นาทีนี้คงไม่มีใครไม่ทราบข่าวบุคลากรในโรงเรียนใช้ความรุนแรงกับเด็กนักเรียน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้มีการตรวจสอบโรงเรียนและคุณครูในโรงเรียนอย่างเร่งด่วน ซึ่งทำให้เจอเรื่องที่น่าตกใจก็คือ คุณครูในห้องเรียนแรกที่เป็นข่าว ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูแม้แต่คนเดียว
หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองหลายคนเริ่มให้ความสำคัญและสนใจว่าคุณครูที่เราไว้วางใจให้เป็นคนที่คอยดูแลและอบรมสั่งสอนลูก ตลอดเวลาที่ลูกอยู่ใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียนนั้น เป็นคนที่มีคุณสมบัติหรืออย่างน้อยก็มีใบประกอบวิชาชีพครูที่ถูกต้องหรือไม่
และความจริงแล้ว การที่ครูสักคนจะได้ใบประกอบวิชาชีพครูมาเพื่อได้ทำงานอันเป็นที่รักของตัวเองนั้น ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
เป็นครูต้องจบปริญญาด้านการศึกษา
การจะเป็นครูได้นั้นจะต้องจบปริญญาด้านการศึกษา ไม่ว่าจะปริญญาตรีหรือปริญญาโท เช่น คณะครุศาสตร์ หรือคณะศึกษาศาสตร์
แต่หากไม่ได้จบปริญญาด้านการศึกษาโดยตรงก็ใช่ว่าจะหมดโอกาสการเป็นครูนะคะ ทางครุสภาได้มีมติให้คนที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีสาขาอื่นๆ สามารถเข้าศึกษาเพิ่มเติมในหลักสูตรบัณฑิตวิชาชีพครูได้ แต่ต้องใช้เวลาการเรียนในหลักสูตรนี้ทั้งหมด 1 ปี
ครูทุกคนต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู
มาตรฐานและข้อบังคับของคุรุสภากำหนดให้ครูทุกคนจะต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู ซึ่งใบประกอบวิชาชีพครูนี้จะมีอายุตามกฎหมายเป็นระยะเวลา 5 ปี
โดยผู้ขอใบประกอบวิชาชีพครู จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
- อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี
- มีวุฒิปริญญาด้านการศึกษา เทียบเท่า หรือมีคุณวุฒิที่คุรุสภารับรอง
- ผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรปริญญา (ฝึกสอน) ทางการศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ผ่านเกณฑ์การประเมินปฏิบัติการสอนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
- ห้ามมีประพฤติกรรมที่เป็นการสร้างความเสื่อมเสีย บกพร่องในศีลธรรมอันดี เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ เคยต้องโทษจำคุกในคดีที่คุรุสภาเห็นว่าอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ
ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู แต่ทำอาชีพครูจะมีความผิดตาม พ.ร.บ. สภาครูและบุคคลากรทางการศึกษา มีโทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท
ส่วนบุคคลที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู แต่พยายามแสดงตัวให้คนอื่นเข้าใจผิด ก็จะมีโทษตาม พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษาเช่นกัน จำคุก 3 ปี ปรับ 60,000 บาท
ทั้งนี้ทางคุรุสภาอนุญาตให้มีการขอหนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพครู โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเป็นการชั่วคราว ได้โดยสถานศึกษาจะต้องเป็นผู้ดำเนินการ และมีระยะเวลาผ่อนผันครั้งละไม่เกินสองปี โดยที่ผู้ขอจะต้องพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติตามข้อบังคับคุรุสภา เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูต่อไป
ครูพี่เลี้ยงและครูผู้ช่วย คืออะไร
บางโรงเรียนอาจจะมีคำเรียกคนที่ทำหน้าที่ช่วยดูแลเด็กในโรงเรียนว่า ครูพี่เลี้ยงหรือครูผู้ช่วย แต่ไม่ได้มีการแจกแจงคุณสมบัติที่แตกต่างระหว่างครูพี่เลี้ยง ครูผู้ช่วย และคุณครูปกติให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจ
ดังนั้น เราจะขออธิบายความแตกต่างระหว่างครูพี่เลี้ยงและครูผู้ช่วยแบบเข้าใจง่ายๆ ดังนี้
ครูพี่เลี้ยง เป็นตำแหน่งที่บางโรงเรียนตั้งขึ้นมาเอง ซึ่งหมายถึงคนที่ทำหน้าที่เสมือนพี่เลี้ยงช่วยดูแลเด็กนักเรียน โดยเฉพาะเด็กเล็ก เช่น พาเดินไปเข้าห้องน้ำ คอยดูแลความปลอดภัย และให้ความช่วยเหลือเด็กในด้านต่างๆ ทั้งนี้ครูพี่เลี้ยงจึงไม่จำเป็นต้องใบประกอบวิชาชีพครู เพราะไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบในการเรียนการสอน แต่จะต้องเป็นคนที่รักและใส่ใจเด็ก เข้าใจพัฒนาการของเด็ก ใจเย็น อดทน และเข้ากับเด็กๆ ได้
ครูผู้ช่วย หมายถึงครูบรรจุใหม่ ที่มีใบประกอบวิชาชีพครู และได้ไปทำการสอนตามสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นเวลาสองปี ซึ่งจะต้องได้รับการประเมินด้านต่างๆ เช่น การสอน คุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณ มาตรฐานวิชาชีพครู ฯลฯ
ทุกสามเดือน ทั้งหมด 8 ครั้ง จึงจะได้รับการเลื่อนขั้นเป็นครูทั่วไป
ผู้บริหารสถานศึกษาก็มีใบประกอบวิชาชีพครูเช่นกัน
บางคนอาจเข้าใจว่า ผู้บริหารสถานศึกษา ไม่จำเป็นต้องเป็นครูเสมอไป แต่ความจริงแล้ว ผู้บริหารสถานศึกษาก็จะต้องมีวุฒิปริญญาด้านการศึกษา หรือเทียบเท่าหรือมีคุณวุฒิที่คุรุสภารับรอง พร้อมทั้งต้องผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ผ่านเกณฑ์การประเมินปฏิบัติการสอนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด โดยหากไม่มีตามนี้ก็ถือว่าผิดกฎหมายเช่นกันค่ะ
COMMENTS ARE OFF THIS POST