ดูเหมือนว่า เด็กกับการเล่นสนุกจะเป็นสิ่งที่มาคู่กันเสมอ พ่อแม่หรือผู้ใหญ่อย่างเราย่อมเคยรู้สึกว่า ทำไมเวลาเห็นเด็กๆ เล่นอะไรแล้วถึงได้ดูสนุกไปเสียทุกอย่าง ทำไมของเล่นบางอย่างเด็กๆ ถึงใช้เวลาสนุกและเรียนรู้อยู่กับมันได้เป็นเวลานานๆ
ความจริงแล้วการเล่นมีประโยชน์กับเด็ก เพียงเพราะความสนุกสนาน หรือการเล่นมีความสำคัญต่อพัฒนาการของลูกน้อย มากกว่านั้นกันแน่
เราเดินทางมาที่โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรีกรุงเทพ ซิตี้แคมปัส เพื่อพูดคุยกับ แคทเธอรีน โอคิล—ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ และเฮย์ลีย์ กิลเลียม—หัวหน้าสายชั้นอนุบาล 1 สองคุณครูผู้เข้าใจธรรมชาติของการเรียนรู้ และทำให้การเล่นสนุกของเด็กๆ เป็นการเรียนรู้อย่างปลอดภัย
“การจะได้มาซึ่งความเก่งทางด้านวิชาการนั้น เด็กจะต้องมีรากฐานที่แข็งแรงก่อน รากฐานที่ว่านั้นก็คือ การทำให้เด็กมีความรักที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ซึ่งสิ่งนี้เราสามารถจัดเตรียมให้เขาได้ตั้งแต่ช่วงวัยเริ่มเรียน”
ทำไมการเล่นถึงมีความสำคัญกับเด็กและทำให้เด็กรักในการเรียนรู้ ในขณะที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ต้องการให้ลูกเก่งวิชาการ และคิดว่าการเรียนผ่านการเล่นอาจจะไม่เพียงพอ
แน่นอนว่าความสามารถทางด้านวิชาการก็มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะเด็กในช่วงอายุ 13-18 ปี ที่ต้องเตรียมความพร้อมของตนเองในการสอบเพื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัยนานาชาติต่างๆ ทั่วโลก แต่การจะได้มาซึ่งความเก่งทางด้านวิชาการนั้น เด็กจะต้องมีรากฐานที่แข็งแรงก่อน รากฐานที่ว่านั้นก็คือ การทำให้เด็กมีความรักที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ซึ่งสิ่งนี้เราสามารถจัดเตรียมให้เขาได้ตั้งแต่ช่วงวัยเริ่มเรียน
สิ่งที่เราไม่ต้องการจะให้เกิดขึ้นก็คือเด็กที่มุ่งเน้นแต่เรื่องเรียนเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย เด็กอาจจะเรียนได้เกรดเอ ในด้านวิชาการทั้งหมด แต่ไม่มีความสนใจในแง่มุมอื่นๆ ของชีวิต เช่น ความคิดเชิงวิพากษ์ ความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และความเป็นผู้นำ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เด็กควรจะพัฒนาควบคู่ไปกับวิชาการ เพราะฉะนั้น การเรียนรู้มันจึงไม่ใช่แค่เรื่องความสามารถด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่มันคือการสร้างบุคคลที่มีความสามารถและความรอบรู้หลายด้าน โดยเริ่มจากในวัยเริ่มเรียนไปจนถึงวัยผู้ใหญ่
ที่นี่ เราสร้างเด็กให้มีรากฐานที่มั่นคง มีความรักในการเรียนรู้นั่นแปลว่าเด็กจะต้องสนุกและอยากมาโรงเรียน สิ่งที่เราทำก็คือ เราให้เด็กได้เล่น เราเตรียมกิจกรรมที่เด็กๆ ชื่นชอบ เพื่อที่เด็กจะได้เรียนรู้ผ่านการเล่น เพราะสำหรับเด็ก การเล่นมันไม่ใช่แค่การเล่นเท่านั้น แต่มันคือการทำงานของเขา มันคือวิธีการที่สมองของเด็กจะได้รับการพัฒนา ถ้ามองเผินๆ อาจดูเหมือนว่าเด็กกำลังเล่น แต่จริงๆ แล้วมันก็คือการเรียนที่เด็กได้สนุกไปด้วยต่างหาก
พ่อแม่และผู้ปกครอง สามารถคาดหวังอะไรไจากการเล่นของลูกในวัยอนุบาล จนถึงชั้นประถม 1 ได้บ้าง
เราจะเห็นได้ว่าในช่วง EY1 หรืออนุบาล 1 เด็กจะเล่นอยู่ด้วยกันเพียงไม่กี่คน หรือเขาอาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องเล่นกับเพื่อนอย่างไร จะสื่อสารกับคนที่ไม่ใช่พ่อแม่อย่างไร แต่เด็กจะค่อยๆ พัฒนาความมั่นใจ พัฒนาทักษะการเข้าสังคม จนเราสามารถเห็นได้ว่า เด็กจะเล่นด้วยกันอย่างสนุกสนาน และสื่อสารกันอย่างออกรสชาติในช่วงท้ายปี
เด็กบางคนตอนแรกอาจจะไม่คุ้นเคยกับการพูดภาษาอังกฤษเลย แต่พอจบ EY1 เขาก็สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ พอ EY2 เขาสามารถเล่นโดยใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารกับคนอื่นได้ ในส่วนของการพัฒนาทักษะด้านร่างกาย ในตอนแรก กล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กยังไม่แข็งแรง เขาจึงยังจับดินสอไม่ได้ เราก็เริ่มจากการเล่นเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ก่อน พอ EY2 เด็กก็เริ่มหยิบดินสอมาเขียนประโยคเป็นภาษาอังกฤษได้ นี่คือการที่เด็กได้มีพัฒนาการในหลายด้าน
นอกเหนือไปกว่านั้น ในช่วง EY1 เด็กบางคนอาจจะยังแต่งตัวเองไม่ได้ รับประทานอาหารเองไม่ได้ แต่พอเวลาผ่านไป เด็กสามารถทำสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวเอง สามารถดูแลสิ่งของของตัวเองได้ เพราะที่นี่เราจะสอนให้เด็กทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง
แล้วเด็กพัฒนาทักษะด้านสังคมผ่านการเล่นได้อย่างไร
ที่นี่เราให้ความสำคัญกับสามสิ่ง คือ 1. การพัฒนาทางร่างกาย กล้ามเนื้อมัดเล็กและกล้ามเนื้อมัดใหญ่ 2. การสื่อสารและภาษา ทั้งด้านการพูดและการฟัง 3. ความสามารถในการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น เข้าใจผู้อื่น และทักษะด้านอารมณ์
สามสิ่งนี้คือพื้นที่การเรียนรู้หลัก ซึ่งเรานำมารวมกับการเล่น ทุกครั้งที่ทำกิจกรรม เราจะชวนเด็กพูดคุยถึงสิ่งที่เราคาดหวังจากกิจกรรมนั้น ชวนเด็กพูดคุยถึงอารมณ์และความรู้สึก ชวนให้เด็กรู้จักอารมณ์ของตนเอง และนึกถึงอารมณ์ของเพื่อน เช่น ถ้าเขาทำดีกับเพื่อน เพื่อนจะรู้สึกอย่างไร และถ้าทำไม่ดีล่ะ เพื่อนจะรู้สึกอย่างไร บางครั้งเด็กเกิดอารมณ์บางอย่างแต่ยังไม่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูด และอาจจะแสดงออกใส่เพื่อนหรือตนเองแบบผิดๆ เราก็จะค่อยๆ สอนเขา
เด็กแต่ละคนมีความกล้าไม่เท่ากัน บางคนก็จะเงียบไม่ค่อยพูด แต่บางคนก็จะกล้าที่จะแสดงจุดยืนของตัวเอง เช่น พูดกับเพื่อนตรงๆ ว่าฉันไม่ชอบในสิ่งที่เธอทำ ที่นี่เราอยากให้เด็กทุกคนสามารถที่จะแสดงจุดยืนและความรู้สึกออกมาได้ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกโกรธ เศร้า ความไม่พอใจ เราไม่อยากให้เด็กกดมันเอาไว้ เพราะไม่มีใครที่จะมีความสุขอย่างเดียวได้ตลอดเวลา
“การคอยบอกเด็กตลอดเวลาว่าต้องทำแบบนั้น ต้องเล่นแบบนี้ มันจะทำให้เด็กไม่สามารถพัฒนาหรือต่อยอดความคิดได้ เด็กก็จะหยุดคิด ไม่ตั้งคำถาม ไม่เกิดความสงสัย และไม่รู้ว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร นั่นคือสิ่งที่เราไม่อยากให้มันเกิดขึ้นเลย”
ระยะหลังพ่อแม่และผู้ปกครอง จะเริ่มได้ยินคำว่า ‘ของเล่นปลายเปิด’ มากขึ้น, ทำไมของเล่นปลายเปิดถึงเป็นเครื่องมือที่ดีในการเรียนรู้สำหรับเด็ก
เรามีความหลงใหลในของเล่นปลายเปิดมาก เพราะมันช่วยให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ กล้าเสี่ยงและกล้าตัดสินใจว่าจะจัดการอย่างไรกับของชิ้นนั้น ถ้าเราให้ของเล่นที่มีความเฉพาะเจาะจงกับเด็ก เช่น ให้รถดับเพลิง เด็กก็จะเล่นในแบบที่เจาะจง เพราะรู้อยู่แล้วว่าต้องเล่นอย่างไร แต่ถ้าเราให้ของเล่นเป็นยานพาหนะที่ไม่เจาะจงว่าคืออะไร เด็กก็จะสามารถคิดว่ามันเป็นอะไรก็ได้ เด็กอาจจะเอามาเล่นเป็นเครื่องบิน รถไฟ รถตำรวจ หรืออะไรก็ได้ ตามแต่จินตนาการของเขา
ครูมีหน้าที่เพียงคอยอำนวยความสะดวกและเล่นไปพร้อมกับเด็ก เราจะใช้ช่วงเวลานี้ค่อยๆ ผนวกการสอนของเราเข้าไปในสิ่งที่เด็กกำลังเล่น เพราะฉะนั้น เด็กก็จะได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และได้ฝึกการตัดสินใจ ซึ่งสองสิ่งนี้มีความสำคัญมากสำหรับเด็กวัยเริ่มเรียนที่กำลังเติบโตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
เราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่การคอยบอกเด็กตลอดเวลาว่าต้องทำแบบนั้น ต้องเล่นแบบนี้ มันจะทำให้เด็กไม่สามารถพัฒนาหรือต่อยอดความคิดได้ เด็กก็จะหยุดคิด ไม่ตั้งคำถาม ไม่เกิดความสงสัย และไม่รู้ว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร นั่นคือสิ่งที่เราไม่อยากให้มันเกิดขึ้นเลย
หนึ่งในปัญหาที่พ่อแม่ทุกคนต้องรับมือก็คือการตอบคำถามยากๆ ของลูก เราควรรับมือกับเรื่องนี้อย่างไรดี
เราควรตอบเด็กด้วยความจริง แต่ใช้คำพูดที่เป็นมิตรกับเด็ก เช่น ถ้าเด็กถามถึงความตาย หรือถามเรื่องเพศที่สาม เราก็ตอบไปตามความเป็นจริง ไม่ต้องไปปกปิดว่ามันไม่มีจริง แต่ควรเลือกใช้ภาษาให้เหมาะกับเด็ก เพื่อที่เด็กจะไม่รู้สึกกลัวหรือเป็นกังวล เราเชื่อว่าการเปิดใจคุยกันได้ทุกเรื่อง จะส่งผลดีกับเด็ก แต่ก็มีอีกสิ่งหนึ่งที่ควรบอกให้เด็กเข้าใจก็คือ ผู้ใหญ่ไม่จำเป็นที่จะต้องรู้ทุกเรื่องหรือตอบได้ทุกคำถาม ถ้าคำถามไหนที่คุณตอบไม่ได้ ก็ควรบอกไปตรงๆ ว่าคุณก็ไม่รู้ แล้วชวนเด็กไปเล่นหาคำตอบด้วยกัน
บางครั้งเด็กๆ มักจะกล้าเล่นกล้าเสี่ยงมากเกินไป ทำให้พ่อแม่รู้สึกไม่สบายใจ โรงเรียนจะมีวิธีการส่งเสริมให้เด็กมีความกล้าเสี่ยงในการเล่น แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้ปกครองวางใจว่าลูกจะปลอดภัยได้อย่างไร
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราให้ความสนใจมาก เพราะในความเป็นจริงแล้วโลกไม่ได้สวยงามเสมอไป เราจึงต้องให้เด็กได้เรียนรู้และกล้าที่จะลองเสี่ยง แต่ยังอยู่ในบริบทที่เรามั่นใจได้ว่าเขาจะปลอดภัย การกล้าเสี่ยงนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้สมองของเด็กพัฒนา ถ้าคุณเคยเห็นสีหน้าของเด็กตอนปีนกำแพงและกำลังตัดสินใจว่าจะกระโดดลงมาดีไหม มันมีความกลัวซ่อนอยู่ แต่เมื่อเขาตัดสินใจที่จะกระโดดลงมาบนเบาะที่รองรับอยู่ด้านล่าง คุณจะเห็นได้ถึงรอยยิ้มและแววตาที่ส่องประกายออกมาว่าเขาสามารถทำได้ ความกล้าที่จะเสี่ยงนั้น ไม่ได้หมายถึงแค่เพียงการปีนกำแพงหรือต้นไม้ มันอาจหมายถึง ฉันควรวางบล็อกอันนี้ลงบนยอดสุดของบล็อกที่โยกเยกไปมา และพร้อมจะล้มลงได้ทุกเมื่อหรือเปล่า แต่มันอาจจะล้มหรือไม่ล้มก็ได้ เราจะไม่รู้ผลลัพธ์จนกว่าจะได้ลองวางมันลงไป นั่นคือความกล้าที่จะเสี่ยง ที่นี่เราจะสนับสนุนให้เด็กกล้าที่จะเสี่ยงโดยเริ่มจากเรื่องเล็กๆ เพื่อให้เด็กได้มีประสบการณ์ใหม่ๆ ในการเรียนรู้และตัดสินใจด้วยตัวเอง
คุณดูมีความสุขเมื่อพูดถึงเด็กๆ ทำไมคุณถึงรักที่จะเป็นครูอนุบาล
แคทเธอรีน โอคิล: สำหรับฉัน มันคือความสัมพันธ์ ฉันรู้สึกว่าในชีวิตหนึ่ง ถ้ามีเพียงสิ่งเดียวที่คุณจะสามารถให้คุณค่ากับมันได้ นั่นควรจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะกับเด็ก กับบุคลากรภายในโรงเรียน หรือกับผู้ปกครองของเด็กก็ตาม มันคือการทำงานเพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกัน ไม่ใช่แค่สำหรับเด็ก แต่เราอาจจะทำเพื่อคุณแม่ที่กำลังเผชิญปัญหาในการรับมือกับลูกไปด้วยก็ได้
เฮย์ลีย์ กิลเลียม: สิ่งหนึ่งที่ทำให้ฉัน รักการเป็นคุณครูของเด็กๆ ก็คือ การที่ฉันจะไม่มีทางรู้ว่าในแต่ละวันจะเป็นอย่างไร ณ วินาทีหนึ่ง ฉันอาจจะนั่งดูหนังสือภาพกับเด็ก อีกวินาทีต่อมา เด็กอาจจะพาฉันออกไปแปลงร่างวิ่งเล่นเป็นซูเปอร์ฮีโร่ในสนามแล้วก็ได้ เพราะที่นี่ เราให้เด็กเป็นศูนย์กลาง เด็กเป็นคนเลือกและตัดสินใจว่าวันนี้จะทำอะไร นี่คือสิ่งที่ฉันรัก
COMMENTS ARE OFF THIS POST