READING

อยากให้ลูกเป็นเด็กสองภาษา ทั้งที่แม่ไม่เก่งภาษาอัง...

อยากให้ลูกเป็นเด็กสองภาษา ทั้งที่แม่ไม่เก่งภาษาอังกฤษเอาเสียเลย

ประสบการณ์การทำงานและการใช้ชีวิตที่ผ่านมาของคุณ เปิ้ลศรีพิลาส  ศิริภักดีโชติกร ทำให้เห็นว่าคนที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดี มักจะมีความได้เปรียบทางหน้าที่การงานมากกว่าคนที่ไม่ถนัดภาษาอังกฤษเช่นตน

และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณเปิ้ลตัดสินใจฝึกพูดภาษาอังกฤษกับลูกชาย น้องเยี่ยมย์—เยี่ยมย์ยอด ศิริภักดีโชติกร ตั้งแต่วัยหนึ่งขวบ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณแม่ที่เก่งภาษาอังกฤษเป็นพื้นฐาน แต่สำหรับคนที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษอย่างคุณเปิ้ล การพยายามใช้ภาษาอังกฤษกับลูกในชีวิตประจำวัน ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

ยิ่งรู้อย่างนี้ ยิ่งทำให้เราอยากชวนคุณเปิ้ลพูดคุยถึงการเป็นคุณแม่สองภาษาที่ไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษเอาซะเลย ว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร เพื่อเป็นแรงบันดาลให้คุณแม่อีกหลายคนที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษ แต่ก็อยากให้ลูกมีพื้นฐานภาษาอังกฤษไม่น้อยไปกว่าที่เด็กรุ่นใหม่คนหนึ่งควรจะมี

ทำไมคุณแม่ถึงคิดว่าการเป็นเด็กสองภาษาเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับลูก

เรามองว่าภาษาอังกฤษสำคัญ แต่ก่อนเราทำงานเป็น Sale Engineer ต้องพบปะพาร์ตเนอร์ต่างชาติและต้องใช้ภาษาอังกฤษเยอะมาก ทำให้เรามองว่าคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ดี จะได้เปรียบไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเจรจาการค้าหรือการทำธุรกิจ และแทบจะทุกอย่าง

เป็นแม่ที่ไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษ แต่อยากสอนให้ลูกเป็นเด็กสองภาษา

เราไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษขนาดนั้น เราแค่พอจะเขียนได้ อ่านเข้าใจ แต่เรื่องพูดคือพูดไม่คล่อง กว่าจะนึกคำศัพท์ออกว่าจะใช้ต้องใช้คำว่าอะไร มันก็จะติดๆ ขัดๆ เวลาพูดไม่ได้ลื่นไหล ไม่เหมือนคนที่เขาอยู่เมืองนอกมาก่อน เราเลยต้องใช้ความพยายามมากกว่าจะสอนลูกได้

โชคดีที่มีแก๊งกลุ่มเด็กสองภาษา มีแม่ๆ ที่เขาเก่งภาษาอังกฤษมากกว่าเราและเขาก็ใจดีคอยช่วยสละเวลาตอบคำถามที่เราติดขัด ประโยคภาษาไทยที่เราไม่รู้ว่าจะแปลเป็นภาษาอังกฤษว่ายังไง เราก็ถามเขา และเก็บข้อมูลมาเรื่อย แล้วก็เอามาเก็บไว้เป็นเท็มเพลตที่บันทึกไว้ในเอ็กเซลอีกทีว่าต้องพูดแต่ละเรื่องแต่ละสถานการณ์ว่ายังไง

เท็มแพลตที่เก็บไว้มีอะไรบ้าง

ก็จะเป็นประโยคพื้นฐานทั่วไปที่ใช้คุยกับลูก เช่น กินอะไรมา—What did you eat? หรือว่าที่โรงเรียนเป็นยังไงบ้าง—How was your school? และก็ถ้าสมมติอยากถามว่าลูกอยากกินอะไร เราก็จะคุยว่า—What do you like to eat for your dinner?  for your lunch? for your breakfast? ขึ้นอยู่กับเวลาที่เราถามเขา และก็จะมีศัพท์แปลกๆ เช่น เวลาซื้อหนังสือวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กมาให้ลูกอ่าน มันก็จะมีคำแปลกๆ หรือชื่อไดโนเสาร์ยากๆ ก็จะบันทึกเอาไว้

ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าไปเจอแก๊งคุณแม่ที่สอนลูกสองภาษาได้ยังไง

เพื่อนสนิทที่จบวิศวะมาด้วยกัน เขาชวนเราเข้ากรุ๊ปไลน์แก๊งเด็กสองภาษา พอเราเข้าไปอยู่ในกรุ๊ปก็รู้สึก อ้าว! มีแบบนี้ด้วยเหรอ มีพ่อแม่ที่พยายามสอนลูกเป็นภาษาอังกฤษตั้งแต่เด็กๆ ด้วย เราไม่เคยรู้มาก่อนว่ามันทำได้ ในกรุ๊ปนั้นจะมีแหล่งข้อมูลเยอะมากว่าใครบ้างที่สอนลูกให้เป็นเด็กสองภาษา

วิธีเตรียมตัวเป็นคุณแม่สองภาษา

เราต้องค้นคว้าหาข้อมูล ต้องหาหนังสืออ่านทุกวัน ช่วงแรกก็จะเป็นการถามแม่ๆ ในกรุ๊ปเด็กสองภาษาว่าประโยคนี้แปลเป็นภาษาอังกฤษว่ายังไง เขาก็จะช่วยเรา ช่วงนี้ก็จะเป็นช่วงเก็บประโยคที่ต้องเอาไว้ใช้พูดกับลูก เราเก็บประโยคภาษาอังกฤษไว้ในเอ็กเซลเป็นหมื่นๆ ประโยค เวลาจะใช้หรือนึกไม่ออกว่าประโยคนี้แปลเป็นภาษาอังกฤษว่ายังไง เราก็เข้าไปค้น แล้วก็ต้องท่องให้มันจำเข้าไปในหัว หลังจากนั้นเราจะสามารถดึงประโยคออกมาใช้ได้อย่างอัตโนมัติ

นอกจากเรื่องประโยคแล้ว การพูดและสำเนียงต้องเตรียมอย่างไร

เราอยากฝึกให้ลูกพูดภาษาอังกฤษสำเนียงอเมริกัน ก็เลยต้องเข้าไปค้นเรื่องการออกเสียงที่เว็บไซต์เคมบริดจ์ดิกชั่นนารี (Cambridge Dictionary) เขาจะมีการออกเสียงแบบทั้งบริติชและอเมริกันให้เราเช็กเรื่องการออกเสียง ถ้าในเว็บเคมบริดจ์ไม่มี ก็ต้องค้นกูเกิลเพิ่มเติมว่าคำนี้ออกเสียงยังไงกันแน่

ทำไมถึงเลือกสำเนียงอเมริกัน

ความยากของภาษาอังกฤษอยู่ตรงนี้ มันจะมีทั้งสำเนียงบริติชอิงลิช (British English) กับอเมริกันอิงลิช (American English) ซึ่งเราต้องเลือกว่าเราจะสอนไปแนวทางไหน สุดท้ายเราเลือกอเมริกันอิงลิชเป็นหลัก เพราะว่าออกเสียงง่ายกว่า เต็มคำกว่า และเราจะคุ้นหูกับสำเนียงอเมริกันมากกว่า เช่น เวลาดูหนังส่วนมากก็เป็นหนังที่ใช้ภาษาอังกฤษสำเนียงอเมริกัน

นอกจากแก๊งคุณแม่เด็กสองภาษาแล้วก็หาความรู้เพิ่มเติมจากเว็บไซต์

นอกจากเว็บไซต์ดิกชั่นนารีของเคมบริดจ์ พวกคำศัพท์แปลกๆ เช่น ศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ ศัพท์เฉพาะ หรือว่าชื่อไดโนเสาร์ต่างๆ ที่เราใช้สอนลูกก็จะเข้าไปค้นในเว็บไซต์ Usborne หนังสือภาษาอังกฤษที่ซื้อให้ลูกอ่านก็จะเป็นหนังสือของ Usborne (ประเทศอังกฤษ)  เจ้านี้เขาดังเรื่องหนังสือเด็ก เขาผลิตหนังสือเด็กออกมาเยอะ และค่อนข้างมีคุณภาพ ภาพในหนังสือก็สวยกว่าหนังสือทั่วไป ซึ่งเราก็จะซื้อแต่หนังสือภาษาอังกฤษให้ลูก

เหมือนพยายามเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้ลูก

เราพยายามสร้างสิ่งแวดล้อมของเราให้เป็นภาษาอังกฤษ จากที่เคยเปิดทีวีช่องภาษาไทย ก็เปลี่ยนเป็นช่องภาษาอังกฤษ จากที่เคยฟังข่าวไทยก็ไปฟังข่าวอังกฤษ ตอนแรกก็แทบจะตีกับสามี เวลาเขาดูหนัง เพราะหนังบางเรื่องถ้าเลือกดูหนังภาษาอังกฤษมันจะไม่มีซับไตเติ้ลแปลข้างล่าง พี่ก็เลือกเป็นภาษาอังกฤษ และพี่ก็นั่งฟัง ทีนี้พอเขาดูด้วยเขาก็เครียดอยากดูแบบที่มีซับไตเติ้ลแปล เราทะเลาะกันมาเป็นปี จนตอนนี้ไม่ค่อยมีปัญหาแล้ว ตีกันมาจนอิ่มตัวแล้ว และสุดท้ายเราก็ชนะ

เริ่มสอนลูกพูดภาษาอังกฤษตั้งแต่อายุเท่าไร

เริ่มสอนประมาณหนึ่งขวบ เดือนแรกอาจจะมีหลุดภาษาไทยออกมาบ้าง เพราะเราก็ยังไม่ค่อยเก่ง แต่พอประมาณ 1 ขวบ 6 เดือนเป็นต้นไปก็พูดภาษาอังกฤษกับเขาตลอด

“ลูกเราก็มีปัญหาพูดภาษาไทยไม่ได้ หรือพูดได้น้อยมาก คำที่พูดได้ก็พูดไม่ชัด ก็กลายเป็นปัญหาว่าเราเกิดความกังวลใจที่ลูกเริ่มพูดอังกฤษได้ แต่พูดภาษาไทยไม่ได้ ในความคิดเรามันไม่สมควรที่จะเป็นแบบนี้ เราอยากให้เขาเป็นเด็กสองภาษา ไม่ใช่ภาษาอังกฤษอย่างเดียว และเราก็เป็นคนไทย พูดภาษาไทยไม่ชัดมันน่าอาย”

เรียกว่าสอนภาษาอังกฤษก่อนภาษาไทยเสียอีก

ใช่ เขาพูดภาษาอังกฤษได้ก่อนภาษาไทย คำแรกที่เขาพูดได้ ไม่ใช่พ่อแม่ ไม่ใช่มามี้แดดดี้ แต่เป็นชี้ดอกไม้แล้วพูดว่า ฟลาวเวอร์…

ตอนแรกลูกเราก็มีปัญหาพูดภาษาไทยไม่ได้ หรือพูดได้น้อยมาก คำที่พูดได้ก็พูดไม่ชัด ก็กลายเป็นปัญหาว่าเราเกิดความกังวลใจที่ลูกเริ่มพูดอังกฤษได้ แต่พูดภาษาไทยไม่ได้ ในความคิดเราคือมันไม่สมควรที่จะเป็นแบบนี้

เราอยากให้เขาเป็นเด็กสองภาษา ไม่ใช่ภาษาอังกฤษอย่างเดียว และเราก็เป็นคนไทย พูดภาษาไทยไม่ชัดมันน่าอาย พอสองขวบครึ่งก็เกิดจุดเปลี่ยน เราเปลี่ยนวิธีการสอน เวลาพูดภาษาอังกฤษแล้วจะแปลเป็นภาษาไทยไปด้วยเลย ฝึกให้ลูกพูดภาษาไทย โดยให้พูดช้าๆ ชัดๆ ถ้าพูดไม่ชัดก็ฝึกให้ลูกพูดอยู่นั้นแหละ ทำอย่างนี้ประมาณหนึ่งปี ตั้งแต่สองขวบครึ่งถึงสามขวบครึ่ง ลูกก็เริ่มพูดไทยชัดแล้ว คราวนี้ตั้งแต่สามขวบครึ่งเป็นต้นมา ลูกก็พูดชัดทั้งภาษาไทยและอังกฤษ

สิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่กังวลคือเรื่องแกรมม่า คุณเปิ้ลซีเรียสเรื่องนี้มากไหม

จริงๆ ก็ควรพูดให้ถูก แต่ถามว่าถ้าใช้ไม่ถูกเป็นอะไรไหม ก็ไม่เป็นไรหรอก แต่เมื่อรู้ว่าที่ใช้ไปมันไม่ถูกต้อง เราก็ต้องหาทางแก้ไข จะบอกว่าไม่ต้องสนใจแกรมม่าเลยก็ไม่ได้ เพราะจะเท่ากับเราสอนภาษาอังกฤษผิดๆ ให้กับลูก แต่ถ้ามัวแต่ระแวงเรื่องแกรมม่า ก็จะทำให้ไม่กล้าพูด ไอ้ความไม่กล้าพูดนั้นแหละสำคัญกว่า

แล้วมีวิธีหัดเรื่องแกรมม่าอย่างไร

ถามจากคนที่เก่งกว่า เช่น ถามจาก ดร. เฟย์ (ดร. ณวีรินทร์  วรรธน์วโรทัย) เขาเป็นอาจารย์ของเรา เวลาติดขัดอะไรก็จะไปถามเขา ดร. เฟย์ เป็นคนไทยที่จบวิศวะเหมือนกัน แต่ว่าเขาไปจบปริญญาโทและเอกที่อเมริกา และเขามีแฟนเป็นคนอเมริกัน เป็นคนที่คอยให้ความรู้กับคุณแม่ในแก๊งเด็กสองภาษา และเราก็ไปขอความรู้จากเขาอีกที

สิ่งที่ยากที่สุดของภาษาอังกฤษคือการใช้ Tense สมมติว่าโรงเรียนสอนการใช้ Past Tense และ Future Tense เราเข้าใจความหมายของมัน แต่ความจริงจะเอาไปใช้ยังไง ใช้สถานการณ์ไหน เราก็แก้ปัญหาด้วยการไปนั่งอ่านการ์ตูนภาษาอังกฤษ เริ่มจากโดราเอมอนภาคภาษาอังกฤษ เพราะว่าคำศัพท์มันง่าย เป็นศัพท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และมันเป็นเรื่องของครอบครัว  และมีสถานการณ์ของ Tense ต่างๆ อยู่ในนั้น

เราต้องพยายามทำให้การใช้ Tense อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา เพราะเราไม่ได้อยู่ในสังคมที่ใช้ภาษาอังกฤษตลอดเวลา แม่ก็ต้องใช้วิธีนี้ และการดูหนังหรือซีรีส์ภาษาอังกฤษ เช่น Topsy and Tim เป็นเรื่องราวของครอบครัวอังกฤษ และจะมีประโยคที่ใช้ในชีวิตประจำวัน หรือ Peppa Pig ก็ดี อันนี้ลูกชอบดู คำศัพท์ก็ง่าย ถึงจะเป็นสำเนียงบริติช แต่ว่าการใช้ประโยคสนทนามันก็ไม่หลุดจากตรงนี้หรอก โครงสร้างประโยคก็เหมือนกัน

เรื่องสำเนียงจำเป็นต้องจริงจังไหม

ขอให้ออกเสียงชัด เพราะว่าออกเสียงไม่ชัดก็คุยกันไม่รู้เรื่อง ยกตัวอย่าง ก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็ก ชาวต่างชาติออกเสียงผิดเป็นก๋วยเตี๋ยวเส้นเหล็ก คนฟังก็ขำและไม่เข้าใจถูกไหม ส่วนคนพูดก็อาย ความหมายก็ผิด

เราต้องพยายามฝึกตัวเราให้มีสำเนียงใกล้เคียงกับเขา อันนี้ต้องใช้ความพยายาม ฟัง อัดเสียงตัวเองซ้ำๆ แล้วก็เอามาฟังว่าเราออกเสียงถูกไหม ก็คล้ายๆ การร้องเพลง ที่เราต้องพยายามร้องให้เหมือนต้นฉบับนั่นแหละ

อุปสรรคในการเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กสองภาษา

ช่วงแรกมันจะมีอุปสรรคเยอะ เช่น เรานึกคำศัพท์ไม่ออก หรือบางทีลูกเล่นซน แล้วเราจำเป็นต้องห้ามลูก ก็จะมีพูดภาษาไทยหลุดไปบ้าง แต่เราก็จะเอาภาษาไทยที่เราพูดและไม่รู้ว่ามันแปลเป็นภาษาอังกฤษว่ายังไง ไปถามคนที่เขารู้หรือไปค้นหาข้อมูลว่าประโยคนี้เขียนยังไง พอเรารู้และจำได้ ครั้งต่อไปมันก็ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาไทย ช่วงแรกอาจจะมีใช้ภาษาไทยบ่อยไปบ้าง แต่เราพยายามจะลดภาษาไทยลงเรื่อยๆ

การพยายามสอนลูก ก็เลยช่วยทำให้คุณแม่เก่งภาษาอังกฤษไปด้วย

มันทำให้เราพูดคล่องขึ้น เพราะเราพูดต่อเนื่องมาสี่ปีแล้ว ช่วงใหม่ๆ ก็ยังพูดไม่คล่องหรอก นึกคำศัพท์ไม่ค่อยออก ออกเสียงผิดบ้าง ปล่อยไก่ไปตั้งหลายรอบ แต่สิ่งที่เราต้องมี คือกล้าและไม่ท้อ ความยากที่สุดการสอนเด็กสองภาษาคือช่วงแรกนี่แหละ

ตั้งใจว่าจะใช้ภาษาอังกฤษกับลูกจนลูกอายุเท่าไร

ตอนแรกก็คิดว่าพูดจนถึงลูกเข้าโรงเรียนก็พอแล้ว พอเขาเข้าโรงเรียน เขาก็จะไปเจอครูต่างชาติที่เก่งกว่าเรา ก็ให้คุณครูเขาช่วยสอน แล้วเราก็จะเลิกพูดภาษาอังกฤษกับลูก

แต่ถึงจุดหนึ่งเราก็คิดว่าเราอาจจะพูดกับเขาแบบนี้ไปตลอดชีวิตก็ได้ เพราะพอลูกเข้าโรงเรียนอนุบาล เราหันหน้าไปคุยกับลูก มันก็กลายเป็นการพูดภาษาอังกฤษไปโดยอัตโนมัติ ลูกก็ตอบเป็นภาษาอังกฤษโดยอัตโนมัติ

พอลูกเข้าโรงเรียน ทุกอย่างเป็นไปอย่างที่คิดไว้ไหม

โรงเรียนที่เขาเรียน คล้ายๆ โรงเรียนสองภาษา ตอนเรียนอนุบาลหนึ่งเป็นครูอเมริกัน อนุบาลสองเป็นครูที่มาจากฟิลิปปินส์  ตอนเรียนอนุบาลหนึ่งยังไม่มีปัญหา กลับมาบ้านยังพูดด้วยสำเนียงเดียวกัน แต่พออนุบาลสอง กลับบ้านมา เขาก็เริ่มเถียงว่าเราออกเสียงผิด เราก็ต้องอธิบายว่าภาษาอังกฤษมีหลายสำเนียง แต่ละสำเนียงก็มีการออกเสียงที่ต่างกัน พอเจอคุณครูฟิลิปปินส์ก็เป็นความสนุกอีกอย่างหนึ่ง เพราะลูกจะได้เรียนรู้ว่าสำเนียงภาษาอังกฤษบนโลกนี้ไม่ได้มีแค่สำเนียงที่แม่เคยสอน

มีคำแนะนำสำหรับคุณแม่ที่อยากสอนลูกพูดภาษาอังกฤษแต่ตัวเองไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษไหม

พยายามถามคนที่เขาเก่งกว่า คนที่เขาสละเวลาตอบ อย่างแก๊งเด็กสองภาษาก็มีแม่ที่เก่งภาษาอังกฤษและมีน้ำใจสละเวลามาคอยตอบคำถามและให้ความรู้เราได้

ถ้าเป็นแม่ที่ไม่ได้อยู่ในกรุ๊ปไลน์เด็กสองภาษา ควรเตรียมตัวอย่างไร หรือหาความรู้เพิ่มเติมจากไหน

ตามร้านหนังสือก็มีหนังสือเลี้ยงลูกสองภาษานะ พี่ก็เคยซื้อมาเปิดดูเหมือนกัน แต่คิดว่าคำศัพท์อาจจะน้อยไป เราก็ต้องมาค้นเพิ่มเติมเองอยู่ดี

คิดว่าการเลี้ยงลูกสองภาษายากเกินไปไหมสำหรับครอบครัวที่ไม่มีความพร้อมด้านภาษาอังกฤษเลย

ทุกอย่างยากหมดแหละ ถ้าเราเริ่มในสิ่งที่เราไม่ถนัด แต่เราต้องถามตัวเองว่าเราจะท้อไหม จะหยุดหรือว่าจะไปต่อ

“บางคนที่เขาพอจะมีเงิน เขาก็ส่งลูกเรียนอินเตอร์ ก็ได้เหมือนกัน แต่ประสบการณ์ที่พี่เจอมามันจะไม่เท่าคนในครอบครัวพูดภาษาอังกฤษ เพราะว่าครูไม่ได้มีเวลาอยู่กับลูกเราเท่ากับเราอยู่กับลูก จะมีการเปลี่ยนครูไปเรื่อยๆ แต่เราจะอยู่กับลูกตลอด เราคือตัวหลักที่เขาต้องอยู่กับเราตลอดเวลา หลายสิบกว่าปีที่เขาจะมีครอบครัว ยังไงก็แล้วแต่พ่อแม่พูดได้ไว้ก่อน ก็ดีกว่าพูดไม่ได้”

นอกจากคุณแม่ต้องไม่ท้อแล้ว อะไรคือสิ่งสำคัญในแนวทางการเลี้ยงลูกสองภาษาภาษา

ความตั้งใจและความรักที่แม่มีต่อลูก เราอยากให้เขาไปได้ไกลกว่าเรา เรารู้สึกว่าการศึกษาช่วยยกระดับชีวิต ระดับฐานะความเป็นอยู่ เราไม่ได้เรียนจบเมืองนอก เราก็อยากให้เขาจบเมืองนอก เราอยากให้เขามีชีวิตที่ดีกว่าเรา และเราเชื่อว่าการศึกษามันช่วยได้ เราก็คิดแค่นี้แหละ แต่พ่อแม่บางคนที่พอจะมีเงิน เขาก็ส่งลูกเรียนโรงเรียนอินเตอร์ฯ ก็ได้เหมือนกัน แต่มันไม่เท่ากับการที่คนในครอบครัวพูดภาษาอังกฤษกับเขา

อีกอย่างที่สำคัญคือเราจะไม่ดุเวลาที่เขาพูดภาษาไทย พ่อแม่บางคนอยากให้ลูกเป็นเด็กสองภาษา แต่พอลูกพูดภาษาไทยก็โกรธ เราคิดว่าทำแบบนี้ไม่ดี เพราะภาษาไหนก็สำคัญทั้งนั้น ถ้าเกิดเขาพูดภาษาไทยเพราะเป็นคำที่ไม่รู้จักภาษาอังกฤษ ก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องคอยบอก แต่ว่าอย่าสร้างความเจ็บปวดให้กับเด็ก อย่าดุเขา

คิดว่าวันนี้เป็นคุณแม่ที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกสองภาษาหรือยัง

ก็คิดว่าในระดับหนึ่ง แม่รู้สึกดีที่ลูกพูดภาษาไทยและอังกฤษสลับกันได้โดยไม่มีปัญหา และพูดภาษาอังกฤษได้โดยไม่เคอะเขิน  ไม่มีปัญหาการสื่อสารกับชาวต่างชาติ สามารถสื่อสารเป็นพารากราฟยาวๆ ได้ เข้าใจเรื่อง Tense ง่ายๆ ได้ ตอนนี้ลูกเรียนรู้ได้ขนาดนี้ สำหรับเราถือว่าโอเค

 

สัมภาษณ์วันที่ 13 มีนาคม 2562

Pitchaya T.

ความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาเป็นของขวัญจากธรรมชาติ ที่ช่วยยืนยันว่ามนุษย์คนนี้คือเด็ก :)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST