READING

ทำไมลูกดื้อ ?! หรือว่าลูกมีความเป็นตัวของตัวเองสูง...

ทำไมลูกดื้อ ?! หรือว่าลูกมีความเป็นตัวของตัวเองสูงกันแน่

ทำไมลูกดื้อ

ทำไมลูกดื้อ ?! คุณพ่อคุณแม่ทุกคนน่าจะเคยผ่านช่วงเวลาที่นึกถามตัวเองว่าทำไมลูกน้อยของเราถึงได้กลายเป็นเด็กดื้อ หัวแข็ง ไม่เชื่อฟัง และเถียงคำไม่ตกฟาก

เพราะเด็กดีหรือลูกในอุดมคติของพ่อแม่ส่วนมาก มักจะหมายถึงเด็กที่ว่านอนสอนง่าย ไม่ดื้อ ไม่ซน และเชื่อฟังคุณพ่อคุณแม่ แม้ว่าความจริงแล้วความดื้อของเด็กแต่ละคนจะมีเหตุปัจจัยและรายละเอียดที่แตกต่างกัน เช่น เด็กบางคนมีพฤติกรรมดื้อต่อต้าน เด็กบางคนดื้อเพราะต้องการแสดงเหตุผลของตัวเอง หรือเป็นความดื้อตามพัฒนาการเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะตัดสินหรือตอบคำถามที่ว่า ทำไมลูกดื้อ เราอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจความดื้อ เหตุผลที่ลูกดื้อ และลูกเป็นเด็กดื้อจริง หรือแค่เป็นเด็กที่มีความเป็นตัวของตัวเองมากเป็นพิเศษเท่านั้น

1. ลูกเป็นเด็กดื้อมากจริงหรอ

StrongWilledChild_web_1

พ่อแม่และผู้ใหญ่ส่วนมาก มักจะเหมารวมพฤติกรรมเอาแต่ใจและไม่เชื่อฟังของเด็ก ว่าเป็นเด็กดื้อ ชอบท้าทายอำนาจและพิสูจน์ความอดทนของคุณพ่อคุณแม่ในเวลาเดียวกัน

คุณแม่ส่วนใหญ่มักจะมีข้อสงสัยว่า ทำไมลูกมักจะดื้อและงอแงกับแม่มากกว่าอยู่กับคุณครูที่โรงเรียน เรื่องนี้ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เคยอธิบายไว้ว่า นั่นเป็นเพราะลูกรู้ดีว่าคุณแม่เป็นผู้คุมกติกาภายในบ้าน  ลูกจึงต้องการทดสอบคุณแม่มากกว่าคนอื่นนั่นเอง

2. เด็กที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง เป็นแบบนี้นี่เอง

StrongWilledChild_web_2

ในภาษาอังกฤษ มีคำเรียกเด็กที่มีความเป็นตัวของตัวสูงว่า ‘Strong-Willed Child’ โดยถือว่าเป็นความโชคดีของพ่อแม่ ที่ลูกมีความสามารถแสดงความต้องการของตัวเองออกมาได้ บอกความรู้สึกของตัวเองเป็น ไม่อ่อนไปตามคำของใครง่ายๆ กล้าพูดคำว่า ‘ไม่’ เมื่อรู้สึกว่าไม่ถูกต้องหรือไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยปกป้องชีวิตในวันข้างหน้า

Dr. Rashmi Prakash นักจิตวิทยาได้ระบุคาเรกเตอร์เด่นๆ ของเด็ก Strong-Willed Child ไว้ดังนี้

#ใจเร็วและใจร้อน เพราะต้องการทำทุกอย่างให้เสร็จในครั้งเดียว การรอคอยเป็นสิ่งที่ยาก และการทำให้ใจเย็นลงเร็วๆ ก็เป็นสิ่งที่ยากสำหรับเขาเช่นกัน

#เจ้ากี้เจ้าการ เมื่อลูกมีความคิดเป็นของตัวเอง ก็อยากให้คนอื่นทำตามสิ่งที่ตัวเองเสนอ เพื่อให้สิ่งที่เขาคิดเกิดขึ้นจริง แต่หากสังเกตดีๆ จะพบว่า จุดเริ่มต้นที่ลูกชอบออกคำสั่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ใหญ่มักใช้วิธีการออกคำสั่งมากกว่าการชี้ชวนให้เด็กทำสิ่งต่างๆ นั่นเอง

#อยากทำอะไรด้วยตัวเอง คุณสมบัติที่โดดเด่นที่สุดของเด็กที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูงก็คือ ชอบเรียนรู้ด้วยวิธีการของตัวเอง ชอบลองผิดลองถูกมากกว่าทำตามคำแนะนำของคุณพ่อคุณแม่ แต่หากมีข้อเสนอหรือทางเลือก รวมทั้งการพูดเชิงบวก ก็จะช่วยโน้มน้าวให้ลูกเชื่อฟังและทำตามได้มากขึ้น

#แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา เช่น กล้าวิจารณ์รสชาติอาหารฝีมือคุณแม่ การห้ามคุณพ่อไม่ให้ขับรถออกตอนเห็นสัญญาณไฟจราจรสีเหลือง#ตั้งคำถามอย่างไม่รู้จบ เพราะอยากรู้อยากเห็นว่าสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ตอบจะตรงกับสิ่งที่ตัวเองคิดหรือเปล่า ในขณะเดียวกันก็อยากรู้และเข้าใจสิ่งนั้นอย่างลึกซึ้ง รวมถึง ‘การเถียง’ เพราะเชื่อมั่นในจุดยืนและความต้องการของตัวเอง

#ปุปปับเปลี่ยนทันทีเป็นเรื่องยาก เด็กที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง มักจะจดจ่อและทุ่มเทกับการทำอะไรบางอย่าง ไม่อยากละทิ้งไปกลางคัน หากยังทำสิ่งนั้นไม่สำเร็จ

นั่นทำให้ลูกมักจะพูดว่า ‘เดี๋ยวก่อน’ เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่รอให้เขาจัดการกับภารกิจตรงหน้าให้เรียบร้อยเสียก่อน

3. รับมือกับความเป็นตัวของตัวเองสูงมากของลูกอย่างถูกทาง

StrongWilledChild_web_3

ในความโชคดีที่ลูกมีบุคลิกเด็ดเดี่ยวแบบนี้ หากปล่อยลูกมากจนเกินไปก็อาจส่งผลเสียได้เช่นกัน และเพื่อให้ลูกเป็นคนที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูงในแบบที่ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมให้ถูกทางได้ด้วยวิธีการที่ดีๆ  ดังนี้

#สกัดจุดบอดส่งเสริมจุดดี หากสังเกตให้ดี จะพบว่าเด็กดื้อก็มีพฤติกรรมที่น่ารักซ่อนอยู่มาก เพียงแค่คุณพ่อคุณแม่หลีกเลี่ยงการจ้องจับผิดแต่ ‘ข้อเสีย’ แล้วมองหา ‘ข้อดี’ เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมและความคิดที่ดีของลูกบ้างนั่นเอง

#นิ่งสงบสยบทุกพฤติกรรม การตะโกนและตะคอกทำให้ทุกอย่างแย่ลง แทนที่จะทำให้ลูกเชื่อฟัง กลับทำให้ลูกเริ่มใช้โหมด ‘ต่อต้าน’ มากขึ้น ดังนั้นสิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ควรใช้รับมือกับเด็กดื้อก็คือ หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกช้าๆ และค่อยพูดกับลูกด้วยน้ำเสียงที่ราบเรียบแต่หนักแน่น จะได้ผลที่ดีกว่า

#บทลงโทษที่สร้างสรรค์ การลงโทษควรทำอย่างมีเหตุผลไม่ใช่อารมณ์ฉุนเฉียวและเกรี้ยวกราดของคุณพ่อคุณแม่ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรพูดถึงข้อตกลงและบทลงโทษเมื่อลูกทำผิดเอาไว้ก่อน รวมถึงการสร้างบทลงโทษเชิงบวกและสร้างสรรค์ เช่น ให้ลูกช่วยทำงานบ้าน ลดเวลาดูการ์ตูน แทนการใช้ความรุนแรงหรือการทำโทษที่จะทำให้ลูกหวาดกลัวได้

#ยืดหยุ่นแต่มีขอบเขต การกำหนดกฎเกณฑ์ที่มากเกินไป จะไปให้ลูกยิ่งต่อต้าน และยังทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกเครียดกับการพยายามบังคับการใช้กฎเหล่านั้น ดังนั้น กฎเกณฑ์บางข้อควรให้ความยืดหยุ่น แต่มีขอบเขตที่ทุกคนยอมรับได้ร่วมกัน

#รับฟังลูกเสมอ การรับฟังลูก สามารถใช้ได้กับเด็กทุกวัย เมื่อลูกกล้าแสดงความคิดเห็น ลูกก็จะกล้าพูดกล้าบอกความรู้สึกและสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น ทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจและให้การช่วยเหลือได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

4. ลาก่อนเด็กดื้อ

StrongWilledChild_web_4

ช่วงหกปีแรกของลูก คือความท้าทายของคุณพ่อคุณแม่ เพราะการเติบโตขึ้นในแต่ละปี ลูกก็จะยิ่งมีบุคลิกภาพ ตัวตน และนิสัยใจคอที่ชัดเจนมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่สามารถลดดีกรีความเป็นตัวของตัวเองสูงของลูกในทางที่ถูกต้อง ให้เป็นไปในทางที่เหมาะสมได้

มีการศึกษาวิจัยพบว่า เด็กที่มีความเป็นตัวของตัวสูงหรือเด็กดื้อ มีโอกาสประสบความสำเร็จสูงในวัยผู้ใหญ่ได้ เพราะลูกจะเป็นเด็กที่ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคและสามารถเอาชนะปัญหาในชีวิตของตัวเองในอนาคตได้

 

อ่านบทความ—ลูกดื้อ : หรือเป็นเพราะพ่อแม่ก็เอาแต่ใจเหมือนกัน?!
อ้างอิง 
parenting
ahaparenting.com.
verywellfamily.com
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST