READING

เมื่อโรงเรียนไม่ตอบโจทย์ ก็มาทำบ้านเรียน (Home Sch...

เมื่อโรงเรียนไม่ตอบโจทย์ ก็มาทำบ้านเรียน (Home School) เองดีกว่า: คุยกับฌาฆีภัตฐ์ เพชรคง คุณพ่อลูกสามเจ้าของแบรนด์ของเล่น Cherpin และโรงเรียนพอเพลิน

Home School

การเลือกโรงเรียนโดยเฉพาะโรงเรียนแรกในชีวิตให้กับลูก ดูเหมือนจะเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องคิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจเลือก  เพราะโรงเรียนนอกจากจะต้องอบอุ่นและปลอดภัยเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของเด็กอย่างที่เขาว่ากันแล้ว โรงเรียนยังเป็นรากฐานของแนวทางการเรียนรู้ของลูกต่อไปอีกด้วย

แม้ปัจจุบันจะมีโรงเรียนมากมายหลายรูปแบบการเรียนการสอนให้คุณพ่อคุณแม่เลือก มีคำว่าโรงเรียนทางเลือก โรงเรียนวิชาการ โรงเรียนที่ใช้หลักสูตรมอนเตสซอรี (Montessori) หรือหลักสูตรวอลดอร์ฟ (Waldorf) แล้วแต่ความสนใจ การเลี้ยงดู และวิถีชีวิตของแต่ละครอบครัว

แต่จากการที่เด็กๆ ต้องเรียนออนไลน์มากกว่าได้ไปใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียนในช่วงปีที่ผ่านมา หนึ่งในรูปแบบโรงเรียนที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนเริ่มให้ความสนใจก็คือ home school ก็ในเมื่อไปโรงเรียนไม่ได้ ทำไมไม่ลองให้ลูกเรียนด้วยวิธีการที่ออกแบบมาเพื่อเรียนที่บ้านจริงๆ ไปเลยล่ะ…

แนน—ฌาฆีภัตฐ์ เพชรคง เจ้าแบรนด์ของเล่น ‘Cherpin’ คุณพ่อของลูกชายสามคนที่กำลังเติบโตและเรียนรู้อยู่ในเส้นทางการเป็นครอบครัวโฮมสกูล และผู้ที่กำลังพยายามบุกเบิกโรงเรียนพอเพลิน ให้เป็นโรงเรียนทางเลือกแห่งแรกในจังหวัดสงขลา เพื่อสร้างทางเลือกในการเรียนรู้ให้เด็กๆ ในพื้นที่มากขึ้น คือคนที่เราอยากขอให้ช่วยแบ่งปันประสบการณ์การทำโฮมสกูลให้ลูก ว่ายากง่ายอย่างไร ดีจริงหรือไม่ แล้วโรงเรียนทั่วไปยังอยู่ในความสนใจของครอบครัวนี้หรือเปล่า…

Home School

เริ่มสนในการทำโฮมสกูลให้ลูกตั้งแต่เมื่อไหร่ และเริ่มต้นอย่างไรบ้าง

ตั้งแต่ลูกคนแรกเลยครับ ก็เหมือนพ่อแม่ทั่วไปแหละที่มองหาโรงเรียนให้ลูก ตอนนั้นเราเองก็สนใจการศึกษาแนวทางเลือกแล้ว แต่ตอนนั้น ในจังหวัดสงขลายังไม่มีโรงเรียนทางเลือกเลยนะ กลายเป็นเราก็หาโรงเรียนที่ถูกใจไม่ได้ เพราะโรงเรียนที่เราเห็นมันไม่ค่อยเวิร์กกับแนวความคิดของครอบครัวเราเท่าไร เลยคิดว่างั้นสอนกันเองดีกว่า

ถ้าถามถึงข้อดี คือหากเราควบคุมการเรียนการสอนได้ จัดตารางเรียนได้เหมาะสมกับวิถีชีวิตทั้งพ่อแม่และลูก มันก็จะกลายเป็นช่วงที่ดีช่วงหนึ่งในชีวิตของเด็กเลยก็ว่าได้

แล้วมีการชั่งใจเรื่องข้อดี-ข้อเสียอย่างไร

ตอนแรก เรามองว่ามันเป็นหนทางที่ดีที่สุด ณ ตอนนั้น เพราะเราอยากอยู่กับลูก อยากเลี้ยงลูกเอง อยากให้ความรู้กับลูกตามแนวทางของเรา ซึ่งส่วนตัวผมสนใจแนวทางการเรียนรู้แบบธรรมชาติ การเรียนรู้ไปตามวัย ไม่เร่งเขียนเร่งอ่าน ผมคิดว่าการศึกษาสมัยนี้เด็กเล็กๆ ไม่ได้จำเป็นต้องมานั่งท่องจำ มันสามารถสร้างการเรียนรู้ต่างๆ ได้ด้วยตัวพ่อแม่เอง หรือสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว

ถ้าถามถึงข้อดี คือหากเราควบคุมการเรียนการสอนได้ จัดตารางเรียนได้เหมาะสมกับวิถีชีวิตทั้งพ่อแม่และลูก มันก็จะกลายเป็นช่วงที่ดีช่วงหนึ่งในชีวิตของเด็กเลยก็ว่าได้

ส่วนข้อเสีย อาจจะเป็นการที่ลูกจะไม่ได้เจอกับคนในช่วงวัยเดียวกัน  หรือเขาอาจจะได้เจอเด็กคนอื่นในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งอันนี้ต้องใช้ความพยายามของพ่อแม่เพราะมันก็ยากเหมือนที่จะพาลูกไปเจอเพื่อนแต่ละครั้ง ต้องนัดเวลากัน ต้องเดินทาง ยิ่งถ้าในพื้นที่ที่มีพ่อแม่ทำโฮมสกูลไม่เยอะ ก็อาจจะยิ่งยากขึ้นไปอีก แต่ด้วยความโชคดีที่ผมเปิดโรงเรียนสอนศิลปะของตัวเองด้วย ลูกๆ เลยได้เจอเด็กคนอื่นทุกวันเสาร์อาทิตย์อยู่บ้าง

บางคนอาจมองว่านี่คือข้อเสียของการทำโฮมสกูลแต่ผมคิดว่ามันอาจจะเป็นวิถีใหม่ของคนยุคนี้ก็ได้ คือเรียนกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ไม่ต้องมีเพื่อนเยอะเหมือนสมัยเราเด็กๆ ผมเลยไม่ได้มองว่ามันเป็นข้อเสียอะไร เพียงแต่ว่าเราก็อยากให้เขาได้เจอครู เจอแนวคิดใหม่ๆ ที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่มาจากพ่อแม่

ข้อเสียอีกอย่างคือพ่อแม่อาจไม่ได้ใช้ชีวิตส่วนตัวหรือทำอะไรตามแพชั่นที่ตัวเองมีเลย เพราะเวลาทุกอย่างต้องทุ่มเทให้กับลูกหมด คือการทำโฮมสกูล ถ้าเราทำไม่ดี ไม่จัดสรรเวลาให้เป็นกิจลักษณะ ปล่อยให้ลูกอยู่กันเอง อยากทำอะไรก็ทำ มันก็ไม่เวิร์ก แล้วอาจจะกลายเป็นผลเสียแทน

Home School

การเข้าสู่กระบวนการโฮมสกูล  ควรเริ่มจากอะไร และมีขั้นตอนอย่างไร

ผมคิดว่ามันควรเริ่มต้นจากความพร้อมของพ่อแม่ก่อนว่ามีเวลาไหม สามารถให้เวลากับลูกได้ไหม สามารถทำเป็นกิจวัตรประจำวันได้ไหม ไม่ใช่ทำบ้างไม่ทำบ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าพ่อแม่งานยุ่งแล้วจะทำโฮมสกูลไม่ได้นะ ก็ทำได้เหมือนกัน แต่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของพ่อแม่

ส่วนด้านกฎหมายมันก็มีช่องทางอยู่ คือการไปจดทะเบียนขอทำโฮมสกูลกับเขตการศึกษาใกล้บ้าน และพ่อแม่จะต้องทำหลักสูตร ทำแผนการสอน คล้ายๆ แผนการสอนในโรงเรียน ซึ่งผมคิดว่าการทำโฮมสกูลสมัยนี้มีแนวทางให้ศึกษาเยอะแยะเลยนะ มีพ่อแม่ทำมากขึ้น และก็ง่ายกว่าแต่ก่อนมาก ซึ่งเราจะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลด้วย ประมาณ 3,000-4,000 บาทต่อเทอม ปีหนึ่งได้สองครั้ง แล้วแต่ว่าลูกอายุเท่าไหร่

ถ้าบางเขตไม่เคยมีการทำโฮมสกูลมาก่อนเลยก็อาจจะยุ่งยากหน่อย ตรงที่พ่อแม่ต้องจัดการทุกอย่างด้วยตัวเอง ซึ่งก็ทำเอาผู้ปกครองหลายคนถอดใจไปเยอะเหมือนกัน (หัวเราะ) แต่ว่าตามกฏหมายมันทำได้ ถ้ามีส่วนไหนติดจริงๆ ก็ลองติดต่อขอความช่วยเหลือจากทีมงาน Home School Network ได้ เขาจะคอยให้การช่วยเหลืออยู่

ส่วนอีกช่องทางหนึ่งสำหรับผู้ปกครองที่อยากจะกันเรื่องยุ่งยากเหล่านี้ออกไป ก็จะมีโรงเรียนหลักสูตรที่สาม อย่างที่จังหวัดสงขลาก็จะมีโรงเรียนวัดเขากลอย ที่มีหลักสูตรที่สามสามารถเอาชื่อลูกไปอยู่ที่โรงเรียนได้ แต่ต้องเรียนตามโรงเรียนทั้งหมดนะ โรงเรียนก็จะมีใบงานมาให้แต่เราอยู่ที่บ้านแหละ กำหนดไปว่าเดือนนี้ต้องส่งอะไร ทำอะไรบ้าง พอจบเทอมก็รวมเป็นพอร์ตโฟลิโอส่งไปให้คุณครูประเมิน ซึ่งในประเทศไทยโรงเรียนที่ทำลักษณะนี้ได้ก็ยังไม่ค่อยเยอะ

ที่บอกว่าผู้ปกครองต้องทำหลักสูตรการสอนเอง ต้องทำอย่างไร

ในส่วนของหลักสูตรเราสามารถเลือกได้สองกลุ่ม คือหลักสูตรแบบ 8 กลุ่มสาระสำคัญ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เหมือนในโรงเรียนเลย ใช้หนังสือเหมือนที่โรงเรียนทุกอย่าง แต่จะมีเจ้าหน้าที่เขตหาข้อสอบมาให้น้องๆ สอบ เรียกง่ายๆ ว่าเรียนที่บ้านไม่ต้องไปโรงเรียนแค่นั้น

หลักสูตรแบบที่สองคือแบบประสบการณ์ หมายถึงการเรียนตามประสบการณ์ที่แต่ละบ้านอยากให้ลูกเรียนรู้ หรือเรียนไปตามความถนัดและความสนใจของลูก เช่น ลูกชอบเล่นเทนนิส มีพรสวรรค์ด้านเทนนิส เราก็ส่งเสริมเขาด้านนั้นไป แต่ว่าอาจจะสอนเพิ่มวิชาอื่นๆ ไปด้วย ก็แต่พ่อแม่ ซึ่งการเลือกจดหลักสูตรแบบประสบการณ์ เวลาประเมินก็จะใช้วิธีส่งพอร์ตโฟลิโอไปให้เขตการศึกษาที่เราจดทะเบียนไว้เป็นผู้ประเมิน ถ้าเขตไหนมีคนทำโฮมสกูลเยอะ บางทีก็จะนัดกันไปจัดนิทรรศการให้เด็กๆ มาพรีเซนต์ว่าในหนึ่งปีพวกเขาทำอะไรไปบ้าง เจ้าหน้าที่เขตและผู้ปกครองก็จะประเมินร่วมกัน แต่ถ้าในเขตนั้นมีเด็กโฮมสกูลน้อย เจ้าหน้าที่ก็จะไปที่บ้าน ไปดูบรรยากาศการเรียนการสอน และประเมินจากตรงนั้น

Home School

พ่อแม่จัดการเรื่องหลักสูตรแล้ว แต่จะหาคนมาสอนตามนั้นได้อย่างไร

พ่อแม่อย่างเราไม่ได้รอบรู้ทุกเรื่องอยู่แล้ว ดังนั้นต้องเรียกว่าพ่อแม่เป็นคนจัดการการศึกษาให้กับลูก เพราะฉะนั้นคนจัดการการศึกษาจะไปเอาทรัพยากรจากไหนมาให้ผู้เรียนก็ได้ จะจ้างครูมาสอนที่บ้านก็ได้ถ้ามีกำลัง หรือจะให้ลูกไปเรียนเพิ่มเติมข้างนอกก็แล้วแต่แนวทางของแต่ละบ้าน

บางครอบครัวอาจจะแค่ต้องการให้ลูกมีความสุข ก็ให้ไปเรียนศิลปะ ไปเรียนดนตรี หรือถ้ามีกลุ่มก้อนที่มีแนวทางเดียวกันแน่นหนาหน่อย ก็รวมตัวกันจ้างครูมาสอน หรือพ่อแม่จะหมุนเวียนกันสอนในกลุ่มก็ได้เช่นกัน

ค่าใช้จ่ายของการโฮมสกูลเป็นอย่างไร

เรื่องค่าใช้จ่ายก็ขึ้นอยู่กับการจัดสรรของแต่ละบ้าน เรื่องกำลังทรัพย์ผมว่ามันไม่ใช่ประเด็นหลักนะ เราสามารถทำตามวิถี ทำตามกำลังที่ครอบครัวเรามีได้ อย่างพ่อแม่ทำงานค้าขาย อาจจะไม่มีเวลามาก แต่ก็ไม่อยากส่งลูกไปโรงเรียน ก็สามารถเอาลูกไปทำงานด้วย ให้ไปฝึกเรื่องประสบการณ์ชีวิต แต่ถ้าพูดในความคิดเห็นส่วนตัวของผมนะ ผมคิดว่าเด็กควรจะได้ใช้ชีวิตตามวัย ได้เล่น ได้มีความสุข ส่วนเรื่องงานของพ่อแม่อาจจะให้เขามาแตะๆ นิดหน่อย เพื่อดูว่าพ่อแม่ทำอะไรแล้วเขาสามารถช่วยส่วนไหนได้บ้าง เพราะเราทุกคนควรมีสิทธิ์เลือกว่าในแต่ละวัยของตัวเองอยากหรือไม่อยากทำอะไร

Home School
Home School

ลูกๆ ทั้งสามคนเข้าใจหรือสงสัยเกี่ยวกับวิธีเรียนที่แตกต่างเด็กที่ต้องไปโรงเรียนทุกวันหรือไม่ แล้วคุณพ่ออธิบายอย่างไร

มีนะ เยอะเลยด้วย พอเขาโต เขาก็เริ่มมีคำถามเยอะขึ้น คือผมเคยส่งลูกชายคนโตไปโรงเรียนหนึ่งปี  เมื่อประมาณสองปีที่แล้ว ตอนนั้นผมงานยุ่งมาก คิดว่าคงไม่มีเวลาให้ลูกแน่นอน ก็เลยให้ลูกเข้าโรงเรียน เหมือนให้เขาไปเรียนไปเล่นที่นั่นชั่วคราว ซึ่งโรงเรียนเขาก็ดีนะ มีกลุ่มโฮมสกูลเข้ามาร่วมด้วยสองสามวันอะไรแบบนี้ พอเทอมถัดไปผมเริ่มมีเวลา ก็เลยว่าจะไม่ส่งเขาไปโรงเรียนต่อแล้ว แต่ลูกก็เริ่มพูดว่าอยากไปโรงเรียน อยากมีเพื่อน เราก็คุยกับเขาเป็นสิบรอบเลยนะ ก็เลยรู้ว่าเขาอยากไปโรงเรียนจริงๆ ก็เลยยอมให้ไปโรงเรียนต่อ ตอนนั้นลูกคนกลางยังอยู่อนุบาลแต่เห็นพี่ไปโรงเรียน ก็เลยได้ไปด้วย

ไปโรงเรียนมาได้หนึ่งปีผมก็เริ่มเห็นปัญหา ด้วยแนวคิดของเราที่ต่างจากผู้ปกครองหลายท่าน เช่น การดูยูทูบ ดูทีวี บางทีมันมีพฤติกรรม หรือคำศัพท์บางอย่างส่งผลมาที่ลูกเรา จุดพีกคือตอนที่เราสังเกตว่าลูกหมดแรง เขาตื่นสาย ความกระตือรือร้นที่อยากไปโรงเรียนเหมือนเทอมแรกๆ มันหายไปหมดแล้ว ถามไปถามมาถึงรู้ว่าเขาโดนเพื่อนแกล้ง ซึ่งตอนนั้นคุณครูยังไม่ทราบเรื่อง เราก็เข้าไปคุยกับคุณครู แล้วก็ให้เขาเรียนจนจบเทอมก่อนกลับมาเรียนโฮมสกูลอีกครั้ง

จริงๆ เขาก็ยังอยากไปโรงเรียนอยู่ ด้วยความที่เขาอยากมีเพื่อนเยอะๆ อยากเล่นกับเพื่อน ก็สารภาพว่าเราอาจจะไม่ได้ตามใจลูกทุกอย่าง ยังขัดใจเขาอยู่ แต่เราก็พยายามหาวิธีที่จะทำให้ลูกได้เจอเพื่อน อย่างการทำแคมป์บ้าง บุกเบิกโรงเรียนทางเลือกบ้าง เพื่อให้ช่วงเสาร์อาทิตย์เขาได้เจอเพื่อนๆ ได้ทำกิจกรรมร่วมกันมากหน่อย

ผมไม่คิดว่าโลกสมัยนี้จำเป็นจะต้องยัดข้อมูลอะไรลงไปในสมองเด็ก เราเพียงแค่เตรียมเขาให้พร้อมสำหรับเปิดรับทุกอย่าง ให้เขาสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเอง ให้เขาโตไปมีแรงขับเคลื่อนเพื่อไปถึงเป้าหมายที่ต้องการได้

บางคนอาจกังวลเด็กโฮมสกูล ในแง่วิชาการและประสบการณ์บางอย่างจะไม่สามารถเรียนสู้กับเด็กที่เรียนในระบบได้ คุณพ่อมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง

ผมคิดว่าเราต้องเปลี่ยนความคิดของผู้ปกครองก่อน ผมไม่ได้คิดว่าเด็กจะต้องไปแข่งขัน จะต้องไปสู้กับใคร ผมคิดว่าเด็กทุกคนเกิดมามีวิถีและแนวทางเป็นของตัวเอง ซึ่งการศึกษาก่อนหน้านี้มันเหมือนการทำสงครามเหมือนเราส่งลูกไปเรียนเพื่อออกรบ ต้องไปแข่งกับคนอื่นนะ ต้องมีวิชานี้ติดตัวนะถึงจะสู้ได้ ในเมื่อเขาเกิดมามีชีวิตเป็นของตัวเอง เขาก็ควรจะได้เลือกทางเอง อย่างเรื่องสังคมมันอาจจะเป็นวิถีของคนรุ่นใหม่ก็ได้ ที่อาจจะไม่ได้เจอคนในรุ่นราวคราวเดียวกันเยอะ แต่ก็ได้เจอคนที่หลากหลายวัยและหลากหลายแนวคิดมากกว่า

ในส่วนของวิชาการ ผมไม่คิดว่าโลกสมัยนี้จำเป็นจะต้องยัดข้อมูลอะไรลงไปในสมองเด็ก เราเพียงแค่เตรียมเขาให้พร้อมสำหรับเปิดรับทุกอย่าง ให้เขาสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเอง ให้เขาโตไปมีแรงขับเคลื่อนเพื่อไปถึงเป้าหมายที่ต้องการได้

ผมคิดว่าการเรียนของผมมันสลับกับการเรียนสมัยนี้ คือสมัยนี้ให้เด็กเรียนตามหนังสือทฤษฎีที่มีอยู่แล้ว เรียนเท่าที่มีในหนังสือและเรียนแค่ให้รู้ แต่ผมคิดว่ารู้ไม่รู้ไม่สำคัญ แต่รู้แล้วจะนำมาประยุกต์ใช้ยังไงต่างหากที่สำคัญ เช่น ถ้าต้องการสอนเรื่องน้ำ เราจะทำยังไงให้เด็กรู้จริง ลองมาวิเคราะห์น้ำกันไหมดูว่าน้ำแต่ละที่เหมือนกันหรือเปล่า มีสียังไง หรือเราไปดูน้ำจากการประปากันดี พอไปดูของจริงเราลองมาทำเครื่องกรองน้ำกันเลยดีกว่า คือให้เขาลงมือทำเองเลย

แล้วในขณะที่เขาลงมือ เขาอาจจะเจออะไรใหม่ๆ ที่อาจจะเพิ่งเคยเจอก็ได้ เด็กอาจจะนำเอาไปตั้งข้อสังเกตเพิ่ม ซึ่งส่วนนี้แหละผมคิดว่ามันเป็นการคิดวิเคราะห์ที่นำไปใช้ได้จริง การเป็นครู หรือเป็นพ่อแม่ เราควรที่จะซัปพอร์ตเด็กๆ ตรงส่วนนี้ได้ เช่น ลูกอาจจะเรียนเรื่องบวกลบเลขอยู่ แต่มันจะต้องใช้การคูณเพื่อให้เข้าใจมากขึ้น พ่อแม่ก็อาจจะสอนเรื่องการคูณเสริมเข้าไปในระหว่างนั้นได้

ผมคิดว่าถ้าเราฟูมฝักวิธีเรียนรู้แบบนี้ตั้งแต่วัยเด็ก ต่อไปโตขึ้นเขาจะขวนขวายหาความรู้ได้โดยไม่พึ่งความจำสมัยก่อน ซึ่งมันอาจจะมีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นก็ได้

Home School

คุณพ่อวางแผนการเรียนในอนาคตให้ลูกแต่ละคนอย่างไร

ต้องยอมรับว่ามีเขวไปบ้างเหมือนกัน เวลาเห็นลูกนั่งเหงาๆ หรือมีเพื่อนน้อยเราก็ห่วง ยังดีที่มีลูกสามคน เขาก็เลยเล่นด้วยกันได้ แต่ตอนนี้เริ่มสังเกตว่าลูกชายคนโต 8 ขวบ เขาเริ่มแยกตัวเองออกมาอ่านหนังสือคนเดียวบ้าง นั่งคนเดียวบ้าง เราก็เห็นว่าเขาคงจะอยากเจอสังคมที่กว้างมากขึ้น ก็คิดว่าถ้าจบระดับชั้นประถมหก แล้วมีโรงเรียนดีๆ ในพื้นที่ก็อาจจะส่งเขาเข้าโรงเรียนต่อ หรือถ้าเขาสามารถดูแลตัวเองได้ก็อาจจะส่งไปเรียนโรงเรียนทางเลือก หรือโรงเรียนบูรณาการที่กรุงเทพฯ หรือที่สงขลาเองก็ก็มีพ่อแม่หลายคนส่งลูกไปเรียนที่ปีนังเหมือนกัน

ส่วนลูกชายคนกลาง 6 ขวบ เขาเคยเข้าโรงเรียนไปพร้อมพี่ชาย ก็เห็นได้ชัดเจนมากว่าเขาไม่ได้อยากไปโรงเรียน อยากอยู่กับแม่ ไม่อยากมีการบ้าน คือเขาไม่ชอบอะไรที่ต้องคัดเขียนเยอะๆ ชอบที่จะปีนป่ายเล่นกับธรรมชาติมากกว่า คนกลางเลยไม่ค่อยกังวล

คนเล็กตอนนี้อายุ 3 ขวบ ก็ยังไม่ถึงเกณฑ์เข้าโรงเรียน แต่เขาได้เจอพี่ๆ เจอเพื่อนๆ ตลอด ก็คิดว่าคงจะเรียนโฮมสกูลเหมือนกัน

เราจะเห็นว่าพี่น้องยังต่างกันเลย ทำไมเราต้องส่งให้เขาไปโรงเรียนแล้วออกมาเหมือนๆ กัน ผมคิดว่าโรงเรียนมันควรจะมีแนวทางการศึกษาที่หลากหลายนะ ไม่งั้นทรัพยากรในประเทศไทยมันก็จะเหมือนกันไปหมด เด็กจะไม่มีแรงใจที่จะให้ความใส่ใจกับเรื่องอะไรเลย เพราะเขาถูกกระทำแบบเหมารวมไปหมด

ทราบมาว่าคุณพ่อกำลังบุกเบิกทำโรงเรียนทางเลือกในจังหวัดสงขลาอยู่ 

จริงๆ ผมพยายามผลักดันให้มีโรงเรียนทางเลือกในพื้นที่มานานแล้ว ยอมรับว่าแรกๆ เริ่มจากการที่เรามีลูกก่อน เราหาโรงเรียนที่เหมาะให้ลูกไม่ได้ บวกกับเราเปิดโรงเรียนสอนศิลปะเล็กๆ อยู่แล้ว ก็เลยอยากจะผลักดันให้เกิดโรงเรียนแนวทางเลือกขึ้นมา ซึ่งแนวทางเลือกที่ว่าก็คือแนวทางการเรียนรู้แบบวอลดอร์ฟ

หลังๆ ผมได้คุยกับคนเยอะ ได้เจอกับผู้ปกครองหลายคน ก็เริ่มมีความคิดที่เปลี่ยนไป คือคิดว่าต่อให้ลูกเราไม่ได้เรียนโรงเรียนนี้ ต่อให้มันไม่สำเร็จ เราก็ยังอยากทำอยู่ ในเมื่อทำแล้วก็อยากให้มันเผยแพร่ไปสู่คนหมู่มาก เพื่อให้คนหมู่มากไปเปลี่ยนแปลงสังคมต่อ สมมติเราเลี้ยงลูกได้ดี เป็นเด็กดีของสังคม แต่ถ้าสังคมโดยรวมยังมีวิถีและคติแบบเดิมอยู่ เขาอาจจะไม่มีแรงไปต่อสู้เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง สุดท้ายพอต่อต้านไม่ไหวเขาก็อาจจะถอดใจและปล่อยตัวเองให้อยู่กับปัญหาเดิมๆ ต่อไป

Home School

ทำไมถึงสนใจการเรียนการสอนแบบวอลดอร์ฟ

เพราะผมคิดว่ามันเป็นแก่นแท้ของชีวิตมนุษย์ที่เราอยู่และเติบโตอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่มีการแข่งขัน ไม่เร่งเขียนเร่งอ่าน คือเรียนรู้ไปตามวัยของเด็กจริงๆ

อีกทั้งผมว่าวิธีการแนววอลดอร์ฟมันยังทันสมัยและใช้ได้อยู่ตลอดเวลา เป็นการเตรียมให้เขามีพื้นฐานด้านร่างกายและจิตใจ พร้อมที่จะเปิดรับสิ่งใหม่ๆ รอบตัวตลอดเวลา

เราอยากทำของเล่นเป็นของเล่นธรรมชาติ ที่ไม่ใช่ของเล่นสำเร็จรูป สมมติมีแท่งไม้อยู่หนึ่งแท่ง เราไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไร มันจะเล่นยังไง แต่เด็กจะเป็นคนสร้างสรรค์ สร้างกรรมวิธีการเล่นด้วยตัวเองขึ้นมา

เพราะเชื่อเรื่องการเติบโตตามธรรมชาติของเด็กหรือเปล่า ถึงได้ทำแบรนด์ของเล่น Cherpin ขึ้น

ผมคิดว่าด้วยความเป็นมนุษย์ของเรา การจะแยกเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวออกจากกัน มันทำได้ยากมาก ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่สามารถทำได้ เลยพยายามทำทุกอย่างให้เป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด ซึ่งตอนนี้มันคือเรื่องราวของชีวิตลูก ชีวิตผม ชีวิตแต่งงาน ทุกอย่างเกี่ยวข้องกันไปหมด

อย่างของเล่นที่ทำก็มาจากการที่เราสนใจแนวทางวอลดอร์ฟ เราอยากทำของเล่นเป็นของเล่นธรรมชาติ ที่ไม่ใช่ของเล่นสำเร็จรูป สมมติมีแท่งไม้อยู่หนึ่งแท่ง เราไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไร มันจะเล่นยังไง แต่เด็กจะเป็นคนสร้างสรรค์ สร้างกรรมวิธีการเล่นด้วยตัวเองขึ้นมา

เพราะถ้าเป็นของเล่นสำเร็จรูป เช่น ทำเป็นรถ ทำเป็นหุ่นยนต์ ภาพในหัวเด็กก็จะถูกตีไปแล้วว่ารถต้องเป็นแบบนี้นะ หุ่นยนต์ต้องเป็นแบบนี้นะ เหมือนไปลดทอนความคิดสร้างสรรค์ ลดทอนไอเดียของเด็กลง ซึ่งจริงๆ ถ้าเด็กได้เล่นของเล่นไม่สำเร็จรูปเขาอาจจะจินตนาการได้ไปไกลเลยที่ไม่ใช่แค่ตามที่ผู้ใหญ่คิด

แล้วผู้ใหญ่อย่างเราจะหาไอเดียการผลิตของเล่นสำหรับเด็กได้อย่างไร

ไอเดียมันมาจากทุกทิศทางเลยนะ บางไอเดียผมคิดลึกซึ้งมาก แต่ขายไม่ออกก็มี (หัวเราะ) แต่ส่วนใหญ่แล้วไอเดียก็มาจากการเห็นลูกเล่นแล้วลองไปคิดต่อยอดแล้วทำออกมาดู

ก่อนหน้านี้ผมเคยซื้อของเล่นไม้มือสองมาให้ลูกเล่น เป็นรูปวงกลมบ้าง ครึ่งวงกลมบ้าง ก็ไม่รู้หรอกว่าเด็กจะเล่นยังไง แต่ซื้อมาก่อน พอเอาให้ลูกเล่นเราก็เห็นว่าเด็กๆ เขาก็มีวิธีการเล่นของเขา เราก็เลยได้ไอเดียขึ้นมา

Home School

ของเล่นมีส่วนช่วยในการเรียนรู้ของเด็กอย่างไร

มันเคยมีคำพูดที่ว่า ‘การเล่นเป็นงานของเด็ก’ เหมือนกับผู้ใหญ่ที่จะต้องทำงาน คือเด็กควรจะต้องได้เล่น ได้ใช้ร่างกายอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะช่วงวัย 2-7 ขวบที่ต้องใช้กำลัง ได้ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่แบบเต็มสูบ

ผมว่าการเล่นเป็นพื้นฐานของการเติบโต เหมือนกับการสร้างบ้านเราต้องทำฐานโครงสร้างให้แน่นก่อนไม่งั้นบ้านก็พัง ยิ่งสร้างสูงเท่าไหร่ฐานก็ต้องยิ่งแน่นเท่านั้น

สำคัญเลยคือคุณพ่อคุณแม่ต้องมั่นคงเข้าไว้ บางทีเราอาจจะเจอคนรอบข้างมาพูดว่าลูกเราจะไปแข่งกับเขาไหวเหรอ เขียนหนังสือได้หรือยัง เราก็ต้องมั่นคงในสิ่งที่เราทำ อย่าให้สิ่งเหล่านี้มาบั่นทอนความมั่นใจของเราไปด้วย

สุดท้าย ถ้าต้องแนะนำสิ่งที่ควรคำนึงก่อนการตัดสินใจให้ลูกเรียน โฮมสกูล

อันดับแรกพ่อแม่จะต้องมีความพร้อมที่จะลงรายละเอียดการศึกษาของลูกก่อน อันนี้ไม่ได้พูดถึงต้นทุนและเวลานะ ผมว่ามันสามารถจัดการได้หมด ทั้งเวลา ทั้งทุน

สองคือพ่อแม่ทั้งสองคนจะต้องเข้าใจและเห็นร่วมกันทั้งคู่ เพราะเคยเจอบางครอบครัวที่พ่ออยากส่งลูกเข้าโรงเรียน แต่แม่อยากทำโฮมสกูล กลายเป็นพ่อไม่ช่วย ภาระก็ตกเป็นของแม่คนเดียว สุดท้ายก็ทะเลาะกัน เพราะฉะนั้นพ่อแม่ควรตกลงกันให้แน่ชัดก่อน ส่วนเรื่องคนที่บ้าน เช่น ปู่ย่าตายายไม่เห็นด้วย ก็เป็นเรื่องปกติที่เราต้องคิดว่าจะหาแนวร่วมยังไง เพราะถ้าโดนกดดันมากๆ พ่อแม่ก็อาจจะเสียความมั่นใจไปเลยก็ได้ ถ้าให้แนะนำคือให้ปู่ย่าตายายได้สอนหลานในแบบวิถีเดิมของเขาด้วย แต่เราต้องสอนลูกมากกว่านะ

ด้านกฎหมายก็ค่อยๆ เรียนรู้กันไป มันไม่ได้ยากมาก เอกสาร ระบบระเบียบ ทำตามขั้นตอนหนึ่งสองสามสี่ไปเรื่อยๆ สำคัญเลยคือคุณพ่อคุณแม่ต้องมั่นคงเข้าไว้ บางทีเราอาจจะเจอคนรอบข้างมาพูดว่าลูกเราจะไปแข่งกับเขาไหวเหรอ เขียนหนังสือได้หรือยัง เราก็ต้องมั่นคงในสิ่งที่เราทำ อย่าให้สิ่งเหล่านี้มาบั่นทอนความมั่นใจของเราไปด้วย


Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST