READING

สอนลูกให้เป็นตัวของตัวเอง : วิธีปลูกฝังลูกให้เป็นต...

สอนลูกให้เป็นตัวของตัวเอง : วิธีปลูกฝังลูกให้เป็นตัวของตัวเองและมีความสุขตามช่วงวัย

สอนให้ลูกเป็นตัวของตัวเอง

เด็กทุกคนล้วนมีตัวตน บุคลิก ลักษณะนิสัย และความชอบที่แตกต่างกัน แม้จะเป็นพี่น้อง หรือฝาแฝดที่ถูกเลี้ยงดูมาด้วยกัน ก็ยังมีตัวตนที่ต่างกันอย่างชัดเจน

แต่ถึงเด็กแต่ละคนจะมีลักษณะนิสัยและตัวตนของตัวเองเป็นพื้นฐาน แต่การ สอนให้ลูกเป็นตัวของตัวเอง ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม เพราะระหว่างเส้นทางของการเติบโตนั้น เด็กบางคนก็ถูกทำให้สูญเสียความมั่นใจ จนกลายเป็นคนไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำ ไม่กล้าแสดงออกความคิดเห็น รวมถึงไม่กล้าเป็นตัวของตัวเองไปเลยก็มี

เพื่อให้ลูกและเด็กๆ ของเราเติบโตขึ้นอย่างมีความสุข คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้พฤติกรรมเชิงบวก เพื่อ สอนให้ลูกเป็นตัวของตัวเอง อย่างเหมาะสมได้ตั้งแต่ยังเล็ก เพราะตัวตนที่หล่อหลอมมาอย่างแข็งแกร่ง ย่อมแข็งแรง มั่นคง และเป็นพื้นฐานที่ดีต่อการเติบโตของลูกต่อไป

1. ความมั่นใจ คือ รากฐานของการเป็นตัวของตัวเอง

BuildConfidence_web_1

Dr. Cindy Hovington ผู้ก่อตั้ง ที่ปรึกษาด้านการเลี้ยงดูบุตร อธิบายว่า เด็กในวัยเริ่มคลานหรือหัดเดิน สามารถสร้างความมั่นใจในตัวเองจากการเรียนรู้ว่าก้าวเท้าอย่างไรไม่ให้ล้ม และความมั่นใจที่แท้จริงจะเกิดขึ้นในช่วงวัยก่อนเข้าเรียน เพื่อเป็นต้นทางที่จะทำให้ลูกรู้จักตัวเองมากขึ้น และนำไปสู่เป็นตัวของตัวเองได้

มีการศึกษาของ NYU ในปี 2017 พบว่า เด็กอายุ 4 ขวบจะเริ่มมีความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับการเป็นตัวของตัวเองคล้ายกับผู้ใหญ่ และจะมีความภาคภูมิใจในตัวเองทั้งเชิงบวกและลบ เมื่ออายุ 5 ขวบ ความมั่นใจในตัวเองจะพัฒนามาจากการเข้าใจร่างกายของตัวเอง ได้เห็นศักยภาพของตัวเองผ่านเล่นทางกายภาพ การเคลื่อนไหวที่มีความท้าทาย และกิจกรรมที่ทำเพื่อทดลองขีดความสามารถของตัวเอง

Christina Furnival, LPCC ผู้ให้คำปรึกษาด้านเด็กและครอบครัว ระบุว่า ความมั่นใจของเด็กสามารถแสดงออกได้หลายวิธี เช่น วัยอนุบาลจะเริ่มทำงานบ้าน หรือดูแลตัวเองขั้นพื้นฐานได้ วิ่งเล่นกับเพื่อนได้โดยไม่ต้องคอยหันกลับมามองคุณพ่อคุณแม่ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสบายใจในตัวเอง มั่นใจร่างกายของตัวเอง และรู้สึกว่าสภาพแวดล้อมนั้นปลอดภัย รวมไปถึงความซุกซน ไม่ฟังคำพูดของคุณพ่อคุณแม่ นั่นเป็นเพราะเขาเชื่อมั่นตัวเอง มีความคิดเป็นตัวเอง จึงกล้าที่ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการหรือทำตามสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบ

2. เป็นตัวของตัวเองได้อย่างเหมาะสม มาจากการชื่นชมของพ่อแม่

BuildConfidence_web_2

• ชื่นชมกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ จากการศึกษาในปี 1998 โดย Carol Susan Dweck นักจิตวิทยาและศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาของ Lewis and Virginia Eaton แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด พบว่า การยกย่องในความพยายามของเด็ก แทนที่จะชมเชยไปที่ความฉลาด นั้นมีประโยชน์ต่อเด็กเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะทำให้เด็กมีความภาคภูมิใจในตัวเองมากขึ้น มีความมั่นใจมากขึ้น และนำไปสู่การเป็นตัวของตัวเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ยกตัวอย่าง หากลูกให้ดูผลงานวาดภาพของตัวเอง ไม่ว่าภาพนั้นจะเป็นอย่างไร แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถชื่นชมกระบวนการทำงานของลูก เช่น แม่ชอบสีที่ลูกเลือกจัง หรือแม้แต่ชื่นชมที่ลูกสามารถใช้เวลาสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองจนเสร็จ

• ชมเชยพฤติกรรมเฉพาะเจาะจง เช่นเดียวกับการชื่นชมที่กระบวนการ คุณพ่อคุณแม่ควรชมเชยพฤติกรรมที่ดีของลูกอย่างเฉพาะเจาะจง เช่น ภาพนี้ลูกจินตนาการและถ่ายทอดมันออกมาได้ดีมาก

สิ่งสำคัญก็คือควรชื่นชมลูกด้วยความจริงใจ ไม่พร่ำเพรื่อเพราะคำชมนั้นจะไร้ความหมายสำหรับลูกทันที

3. ‘ไม่แปลกแยก สร้างจุดแข็ง และอารมณ์ดี’ เป็นตัวของตัวเองอย่างมีความสุข

BuildConfidence_web_3

• ปลูกฝังให้ลูกรู้จักความแตกต่างแต่ไม่แปลกแยก ลูกวัยอนุบาลจะเริ่มเข้าใจเรื่องความเหมือนและแตกต่างของบุคคลได้ จึงเป็นช่วงวัยที่คุณพ่อคุณแม่สามารถชวนลูกคุยเรื่องเอกลักษณ์เฉพาะบุคคลได้ ด้วยการพูดถึงความแตกต่างด้วยคำพูดเชิงบวกกับลูกเสมอ

• ใส่ใจจุดแข็ง แทนที่จะมุ่งมั่นแก้ไขข้อบกพร่องหรือจุดอ่อนของลูกเพียงอย่างเดียว แต่การสนับสนุนและส่งเสริมจุดแข็งของลูก จะช่วยให้ลูกพัฒนาตัวเอง และมั่นใจในตัวเองมากกว่าการย้ำให้ลูกแก้ไขข้อบกพร่องของตัวเองเพียงอย่างเดียว เมื่อคุณพ่อคุณแม่มองเห็นข้อดีหรือจุดแข็งของลูก และช่วยส่งเสริมให้ลูกได้พัฒนาศักยภาพของตัวเอง สิ่งเหล่านี้จะขมวดทำให้ลูกเป็นตัวของตัวเองได้อย่างมั่นใจและมีความสุข

• เป็นตัวเองที่อารมณ์ดี การปลูกฝังให้ลูกรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ อย่างใจเย็น ไม่อารมณ์เสียกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ โดยมีคุณพ่อคุณแม่เป็นตัวอย่างที่ดีให้เห็น จะช่วยให้ลูกเป็นตัวของตัวเองได้อย่างมีความสุขมากขึ้น

4. ตัวตนของลูก สร้างได้

BuildConfidence_web_4

Shreshtha Dhar นักจิตวิทยาคลินิก ได้แนะนำกิจกรรมสร้างตัวตนของลูกผ่านสิ่งที่วิเศษสองอย่าง ได้แก่ ‘กระจกวิเศษ’ ช่วยสะท้อนให้ลูกเห็นตัวเอง และ ‘พรวิเศษ’ ที่จะช่วยให้ลูกรู้จักประเมินตัวเอง

• กระจกวิเศษ นำกล่องกระดาษแข็ง เจาะรูด้านหนึ่ง วางกระจกเล็กๆ ไว้ด้านใน แล้วให้ลูกส่องมองตัวเองผ่านรูเล็กๆ บนกล่อง และถามว่า ลูกเห็นอะไรบ้าง เมื่อลูกเห็นตัวเองในกระจก ให้บอกว่า ลูกกำลังมองคนที่พิเศษที่สุด คนที่ยิ้มเก่ง คนที่วาดรูปสวย คนที่ชอบปั่นจักรยาน เพื่อแสดงให้ลูกเห็นว่า การรักตัวเอง จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ลูกมั่นใจในตัวเอง ค่อยๆ ก่อร่างปั้นสิ่งที่ตัวชอบ กลายเป็นสิ่งที่ตัวเองเป็นได้อย่างภาคภูมิใจ

• พรวิเศษ ใช้เวลา 5 นาทีก่อนนอน ให้ลูกลองหลับตาแล้วนึกถึงสิ่งที่ตัวเองทำมาตลอดทั้งวัน แล้วถามลูกว่า หากคะแนนเต็ม 5 คะแนน วันนี้ลูกจะให้คะแนนตัวเองเท่าไร เพราะอะไร และคะแนนนั้นจะเป็นเหมือนพรวิเศษที่ทำให้ลูกอยากทำเรื่องดีๆ ที่นำมาซึ่งความภาคภูมิใจในตัวเองมากขึ้น นั้นเท่ากับว่า ลูกกำลังเรียนรู้การเป็นตัวของตัวเองที่ดีขึ้นในทุกวันยังไงล่ะ

อ้างอิง
parents
thebump
momjunction
biglifejournal

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

COMMENTS ARE OFF THIS POST