คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจเคยนึกสงสัยว่า ทำไมคุณครูที่โรงเรียนถึงชอบบอกว่าลูกเป็นเด็กเรียบร้อย ว่านอนสอนง่าย แต่พอกลับมาบ้านทีไร เด็กดีที่คุณครูบอกก็เปลี่ยนเป็นคนละคน
เด็กอนุบาลบางคน เมื่ออยู่ที่โรงเรียนมักจะแสดงพฤติกรรมเชิงบวก เชื่อฟังคุณครู ตั้งใจเรียน และเล่นกับเพื่อนร่วมชั้นอย่างเหมาะสม แต่เมื่อกลับถึงบ้าน คุณพ่อคุณแม่กลับต้องกุมขมับ เพราะ ลูกเปลี่ยนไป นั่นคือ ไม่เชื่อฟัง ไม่มีวินัย และไม่รับผิดชอบหน้าที่เล็กๆ น้อยๆ ของตัวเองด้วย
Maura L Rouse, PsyD, HSPP นักจิตวิทยาเด็ก แห่ง อินเดียนาโพลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา และผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชคลินิกที่ศูนย์พัฒนาเด็กที่โรงพยาบาลเด็ก Riley ระบุว่า ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะพฤติกรรมของเด็กจะแตกต่างกันไปในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน โดยเฉพาะความแตกต่างที่ชัดเจนอย่าง ‘บ้าน’ และ ‘โรงเรียน’
เราจึงชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจพฤติกรรม ลูกเปลี่ยนไป ของเด็กในช่วงวัยอนุบาล และช่วยกันหาจุดที่พอดีให้พฤติกรรมของลูก เพื่อให้ลูกเป็นเด็กที่สามารถปรับตัวให้อยู่ที่โรงเรียนก็แฮปปี้ อยู่ที่บ้านก็มีความสุข กันดีกว่าค่ะ
1. เพราะลูกคุ้นเคยกับบ้านมากกว่าโรงเรียน
Leslie Fields ที่ปรึกษาของ Redmond Elementary School อธิบายว่า พฤติกรรมของเด็กอนุบาล รวมไปถึงวัยประถมต้น อาจแตกต่างเมื่ออยู่ที่บ้านและโรงเรียน ส่วนใหญ่อยู่ที่โรงเรียนจะมีพฤติกรรมที่ดีกว่าอยู่บ้าน นั่นเป็นเพราะบ้านคือที่ที่คุ้นเคย บ้านคือความปลอดภัย บ้านคือที่ที่สามารถแสดงความรู้สึกและอารมณ์ออกมาได้โดยไม่ต้องปกปิดความเป็นตัวของตัวเองแต่อยู่ที่โรงเรียนลูกจำเป็นต้องทำตามกฏกติกาของสังคม ส่วนหนึ่งอาจเพราะเพื่อนคนอื่นก็ทำ และลูกยังมีความรู้สึกว่าต้องเกรงใจคุณครู จึงมักทำตัวดีเมื่ออยู่ที่โรงเรียน มากกว่าอยู่บ้าน
Katie Snyder ครูโรงเรียนประถมศึกษาและก่อนวัยเรียนในพื้นที่ซีแอตเทิล มีความคิดเห็นว่า เด็กวัยอนุบาลคนที่คุณครูเอ่ยชมเมื่ออยู่ที่โรงเรียน แต่กลับทำตรงข้ามเมื่ออยู่กับคุณพ่อคุณแม่ ที่จริงแล้ว นี่คือการส่งสัญญาณความผูกพันที่ดีกับคุณพ่อคุณแม่ เด็กจะรู้สึกปลอดภัยมากพอที่จะเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่เมื่อกลับถึงบ้านนั่นเอง
เช่นเดียวกับไปเล่นบ้านเพื่อน เมื่อได้เวลากลับบ้าน คุณพ่อคุณแม่ของเพื่อนมักเอ่ยชมว่าไม่ดื้อ ไม่ซน คุณพ่อคุณแม่ก็สบายใจ แต่เมื่อกลับถึงบ้านตัวเองลูกก็กลายร่างเป็นวัยทองขึ้นมาดื้อๆ นั่นเป็นเพราะเด็กๆ มักจะนำเสนอสิ่งดีๆ ที่สุดของตัวเองในที่สาธารณะ ทั้งที่โรงเรียนหรือที่บ้านเพื่อน
Jamila Reid นักจิตวิทยาคลินิกจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ระบุว่า หากมองกันให้เข้าใจ นี่คือสิ่งที่ดี เพราะลูกสามารถควบคุมพฤติกรรมของตัวเองได้ดีเมื่ออยู่นอกบ้าน
2. ที่โรงเรียนมีเพื่อน (ให้ทำตามๆ กัน)
ศูนย์สถิติการศึกษาแห่งชาติ (NCES) สหรัฐอเมริกา ระบุว่าเพื่อนจะเป็นแรงจูงใจให้เด็กมีพฤติกรรมคล้ายกัน ทำตามกัน เช่น ทำการบ้าน ทำกิจวัตรประจำวัน และการมีระเบียบวินัย เมื่อเพื่อนหนึ่งคนทำได้ เด็กคนอื่นๆ ก็อยากทำได้เช่นกัน
ในทางตรงข้าม เพื่อนก็มีอิทธิพลที่อาจทำไปสู่ปัญหาทางวินัย มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ไม่มีสมาธิในการเรียน หรือทำตามในสิ่งที่ไม่น่ารัก ติดกลับมาที่บ้านได้เช่นกัน
3. ง่ายที่บ้าน ยากที่โรงเรียน
ไม่ใช่เด็กอนุบาลทุกคนจะเป็นเด็กดีที่โรงเรียนและกลับมาเป็นเด็กดื้อที่บ้าน เพราะมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่มีพฤติกรรมที่ดีเมื่ออยู่บ้าน แต่พอไปโรงเรียนกลับตรงกันข้าม
Lynn Faherty ผู้สอนผู้ปกครองที่ Bates Technical College ใน Tacoma อธิบายว่า ส่วนหนึ่งเพราะคุณพ่อคุณแม่ทำหน้าที่ได้ดีในการตอบสนองความต้องการของลูกเมื่ออยู่บ้าน แต่เมื่อลูกไปโรงเรียนกลับไม่ได้สิ่งเหล่านั้นจากคุณครู
ในขณะที่เด็กบางคนรู้สึกว่า ห้องเรียนมีความตึงเครียด เช่น ลูกเป็นเด็กที่ชอบวาดรูปมาก แต่คุณครูไม่อนุญาตให้วาดภาพได้บ่อยเท่าที่ต้องการ ลูกจึงแสดงพฤติกรรมที่ไม่น่ารักออกมา เพราะไม่รู้ว่าจะจัดการอารมณ์ไม่พอใจของตัวเองได้อย่างไร
หรือบางที ลูกอาจมีปัญหาโดนเพื่อนแกล้ง เล่นแรงๆ หรืออาจจะยังเข้าสังคมไม่เก่ง ทำให้ลูกรู้สึกไม่มีความสุขเมื่ออยู่ที่โรงเรียน จึงแสดงพฤติกรรมด้านลบออกมา
4. ปรับพฤติกรรมของลูกให้น่ารักทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนด้วย ‘วิตามิน’ เชิงบวก
หากต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูก การให้เวลาลูกได้ปรับตัวปรับใจ มีเวลาคุณภาพกับลูก รวมไปถึง เวลาที่ได้พูดคุยกับลูกอย่างสบายใจคือสิ่งสำคัญ
Dr. Cari Whitlock นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบอนุญาตและนักประสาทวิทยา จาก Healthy Young Minds แนะนำว่า ให้หาเวลาพูดคุยกับลูกเรื่องต่างๆ ในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์หรือความรู้สึกที่เกิดระหว่างวัน ด้วยคำถามปลายเปิด และรับฟังโดยไม่ตัดสินใดๆ ทั้งสิ้น
• ชี้จุดดีของลูก เวลาลูกอยู่บ้าน คุณพ่อคุณแม่อาจจะมุ่งเน้นการจัดการพฤติกรรมเชิงลบของลูกเพียงอย่างเดียว แต่ที่ที่โรงเรียนไม่ได้เป็นอย่างนั้น และเพื่อให้พฤติกรรมของลูกอยู่ตรงกลาง ไม่ดีก็ปรับ ดีก็ส่งเสริม คุณพ่อคุณแม่จะต้องเพิ่มคำชมในพฤติกรรมเชิงบวกของลูก เพื่อเสริมจุดแข็งที่น่ารักของลูกต่อไป
• เดินทางสายกลาง ปรับตารางชีวิตให้ลูกให้ยืดหยุ่น แต่คุณพ่อคุณแม่ควรเข้มงวดกับการไปรับลูกให้ตรงเวลา พยายาม สลัดความเครียดที่พบเจอระหว่างวันก่อนไปรับลูก ยิ้มให้กับตัวเองและยิ้มกว้างให้กับลูกเมื่อเจอกันเสมอ
COMMENTS ARE OFF THIS POST