พอลูกโตถึงวัยหนึ่ง คุณพ่อคุณแม่อาจจะเริ่มสังเกตว่าลูกไม่ค่อยเล่าทุกอย่างให้ฟังเหมือนแต่ก่อน เวลามีเรื่องไม่สบายใจ บ่อยครั้งที่คุณถามก็แล้ว คาดคั้นก็แล้ว ลูกก็ยังคงบ่ายเบี่ยง และเลี่ยงที่จะเปิดใจเล่าปัญหาของตัวเองออกมา
ว่าแต่… ทำไมลูกถึงกลายเป็นคนที่ชอบเก็บเรื่องไม่สบายใจของตัวเองไว้เป็นความลับ วันนี้เรามี 9 เหตุผลที่ทำให้เด็กไม่ยอมเปิดใจคุยกับคุณพ่อคุณแม่มาฝาก พร้อมเทคนิคดีๆ เอาไว้ให้คุณรับมือกับเหตุผลเหล่านั้น
1. เพราะลูกไม่อยากให้พ่อแม่ไม่สบายใจ
เหตุผลอันดับแรกคือลูกทุกคนไม่อยากให้คุณพ่อคุณแม่เครียดหรือกลุ้มใจเพราะเรื่องของเขา
เทคนิคเปิดใจ: คุณไม่ต้องรอให้ลูกเป็นเล่าออกมาก่อนเสมอไป ลองเป็นฝ่ายถามด้วยท่าทีสบายๆ ไม่ซีเรียส เพื่อให้ลูกสบายใจที่จะเล่าเรื่องราวและปัญหาของตัวเอง
คุณอาจจะเริ่มด้วยประโยคง่ายๆ เช่น วันนี้ที่โรงเรียนเป็นยังไงบ้าง หรือ ช่วงนี้ลูกมีอะไรอยากเล่าให้แม่ฟังไหม…
2. เพราะลูกกลัวพ่อแม่ไม่เข้าใจปัญหา
ปัญหาของใครก็ยิ่งใหญ่สำหรับคนนั้น เด็กๆ ก็คิดว่าปัญหาของตัวเอง เป็นเรื่องซับซ้อนเกินกว่าที่คุณพ่อคุณแม่จะเข้าใจ เลยเลือกที่จะไม่พูดถึงมันดีกว่า
เทคนิคเปิดใจ: คุณพ่อคุณแม่ควรเตือนตัวเองว่าอย่าเอาความคิดของผู้ใหญ่ มาเปรียบเทียบกับปัญหาของเด็ก เพราะคนทุกวัยมีปัญหาใหญ่ในแบบของตัวเอง เพราะฉะนั้นอย่าทำให้ลูกคิดว่าคุณไม่มีทางที่จะเข้าใจปัญหาของเขา
3. เพราะลูกเห็นว่าพ่อแม่ไม่สนใจปัญหาของเขา
เหตุผลนี้สร้างความเจ็บปวดกับลูกไม่น้อย เมื่อคิดว่าจะเล่าไปทำไม เล่าไปพ่อแม่ก็ไม่สนใจอยู่ดี
เทคนิคเปิดใจ: คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจ สังเกต และความสำคัญกับท่าทีของลูก บอกรักอย่างสม่ำเสมอ และเอ่ยปากทักเมื่อเห็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นกับเขา จะทำให้ลูกมั่นใจว่าคุณให้ความสนใจเขาเสมอ
4. เพราะลูกไม่อยากให้พ่อแม่อคติและวิจารณ์
บางปัญหาผู้ใหญ่อย่างเราก็ต้องการเพียงใครสักคนมาเป็นผู้ฟังที่ดี บางครั้งที่ลูกกลัวที่จะพูดถึงปัญหา ก็เพราะลูกไม่อยากรับฟังทัศนคติแง่ลบจากคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง
เทคนิคเปิดใจ: คุณพ่อคุณแม่ควรเปิดใจรับฟังปัญหาของลูก ไม่รีบวิจารณ์หรือตัดสินความถูกผิด หากปัญหาเกิดจากลูกทำผิดจริง คุณสามารถนำมาสอนลูกในภายหลังก็ยังได้
5. เพราะลูกคิดว่าเล่าไปพ่อแม่ก็ช่วยอะไรไม่ได้
ลูกเข้าใจว่าปัญหาที่เขาเจอเป็นเรื่องยากเกินกว่าที่พ่อแม่จะจัดการได้
เทคนิคเปิดใจ: คุณพ่อคุณแม่ต้องทำตัวเป็นที่พึ่งที่ดีให้กับลูก ทำให้ลูกรู้ว่าต่อให้ต้องเจอปัญหาใหญ่ขนาดไหน พ่อแม่ก็พร้อมจะช่วยลูกแก้ปัญหาเสมอ
6. เพราะลูกไม่อยากให้พ่อแม่ผิดหวัง
ความหวังของพ่อแม่ บางครั้งก็กลายเป็นสิ่งที่สร้างความกดดันให้ลูก การที่ลูกไม่ยอมรับผิด ไม่ยอมพูดถึงปัญหาของตัวเอง ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะไม่อยากให้ทำให้คุณพ่อคุณแม่ผิดหวัง
เทคนิคเปิดใจ: คุณพ่อคุณแม่จึงควรสอนลูกให้รู้ว่าคุณไม่ได้คาดหวังให้เขาสมบูรณ์แบบหรือไม่เคยทำอะไรผิดพลาด แต่คุณจะภูมิใจมากกว่า หากลูกยอมรับและหาวิธีแก้ไขปัญหานั้น
7. เพราะลูกเล่าแล้วพ่อแม่ตอกย้ำซ้ำเติม
ไม่มีใครอยากถูกต่อว่าหรือตำหนิซ้ำๆ ความผิดพลาดของลูก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ เมื่อผ่านไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรนำมาทำให้ลูกรู้สึกเป็นปมในชีวิต
เทคนิคเปิดใจ: ไม่ขุดคุ้ยหรือตอกย้ำความผิดพลาดเก่าๆ ของลูก
8. เพราะลูกไม่อยากให้พ่อแม่ก้าวก่ายความเป็นส่วนตัว
บางครั้งลูกคิดว่าปัญหาที่ตัวเองเจอถือเป็นเรื่องส่วนตัว จึงไม่อยากให้คุณพ่อคุณแม่เข้าไปก้าวก่าย หรือแทรกแซงการตัดสินใจของเขา
เทคนิคเปิดใจ: คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นผู้ฟัง ผู้ให้คำปรึกษา และเคารพการตัดสินใจของลูก หากรู้สึกว่าปัญหาที่ลูกเจอเป็นเรื่องยากเกินไปสำหรับเขา ค่อยถามความเห็นว่าลูกต้องการให้แม่ช่วยอะไรบ้าง
9. เพราะลูกไม่อยากให้พ่อแม่ไปเล่าต่อ
คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจจะลืมตัว เผลอเอาเรื่องหนักใจของลูกไปเล่าต่อ แสดงออกว่าเป็นเรื่องขบขัน หรือนำไปเปรียบเทียบกับเรื่องราวของคนอื่น นั่นทำให้ลูกรู้สึกว่า คุณไม่เคารพปัญหาของเขา หรือทำให้เขารู้สึกเขินอายต่อหน้าคนอื่น
เทคนิคเปิดใจ: สังเกตอาการของลูกทุกครั้งว่าลูกยินดีที่จะถูกพูดถึงหรือไม่ หากเห็นว่าลูกเริ่มอึดอัดหรือไม่พอใจ ควรให้เกียรติด้วยการขอโทษและไม่ทำอีก
COMMENTS ARE OFF THIS POST