READING

INTERVIEW: คุยกับครูอิ๊ฟ–กุลสินี บำรุงศักดิ์ ครูที...

INTERVIEW: คุยกับครูอิ๊ฟ–กุลสินี บำรุงศักดิ์ ครูที่มีรอยยิ้มของเด็กๆ เป็นแรงขับเคลื่อนในการใช้ชีวิต

คุณครูอิ๊ฟ

ถ้าหากเลื่อนผ่านฟีด Tiktok ในช่วงนี้ เชื่อว่าหลายคนอาจจะเคยเห็นคลิปจากช่อง คุณครูอิ๊ฟ คุณครูสาวตัวเล็กๆ ที่กำลังนั่งเล่านิทานด้วยน้ำเสียงน่ารักและละมุนละม่อม สะกดเด็กจิ๋วได้อยู่หมัด เด็กทุกคนพร้อมนั่งก้นติดพื้น เก็บแขนและขา ไม่ส่งเสียงดัง ซึ่งเป็นกฎกติกาในการฟังนิทานจากครูอิ๊ฟนั่นเอง

ด้วยความที่ครูอิ๊ฟมีท่าทางอันแสนอบอุ่น พูดคุยกับเด็กๆ อย่างมีความสุข จึงกลายเป็นที่หลงรักจากเด็กน้อยและเหล่าบรรดาผู้ปกครอง และต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากให้โรงเรียนในไทย มีครูรุ่นใหม่แบบครูอิ๊ฟเยอะๆ

และถ้าหากพูดถึงครูรุ่นใหม่ จึงกลายเป็นคำถามที่น่าสนใจว่าความเป็นคนเจเนเรชั่นใหม่ ทำให้พวกเขามองเห็นปัญหาหรืออยากแก้ไขอะไรในระบบการศึกษาบ้าง วันนี้เราเลยชวน ครูอิ๊ฟ—กุลสินี บำรุงศักดิ์ มาพูดคุยในฐานะครูรุ่นใหม่ ถึงมุมมองที่มีต่อสถานการณ์ระบบการศึกษาไทยกัน

จุดเริ่มต้นของการเป็นครูปฐมวัย

จริงๆ ก็จำไม่ได้เหมือนกันว่าเมื่อไรที่อยากเป็นครู แต่ตั้งแต่จำความได้ เวลาที่ผู้ใหญ่ถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร เราจะบอกว่าอยากเป็นครูมาตลอด โดยที่ไม่เคยเข้าใจว่าอาชีพครูมีหลายแขนง

จนเรามีโอกาสได้ไปจัดกิจกรรมกับเด็กอนุบาล แล้วเรารู้สึกแฮปปี้กับการทำกิจกรรมกับเด็กจิ๋วมากๆ หลังจากนั้นก็เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราอยากเรียนด้านการเป็นครูปฐมวัย

“หลายคนคิดว่าครูอนุบาลต้องใจดีสิ เด็กๆ ถึงจะรักและเชื่อฟัง แต่ความจริงแล้ว เด็กจะรักเราก็ต่อเมื่อเราเข้าใจเขา”

พอได้มาเป็นครูจริงๆ แล้วเหมือนที่เคยนึกภาพเอาไว้ไหม

ไม่ได้เหมือนร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่ได้หลุดไปจากสิ่งที่เราคิดเอาไว้มากนัก ภาพในหัวเราตอนแรก เราจะเป็นครูที่ใจดีมาก จะไม่ดุเด็กเลยเพราะเราอยากให้เด็กๆ รัก แต่พอสถานการณ์จริงกลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น เด็กมีหลายรูปแบบ มีหลากอารมณ์ มีหลายความคิด แล้วเราก็เลี่ยงไม่ได้เลยที่บางครั้งอาจจะต้องดุ แต่การดุของเรา คือ การเอาจริงเอาจัง การเปลี่ยนน้ำเสียงเพื่อให้เด็กรับรู้ว่าครูอิ๊ฟไม่ได้เล่นนะ เรื่องนี้ซีเรียสนะ และที่สำคัญครูอิ๊ฟจะไม่ใช้คำพูดที่รุนแรง

หลายคนคิดว่าครูอนุบาลต้องใจดีสิ เด็กๆ ถึงจะรักและเชื่อฟัง แต่ความจริงแล้ว เด็กจะรักเราก็ต่อเมื่อเราเข้าใจเขา

เข้าใจเด็ก หมายถึงอะไร

เรามีคติประจำใจว่า ถ้าเราอยากให้เด็กรัก อยากให้เด็กเล่นกับเรา เราก็ต้องทำตัวให้เหมือนเด็ก เราจะต้องเป็นเพื่อนกับเขา เป็นเพื่อนที่รู้ว่าอะไรควรทำและไม่ควรทำ เพราะเราเกิดก่อนเขา อาจจะเป็นข้อดีของเราที่เรามีความเป็นเด็กหญิงอิ๊ฟอยู่ในใจตลอดเวลา ความเป็นเด็กของเราไม่เคยหายไปจากใจ นั่นเลยทำให้เราเข้าใจว่าเด็กชอบอะไร เด็กชอบให้พูดแบบไหน ชอบการเล่นแบบไหน หรือถ้าจะดุ ต้องดุยังไงให้เขาฟัง แต่ยังรักเราอยู่ เพราะสิ่งที่ครูอิ๊ฟกลัวมาตลอดก็คือ กลัวเด็กไม่รัก

หลายคนคิดว่าเป็นครูจะต้องมีมาดของความเป็นครู แต่ความจริงแล้วเด็กๆ ไม่ต้องการครูที่มาควบคุม แต่เขาอยากได้เพื่อนที่เข้าใจ ส่วนตัวเราไม่ได้ต้องการให้เด็กเชื่อฟังเพราะเราเป็นครู มันหมดยุคนั้นไปแล้ว แต่เราควรส่งเสริมให้เด็กคิดเองได้ว่าสิ่งนี้ทำได้ไหม ทำแล้วมันดีต่อตัวเขาไหม หรือทำแล้วจะส่งผลกระทบต่อผู้อื่นไหม และผลจะออกมาเป็นอย่างไร เขาต้องยอมรับผลจากการกระทำนั้น นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราควรปลูกฝังทักษะการคิดไตร่ตรองให้เด็กเยอะๆ ด้วยสถานการณ์ของโลกในยุคนี้ที่ค่อนข้างอันตรายมาก ทุกอย่างเกิดขึ้นไวและหายไปไว ถ้าเราไม่ฝึกให้เขาคิดไตร่ตรอง โตขึ้นไปเขาจะมีสุขภาพจิตที่อ่อนแอมาก

จุดที่ชอบที่สุดในการทำงานกับเด็ก

รอยยิ้มของเด็กๆ เหมือนเป็นพลังงานในการขับเคลื่อนชีวิต ทำให้เรามีเป้าหมายว่าอยากจะมีชีวิตอยู่เพื่อพวกเขา ไม่ว่าจะอีกกี่รุ่น กี่ร้อยกี่พันคนที่จะผ่านมือเราไป แล้วเติบโตขึ้น มันทำให้เรามีแรงในการใช้ชีวิตต่อไปในทุกวัน ทำให้เราอยากพัฒนาตัวเองตลอดเวลา และทำให้เราอยากทำให้ตัวเองมีความสุขตลอดเวลา เพื่อที่จะได้ถ่ายทอดพลังงานเหล่านี้ไปถึงเขา

อย่างตอนต้นปีที่ผ่านมามีเรื่องที่ทำให้เราเสียใจ เราได้อ่านข้อความบางอย่างแล้วเราก็ซึมไปเลย แต่ก็พยายามเช็ดน้ำตาไม่ให้เด็กๆ เห็น แล้วก็จะมีเด็กอยู่คนหนึ่งเหมือนเขารับรู้ได้ว่าวันนี้ครูไม่ปกติ จนเขาเดินไปหาของเล่นมาชิ้นหนึ่ง แล้วเดินมาถามว่า ครูอิ๊ฟเล่นกับหนูไหม

เราก็ต้องพยายามคอนโทรลตัวเองเพื่อไม่ให้เขารับรู้ว่าเรากำลังแย่ แต่ก็เหมือนว่าเขาจะรับรู้ได้ เขาก็พยายามเดินวนไปวนมา แล้วก็มาเต้นท่าตลกให้เราดู หลังจากเหตุการณ์วันนั้นมันทำให้คิดได้ว่า เราจะต้องมีความสุข 150 เปอร์เซ็นต์ เพราะเราต้องเผื่อ 50 เปอร์เซ็นต์เอาไว้ในวันหนึ่งที่เราอาจจะต้องเจอเหตุการณ์แบบนั้นอีก เราจะได้เหลือพลังงานเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ไว้ เพื่อที่เด็กๆ จะได้ไม่ต้องมาสัมผัสความรู้สึกที่ไม่โอเคจากเราไป เขาควรจะได้รับแต่พลังงานแห่งความสุขจากเราไปในทุกๆ วัน

แล้วจุดที่ยากสำหรับการเป็นครูที่น่ารักของเด็กๆ

อาจจะเป็นการที่เราคาดเดาอารมณ์ของเด็กไม่ได้ เช่นวันนี้เขามาอาจจะมีความสุขมาก แต่พรุ่งนี้อาจจะร้องไห้ไม่อยากมาโรงเรียนก็ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้ก็คือปรับตัวเองอยู่ตลอดเวลา เช่น วันนี้เด็กๆ ร้องไห้ เราก็ต้องหาวิธีช่วยให้เขารู้สึกดีขึ้น หรือวันไหนที่เด็กๆ มีความสุขมาก เราก็ต้องหาวิธีที่ทำให้เขามีความสุขมากเพิ่มขึ้นไปอีก เป็นครูของเด็กเล็กก็ไม่ง่ายเลย

แต่ในสายตาคนนอกอาจคิดว่า ยิ่งเป็นคุณครูสอนเด็กเล็ก ก็ไม่น่ามีอะไรยาก

ด้วยค่านิยมของสังคมไม่ได้ให้ความสำคัญกับอาชีพครูเท่าที่ควรจะเป็น เพราะหลายคนมีชุดความคิดว่า ‘ไม่รู้จะเป็นอะไร ไปเป็นครูก็ได้’ คำนี้ฟังแล้วเจ็บปวดมาก เพราะเราเต็มที่ในส่วนของเรามาก แล้วเราก็ตั้งใจมากๆ คำว่า ‘แม่พิมพ์ของชาติ’ คำนี้มันชัดเจนจริงๆ เพราะครูก็มีส่วนเป็นกำลังสำคัญในการดูแลเด็กๆ ให้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

เราไม่ได้กีดกันว่าคนที่ไม่ได้เรียนจบครูโดยตรง ห้ามมาเป็นครู แต่อยากให้คนเข้าใจว่า คนที่ทำอาชีพครู คือคนที่พร้อมจะพัฒนาและดึงศักยภาพของเด็ก เราไม่อยากเจอประโยคที่ว่า ไม่รู้จะทำอะไรก็ไปเป็นครู โดยเฉพาะครูอนุบาล เพราะหลายคนคิดว่าก็แค่สอนเด็กเล็กไม่ยาก แต่ความจริงแล้วช่วงปฐมวัยเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดของการเรียนรู้กว่าทุกระดับชั้นเลยก็ว่าได้

“เราเชื่อว่าครูคนไทยทุกคนมีศักยภาพเต็มเปี่ยม แต่ด้วยระบบและอะไรหลายๆ อย่าง มันกดศักยภาพของครูไปเรื่อยๆ แทนที่ครูจะมีเวลาเตรียมกิจกรรมสนุกๆ ให้เด็กทำ กลายเป็นว่าต้องเอาเวลานี้ไปทำสิ่งอื่นด้วย นอกจากจะบั่นทอนสุขภาพจิตใจของคุณครูแล้ว สุขภาพกายของครูก็แย่ ประสิทธิภาพการสอนก็จะน้อยลง”

บทบาทของครูไทยในสายตาของครูอิ๊ฟเป็นอย่างไรบ้าง

โดยส่วนตัวครูอิ๊ฟทำงานที่โรงเรียนเอกชน แต่ก็มีเพื่อนหลายคนที่บรรจุเป็นคุณครูในโรงเรียนสังกัดรัฐบาล ก็เลยมีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน มันทำให้เราเห็นว่าเพื่อนเราเหนื่อยกว่าเรามาก เช่น มีเพื่อนคนหนึ่งเป็นคุณครูปฐมวัย แต่ยังต้องรับหน้าที่สอนคาบภาษาอังกฤษให้เด็กประถม 6 แล้วยังต้องรับหน้าที่ทำเอกสารราชการด้วย เพราะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก คุณครูไม่เพียงพอ ซึ่งโดยปกติของมนุษย์แล้วถ้าได้ทำอะไรทีละอย่าง ย่อมทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าอยู่แล้ว นี่เลยทำให้ครูอิ๊ฟรู้สึกนับถืออาชีพครูในประเทศไทยเลยเพราะเก่งมาก

เราเชื่อว่าครูคนไทยทุกคนมีศักยภาพเต็มเปี่ยม แต่ด้วยระบบและอะไรหลายๆ อย่าง มันกดศักยภาพของครูไปเรื่อยๆ แทนที่ครูจะมีเวลาเตรียมกิจกรรมสนุกๆ ให้เด็กทำ กลายเป็นว่าต้องเอาเวลานี้ไปทำสิ่งอื่นด้วย นอกจากจะบั่นทอนสุขภาพจิตใจของคุณครูแล้ว สุขภาพกายของครูก็แย่ ประสิทธิภาพการสอนก็จะน้อยลง ซึ่งมันเป็นอะไรที่น่าหดหู่ใจมาก เพราะเท่าที่เห็นคือครูคนไทยหลายคนเก่งมาก เขามีไอเดีย มีความพร้อมที่จะดึงศักยภาพของเด็กออกมา แต่พอถูกไปอยู่ในระบบ ก็เหมือนจะค่อยๆ ถูกกลืนไปตามระบบทีละนิดที่บางทีเราก็อาจจะยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ

ถ้าภาระหน้าที่ของครูน้อยลง สุขภาพกายก็จะดีขึ้น งานน้อยลงก็มีเวลาพักผ่อน สุขภาพจิตก็จะดีขึ้น เวลาที่เจอเด็กนักเรียน เราก็สามารถถ่ายทอดพลังบวกออกมาได้อย่างเต็มที่ เพราะว่าถ้าเรามีความเครียดอะไรบางอย่างอยู่ในใจ เด็กเขารับรู้ได้

คิดว่าควรเริ่มแก้ที่ตรงไหน

ปัญหามันเยอะและละเอียดอ่อนมาก ถ้าอยากแก้ปัญหาให้ตรงจุดคือต้องแก้จากระบบใหญ่ ซึ่งก็คือระบบการศึกษาของไทย เพราะสุดท้ายแล้ว ถ้าเราไม่แก้ปัญหาจากต้นตอ ปัญหาก็จะวนเวียนอยู่ที่เดิมซ้ำๆ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องยาก (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือ โรงเรียนอาจจะต้องช่วยให้คุณครูทำงานง่ายขึ้น เช่น ถ้าจะต้องกรอกข้อมูลของนักเรียน ก็ควรจะต้องกรอกลงระบบแทนการเขียนมือ เพราะไม่อย่างนั้นเราจะต้องรอเพื่อให้สมุดหนึ่งเล่มส่งไปฝ่ายนั้นที ฝ่ายนี้ที ซึ่งปัจจุบันราคาเทคโนโลยีก็ไม่ได้สูงมาก แต่ก็พอจะเข้าใจได้ว่าบางโรงเรียนอาจจะไม่ได้มีงบประมาณมากพอ การทำงานที่เขียนด้วยมือก็อาจจะเป็นวิธีที่ทำได้ง่ายและราคาถูกที่สุด ซึ่งก็วนกลับมาคำถามที่ว่าทำไมระบบการศึกษาของไทยถึงควรเปลี่ยนแปลงสักที

“แต่สุดท้ายแล้วเราก็เป็นเพียงแค่คนตัวเล็กๆ ที่ไม่สามารถทำให้เรื่องราวทุกอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศเป็นดั่งใจพร้อมกันได้ มันเป็นเรื่องยาก เพราะมีแค่เราคนเดียวมันไม่พอ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่เราไม่สามารถแก้เองได้ เราทำได้แค่เริ่มแก้ที่ตัวเราเอง แล้วส่งต่อไปหาเด็กๆ ของเรา”

แล้วถ้าให้พูดถึงสถานการณ์ของเด็กไทยในปัจจุบัน

เท่าที่สังเกตจากประสบการณ์ส่วนตัวและฟังเรื่องราวจากเพื่อนที่เป็นคุณครูด้วยกัน รู้สึกว่าเด็กไทยขาดทักษะการคิดไตร่ตรองเยอะมาก ด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้ทุกอย่างไหลไปเร็วมาก เร็วจนกระทั่งไม่ได้มีเวลาให้เด็กๆ มานั่งคิดทบทวนว่าสิ่งนี้ควรทำหรือไม่ควรทำด้วยซ้ำ

มีบางเหตุการณ์ที่เรารู้สึกใจหายว่าเด็กบางคนอายุเพิ่งเท่านี้ ทำไมถึงทำอะไรแบบนี้ เราก็เลยคิดว่าถ้าเรามีโอกาสเราก็อยากเข้ามาช่วยเรื่องนี้ แต่สุดท้ายแล้วเราก็เป็นเพียงแค่คนตัวเล็กๆ ที่ไม่สามารถทำให้เรื่องราวทุกอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศเป็นดั่งใจพร้อมกันได้ มันเป็นเรื่องยาก เพราะมีแค่เราคนเดียวมันไม่พอ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่เราไม่สามารถแก้เองได้ เราทำได้แค่เริ่มแก้ที่ตัวเราเอง แล้วส่งต่อไปหาเด็กๆ ของเรา

สุดท้ายแล้ว คิดว่าระบบการศึกษาไทยยังคง ‘ขาด’ อะไรอยู่ ถึงจะทำให้นักเรียนมีคุณภาพมากขึ้น

การศึกษาไทยและสังคมไทยมักจะตัดสินเด็กจากผลลัพธ์เสมอ แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการที่เกิดขึ้นระหว่างการเรียนรู้ เช่น เรามักจะตัดสินว่าเด็กที่ชอบนั่งหลังห้องเป็นเด็กที่ไม่ตั้งใจเรียน ซึ่งบางทีเด็กคนนั้นอาจจะไม่ได้เกรดสี่ในวิชาตรรกศาสตร์ บางคนอาจจะบวกเลขไม่เก่ง คิดสมการไม่ได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรเลย เพราะโดยปกติของมนุษย์มีความถนัดและความชอบที่ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว เลยทำให้เราเสียดายโอกาสของเด็กไทยหลายคนที่เขาไม่ได้รับการผลักดันหรือส่งเสริมในเรื่องที่ไม่ใช่ค่านิยมของสังคม

พอเด็กถูกมองด้วยทัศนคติแบบนี้ เอาเกรดไปวัดประเมินคุณค่าของเขาแทนที่จะดึงศักยภาพและความสามารถของเขาออกมา ก็ทำให้เกิดความเครียด ซึ่งตามที่เราเห็นข่าวกันในช่วงนี้ หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กส่วนใหญ่ก็เกิดจากความเครียดและกดดัน ทั้งที่ความจริงแล้วคนเรามีเรื่องผิดพลาดที่เกิดขึ้นในชีวิตเสมอ แต่ทัศนคติของผู้ใหญ่ในสังคมทำให้เด็กๆ ไม่มีภูมิต้านทานที่จะรับมือกับความผิดหวังมากพอมากกว่า

สัมภาษณ์วันที่ 10 มกราคม 2567

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST