้แรงบันดาลใจมาจากมาร์ดี แต่มันไม่ได้หมายความว่ามันต้องเป็นมาร์ดีนะ อาจเป็นเด็กคนอื่น หรืออาจเป็นป๊าตอนเด็ก หรืออาจจะเป็นใครก็ได้ เพราะเขาจะได้ไม่รู้สึกว่านี่คือตัวเขา แล้วมาผูกติดอยู่กับงานเรา
ตัวจริงของมาร์ดีเป็นเด็กแบบไหน
อย่างแรกเลยคือพูดเก่ง เป็นเด็กแฮปปี้ เข้าสังคมได้ เข้ากับคนได้ เราก็โอเคเรื่องนี้ อย่างเวลาไปแคมป์ เสียงมาร์ดีจะดังตลอดเวลาเลย เล่าเรื่องนู้นเรื่องนี้ให้เพื่อนฟังตลอด เป็นคนชอบเล่า เราก็เลยต้องบอกให้เขาหัดฟังด้วย
นอกจากคุยเก่งแล้ว เห็นแววว่ามาร์ดีจะชอบอะไรเหมือนคุณพ่อหรือยัง
เขาชอบวาดรูป เขียนนู่นเขียนนี่ เขาจะมีสมุดสเก็ตช์กับปากกาของเขา ว่างๆ ก็เริ่มเขียนแล้ว
ตั้งใจถ่ายทอดความเป็นศิลปินให้เขาไหม
ส่วนใหญ่ไม่ได้สอนนะ (หัวเราะ) ก็รู้สึกว่าน่าจะสอนเขามากกว่านี้หรือเปล่าด้วยซ้ำ แต่ก็รู้สึกว่าปล่อยให้เขาเป็นอิสระไปเถอะ ให้เขาวาด ทำอะไรตามใจเขาไป
ถ้าเขาอยากพ่นก็พ่นเลย อยากวาดก็วาดเลย
จะทำอะไรก็ทำ ซึ่งเราว่ามันก็มีผลในอนาคต
เพราะถ้าคนมันมั่นใจในตัวเอง มันจะรู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร
…จนบางทียังคิดว่าเราฟรีเกินไปหรือเปล่าวะ
ให้อิสระแค่ไหน
ที่นี่เขาอยากพ่นที่ไหนก็พ่นเลย เราไม่ว่าอะไร (ชี้ไปที่กำแพงด้านหลัง) แล้วก็ใช้สีที่ปลอดภัยระดับนึง เราไม่ได้ซีเรียสมาก เพราะมันเป็นพื้นที่เปิดโล่ง เหมาะสำหรับทำงาน
เพราะเราชอบวาดรูปอยู่แล้ว เรารู้สึกว่าถ้ามีที่ให้ลูกเล่นขีดเขียน พอเขาโตเขาก็รู้เองว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ แต่ตอนยังเด็กก็ไม่ควรจะไปเข้มอะไรมาก มันจะทำให้เขาไม่มีความมั่นใจ เรารู้สึกว่าทุกคนควรจะมั่นใจว่าตัวเองอยากทำอะไร ไม่ควรไปคอยบอกว่าอันนี้อย่า อันนั้นอย่า คือถ้าเขาไม่อยากเขียนก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเขาอยากพ่นก็พ่นเลย อยากวาดก็วาดเลย จะทำอะไรก็ทำ ซึ่งเราว่ามันก็มีผลในอนาคต เพราะถ้าคนมันมั่นใจในตัวเอง มันจะรู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร…
แต่บางทีก็คิดว่าเราฟรีเกินไปหรือเปล่าวะ (หัวเราะ)
แล้วมาร์ดีอยากทำอะไร
เขาบอกว่าอยากเป็นหมอฟัน บางทีก็อยากเป็นนักธรณีวิทยา แล้ววาดรูปนี่ก็เหมือนเขาหาอะไรเล่นมากกว่า แต่เราพยายามให้เขาเขียนไดอารี่ทุกวัน บันทึกความประทับใจของเขา
แล้วตอนนี้เขาชอบอ่านหนังสือ เพราะแม่เขาพยายามปลูกฝัง เขาก็ชอบอ่านจนบางทีเหมือนอยู่ในโลกของตัวเองเกินไป ก็เหมือนคนเล่นมือถือนะ
บทบาทของคุณพ่อกับลูกสาว
เราพยายามพาลูกไปเล่นกลางแจ้ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ ตีแบดฯ เขาก็ชอบ ไม่ว่าอะไรมันก็สนุก ถ้าป๊าไปแม่ไปครบทีม แต่เขาจะไม่ค่อยเก่งเรื่องกีฬาเท่าไร เป็นแนวชอบอยู่บ้านทำนู่นทำนี่ แต่ก็ทิ้งไม่ได้ไง ไม่ต้องเก่งหรอก แต่ได้ออกไปเล่น อย่างไปตีแบดฯ ตีไม่โดนก็ไม่เป็นไร แต่ตีโดนลูกทีนึงเราก็ เย่! ดีใจชิบเป๋ง (หัวเราะ)
นอกจากใช้เวลาพาไปทำกิจกรรมแล้ว คุณเป็นพ่อที่ให้ความสำคัญกับอะไรอีก
เราต้องแสดงออกให้เขารู้ว่าเรารักเขา ทั้งการกระทำและคำพูด ใช้เวลาที่อยู่ด้วยกันบอกกัน แสดงออกว่าเรารักกัน แล้วเขาจะรับรู้ได้ มันเป็นสิ่งที่เด็กต้องการที่สุดนะเราว่า รู้สึกยังไงก็บอกไปเลย ทำให้มันเป็นปกติ ไม่ต้องไปกั๊ก ก่อนที่เขาจะโต เพราะถ้าโตแล้ว เวลามันผ่านไปแล้ว มันก็จะผ่านไปเลย
NO COMMENT