ไม่ว่าใครก็อยากมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวที่สำคัญยิ่งกว่าใครทั้งสิ้น
ถึงอย่างนั้นก็ต้องยอมรับว่า ขึ้นชื่อว่าความสัมพันธ์แล้ว ก็ต้องมีกระทบกระทั่ง บาดหมาง ผิดใจ และอาจกลายเป็นความหมางเมินกันไป หากไม่ได้รับการปรับความเข้าใจและกระชับความสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ อาจทำให้ความสัมพันธ์ที่ควรจะแน่นแฟ้นกลายเป็นห่างเหิน
วันนี้ M.O.M จึงได้นำวิธีกระชับความสัมพันธ์ดีๆ กับลูก มาให้คุณพ่อคุณแม่ลองนำไปใช้กันดูค่ะ
1. มีมื้ออาหารร่วมกัน
การได้นั่งรับประทานอาหารร่วมกับคนในครอบครัว ถือเป็นช่วงเวลาที่มีความหมายและมีส่วนสำคัญที่จะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ภายในครอบครัวได้
ผลงานวิจัยระบุว่าเด็กๆ ที่ได้ร่วมโต๊ะอาหารพร้อมหน้าพร้อมตากับสมาชิกในครอบครัว จะมีสุขลักษณะและนิสัยการกินที่ดี ส่งผลให้มีสุขภาพร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ แข็งแรงมากขึ้น
แต่สำหรับบางครอบครัว การร่วมมื้ออาหารกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาอาจทำได้ยาก ถึงอย่างนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็ควรจัดสรรเวลาอย่างน้อยหนึ่งมื้อที่จะได้ใช้เวลาร่วมกันบนโต๊ะอาหาร แล้วพูดคุยกันด้วยบรรยากาศที่ทำให้เกิดความสบายใจ แล้วมื้ออาหารนั้นๆ ก็จะเป็นช่วงเวลาที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน
2. พูดคุยและซักถามเกี่ยวกับลูกบ้าง
อีกหนึ่งกิจกรรมที่จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ภายในครอบครัวได้ดี ก็คือการเปิดโอกาสให้ลูกเล่าเรื่องราวที่ตัวเองได้พบเจอระหว่างวัน โดยคุณพ่อคุณแม่อาจเลือกวิธีใช้คำถามที่ชวนให้ลูกได้คิดทบทวนถึงเรื่องราวดีๆ เช่น วันนี้อะไรที่ทำให้ลูกมีความสุขมากที่สุดเหรอคะ หรือวันนี้หนูคิดว่าทำอะไรแล้วสนุกที่สุด จะช่วยให้ลูกรู้สึกคุ้นเคยที่จะบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง
หลังจากนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถเล่าเรื่องราวของตัวเองกลับไป เช่น วันนี้การคุยกับลูกเป็นเรื่องที่สนุกที่สุด แต่มื้อเช้าที่ลูกกินข้าวหมดจาน ก็ทำให้แม่มีความสุขที่สุดเช่นกัน
3. เล่นหรือทำกิจกรรมร่วมกับลูก
เมื่อมีเวลาว่าง คุณพ่อคุณแม่อาจจะนึกต้องการเวลาส่วนตัว ต้องการการพักผ่อนและทำกิจกรรมในแบบของตัวเอง แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องไม่ลืมว่าลูกเองก็รอคอยที่จะได้ใช้ช่วงเวลาว่างกับคุณพ่อคุณแม่เช่นกัน
ดังนั้น ความสัมพันธ์ในครอบครัวจะเกิดขึ้นได้เมื่อคนในครอบครัวมีเวลาที่ดีให้แก่กัน คุณพ่อคุณแม่อาจต้องลองหากิจกรรมที่ได้เล่นกับลูกและได้ผ่อนคลายจิตใจจากการทำงานไปด้วย เช่น ชวนลูกนั่งอ่านหนังสือเงียบๆ ด้วยกัน ทำอาหารด้วยกัน หรือแม้แต่การนอนเล่นเอกเขนกบนที่นอนด้วยกันในช่วงเวลาสั้นๆ ช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกได้
4. แสดงออกถึงความเคารพซึ่งกันและกัน
การเคารพและให้เกียรติกันของคนในครอบครัวเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวเข้มแข็งและมั่นคง ไม่เว้นแม้แต่ความสัมพันธ์ระหว่าคุณพ่อคุณแม่กับลูกน้อย ก็ต้องอาศัยการให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ใช้อารมณ์ รับฟังความคิดเห็น และไม่ทำให้ลูกรู้สึกอับอาย เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าถึงแม้ตัวเองจะเป็นเด็ก แต่ก็ไม่ได้มีคุณค่าและความสำคัญน้อยกว่าใครในบ้าน ถือเป็นการสร้างความมั่นคงในจิตใจให้กับลูกด้วยค่ะ
5. มอบหมายหน้าที่เล็กๆ น้อยๆ ให้ลูกช่วยเหลือ
เด็กๆ มักจะอยากเข้ามาช่วยทำนั่นทำนี่ แต่ก็โดนคุณพ่อคุณแม่ปฏิเสธและขอให้ออกไปนั่งรอเฉยๆ บ้าง ไปเล่นของเล่นของตัวเองบ้าง บอกว่าไม่ใช่หน้าที่ของเด็กบ้าง
การไม่ยอมให้ลูกมีส่วนร่วมหรือหน้าที่รับผิดชอบภายในบ้าน จะทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสามารถ ไม่ได้รับความไว้วางใจจากคุณพ่อคุณแม่ ส่งผลต่อการมีความมั่นใจและเคารพตัวเองเท่าที่ควร
ดังนั้น แทนที่จะพยายามกีดกันลูกออกจากหน้าที่รับผิดชอบใหญ่ๆ ลองแบ่งงานและมอบหมายหน้าที่ง่ายๆ ให้ลูกเป็นคนรับผิดชอบ โดยไม่ลืมที่จะชื่นชมและให้กำลังใจเมื่อลูกทำสำเร็จ ก็จะช่วยให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถ มีหน้าที่รับผิดชอบ และเป็นที่ไว้วางใจของคนในครอบครัว
COMMENTS ARE OFF THIS POST