READING

เมื่อโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย ความสบายใจจะเกิด ก...

เมื่อโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย ความสบายใจจะเกิด การเรียนรู้ก็จะตามมา: แนวทางสร้างการเรียนรู้ให้เด็ก ครู และผู้ปกครอง สไตล์ครูจุ๊ย—กุลธิดา แห่งโรงเรียนต้นกล้า

เพราะไปถึงหน้าโรงเรียนไม่เช้านักปริมาณรถที่หน้าโรงเรียนจึงไม่หนาตาเท่าไร แต่ก็พอจะเดาออกว่า เมื่อชั่วโมงที่แล้ว ถนนหน้าโรงเรียนต้นกล้าแห่งนี้ คงเต็มไปด้วยขบวนรถของผู้ปกครองที่พาเด็กๆ มาส่งถึงหน้าประตูโรงเรียน

โชคดีเหลือเกินที่ท้องฟ้าวันนี้สดใสและอากาศเป็นใจให้เราได้เข้าไปเก็บบรรยากาศภายในโรงเรียนอย่างเต็มที่ เพราะก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน ฝนถล่มเมืองเชียงใหม่แทบไม่หยุด แถมยังทิ้งร่องรอยเป็นกลิ่นหญ้าชื้นๆ ดินแฉะๆ และแอ่งน้ำขังเอาไว้ทั่วบริเวณ

 คนที่มารับเราที่หน้าประตู คือ ครูจุ๊ย—กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ คนเดิมกับที่เราเคยไปชวนคุยเมื่อครั้งยังเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อเมื่อปีก่อน แต่บทบาทใหม่หลังมีเหตุการณ์ให้ต้องก้าวออกมาจากงานในสภาผู้แทนราษฎรในฐานะส.ส.ผู้ผลักดันนโยบายด้านการศึกษา คือการมารับตำแหน่งประธานกรรมการบริหารงานโรงเรียนต้นกล้า จังหวัดเชียงใหม่

 ถ้าใครได้เข้ามาเห็นสนามหน้าโรงเรียนต้นกล้า แล้วไม่รู้สึกสดชื่นจนอยากจะขอลงไปวิ่งเล่นกับเด็กๆ บ้าง ก็ดูจะเป็นคนใจแข็งเกินไปสักหน่อย เพราะภาพที่เราเห็นเมื่อเดินพ้นประตูโรงเรียนเข้าไป คือเด็กๆ หลายร้อยชีวิต กำลังวิ่งเล่น ทำกิจกรรม ปีนป่าย สำรวจ และซุกซน ช่างเป็นภาพที่เห็นแล้วมีชีวิตชีวาอย่างที่สุด เป็นบรรยากาศหลังเคารพธงชาติที่คึกคักแปลกตา แตกต่างไปจากภาพจำของโรงเรียนที่เราเคยคุ้นชิน

 หลังจากเดินสำรวจทั่วโรงเรียน (ที่กว้างขวางมากกกก) จนพอใจแล้ว เราทิ้งตัวนั่งลงตรงชานระเบียงของชั้นเรียนสำหรับเด็กอนุบาล และชวนครูจุ๊ยพูดคุยถึงบทบาทใหม่ในฐานะผู้บริหารโรงเรียนที่ได้รับคำนิยามว่าเป็น  ‘โรงเรียนทางเลือก’ เพราะดูเหมือนว่าที่นี่จะเลือกแนวทางสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ด้วยวิธีการที่ต่างออกไป และแนวทางนี้ยังควรเป็นแค่ทางเลือกของเด็กไทย หรือความจริงมันถึงเวลาที่เราควรจะมองกันใหม่ว่า นี่คือเส้นทางธรรมดาที่เด็กทุกคนควรมีโอกาสได้รับประสบการณ์การเรียนรู้เช่นนี้อยู่แล้วกันแน่

นิยามคำว่า ‘โรงเรียนทางเลือก’ แบบฉบับของโรงเรียนต้นกล้า

เรามองว่าเราก็คือโรงเรียนธรรมดา ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์และมอบเวลาให้เด็กค่อยๆ เติบโตแบบไม่รีบเร่ง ได้ใช้เวลาในช่วงวัยของเขาอย่างเต็มที่ และได้รับการให้ความสำคัญกับรอยต่อของช่วงวัยต่างๆ

วัยแรกคือเด็กเตรียมอนุบาล ที่ต้องจากบ้านมาเข้าโรงเรียน เป็นโลกใบใหม่ที่เขาไม่คุ้นเคย เพื่อให้มั่นใจว่าการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จะเกิดขึ้นอย่างราบรื่นที่สุด สองเดือนแรกของเด็กชั้นนี้ โรงเรียนจึงให้ความสำคัญกับการปรับตัวก่อน โดยเริ่มให้ผู้ปกครองเข้าทำกิจกรรมกับเด็กๆ ด้วยในช่วงแรก เพื่อสร้างความไว้ใจ และสร้างภาพในใจเด็กว่า พื้นที่นี้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่สนุก ปลอดภัย ซึ่งนโยบายนี้เพิ่งเริ่มตอนที่จุ๊ยได้เข้ามาบริหาร

ต่อมาคือรอยต่อช่วงการขึ้นชั้นประถม สิ่งที่เปลี่ยนไปคือเด็กต้องนั่งโต๊ะเรียนอย่างป็นกิจจะลักษณะ โรงเรียนจะให้เด็กชั้นอนุบาล 3 เริ่มนั่งโต๊ะเก้าอี้เพื่อสร้างความเคยชิน เวลาเราคุยฟีดแบ็กกัน คุณครูจะบอกว่า เด็กอนุบาล 3โยกโต๊ะหนักมาก (หัวเราะ) เราก็บอกว่า ใช่สิ เขาต้องโยก เพราะมันเป็นของใหม่ เกิดมาไม่คุ้นชินกับการนั่งบนสิ่งนี้ เขาก็ต้องทดสอบ สำรวจว่ามันคืออะไร เราก็ต้องให้เขาได้ทดสอบ ปล่อยให้เขาทำความรู้จักกับมันไป แล้วมันจะกลายเป็นความเคยชินในที่สุด ครูก็ดูแลเรื่องความปลอดภัยกันไป

จากนั้นคือการเปลี่ยนผ่านครั้งยิ่งใหญ่ เพราะโรงเรียนเรามีแค่ชั้นประถม เด็กๆ จะต้องออกไปอยู่โรงเรียนใหม่ สภาพแวดล้อมใหม่ ก่อนเรียนจบ เราจะมีการทำ Exit Training ให้ โดยเชิญรุ่นพี่มาพูดคุยว่า ออกไปแล้วต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง โลกข้างนอกมันต่างจากที่นี่อย่างไร แต่เราก็จะบอกเด็กว่า โลกมีหลายแบบ ข้างนอกมันอาจจะไม่ได้เป็นกิจกรรมการเรียนรู้แบบนี้ก็ได้ สิ่งที่ทุกคนไปเจอมันก็จะไม่เหมือนกันหรอก เราฟังไว้ได้ แต่สิ่งที่เราเจออาจจะเป็นอีกแบบก็ได้

แค่อยากให้เด็กๆ ได้รู้กระบวนการคร่าวๆ ของการปรับตัว ว่ามันคงจะงงในช่วงแรก แต่เมื่อเข้าที่เข้าทางแล้ว เราอาจจะแฮปปี้ หรืออาจจะอึดอัดบ้าง ก็ขอให้รู้ว่ามันเป็นเรื่องปกติ ที่เดี๋ยวมันก็จะผ่านไป

อย่างการสอบ O-NET หรือการสอบเพื่อประเมินผลทั้งหลายที่เด็กๆ ต้องเจอ เราจะบอกเด็กประถมของเราว่าทักษะการทำข้อสอบคือทักษะหนึ่งที่เราต้องเรียนรู้ คุณจะต้องถูกประเมินด้วยวิธีนี้ ที่ไม่เหมือนกับวิธีของโรงเรียนเรา แต่อีกหลายๆ ที่เขาใช้วิธีนี้ เราก็รู้ได้ มองให้มันเป็นทักษะของการทำข้อสอบ แต่ไม่ใช่ทักษะการเรียนรู้ และมันไม่ได้วัดความสามารถในการเรียนรู้ของเขาเลย

เป็นจุดอ่อนของความเป็นโรงเรียนทางเลือกไหม ที่คนมักจะมองว่ามันเป็น ‘โลกปิด’ 

เราคิดว่าในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เรากำลังสร้างประสบการณ์ ประสบการณ์จะเป็นส่วนผสมของทั้งสิ่งที่คุณครูจัดให้ และโลกของความเป็นจริง ซึ่งโลกจริงมันมีอยู่ในส่วนที่เด็กๆ เขาปฏิสัมพันธ์ เล่นกัน คุยกัน เด็กประถมเขาเล่นเกม เขาก็เอาเรื่องเกมมาคุยกัน มันก็ไม่ได้ต่างอะไรจากโลกของเด็กทั่วไป เพียงแต่ว่าวิธีเรียนรู้ไม่เหมือนโรงเรียนอื่นเท่านั้นเอง

เด็กๆ โรงเรียนต้นกล้าจะเรียนรู้เป็นวง และค่อยๆ ขยายออกไป เริ่มจากวงในสุดคือการรู้จักตัวเอง วงถัดไปคือบ้าน โรงเรียน ชุมชน และโลกใบนี้ เด็กทุกระดับจะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้แต่ก้าวไม่เท่ากัน สมมติว่าเรามี 5 หัวเรื่องใหญ่ ปลายทางของเด็กก็คือต้องทำโปรเจ็กต์ เด็กเตรียมอนุบาลเราอาจจะหยิบมาแค่สองเรื่องก่อน เพราะว่าก้าวของการเรียนรู้ของเขามันได้เท่านี้ มันเร็วเกินไปที่จะเร่ง เมื่อเขาโตขึ้น พร้อมขึ้น เราก็ค่อยเพิ่มเข้าไปเป็นปีละสามเรื่อง สี่เรื่อง ซับซ้อนขึ้น เพราะสุดท้ายเราอยากเห็นเด็กที่รู้ว่าเขาสนใจอะไร ชอบอะไร หยิบไปต่อยอดได้ และที่สำคัญคือเล่าได้ ว่าเขาทำอันนี้ ชอบอันนี้ ออกมาเป็นอันนี้

หรือถ้าเป็นเด็กประถม เรียนวิชาภาษาไทย เรื่องอักษรสามหมู่ เราท่องกันไปสิว่า ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง แต่สิ่งที่เด็กอยากรู้จริงๆ คือว่า ทำไมต้องแบ่งอักษรออกเป็นสามหมู่ อะไรพวกนี้เราไม่เคยได้ลองพิสูจน์ให้เขาดูเลยว่าที่มาที่ไปมาจากไหน ถ้าเราเปิดโอกาส เด็กเขาก็จะทดลอง เริ่มจากการเดาก่อน เสร็จแล้วเขาก็จะพิสูจน์ว่ามันใช่แบบที่เขาคิดไหม

คือในกระบวนการเรียนรู้เราใส่ภารกิจให้เด็กสนุกได้ เพื่อให้เด็กๆ รู้สึกถึงเซนส์ของความสำเร็จ เป็นการสร้าง self-esteem แม้เราจะมองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่เป็นการสะสมไปเรื่อยๆ ไอ้การทำแบบนี้ ทำแล้วสำเร็จ ฉันทำได้นะ ความรู้สึกนี้มันสำคัญมากๆ เลย เพราะมันจะต่อยอดให้เขารู้สึกว่า ไม่ว่าจะอะไร ฉันก็จะกล้าลอง

ดังนั้นนอกจาก 4C ที่เป็นทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (Communication, Collaboration, Critical Thinking, Creativity) โรงเรียนเราจะมีอีกหนึ่ง C คือ Courage เพราะเรารู้สึกว่า ความกล้าหาญที่จะทำการทดลอง กล้าที่จะลองผิดลองถูก มันสำคัญสำหรับเขา และทั้งหมดนี้เราจะเห็นว่ากระบวนการเหล่านั้นใช้แค่สิ่งของไม่ได้ ต้องมีคนด้วย เด็กล้ม ก็ไม่เป็นไร ล้มก็ล้ม เราก็แค่ถามอย่างเรียบง่าย แสดงความเป็นห่วงธรรมดา เขาจะรู้เองว่า การทำอะไรซักอย่างมันก็ล้มลุกคลุกคลานของมันได้ ล้มแล้วก็ลุกได้

การเรียนแบบไม่เรียนอย่างนี้ จะวัดผลกันอย่างไร 

โรงเรียนเราไม่มีการจัดอันดับ เพราะเราไม่คิดว่าเด็กๆ ต้องโดนจัดอันดับ แต่วิธีการประเมินผลของเรา จะมีทั้งแบบที่เป็นองค์ความรู้ปกติที่ประเมินกัน มีการติวความเข้าใจ O-NET ทักษะการสอบ O-NET และที่กำลังจะเริ่มใช้ในเทอมหน้า ก็คือระบบการประเมินตัวเอง ตั้งแต่ระดับอนุบาลขึ้นไปเลย

 เพราะเรามีโจทย์ว่า ทักษะอะไรที่จะอยู่กับเด็กยาวไปจนถึงอนาคต มันคือการรู้จักตัวเองใช่ไหม ดังนั้นทักษะของการประเมินตัวเองจึงสำคัญมาก เราได้เครื่องมือหนึ่งมาจากฟินแลนด์ ชื่อว่า Positive Learning เป็นแนวทางการมองเห็น Soft Skills แบบรอบด้านของเด็ก เริ่มจากการให้ครูประเมินเด็ก เด็กประเมินตัวเอง แล้วก็นำมาประเมินร่วมกัน มันไม่ใช่การประเมินทางวิชาการที่กระทรวงฯ ต้องการ แต่เป็นโรงเรียนเองที่เอาจริง เพราะคิดว่ามันจำเป็น

จริงๆ กระทรวงฯ ก็จะมีวิธีการให้โรงเรียนประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ แต่การที่เราจะเห็นถึงคุณลักษณะของเด็กคนหนึ่งได้ เรามักจะเห็นได้ผ่านการแสดงออกของเขา แต่ในบางครั้ง วัฒนธรรมโรงเรียน ทำให้การแสดงออกบางอย่างของเด็กไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะเด็กๆ แสดงออกตามความคิดความรู้สึกของตัวเองไม่ได้

เราเลยพยายามคุยกับเด็กเพื่อถามเขาว่ารู้สึกยังไง เพราะความรู้สึกมันต้องบอกได้ ต้องเป็นเรื่องปกติ การสามารถบอกได้ว่าตัวเองชอบ ไม่ชอบ เศร้า เสียใจ ชอบไหม อยากทำอะไรอีก เพิ่มเวลาตรงไหน เหล่านี้มันควรจะเป็นทักษะที่ถูกใช้ตลอดเวลาในห้องเรียน

คือโลกตอนนี้ มันเปลี่ยนเร็วจนเราที่เป็นผู้ใหญ่ยังรู้สึกว่าต้องหยุดก่อน และเราก็ไม่รู้ว่ากว่าจะถึงตอนที่เขาโตขึ้น มันจะเร็วด้วยอัตราเร่งแบบไหน มันเหมือนเด็กอยู่กลางพายุทอร์นาโด ที่ไม่รู้ว่าตัวเองหมุนเสร็จแล้วจะไปจบลงตรงไหน

ดังนั้นเราว่าทักษะพวกนี้ เรื่องการรู้จักอารมณ์ความรู้สึก และจัดการกับมัน สื่อสารมันกับคนอื่นได้ และซอฟต์สกิลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น grit ความอดทนที่จะทำอะไรซักอย่างให้สำเร็จ การทำงานเป็นทีม ความมีน้ำใจแบ่งปัน เราว่าเรื่องเหล่านี้สำคัญกับพวกเขามากๆ เผลอๆ จะสำคัญมากกว่าตัวเนื้อหาที่เราสอนอีก เพราะถ้าเขามีทักษะการเรียนรู้แล้ว เขาจะไปหาความรู้ที่ไหนก็ได้

เราเห็นชัดจากการที่เด็กยุคนี้ออกมาชุมนุมนะ ถ้าเราฟังเด็กดีๆ คือมันมีเด็กที่อ่าน Karl Heinrich Marx ตั้งแต่ประถม ซึ่งมันไม่ใช่การสอนจากที่โรงเรียนแน่ๆ เขาต้องไปหาอ่านเองเพราะเขาชอบและสนใจ มันพิสูจน์ให้เราได้เห็นว่า เมื่อเขามีทักษะในการไปหาความรู้ ทักษะต่อไปที่เขาน่าจะต้องการคือทักษะในการจัดการความรู้นั้น เอาความรู้ไปประยุกต์ต่อยอด มันควรเกิดขึ้นที่โรงเรียน ดังนั้นมันจึงไม่ใช่การเอาความรู้มาตั้ง เราควรเอาทักษะที่เขาจะใช้มาตั้ง แล้วก็คิดว่า อะไรบ้างที่เขาน่าจะทำเป็นต้องใช้ในโลกข้างหน้าที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะหน้าตาเป็นอย่างไร

“กระบวนการในการพัฒนาครูไม่ได้มีแค่การเทรนอย่างเดียว แต่มันมีการสังเกตการณ์ (Observe) ด้วย ครูต้องได้ไปสังเกตการณ์วิชาอื่นที่ไม่ใช่สายตัวเอง เขาต้องได้เห็นว่าคนอื่นทำอย่างไร ในสายวิชาอื่นวิธีคิดมันเป็นอย่างไร”

ครูที่นี่เป็นครูแบบไหน

คุณครูของเราหลากหลาย คือมีทั้งครูรุ่นใหม่ และครูที่เป็นผู้ใหญ่กว่าเรา แต่ถ้าเขาสนใจและรักที่จะสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ให้เด็ก เราไม่เกี่ยงอายุเลย เราเทรนเขาอยู่แล้ว ทั้งแบบส่งไปเทรน และ On-the-job training และเราก็ยังมีคุณครูที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งผู้ปกครองจะกังวลว่า เราเอาใครมาสอนก็ได้เหรอ ไม่ได้จบครูมา เราจะบอกว่า เรามีคุณครูที่จบโบราณคดีมา เขามาสอนสังคมและภาษาไทย เหมาะมากๆ เลยนะ เพราะเขามีความรู้ และเขามีความมุ่งมั่นสูงมากที่จะสร้างสรรค์กิจกรรม เทอมนี้เขามาปรึกษาเราว่า เขาอยากสอนเรื่องบ้านเชียง ทำอะไรกันดี ไล่ไปเลยว่าจะทำภาพเขียนสีบนผนังถ้ำ เด็กโตหน่อยก็จะวาดหม้อ ทำหลุมศพจำลอง ฯลฯ

ครูอีกคนมีความรู้เรื่องการทำใบลาน แล้วพอเรามีวิชาที่ชื่อ สื่อและสิ่งพิมพ์ เราก็จะสามารถพาเด็กย้อนหลังไปตั้งแต่การจารใบลาน เพราะคุณครูมีทักษะตรงนั้น มีเรื่องเล่า มีความสนใจเฉพาะทางของตัวเอง ขาดแค่กระบวนการสอน เราก็ช่วยเสริมให้ ใส่กระบวนการนี้เข้าไปให้เขา

ส่วนเรื่องของใบประกอบวิชาชีพ แน่นอนว่ามันสำคัญ ซึ่งตามกระบวนการแล้วทางโรงเรียนสามารถขอผ่อนผันกับทางครุสภา ได้ในระยะเวลา 6 ปีอยู่แล้ว ซึ่งเราคิดว่าด้วยกระบวนการคัดเลือก การเทรนอย่างเข้มข้น และตรวจสอบผ่านการทำงานร่วมกันกับทีมบริหารอยู่เสมอ ครูจะพร้อมจัดการเรียนรู้แบบที่เราตั้งใจให้เป็นในรูปแบบของตนเอง

ดังนั้นในโรงเรียนของเรา ทั้งบุคลากร คุณครู และเด็ก ทุกคนจะมี Personalized Learning Path เราจะพยายามผลักดันให้คุณครูบอกเราว่าเขาสนใจอะไร เพื่อที่โรงเรียนจะได้ส่งเสริมให้ทุกคนไปถึงเป้าหมายตรงนั้น

กระบวนการในการพัฒนาครูไม่ได้มีแค่การเทรนอย่างเดียว แต่มันมีการสังเกตการณ์ (Observe) ด้วย สำหรับเรานะ ครูต้องได้ไปสังเกตการณ์วิชาอื่นที่ไม่ใช่สายตัวเอง เขาต้องได้เห็นว่าคนอื่นทำอย่างไร ในสายวิชาอื่นวิธีคิดมันเป็นอย่างไร เพราะอะไรเราถึงต้องทำแบบนี้ เพราะสมัยนี้เราไม่ได้เรียนวิชาใครวิชามันกันแล้ว แต่โลกกำลังเรียนรู้กันแบบ Interdisciplinary, Multidisciplinary หรือฟินแลนด์เรียก Phenomenal Based ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะอยู่คนเดียวแล้วก็สอนอะไรของคุณไป แรกๆ คุณครูอาจจะไม่ชินกับวิธีการสอนแบบนี้ แบบที่ต้องทำงานร่วมกันในฐานะ Teaching Team เราก็ต้องฝึกกันเยอะ ทั้งจากการสังเกตการณ์ เชิญวิทยากรมาบรรยาย ส่งไปเทรน สร้างเครือข่ายที่จะฟีดแบ็กกันตลอด

มันเป็นสิ่งแรกที่เราตั้งใจจะทำ เมื่อรู้ว่าต้องมาบริหารโรงเรียนเลยนะ ก็คือการทำให้บุคลากรครูและทุกคนรู้สึกว่าที่นี่ปลอดภัยสำหรับเขา เพราะเรารู้สึกว่าในความเป็นพื้นที่โรงเรียน เราจะพบว่าคุณครูเจอแรงกดดันเยอะมาก เราจึงอยากให้มันเป็นที่ปลอดภัยทั้งกายและใจ และทำงานกันเป็นทีมได้

โรงเรียนบ้านนอกของเราที่ฟินแลนด์ ห้องพักครู ครูไม่มีโต๊ะเป็นของตัวเอง เขาจะนั่งเก้าอี้โซฟาคุยกัน ว่าวันนี้สอนแบบนี้ไม่เวิร์กเลย ห้องเธอเป็นยังไง พูดคุยปรึกษากันแบบนี้เป็นเรื่องปกติ ซึ่งตอนนี้ภาพแบบนี้ก็เกิดที่โรงเรียนต้นกล้าแล้วนะ คือบทสนทนามันก็มีทั้งเรื่องสัพเพเหระ แต่ก็ไม่ได้แปลกเลยถ้าเราจะยกเคสขึ้นมาปรึกษากัน ช่วยกันเลี้ยงเด็ก เป็นคอมมูนิตี้ที่ช่วยกันดูและเด็กให้เติบโต

“เรารู้สึกว่าเด็กต้องมีพื้นที่ที่เขาจะได้นั่งทำอะไรเป็นของตัวเองบ้าง เวลาพักเด็กไม่ได้ชอบกรี๊ดหรือชอบวิ่งทุกคน มันต้องมีมุมเงียบๆ ให้คนที่ต้องการ”

โรงเรียนมีพื้นที่กว้างมากจนน่าอิจฉา

ใช่ เป็นโชคดีที่เรามีพื้นที่เยอะ เด็กของเราจึงจะต้องได้เล่นข้างนอกทุกวัน ทุกพื้นที่ของโรงเรียน จึงจะเปิดให้เด็กได้ใช้ทุกประสาทสัมผัส ง่ายที่สุดก็คือมีพื้นที่โล่งให้เขาวิ่ง ยากขึ้นมาอีกเราก็เอาอุปกรณ์มาวาง แทนที่เขาจะวิ่งตรงๆ เราก็เติมอุปสรรคเข้าไป เติมเงื่อนไขเข้าไป ให้ได้วิ่งลัดเลาะ วิ่งแล้วมุด วิ่งแล้วกระโดด ตรงนี้เราก็ได้นักกิจกรรมบำบัดมาช่วยออกแบบ

เราอยากสร้างให้เด็กได้ใช้ Sensory Integration มันคือทักษะการใช้มือ แขน มัดเล็ก มัดใหญ่ การสัมผัสพื้นผิวรูปแบบต่างๆ การเคลื่อนไหว ซึ่งสำคัญกับพัฒนาการของเขามากๆ เพราะว่าเขาเป็นเด็กเกิดมาสามปี ยังไม่รู้หรอกว่าแขนขาใช้อย่างไร เพราะคนเราไม่ได้เกิดมาพร้อมคู่มือ ดังนั้นสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนจะช่วยให้เขารู้ว่าจะใช้ตัวของเขาเองลงไปทำอะไรได้บ้าง

เราเลยเอาทฤษฎีนี้ไปออกแบบฟินปาร์ก จากเดิมมันมีแค่กองดิน มีบ้าน เราก็เติมให้มีอุปสรรคเยอะขึ้น แต่เป็นเวอร์ชันธรรมชาตินะ เป็นไม้ หิน ดิน ทราย ธรรมชาติมันไม่ใช่ความตั้งใจ แต่มันคือความจริง ถ้าคุณเข้าไปอยู่ในธรรมชาติ พื้นดินมันก็ไม่เรียบหรอก มันมีแอ่งน้ำ มีความแหยะ มีไม้ที่เดินได้ เหยียบแล้วมันดังกร๊อบแกร๊บ เด็กเหยียบไปปั๊บ ได้ทั้งรู้ถึงผิวสัมผัส และได้ยินเสียง ประสาทสัมผัสเปิดรับทั้งหมด

หรืออีกที่คือเรามีมุมเงียบๆ ให้เด็ก เรารู้สึกว่าเด็กต้องมีพื้นที่ที่เขาจะได้นั่งทำอะไรเป็นของตัวเองบ้าง เวลาพักเด็กไม่ได้ชอบกรี๊ดหรือชอบวิ่งทุกคน มันต้องมีมุมเงียบๆ ให้คนที่ต้องการ เพื่อนอยากวิ่งก็วิ่งไป แต่เด็กที่เขาไม่ชอบแบบนั้นเขาก็จะหยิบหนังสือมานั่งอ่านในมุมของเขา พื้นที่ต้องออกแบบโดยคิดเผื่อทุกคน เพราะเด็กต่างกัน

ดูเหมือนโรงเรียนมองว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่เด็กควรได้ใกล้ชิดธรรมชาติ 

มนุษย์สร้างการเปลี่ยนแปลงให้ธรรมชาติมากที่สุดในยุคนี้ นั่นหมายความว่า เด็กที่จะโตไป เขาจะต้องเจอวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติอีกมากมาย เราเห็นข่าวแล้วว่า ไม่ว่าจะอย่างไรน้ำแข็งที่กรีนแลนด์จะต้องละลาย ดังนั้นเราเลยคิดว่า เราต้องให้เด็กได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เราไม่มีคันนา แต่เราก็มีพื้นที่ที่มันใกล้เคียงความเป็นธรรมชาติมากที่สุด เราก็เลยออกแบบฟินปาร์กขึ้นมา ให้เด็กได้สัมผัสต้นไม้ใบหญ้า สัตว์ สรรพสิ่งต่างๆ แม้กระทั่งยุง ถึงมันจะกัดเรา มันก็มีวงจรชีวิตของมัน แล้วเราก็เชื่อมโยงกลับมาว่า เด็กๆ เองก็เป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศนี้เหมือนกัน เราไม่สามารถสั่งให้เด็กรักธรรมชาติได้ แต่ต้องให้เขาได้ไปสัมผัส และเข้าใจมันด้วยตัวเอง

ห้องเรียนของเราเป็นแบบ Open Air วันไหนร้อนมันก็ร้อน วันไหนมีแดดเราก็ใส่หมวก เราจะเห็นว่า สิบโมงมีแดด เด็กๆ ก็ใส่หมวกวิ่งเล่น เขาก็ต้องปรับตัวเพื่อเข้ากับธรรมชาติ ฝนตก ก็ใส่เสื้อกันฝน เพื่อเรียนรู้ว่าเขาจะอยู่กับธรรมชาติอย่างไร ปรับตัวให้เป็น

เรามองว่าธรรมชาติมันมีอยู่ในทุกที่ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองเห็นมันได้อย่างไร อย่างเราอยู่คอนโดเราปลูกต้นไม้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีนกมาทำรังระหว่างต้นไม้ และถ้าคุณมีลูก นี่คือห้องเรียนนะ มันคือธรรมชาติเล็กๆ น้อยๆ รอบตัวเขา ถ้าเราเห็นความสำคัญของมัน เราจะทำ

อย่างหนังสือเล่มล่าสุดที่เราเป็นบรรณาธิการ (There’s no such thing as bad weather เลี้ยงลูกสไตล์แสกนดิเนเวีย) มันคือการอธิบายว่า ทำไมสแกนดิเนเวีย ถึงมีเทคโนโลยีที่รักธรรมชาติเยอะมาก เพราะว่าเด็กเขาได้สัมผัสธรรมชาติ เดินป่ากันเป็น เก็บเห็ด เก็บเบอร์รี่เป็นเรื่องธรรมดา ตอนแรกเราก็ไม่เชื่อมากนะ จนมีครั้งนึงเราไปประชุมครูในฟินปาร์ก หลายคนยืนบ้าง ปีนบ้าง เราพบว่าจากบรรยากาศที่มันเครียด มันผ่อนคลายขึ้นมาเลย ดังนั้นเราเลยคิดว่า ไอ้คำว่าธรรมชาติบำบัด ก็คงมีความเป็นจริงอยู่ไม่มากก็น้อย และเด็ก เมื่อเขาได้เปิดประสาทสัมผัสให้กว้าง เมื่อโตมาเขาจะเป็นคนที่ละเอียดอ่อน

“ถ้าหากทุกคนรอบตัวเด็กสามารถมองเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโรงเรียน เป็นเครื่องมือการเรียนรู้ได้ เป็นสิ่งแวดล้อมสำหรับการเรียนรู้ได้ เราว่าไม่มีอะไรยากแล้ว”

เห็นโรงเรียนใช้เฟซบุ๊กในการสื่อสารแนวทางการเรียนรู้เยอะขึ้น ความตั้งใจคืออะไร 

เราอยากนำเสนอว่าการเรียนแบบนี้มันเป็นเรื่องปกติ เราจัดการเรียนรู้แบบนี้กันได้นะ เราจะเล่าว่าเด็กๆ เรียนรู้อะไรกันบ้าง ผ่านการเล่นในธรรมชาติ ผ่านการสำรวจ เพราะเราอยากบอกจริงๆ ว่า แบบนี้มันเรียนรู้ได้ เช่น (ชี้ไปที่ตาชั่งจากสิ่งเหลือใช้ที่วางไว้ มีเด็กมาทดลองเล่น) แค่มันวางไว้ เด็กเขาก็เข้ามาสงสัย อยากรู้ว่ามันเอาไว้ทำอะไร แบบที่เป็นวิชามันก็มี แต่ว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก ทั้งหมดมันสอนเขาได้หมดเลย เราต้องเปิดโอกาสให้เขาได้อยากรู้อยากเห็น

ถ้าหากทุกคนรอบตัวเด็กสามารถมองเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโรงเรียน เป็นเครื่องมือการเรียนรู้ได้ เป็นสิ่งแวดล้อมสำหรับการเรียนรู้ได้ เราว่าไม่มีอะไรยากแล้ว

แล้วการสื่อสารกับผู้ปกครอง โรงเรียนทำอย่างไรบ้าง

กับผู้ปกครองเรามี Line Official เอาไว้สื่อสาร มี Parenting School ที่เอาไว้คุยกัน ว่ามันมีประเด็นอะไร มีเรื่องอะไรน่าสนใจตอนนี้ที่ทางโรงเรียนพยายามทำอยู่ แล้วก็มีการประชุมผู้ปกครองตามปกติเหมือนโรงเรียนอื่น เช่น ตอนโควิดเราทำไป 16 รอบ เพราะเรากลัวว่า Zoom กลุ่มใหญ่แล้วจะตกหล่น เลยต้องทำหลายครั้ง

เรามีกิจกรรมชื่อว่า ‘รดน้ำ พรวนดิน สานต่อ’ให้คุณครูคุยกับผู้ปกครอง ทั้งรายห้องและรายคน ว่าเด็กๆ เป็นอย่างไร เพื่อจะได้เห็นว่าที่บ้านเป็นแบบไหน และที่โรงเรียนเป็นแบบไหน เราจะได้เห็นว่า บางอย่าง เด็กๆ ทำที่โรงเรียนกับที่บ้านไม่เหมือนกัน เพราะเขาก็มีทักษะปรับตัวไง ที่บ้านเป็นอีกเงื่อนไขนึง แต่ที่โรงเรียนเป็นอีกแบบนึง แสดงว่าเขาก็มีทักษะในการปรับตัวดี

งานสื่อสารเป็นงานสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นในเลเวลไหน ทั้งโซเชียลมีเดีย การได้เจอตัวพูดคุยกัน หรือแม้กระทั่งการเชิญผู้ปครองเข้ามาในโรงเรียน เพราะเรารู้สึกว่า พ่อแม่เองก็อยากรู้ว่าลูกทำอะไรบ้าง เป็นเรื่องปกติ ดังนั้นช่วงโควิด มันจึงท้าทายมากๆ ที่เราไม่สามารถให้ผู้ปกครองเข้ามาในพื้นที่ได้

พอเขาไม่ได้เข้ามา เขามองไม่เห็น ก็จะยิ่งจินตนาการไปเอง เกิดเป็นความเป็นห่วง ซึ่งเราเข้าใจดีนะ มันคือความรักของพ่อแม่ เราก็เลยชั่งน้ำหนักกันเยอะมาก ว่าเราจะค่อยๆ บริหารจัดการกันอย่างไรดี ด้วยความตั้งใจที่ว่า เราอยากให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมกับโรงเรียนมากๆ

การที่พ่อแม่เข้ามาในพื้นที่ มันคือการสื่อสารอย่างหนึ่งหมือนกัน เพราะว่าเขาได้เห็นกับตา แต่ว่าเราก็ต้องออกแบบให้ดีนะ คือพ่อแม่ต้องปล่อยให้ลูกยังอยู่ในกระบวนการการเรียนรู้ อย่าไปยุ่งกับลูก เขาก็จะได้เรียนรู้ที่จะเป็นตัวเอง ได้อยู่กับเพื่อน อยู่กับคุณครู ตรงนี้พ่อแม่ต้องปล่อยให้ได้

การเปลี่ยนแปลงของการเรียนการสอนแบบทางเลือก

เราเชื่อว่ามันจะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ เช่น ตอนนี้พ่อแม่ของเด็กวัยอนุบาลเริ่มเข้าใจและปล่อยได้แล้ว เราเชื่อแล้วว่าวัยนี้แค่ปล่อยให้เด็กได้เล่น ได้สนุกก็พอ ต่อไปก็จะเป็นระดับประถมแล้ว เพราะเราจะเริ่มมีความคาดหวังว่า เมื่อขึ้นประถม ก็จะต้องเรียนวิชาการ ซึ่งในมุมของเด็ก เขาจะยังงงๆ อยู่ เพราะเขาวิ่งเล่นมาตลอดไง เล่นมาอย่างเต็มที่ การตัดการเรียนรู้ของเด็กในช่วงรอยต่อแบบนี้ จึงต้องสร้างประสบการณ์ที่มันสนุกให้กับเขา

เช่น โรงเรียนเราสอนคณิตศาสตร์ด้วยวิธีการ Open Approach มันเป็นการสอนด้วยคอนเซ็ปต์​เช่น ถ้าจะเรียนเรื่องลำดับ คุณครูจะชวนเด็กมายืนกัน แล้วมาเดากันว่า ถ้าเราจะจัดลำดับเราทำอย่างไรได้บ้าง เขาก็จะไปลองพาเพื่อนมาจัดแถว ซึ่งเด็กจะสรุปได้หลายแบบมาก จนครูประเมินได้เลย ว่ามีเด็กเข้าใจในขั้นไหน มันมีทั้งคนที่เข้าใจโดยสมบูรณ์ ว่าลำดับคือการมีจุดเริ่มต้น คือต้องเอาเพื่อนมาวางตรงนั้น เพราะไม่อย่างนั้นมันนับไม่ได้ มันต้องมีทิศด้วยว่าจะนับไปทางไหน ทั้งหมดมันคือทฤษฎีทางคณิตศาสตร์

ซึ่งมันช้ากว่าการสอนแบบทั่วไปใช่ไหม

ช้าสิ แต่ว่าเขาจะเข้าใจเลย เข้าใจถึงคอนเซ็ปต์เลย ถ้าอยากให้ทำข้อสอบได้ เราก็ไปติวกัน (หัวเราะ) ไปฝึกทักษะการทำข้อสอบ กับผู้ปกครองเราก็ต้องสื่อสารนะ ถามว่าทุกคนเข้าใจโดยราบรื่นดีไหม ก็ไม่หรอก ยังเป็นเรื่องที่เราเองก็พยายามทำอยู่ และคิดว่ายังต้องพัฒนาอีกด้วยซ้ำ ที่เราเล่าเรื่องราวผ่านเพจโรงเรียน ก็เพราะแบบนี้แหละ เพราะเราอยากให้ทุกคนเห็นภาพไปด้วยกันว่า เด็กๆ เขาเรียนรู้ได้ด้วยวิธีการที่หลากหลายจริงๆ ขอเพียงผู้ใหญ่เชื่อ


Nidnok

‘นิดนก’ เป็นคุณแม่ของน้อง ณนญ / เป็นนักเขียนสาวเชิงรุก เจ้าของผลงานหนังสือ 'POWER BRIDE เจ้าสาวที่กลัวสวย' และ 'TO BE CONTINUE- โปรดติดตามตอนแต่งไป'

COMMENTS ARE OFF THIS POST