READING

ลูกสายตาสั้น : เด็กอนุบาลก็สายตาสั้นได้จริงเหรอ?...

ลูกสายตาสั้น : เด็กอนุบาลก็สายตาสั้นได้จริงเหรอ?

ลูกสายตาสั้น

ลูกสายตาสั้น กลายเป็นหนึ่งในปัญหาที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนกังวลใจว่า หาก ลูกสายตาสั้น ตั้งแต่ยังเล็กแล้ว อาจทำให้เกิดปัญหาทางพัฒนาการ การเรียนรู้ และบุคลิกภาพได้ ข้อมูลระบุว่า 9 เปอร์เซ็นต์ ของเด็กอายุ 5 – 17 ปี จะเริ่มมองระยะไกลได้ไม่ชัด และเด็กส่วนมากจะได้รับการวินิจฉัยว่า สายตาสั้น ในช่วงชั้น ป. 1 – 2 เพราะเป็นช่วงวัยที่ลูก สามารถบอกคุณพ่อคุณแม่ได้ว่า มองระยะไกลไม่ชัด และเริ่มส่งผลต่อชีวิตประจำวัน เช่น มองกระดานในห้องเรียนไม่ชัด หรือจากการที่คุณพ่อคุณแม่สังเกตความผิดปกติของลูกได้เอง  และสายตามักจะสั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงอายุประมาณ 7– 10 ปี

ภาวะสายตาสั้นในเด็กเกิดขึ้นกับเด็กๆ ทั่วโลก รวมทั้งวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวเองก็มีภาวะสายตาสั้นเพิ่มขึ้นมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ในเวลาเพียงครึ่งศตวรรษ และยังมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งคาดการณ์ว่า ประชากรครึ่งหนึ่งของโลกจะสายตาสั้นภายในปี 2593 อีกด้วย

เพื่อเตรียมตัวรับมือและป้องกัน ภาวะสายตาสั้น ที่อาจเป็นปัญหาระยะยาวต่อชีวิตประจำวันของลูก เราจึงรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาการสายตาสั้นมาให้คุณพ่อคุณแม่ทำความเข้าใจไปด้วยกันค่ะ

1. ลูกสายตาสั้นตั้งแต่เด็ก เพราะกรรมพันธุ์จริงหรือ?

myopia_web_1

Marina Su ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสุขภาพสายตาในมหานครนิวยอร์ก ระบุว่า หลายทศวรรษที่ผ่านมา มักระบุสาเหตุของสายตาสั้นว่า เกิดจากพันธุกรรม เช่น หากพ่อและแม่สายตาสั้น ก็มีโอกาสที่ลูกจะสายตาสั้นมากถึง 5 เท่า หรือหากคนใดคนหนึ่งสายตาสั้น ก็จะเพิ่มโอกาสที่ลูกจะสายตาสั้นเป็น 2 เท่าได้เช่นกัน

แต่ในช่วงหลัง เริ่มมีการศึกษาพบว่า การที่เด็กเกิดภาวะสายตาสั้นมากขึ้น อาจไม่ได้มาจากกรรมพันธุ์เพียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นเพราะว่าลูกใช้เวลาอยู่แต่ในบ้านและทำกิจกรรมใกล้ตัวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรียนออนไลน์ เล่นเกมคอมพิวเตอร์ ดูการ์ตูนในจอ หรืออ่านหนังสือ สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ลูกเสี่ยงสายตาสั้นมากกว่าเด็กที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ทำกิจกรรมหรือเล่นกลางแจ้ง

2. ขยี้ตาบ่อย มองไกลไม่ค่อยชัด ลูกอาจสายตาสั้นได้

myopia_web_2

การมองเห็นของลูกจะพัฒนาได้อย่างเต็มที่เมื่ออายุ 8 ปี ระหว่างนี้สายตายังคงมีการเปลี่ยนแปลงได้ แต่หากลูกวัยอนุบาลเริ่มแสดงอาการหรี่ตามอง ขยี้ตาบ่อยและมีน้ำตาไหลมาก เริ่มพยายามนั่งใกล้จอโทรทัศน์มากขึ้น หรือก้มเวลาเขียนและหนังสือมากกว่าปกติ ก็เป็นสัญญาณว่าลูกอาจจะกำลังสายตาสั้นได้

3. เมื่อ ลูกสายตาสั้น ทำอย่างไรดี

myopia_web_3

#ใส่แว่นสายตาสำหรับเด็ก เด็กๆ สามารถเริ่มรักษาภาวะสายตาสั้น ได้ตั้งแต่อายุ 4 – 6 ปี หรือตั้งแต่ช่วงแรกที่คุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกมีภาวะสายตาสั้น เพราะเมื่อรู้เร็ว และเริ่มรักษาเร็วก็มีโอกาสชะลออาการสายตาสั้นของลูกไม่ให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้

#ยาหยอดตา Atropine ขนาดต่ำ 0.01% – 0.05% สำหรับการควบคุมสายตาสั้น มีประสิทธิภาพในการชะลอไม่ให้สายตาสั้นลง ใช้หยอดตาก่อนนอนทุกคืน มีความปลอดภัยต่อเด็กในระยะยาว มีประสิทธิภาพ 30-75 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปัจจุบัน สามารถให้ใช้ได้ยาชนิดนี้ได้ในเด็กตั้งแต่อายุ 4 ปีขึ้นไป

#ใส่คอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษ Marina Su ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสุขภาพสายตาในมหานครนิวยอร์ก ระบุว่า ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา จักษุแพทย์ส่วนใหญ่ในเอเชียพบว่าเลนส์ชนิดพิเศษ และยาหยอดตา สามารถชะลอการเกิดภาวะสายตาสั้นในเด็กได้ดี

 โดยเฉพาะ ‘คอนแทคเลนส์ออโธเคอราโตโลจี’ หรือที่เรียกว่า OrthoK เป็นการเปลี่ยนวิธีที่แสงเข้าสู่ดวงตาแบบชั่วคราว แล้วไปปรับรูปร่างของกระจกตาใหม่ให้ชัดเจนขึ้นในตอนเช้า ซึ่งต้องใส่คอนแทคเลนส์ชนิดนี้เฉพาะตอนนอนเท่านั้น โดยไม่ต้องสวมแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ในระหว่างวัน มีประสิทธิภาพ 30-100 เปอร์เซ็นต์ ตามการวิจัยในปัจจุบัน และเหมาะสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของจักษุแพทย์ด้วย

4. วิธีถนอมสายตาให้ลูกวัยอนุบาล

myopia_web_4

#เล่นนอกบ้านให้มากขึ้น #ลดเวลาหน้าจอให้น้อยลง Christine Wildsoet ศาสตราจารย์ทัศนมาตรศาสตร์ที่ UC Berkeley ยืนยันว่า สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการมองเห็นของเด็กๆ คือ ลดเวลาการใช้หน้าจอ และพยายามทำกิจกรรมกลางแจ้งมากขึ้น

มีงานวิจัยพบว่า การได้รับแสงสว่างตามธรรมชาติอย่างน้อย 2 ชั่วโมงต่อวัน สามารถลดความเสี่ยงของสายตาสั้นและช่วยป้องกันสายตาสั้นได้ ดังนั้นเด็กๆ ควรเล่นนอกบ้าน ทำกิจกรรมกลางแจ้งอย่างน้อย 90 นาที ก็จะทำให้อัตราการเกิดภาวะสายตาสั้นช้าลง รวมทั้งการได้รับวิตามินดี ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพสายตาของเด็กๆ แม้ว่าแสงแดดจะช่วยเรื่องสายตาได้บางส่วน แต่เด็กๆ ควรสวมหมวก แว่นกันแดด และทาครีมกันแดด เพื่อป้องกันแสงยูวีด้วย

นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรแนะนำให้ลูกพักสายตาจากการดูหน้าจอ อ่านหนังสือ วาดภาพ ระบายสี หรือการเพ่งใช้สายตาทุกรูปแบบ ทุก 30 นาที เพื่อให้ดวงตาได้ผ่อนคลาย ด้วยการให้ลูกมองออกไปนอกหน้าต่าง ลุกเดินไปดื่มน้ำ หรือพักเข้าห้องน้ำสักครู่ ก็จะช่วยให้ลูกรู้สึกสบายตามากขึ้น

นอกจากนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรจัดสถานที่ให้ลูกได้ #ใช้แสงสว่างอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะเวลาทำกิจกรรมที่ต้องใช้สายตา เช่น อ่านหนังสือ ทำการบ้าน หรือเล่นในบ้าน นอกจากจะช่วยไม่ให้ลูกรู้สึกปวดตาแล้ว ยังช่วยถนอมสายตา ลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะสายตาสั้นได้อีกด้วย

 

อ่านบทความ: 4 ภัยเงียบของการให้ลูกอยู่กับหน้าจอมากเกินไป
อ้างอิง
theatlantic
blog.cincinnatichildrens
webmd
aao
eyebuydirect

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST