READING

ว่าด้วยเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็ก และภาวะ ...

ว่าด้วยเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็ก และภาวะ MIS-C หลังป่วย: คุยกับหมออร (เพจเลี้ยงลูกโตไปด้วยกันกับหมออร Hormone for Kids กุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อ)

หลังจากวุ่นวายกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในผู้ใหญ่กันมาหลายเดือน ก็ถึงคราวที่คุณพ่อคุณแม่ต้องมองหาข้อมูลวัคซีนที่จะฉีดให้เด็กๆ กันบ้าง เพราะการฉีดวัคซีนมีส่วนสำคัญที่จะช่วยลดการติดเชื้อในเด็ก และช่วยให้เด็กๆ สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติอย่างที่ควรเป็น

เพราะนอกจากโควิด-19 จะทำให้เด็กๆ สูญเสียโอกาสในการเรียนรู้และใช้ชีวิตตามช่วงวัยของเขาแล้ว เด็กๆ ที่เคยได้ติดเชื้อโควิด-19 ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ MIS-C หลังป่วยต่อไปได้

วันนี้เราจึงชวน คุณหมออร—พญ.กัลย์สุดา อริยะวัตรกุล จากเพจ เลี้ยงลูกโตไปด้วยกันกับหมออร Hormone for Kids กุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อ มาช่วยคลายข้อสงสัยเรื่อง วัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็ก และภาวะ MIS-C ที่เกิดขึ้นได้กับเด็กๆ แม้จะหายจากโรคโควิด-19 แล้วก็ตาม

สถานการณ์การของโรคโควิด-19 ในเด็กของเด็กตอนนี้เป็นอย่างไร

ถ้าดูตัวเลขตอนนี้จะเห็นว่ามีเด็กติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน สัดส่วนเยอะขึ้นไม่เหมือนปีที่แล้ว ตั้งแต่เดือนมิถุนายนจำนวนเด็กติดเชื้อดีดขึ้นมาชัดมาก ยอดสะสมคนไข้เด็กตอนนี้น่าจะเลยแสนรายไปแล้ว อัตราส่วนจะเป็นร้อยละ 25 หรือประมาณหนึ่งในสี่ของยอดผู้ป่วยใหม่ เอาง่ายๆ คือถ้ามีผู้ป่วยโควิดสี่คนก็จะมีคนไข้เด็กด้วยหนึ่งคน

คนไข้เด็กจะมีทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงอายุ 18 ปี เด็กเพิ่งคลอดไม่กี่วันก็ติดเชื้อแล้ว แต่ที่พบมากสุดจะเป็นเด็กโตอายุ 12-18 ปี รองลงมา 6-12 ปี และสุดท้ายคือ 1-6 ปี 

ส่วนใหญ่การติดเชื้อจะมาจากคนในครอบครัว เพราะว่าช่วงนี้เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน เด็กอยู่บ้าน เพราะฉะนั้นเด็กติดเชื้อก็มักจะมาจากผู้ใหญ่ในบ้านที่ยังต้องออกไปทำงานและรับเชื้อเข้ามาในบ้าน ซึ่งตอนอยู่บ้านก็ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัยทำให้แพร่เชื้อใส่กันได้ง่าย แต่อย่างที่รู้กัน เด็กติดเชื้อโควิด-19 มักจะไม่ค่อยมีอาการหรือมีอาการน้อยมาก นับเป็นผู้ป่วยสีเขียว โดยเฉพาะเด็กที่สุขภาพแข็งแรงส่วนใหญ่ก็จะหายได้เอง ไม่ค่อยอาการหนักเหมือนกับผู้ใหญ่ ส่วนเด็กที่เสียชีวิตจะเป็นเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือ 7 โรคเรื้อรังต่างๆ

แสดงว่าต่อให้เชื้อจะพัฒนาสายพันธุ์มาจากปีที่แล้ว อาการโควิด-19ในเด็กก็ยังคงไม่รุนแรง

ในตัวโรคไม่ได้เป็นหนักขึ้น ที่เสียชีวิตคือเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 7 โรคเรื้อรัง แต่อาจจะเคยเห็นข่าวว่ามีเด็กอายุ 13 ปี จากจังหวัดกระบี่ป่วยโควิดแล้วเสียชีวิต อันนั้นจะเป็นอีกภาวะหนึ่งเรียกว่า MIS-C ซึ่งกำลังเป็นที่พูดถึงเยอะมาก 

MIS-C ย่อมาจาก Multisystem Inflammatory Syndrome in Children เป็นภาวะการอักเสบของหลายๆ ระบบในร่างกาย ส่วนใหญ่จะพบหลังจากเด็กเป็นโรคโควิด-19ไปแล้วในระยะหนึ่ง โดยทั่วไปจะเกิดขึ้นตามหลังหลายสัปดาห์ หรือประมาณหนึ่งเดือน ซึ่งเป็นภาวะที่ค่อนข้างรุนแรงและซีเรียส เพราะเด็กบางคนอาจเสียชีวิตจากภาวะนี้ได้ 

ดังนั้นเราจะต้องแยกการป่วยออกสองเทอม ตอนติดเชื้ออาการอาจจะไม่หนัก แต่พอติดเชื้อผ่านไปแล้วช่วงเวลาหนึ่ง เด็กอาจเกิดภาวะ MIS-C ขึ้นได้

ในปีที่แล้วเราแทบจะไม่เจอภาวะนี้เลย เพราะคนไข้ที่เป็นเด็กยังจำนวนน้อยมาก แต่พอเป็นปีนี้เด็กติดเชื้อมากขึ้น ก็เลยพบภาวะ MIS-C มากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ภาวะ MIS-C เกิดจากอะไร

ต้องเข้าใจก่อนว่า MIS-C ไม่ได้เกี่ยวกับเชื้อที่ทำให้เกิดโรคโควิดเลย เด็กที่มีภาวะ MIS-C อาจไม่มีเชื้อหลงเหลืออยู่แล้ว เพียงแต่ร่างกายมีการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ หลังจากการติดเชื้อที่ผ่านมา 

หลายคนเข้าใจว่าเป็นเพราะมีเชื้อลงเหลืออยู่ จึงเกิด MIS-C ขึ้น หรือแม้แต่บางคนคิดว่าเป็นเพราะเด็กไม่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์หรือเปล่า คำตอบคือไม่ใช่ทั้งหมดเลย เด็กที่ป่วยโควิด-19 แล้วไม่มีอาการ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ เขาสามารถหายเองได้ เพราะฉะนั้นการไม่ได้รับยาจึงไม่เกี่ยวกับการเกิดภาวะ MIS-C

แต่ MIS-C เกิดจากกลไกภูมิคุ้มกันของร่างกายมีการตอบสนองหรือแสดงออกที่ผิดปกติ ทำให้เกิดการอักเสบในหลายระบบของร่างกาย ซึ่งอาการในเด็กที่เราสงสัยตอนนี้คือมีไข้สูงต่อเนื่องนานเกิน 3-5 วัน มีอาการปวดท้อง อาเจียน ถ่ายเหลว ผื่นขึ้น ตาแดงหรือที่เรียกว่าเยื่อบุตาอักเสบ บางคนอาจจะมือเท้าบวม และต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งหากมีประวัติว่าเคยติดโควิด-19 เราจะสงสัยว่าเป็นภาวะ MIS-C ได้เลยทันที 

ถ้าถามว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับหมอเด็กหรือเปล่า จริงๆ มันคล้ายกับโรคที่รู้จักกันดีอยู่แล้วอย่างโรคคาวาซากิ คือเป็นลักษณะอาการอักเสบของหลายระบบในร่างกาย ทำให้มีภาวะแทรกซ้อนในหลอดเลือดหัวใจ เพียงแต่มีความแตกต่างกันที่ MIS-C พบในเด็กตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงอายุ 21 ปี เลย ส่วนคาวาซากิมักจะพบในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปีเท่านั้น เพราะฉะนั้น MIS-C เป็นภาวะที่หมอเด็กคุ้นเคยกันอยู่แล้ว อย่างโรงพยาบาลที่หมออยู่ก็เพิ่งมีเคสเด็กเคยติดโควิด-19 เมื่อเดือนที่แล้ว และกลับมาด้วยอาการไข้สูง ปวดท้อง อาเจียน ถ่ายเหลว ผื่นขึ้น ตาแดง เราก็สงสัย เลยตรวจค่าความอักเสบเพิ่ม และตรวจ Echo ดูการทำงานของหัวใจว่าผิดปกติไหม แล้วรีบทำการรักษาทันที

หากรักษาได้ทันท่วงทีก็ไม่ได้อันตรายจนถึงแก่ชีวิต

ก็มีกลุ่มที่รุนแรงจนเสียชีวิต แม้จะให้การรักษาเต็มที่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ก็จะรักษาและหายได้  อย่างในประเทศไทยมียาลดการอักเสบอยู่แล้ว เราก็จะเทียบเคียงกับการรักษาโรคคาวาซากิ แล้วมาประยุกต์ใช้รักษาภาวะนี้

นอกจากปัญหาสุขภาพ คุณหมอคิดว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเด็กๆ อย่างไรบ้าง

มีอีกแน่นอน ไม่ว่าจะถูกจำกัดกิจกรรม ไม่สามารถออกไปนอกบ้านได้ ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ อันนี้เด็กไม่ป่วยก็ได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด 

เด็กที่ป่วยก็ยิ่งหนักเข้าไปอีก เพราะจะมีกรณีที่แม่ไม่ป่วย แต่ลูกป่วย หรือพ่อแม่ป่วยและอาการหนัก ลูกก็ต้องไปอยู่กับคนอื่น ยิ่งเด็กเล็กที่ต้องพึ่งพาพ่อแม่เป็นหลัก การที่เขาอยู่กับคนแปลกหน้า หรือต้องกักตัวในโรงพยาบาลที่ไม่คุ้นเคย ไม่มีที่ให้เขาวิ่งเล่น ไม่มีของเล่น ย่อมมีผลต่อพัฒนาการและจิตใจ แม้จะมีเรื่อง Home Isolation เข้ามา เด็กก็ยังออกไปไหนไม่ได้เหมือนเดิม มันมีผลต่อชีวิตของเด็กมาก อย่างเด็กเล็กก็ไม่ได้ออกไปไหน ส่วนเด็กโตก็ไม่ได้ไปเจอเพื่อน อยู่แต่บ้านก็จะติดหน้าจอ อ้วนขึ้น คือชีวิตมันรวนไปหมดเลย

เด็กๆ ก็เลยจำเป็นต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เหมือนกัน

ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็จะคิดว่าไม่จำเป็นเพราะเด็กเป็นกันน้อยและอาการไม่รุนแรงเหมือนผู้ใหญ่ แต่ตอนนี้อาจจะต้องมาคิดกันใหม่ เพราะเด็กอาจเกิดภาวะ MIS-C ตามมาได้ ดังนั้นคำแนะนำเกี่ยวกับ วัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็ก จึงปรับใหม่ 

อย่างตอนแรกประกาศที่ออกมาคือแนะนำให้เด็กอายุ 16-18 ปี ฉีดวัคซีนชนิด mRNA ทุกคน ทั้งเด็กสุขภาพดีและเด็กที่มี 7 กลุ่มโรคเสี่ยง เพราะวิถีชีวิตไลฟ์สไตล์ของเขาใกล้เคียงกับผู้ใหญ่มาก และผลข้างเคียง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ที่พบน้อยกว่าในเด็กอายุ 12-15 ปี เพราะฉะนั้นข้อมูลที่ออกมาตอนแรกจึงยังไม่แนะนำให้เด็กอายุ 12-15 ปี ฉีดวัคซีน mRNA แต่ถามว่าฉีดได้ไหม ฉีดได้ เพราะวัคซีนได้รับการอนุมัติให้ใช้กับเด็กตั้งแต่อายุ 12 ปี ขึ้นไปได้ เพียงแต่น่ากังวลในผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะมีข้อมูลชัดเจนว่าผลข้างเคียงมักพบจากการฉีดวัคซีนเข็มสองมากกว่าเข็มหนึ่ง และมีโอกาสเกิดขึ้นในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงหลายเท่า

แต่พอมีเรื่อง MIS-C เข้ามา จึงไม่มีใครอยากให้เด็กเสี่ยง บวกกับอยากให้เด็กๆ ได้กลับไปเรียน ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ จึงปรับคำแนะนำใหม่ ให้เด็กปกติสุขภาพดีอายุ 12-15 ปี ฉีดวัคซีน mRNA โดยที่เด็กผู้หญิงสามารถฉีดวัคซีนสองโดส ห่างกันอย่างน้อย 3 สัปดาห์ ส่วนเด็กผู้ชายให้ฉีดเข็มแรก และชะลอการฉีดเข็มสอง จนกว่าจะมีคำแนะนำเพิ่มเติม (อ่านคำแนะนำจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ)อีกทั้งยังแนะนำว่าให้งดออกกำลังกายหนักหลังฉีดวัคซีนเป็นเวลา 1 สัปดาห์

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่เกิดจากการฉีดวัคซีนน่ากังวลมากแค่ไหน และสามารถรักษาได้หรือเปล่า

ข้อมูลล่าสุดคือสามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ และยังไม่มีใครป่วยรุนแรงจนเสียชีวิต มีโอกาสเกิดน้อย ถ้าเป็นตัวเลขก็ประมาณ 60 เคสในล้านคน แต่ถึงจะเกิดน้อยก็ต้องบอกให้รู้เอาไว้ 

ที่ไม่รู้เลยคือระยะยาวมันจะมีอะไรเกิดขึ้นกับหัวใจ เช่น เกิดพังผืดไหม ซึ่งเป็นเรื่องที่พ่อแม่หลายคนก็กังวล หมอเด็กเองก็คิดประเด็นนี้เหมือนกัน

ในอนาคตอาจจะมีการลดปริมาณวัคซีนที่ฉีดให้เด็ก เพื่อให้ผลข้างเคียงลดลง เพราะทุกวันนี้ฉีดให้เด็ก 0.3 มิลลิลิตร เท่ากับผู้ใหญ่ แต่ที่อเมริกาก็มีการฉีดไฟเซอร์ให้กับเด็กอายุ 5-11 ปี แต่ลดปริมาณลงเหลือโดสละ 0.1 มิลลิลิตร และเขายังไม่พบผลข้างเคียงเรื่องกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แต่ก็ยังใช้ยืนยันไม่ได้เพราะเพิ่งฉีดไปแค่หลักพันคน

ตอนที่วัคซีนไฟเซอร์อยู่ในงานวิจัยเฟสสาม ก็ยังไม่เจอผลข้างเคียงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เพราะฉีดแค่หลักพันคน แต่พอฉีดหลักล้านคนก็เริ่มเจอเยอะขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้ชายอายุประมาณ 12-30 ปี และพบในคนที่อายุน้อยมากกว่า ส่วนผู้หญิงถือว่าพบน้อยมาก จึงไม่น่ากังวลเท่าไรนัก

แล้วในส่วนของวัคซีนเชื้อตายอย่างซิโนฟาร์มที่เริ่มมีการฉีดให้เด็กในประเทศไทย

จริงๆ ซิโนฟาร์ม มีข้อมูลน้อยมาก การทดลองอยู่แค่ประมาณเฟสหนึ่งกับเฟสสอง คือกลุ่มประชากรที่ทดสอบน้อย ปกติวัคซีนที่จะได้รับการอนุมัติใช้ในวงกว้าง อย่างน้อยก็ต้องมีการทดลองไปจนถึงเฟสสาม แปลว่าจะต้องมีการเก็บข้อมูลในเด็กหลักพันขึ้นไป อย่างงานวิจัยวัคซีนชนิด mRNA ก็ประมาณสามพันคน เพราะฉะนั้นซิโนฟาร์มกับซิโนแวคเลยไม่ได้รับการอนุมัติจาก อย. ว่าให้ใช้ในเด็กตั้งแต่อายุ 3-17 ปีได้ 

แต่ถามว่าฉีดได้ไหม ฉีดได้ แต่ต้องเป็นในรูปแบบของงานวิจัยเท่านั้น แปลว่าจริงๆ แล้วจะต้องมีการกลั่นกรอง ต้องผ่านคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัย และก่อนฉีดก็ต้องให้ข้อมูลพ่อแม่

ถ้าเด็กอายุเกิน 7 ปีขึ้นไปแต่ยังไม่ถึง 18 ปี จะต้องมีเอกสารให้เด็กเซ็น และมีเอกสารที่พ่อแม่ต้องเซ็น พร้อมกับมีเอกสารข้อมูลว่างานวิจัยนี้คืออะไร ทำไปเพื่อวัตถุประสงค์อะไร อาสาสมัครจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร และถ้าเกิดผลข้างเคียงขึ้นใครจะเป็นคนรับผิดชอบ 

สุดท้ายแล้วการฉีดวัคซีนจะทำให้สถานการณ์ของเด็กๆ กลับไปสู่สภาวะเหมือนเดิมได้ไหม 

เกิดได้อยู่แล้ว จริงๆ วัคซีนเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เด็กกลับเข้าสู่ระบบโรงเรียนเหมือนเดิม เพราะแน่นอนการเรียนออนไลน์มันอาจจะไม่เวิร์ก และยิ่งเด็ก ม.6 ที่ต้องสอบแอดมิชชัน ยังไงก็ต้องเกิดการรวมตัวเด็กเป็นพันคน เพราะฉะนั้นต้องมีการฉีดวัคซีนเข้ามา

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ เลยพยายามสนับสนุนให้เด็กฉีดวัคซีนมากขึ้น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก คือมันจะต้องบาลานซ์ประโยชน์กับโทษให้ดี ถ้าตราบใดประโยชน์มันได้มากกว่าโทษ เมื่อมีข้อมูลใหม่อัปเดต ก็จะค่อยๆ ปรับคำแนะนำใหม่ไปเรื่อยๆ 

 

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 24/09/21

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST