READING

ลูกร้องไห้ในที่สาธารณะ: 5 วิธีรับมือลูกร้องไห้งอแง...

ลูกร้องไห้ในที่สาธารณะ: 5 วิธีรับมือลูกร้องไห้งอแงในที่สาธารณะ

ลูกร้องไห้ในที่สาธารณะ

ปัญหา ลูกร้องไห้ในที่สาธารณะ อาจเกิดกับคุณพ่อคุณแม่ตั้งแต่ลูกยังเป็นทารกแรกเกิด แต่การร้องไห้ของทารก มักเป็นไปตามสัญชาตญาณ เพื่อบ่งบอกอาการบางอย่างให้พ่อแม่รับรู้ เช่น หิว ง่วง หรือรู้สึกไม่สบายตัว

แต่พอลูกเข้าสู่ช่วงวัย 1–3 ปี การที่ ลูกร้องไห้ในที่สาธารณะ มักเกิดขึ้นเวลาที่ลูกต้องการให้คุณพ่อคุณแม่ตามใจ เช่น เดินผ่านร้านของเล่น เดินผ่านร้านขนม แล้วอยากให้คุณพ่อคุณแม่ซื้อให้ พอถูกปฏิเสธก็ร้องไห้งอแง หรือรุนแรงหน่อยก็ลงไปนั่งดิ้นนอนดิ้นอยู่กับพื้น ซึ่งคุณพ่อคุณแม่มักจะตัดรำคาญหรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการตามใจลูกไปก่อน จนทำให้ลูกติดนิสัยใช้วิธีร้องไห้ในที่สาธารณะเพื่อเอาชนะคุณพ่อคุณแม่เรื่อยไป

ดังนั้น ก่อนจะปล่อยให้ลูกใช้วิธีร้องไห้โฮหรือลงไปนอนดิ้นกับพื้นทุกครั้งที่อยากได้อะไรนอกบ้าน เรามาตั้งสติและเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ลูกร้องไห้ในที่สาธารณะ เอาไว้สยบฤทธิ์เดชของเจ้าตัวน้อยกันดีกว่าค่ะ

1. สร้างข้อตกลงกันก่อนออกนอกบ้าน

cryingpublic_web_1

ก่อนออกจากบ้าน คุณพ่อคุณแม่ควรตกลงและทำความเข้าใจกับลูกก่อนว่า เราจะไปทำอะไร ที่ไหน หรือต้องเจอใครบ้าน เช่น วันนี้คุณแม่จะไปซื้อของใช้ภายในบ้าน และไปทำธุระที่ธนาคาร ซึ่งเราจะต้องเดินผ่านร้านขนมที่ลูกชอบ แต่ว่าคุณแม่รีบมาก เราจึงไม่แวะกินขนมกันวันนี้นะคะ เพื่อให้ลูกรับรู้และเตรียมตัวเตรียมใจเอาไว้ล่วงหน้า ว่าวันนี้จะออกจากบ้านไปเพื่อทำธุระของคุณแม่ให้สำเร็จเท่านั้น

2. เพิกเฉยต่อพฤติกรรมของลูก

cryingpublic_web_2

ถึงจะเป็นเรื่องยาก แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องตอบสนองด้วยสิ่งที่ลูกต้องการเพื่อหยุดพฤติกรรมลูกให้ได้ทันที  เพราะจะทำให้ลูกทำพฤติกรรมแบบเดิมอีก

สิ่งที่ควรทำก็คือ เมื่อลูกร้องไห้งอแงในที่สาธารณะ และคุณพ่อคุณแม่กลัวว่าจะเป็นการรบกวนคนอื่น ให้พยายามพาลูกเดินออกจากที่เกิดเหตุ แล้วปล่อยให้ลูกหยุดร้องไห้ด้วยตัวเอง ก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะเข้าไปกอดและอธิบายกับลูกว่าพฤติกรรมนี้ไม่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ใจอ่อน หรือช่วยให้ลูกได้สิ่งที่ต้องการ แต่การที่ลูกพูดจาด้วยเหตุและผลดีๆ ต่างหากที่จะทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจความต้องการของลูกและตัดสินใจ

3. ต้องมีความสม่ำเสมอ

cryingpublic_web_3

การสอนลูกไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม คุณพ่อคุณแม่จำเป็นที่จะต้องมีความสม่ำเสมอและปฏิบัติตามข้อตกลงที่มีร่วมกัน เพื่อฝึกให้ลูกมีวินัยและเคารพกติกา เช่น หากตกลงกันว่าวันนี้จะไม่ซื้อของเล่น คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องรักษากติกานั้นไว้ให้ได้ เพราะหากคุณพ่อคุณแม่เป็นคนเปลี่ยนคำพูดเสียเอง หรือ บางวันตามใจ แต่บางวันก็ไม่ตามใจ ก็จะทำให้ลูกเกิดความสับสนและพยายามทดลองหาวิธีเปลี่ยนใจคุณพ่อคุณแม่ต่อไปเรื่อยๆ

4. ไม่พูดหรือกดดันให้ลูกอับอาย

cryingpublic_web_4

เพราะต้องการให้ลูกหยุดร้องไห้ คุณพ่อคุณแม่อาจเคยใช้วิธีการตะคอก ตวาด หรือพูดเสียงดังใส่ลูกว่า “อย่าร้องไห้” “หัดควบคุมตัวเองซะบ้าง” “คนอื่นมองอยู่ ลูกไม่อายเขาเหรอ” แต่คำพูดเหล่านี้มักแสดงถึงการไม่ใส่ใจและถูกทำให้รู้สึกอับอาย และจะกลายเป็นยิ่งกระตุ้นให้ลูกต้องการเอาชนะคุณพ่อคุณแม่ในสถานการณ์นั้นๆ มากขึ้นไปอีก

5. ติดตามผล

cryingpublic_web_5

เมื่อลูกสงบสติอารมณ์ได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถสอบถามว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกร้องไห้งอแงเมื่อกี้ เช่น ลูกร้องจะกินขนมเพราะหิวจริงๆ หรือว่าเพราะอยากเข้าไปนั่งพักในร้านกันแน่ เพราะคำตอบของลูกจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เห็นแนวทางในการแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นครั้งต่อไป เช่น ลูกไม่ได้ร้องไห้เพราะอยากกินขนม แต่ลูกเดินจนเมื่อยและต้องการเข้าไปนั่งพักในร้านขนมมากกว่า คราวหน้าคุณพ่อคุณแม่จะได้รู้ว่าลูกสามารถเดินไกลได้แค่ไหน

การพูดคุยติดตามผลหลังจากเหตุการณ์สงบ จะทำให้ลูกรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่พยายามเข้าใจและช่วยแก้ปัญหาให้ลูกเสมอ ขอเพียงลูกเลือกวิธีการสื่อสารและบอกความต้องการของตัวเองออกมาอย่างเหมาะสม โดยไม่จำเป็นต้องร้องไห้งอแงในที่สาธารณะเลยก็ได้

อ้างอิง
fatherly
rajanukul
vejthani

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST